Skip to main content
sharethis

สภาประชาชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสั่งปลากุเลาตากใบ เพื่อให้สังคมได้รู้ข้อเท็จจริง บอร์ดไทยพีบีเอสต้องทบทวนการแสดงความรับผิดชอบโดยรอผลการตรวจสอบเสียก่อน ชี้มีความพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบของคนบางกลุ่มและบางหน่วยงานด้วย

27 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาประชาชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลต้องค้นหาข้อเท็จจริงกรณีปลากุเลาตากใบ ก่อนไทยพีบีเอสจะอ้างความรับผิดชอบ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสั่งปลากุเลาตากใบ ที่จะต้องไปสืบค้นรายละเอียดในการสั่งและการจัดการทั้งหมดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมได้รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  2. คณะผู้บริหารไทยพีบีเอส ต้องทบทวนการแสดงความรับผิดชอบที่ผ่านมา โดยจะต้องรอผลการตรวจสอบตามข้อเรียกร้องเบื้องต้นเสียก่อน และหากมีความผิดจริงก็ขอให้ร่วมกันรับผิดชอบตามความอย่างเหมาะ 

และ 3. สังคมจะต้องเปิดใจและเปิดกว้างต่อเรื่องนี้ ด้วยมีมูลเหตุและแรงจูงใจที่เป็นไปได้ว่าในเรื่องการหาประโยชน์จากการซื้อขายปลากุเลาฯ ทั้งยังพบว่ามีความพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบของคนบางกลุ่มและบางหน่วยงาน เพื่อให้เขาพ้นข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ 

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์สภาประชาชนภาคใต้
เรื่อง รัฐบาลต้องค้นหาข้อเท็จจริงกรณีปลากุเลาตากใบ ก่อนไทยพีบีเอสจะอ้างความรับผิดชอบ

เป็นที่ทราบกันดีว่ากรณีการนำปลากุเลาเค็มตากใบขึ้นโต๊ะอาหารผู้นำประเทศที่มาร่วมประชุมเวทีเอเปค 2022 ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นนี้กำลังถูกปัดความรับผิดชอบของบางหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับสถานีฯไทยพีบีเอส โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยว่าเรื่องดังกล่าวนั้นมูลการหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่มจริงจนเป็นที่รับรู้ของบุคลากรคนในองค์กรดังกล่าว หากแต่หลังจากเป็นข่าวครึกโครมได้มีความพยายามของคนในองค์กรนั้นสร้างหลักฐานและสร้างภาพว่ามีการสั่งปลากุเลาเค็มจากตากใบจริง ทั้งที่มีความย้อนแย้งกับคำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่ ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานข่าว 

การเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคใต้ เป็นการเสนอไปตามคำสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่จริง ซึ่งมีข้อสังเกตุในขณะนั้นว่าปลากุเลาที่รัฐบาลอ้างว่ามาจากตากใบนั้น เป็นของจริงหรือไม่ ? ถือเป็นการนำเสนอข่าวที่มีการตั้งข้อสังเกตุที่น่าสงสัยจริง อันเป็นสิ่งที่รัฐบาล(หน่วยงานที่รับผิดชอบ) จะต้องสืบหาข้อเท็จจริง มิใช่ปัดความรับผิดชอบด้วยการโยนความผิดไปที่สำนักข่าว เสมือนเป็นการบิดเบือนข้อสงสัยของสังคมและของประชาชนในพื้นที่ ด้วยมีเงื่อนงำให้ชวนสงสัยอยู่หลายประการ แม้จะมีตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามออกมายืนยันถึงที่มาที่ไปของปลากุเลาฯก็ตาม 

สภาประชาชนภาคใต้ ได้ติดตามเรื่องนี้รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงครั้งล่าสุดที่มีการลาออกของบรรณาธิการข่าวอาวุโส และมาตรการอื่นๆที่ผู้บริหารระดับสูงพยายามแสดงออกเพื่อให้กระแสกดดันจากสังคมลดลง ซึ่งอาจจะรวมถึงแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองด้วยนั้น พวกเราไม่เห็นด้วยนักกับการกระทำดังกล่าวของคณะผู้บริหารไทยพีบีเอส แต่ก็เคารพและเข้าใจถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุว่าการแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการในลักษณะนี้นั้น ถือเป็นตัดสินและยอมรับแล้วว่าการเสนอข่าวของเจ้าหน้าที่(นักข่าว)ดังกล่าวนั้นเป็นความผิดพลาดจริง และยังนำไปสู่การสร้างความลำบากใจและกลายเป็นแรงกดดันกับเจ้าหน้าที่ผู้เสนอข่าวอย่างไร้ความเป็นธรรม และเชื่อว่าจะส่งผลต่อจิตใจและความเชื่อมั่นไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอสโดยรวมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เราจึงมีขอเรียกร้องให้ดำเนินการ ดังนี้
1.    รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสั่งปลากุเลาตากใบ ที่จะต้องไปสืบค้นรายละเอียดในการสั่งและการจัดการทั้งหมดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมได้รู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 
2.    คณะผู้บริหารไทยพีบีเอส ต้องทบทวนการแสดงความรับผิดชอบที่ผ่านมา โดยจะต้องรอผลการตรวจสอบตามข้อเรียกร้องเบื้องต้นเสียก่อน และหากมีความผิดจริงก็ขอให้ร่วมกันรับผิดชอบตามความอย่างเหมาะ 
3.    สังคมจะต้องเปิดใจและเปิดกว้างต่อเรื่องนี้ ด้วยมีมูลเหตุและแรงจูงใจที่เป็นไปได้ว่าในเรื่องการหาประโยชน์จากการซื้อขายปลากุเลาฯ ทั้งยังพบว่ามีความพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบของคนบางกลุ่มและบางหน่วยงาน เพื่อให้เขาพ้นข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ 

จึงหวังอย่างยิ่งว่า จะมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย 

                    
แถลง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565
กลุ่มองค์กร/เครือข่ายที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์สภาประชาชนภาคใต้
เรื่อง รัฐบาลต้องค้นหาข้อเท็จจริงกรณีปลากุเลาตากใบ ก่อนไทยพีบีเอสจะอ้างความรับผิดชอบ

1.    สภาประชาชนภาคใต้
2.    เครือข่ายทรัพยากรแร่และสิ่งแวดล้อมภาคใต้
3.    มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
4.    มูลนิธิอันดามัน
5.    เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
6.    สมัชชาคนสตูล
7.    กลุ่มรักจังสตูล
8.    กลุ่มอนุรักษ์เขาโต๊ะกรัง
9.    มูลนิธิชุมชนไท
10.    กลุ่ม Beach for life
11.    เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
12.    เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต
13.    ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
14.    สมาคมพังงาแห่งความสุข
15.    เครือข่าย คปสม.พังงา
16.    เครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดสตูล
17.    ขบวนสภาอง์กรชุมชนภาคใต้
18.    กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง
19.    เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net