‘เสียง’ และ ‘ความเป็นแม่น้ำโขง’ ต่อการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

‘เสียง’ ของ ‘ผู้ถือสิทธิ์’ (The rightsholders) ในแม่น้ำโขงและห้วยสาขามีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนท่ามกลางสถานการณ์ที่แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติจากโครงการพัฒนาเขื่อนตลอดระยะเวลาที่ผ่าน และล่าสุดก็คือเขื่อนไซยะบุรี ‘เสียง’ ของผู้ถือสิทธิ์จึงเป็นต้องได้ยินได้ ‘ฟังอย่างลึกซึ้ง’ (Deep listening) โดย ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (Stakeholders) ได้แก่ รัฐบาลไทย รัฐบาลลาว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการแม่น้ำโขง บริษัทสำรวจ และบริษัทที่จะสร้างเขื่อน 

‘เสียง’ เหล่าจำต้องถูกบันทึกไว้และนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับคนริมโขง เพราะมันเป็นเสียงที่มีความหมายและมีความสำคัญยิ่งเพื่อเป็นทางออกของปัญหาแม่น้ำโขงร่วมกัน ‘เสียง’ ที่เสนอในบทความขนาดสั้นนี้มาจากการคุยกับผู้คนในชุมชนริมโขงซึ่งผู้เขียนได้คลุกคลี ณ บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่คาดว่าจะมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม/สาละวันในชุมชนนี้ ในอีกไม่เกิน 7 ปีข้างหน้า 

เมื่อไม่นานมานี้ คือราวๆต้นปี 2565 บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มโดยพ่นสีแดงไว้บนถนนระหว่างบ้านกุ่มและบ้านตามุย ชาวบ้านละแวกนั้นเล่าว่าบริษัททาสีแดงทาบบนถนนและวางจุดสีแดงในสวนลำใยโดยคาดว่าจะมาเจาะชั้นหินและดินไปตรวจดูความเหมาะสมเพื่อสร้างเขื่อนในอนาคต ส่วนอีกฟากฝั่งของแม่น้ำโขงคือบริเวณประเทศลาว บริษัทนี้ได้เข้าไปสำรวจมาแล้วโดยไม่มีปัญหาใดๆ


ภาพ: จุดสีแดงคือการแสดงการสำรวจเขื่อนบ้านกุ่ม/สาละวันในพื้นที่ระหว่างบ้านตามุยและบ้านกุ่ม

‘เขื่อนบ้านกุ่ม/เขื่อนสาละวัน’ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่มาก คาดว่าตัวเขื่อนจะตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ระหว่าง 2 ประเทศคือ ประเทศไทย และประเทศลาว  คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงคาดว่าเขื่อนนี้จะผลิตไฟฟ้าไฟ้ได้ 1,872  เมกกะวัตต์ จะมีชาวบ้านถูกโยกย้ายถิ่นฐาน (แต่มิได้ระบุว่าเป็นจำนวนคนหรือครัวเรือนเอาไว้ในเอกสาร) เพียงแต่บอกว่าจำนวน 2,570 และขนาดของอ่างเก็บน้ำจะทำให้พื้นที่หลายส่วนของชุมชนริมโขงฝั่งไทย 7 ชุมชนได้รับผลกระทบได้แก่ บ้านตามุย บ้านท่าล้ง บ้านคันท่าเกวียน บ้านปากลา บ้านดงนา บ้านสำโรงและบ้านสองคอน รวมทั้งอีก 6 หมู่บ้านในฝั่งลาว (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, 2010)  เขื่อนนี้เป็นข่าวที่ดังมากเมื่อ 10 ปีกว่าๆ  ชาวบ้านฝั่งไทยในพื้นที่ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน สมาชิกสภาผู้แทนบางกลุ่ม และนักวิชาการได้คัดค้านจนทำให้ชื่อเขื่อนนี้เลือนหายไปในสื่อต่างๆ แต่ปัจจุบันเขื่อนนี้กำลังปรากฎตัวคืนมาอีกครั้งภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์และมีชื่อใหม่ที่เรียก ‘เขื่อนสาละวัน’


 

ที่มา: เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง. 2562. สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง
สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง, หน้า 11.
http://www.mymekong.org/wp-content/uploads/2019/07/The-Mekong-River-Situation.pdf

‘เสียง’ ของคนริมโขงจะต้องไม่เงียบหาย แต่ต้องดังก้องกังวาน (Resonance) เพื่อสื่อสารกับผู้มีส่วนใด้ส่วนเสียเพื่อยับยั้งไม่ให้แม่น้ำโขงกลายเป็นแม่น้ำแห่งความเงียบงันเต็มไปด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ตามแผนการที่จะสร้างในอีกไม่ช้านี้ หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใช้ทักษะ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ เพื่อเข้าใจอย่างรอบด้านและลุ่มลึกบนเหตุและผล มาฟังเสียงเขาดู…

‘เสียง’ ความสุขวัยเยาว์ 

“ตั้งแต่สมัยก่อน รู้สึกว่ามันมีความสุข มีความผูกพัน”

“แต่เดิม เราสามารถดื่มน้ำจากแม่น้ำโขงได้ ลงเล่นน้ำได้ เล่นน้ำด้วยความสบายใจ”

“แต่เกิดมาก็มีความรู้สึกว่า น้ำโขงคือของเราความสุขก็คิดว่าบ้านเราสุขที่สุดลงน้ำก็มีปลา มีหอย มีกุ้ง”

“ปลาของเรา สวนและแม่น้ำโขงเป็นของเรา ไม่ได้ติดว่าเป็นของคนอื่นจับจองของใครของมันแล้วก็แล้ว”

“ถ้าทำเกษตรริมโขงก็แบ่งกันกิน”

“ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องทรัพยากร”

‘เสียง’ ไหลของน้ำโขง 

“โขงมีความสุข ยามเราไปหาโขง ตอนเรามองเขา พอเราไปสัมผัส ไม่นั่งมอง เห็นโขงไหลไป เรามีความสุข โขงมีอิสระ โขงทำอะไรก็ได้ ผ่อยคลายสบายใจ ลายลมพัดมา ความเย็นของน้ำ ของลม มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่คน สร้างขึ้น”

“ตอนน้ำโขงลด โขงมันไหลไปเรื่อยๆ เสียงมันน่าฟัง เป็นเสียงที่ฟังแล้วอยากนอนไปกับเสียงของมัน มัน นุ่มๆ ดังเบาๆ แต่ไม่ใช่เสียงอ่อนแอนะ มันเป็นเสียงคนแข็งแกร่ง และเข้มแข็ง ส่วนช่วงน้ำโขงขึ้น เสียงของมันจะแรงมาก เสียงดังเพราะน้ำโขงกระทบหิน”


ภาพแม่น้ำโขง ถ่ายภาพโดยยอดทอง  จันทร์สุข ชาวบ้านหญิงบ้านตามุย 

‘เสียง’ ของกาย…แม่น้ำโขง คือ ร่างกาย ลำห้วย คือ แขนขา

“ห้วยเล็กๆ คือแขนขาของแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงคือร่างกาย ตอนน้ำขึ้น แม่น้ำโขงจะแหย่เข้ามาหาห้วย มีความรู้สึกว่าอาบอยู่ห้วยก็คืออาบอยู่โขงเหมือนกัน ลำน้ำสาขาคือส่วนหนึ่งของโขง น้ำสามารถเชื่อมกัน”

“หน้าฝนน้ำโขงไหลแรง น่ากลัว เราจะไปเล่นที่ห้วยเล็กที่ไหลลงโขงเพราะมันไม่น่ากลัว หน้าแล้งไปจับปลา หาหอย ปลูกพริก ผัก ต่างๆ”

‘เสียง’ ตัดพ้อ เจ็บปวด และ สาหัส จากการ “เป็นแม่น้ำของเขื่อน” แต่มิใช่แม่น้ำของคนและธรรมชาติ’ 

“แม่น้ำกำลังป่วย” 

“โขงกำลังจะตาย” 

“น้ำโขงตอนนี้ป่วย ป่วยอาการหนักเลย ถ้าตันแล้ว คือสิบ่มีน้ำโขง คือสิมีแต่น้ำเขื่อน”

“แม่โขงจะหาย เขาจะเรียกว่าเขื่อนที่นั้นเขื่อนที่นี่ แม่น้ำโขงจะหาย น้ำโขงคือสิ้นชีวิตไปแล้ว ตายไปเลย”

“ทุกวันนี้เขาทำเขื่อนเป็นช่วงๆ ในแม่นำโขง คือบีบแม่น้ำโขงแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ ระบบนิเวศก็ไม่ดี สมัยพ่อแม่แม่น้ำโขงสมบูรณ์”

‘เสียง’ ตึงเครียด และ วิตกกังวล ต่อเขื่อนบ้านกุ่ม/เชื่อนสาละวัน 

“อนาคตเกี่ยวกับแม่น้ำ หากมีการเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม (หมายถึงเขื่อนบ้านกุ่ม) มันจะเกิดการเปลี่ยน ทำเขื่อน น้ำมีสารพิษ”

“จะจัดการแม่น้ำอย่างไร หนูคิดว่า กะไม่อยากให้มีเขื่อน (เขื่อนบ้านกุ่ม) เพราะเขาว่าจะสร้างเขื่อน ไหนน้ำจะไม่ลด หากินก็ยาก เกษตรริมโขงก็ไม่มี ปูปลาหายากขึ้น”

“จากที่หัวเราะแบบสุข กลายเป็นยิ้มที่ไม่มีความสุข จะได้ออกจากหมู่บ้าน มีความกังวล ถามใครก็ไม่รู้ และ ก็ไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไร จะให้อพยพออกจากหมู่บ้าน ความเดือดร้อนของชาวบ้าน”


 

“ถ้าเขามาสร้าง (เขื่อนบ้านกุ่ม) ชีวิต (ของแม่น้ำโขง) จะไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไปเพราะถูกบุกรุก เดิมแล้วเหมือนเรามีพี่น้อง เราอาศัยเพื่อน อาศัยกันและกัน ทั้งปู ปลา เขื่อนบ้านกุ่มมา คือทุกข์เข้ามาในชีวิต คงจะทำให้ป่วย เหมือนเลือดไม่หมุนเวียน เกิดการบ่มโรค เกิดความป่วยแล้ว คนที่อาศัยเราก็จะเดือดร้อนไปด้วย ทั้งคน หอย ปู ปลา หากเราป่วย เราไม่มีกำลัง เราไม่มีแรง”

‘เสียง’ ตระหนัก หยัดยืน และ พึ่งพาตนเองได้แบบสบายๆหากแม่น้ำโขงไหลเป็นธรรมชาติ รัฐไม่ต้องพัฒนาอะไร ชาวบ้านก็อยู่ได้เพราะมีโขง

“เรื่องเงินใช้เรื่องต่างๆ เพราะเรามีของเราอยู่แล้ว (มีแม่น้ำโขงและทรัพยากรในแม่น้ำโขง) โดยที่ไม่ต้องไปดิ้นรนหรือให้ทางภาครัฐช่วยเหลืออะไร”    

‘เสียง’ เสนอข้างต้นเป็นทั้งวัตถุ (Material) และ ปฏิบัติการ (Practice) ของ ‘ความเป็นแม่น้ำโขง’ (Riverhood) ซึ่ง ‘ความเป็นแม่น้ำโขง’ ถูกสร้างขึ้นจากวิถีวัฒนธรรมสังคมเศรษฐกิจ บริบทประวัติศาสตร์และการเมืองในห้วงเวลาต่างๆ ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและนิเวศ (Society and nature relations) ที่ถูกอธิบาย ตีความ ให้ความหมาย ให้สิทธิ์และให้คุณค่าต่อความเป็นแม่น้ำโขงและต่อวิถีชีวิตคนที่อาศัยแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่แตกต่างกันระหว่างชาวบ้านที่เปล่งเสียงข้างต้นกับรัฐและกลุ่มทุน

‘เสียง’ ในฐานะที่เป็นวัตถุ หมายถึง ‘เสียง’ ที่บ่งบอก ‘ความจำเป็น’ (Necessity) ของความเป็นแม่น้ำโขงในฐานะแหล่งอาหาร รายได้ พื้นที่แห่งความสุข และ ความมั่นคงของชีวิต ‘เสียง’ ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการ หมายถึงเสียงที่สะท้อนของสิทธิ์และอำนาจอันชอบธรรมของคนริมโขงที่ต้องการให้แม่น้ำโขงมี ‘ความเป็นแม่น้ำ’ อย่างที่มันเป็นมาโดยตลอด นั่นคือ ‘เป็นแม่น้ำที่ไหลอย่างเป็นธรรมชาติ’ ‘เป็นแม่น้ำที่ไหลอย่างมีอิสระ’ ‘เป็นแม่น้ำที่เสมือนมนุษย์’ ซึ่งหมายความว่า แม่น้ำโขงมีสถานะที่ไม่ต่างไปจาก ‘คน’ นั่นคือการมีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งอื่นรอบๆแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ และพืชพันธุ์ทั้งอยู่ในแม่น้ำโขงเองและลำน้ำสายเล็กๆและสายใหญ่ๆ ‘เป็นแม่น้ำแห่งการทำมาหากินและดำรงชีพ’

‘เสียง’ คนริมโขงสะท้อนว่า คนโขงมิได้ใช้แค่แม่น้ำโขงสายหลักเท่านั้น แต่ คนโขงใช้แม่น้ำสาขาหรือห้วยเล็กๆ ที่ไหลลงน้ำโขงอยู่ตลอดเวลาตามฤดูกาล เช่น ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม/เขื่อนสาละวันบริเวณพื้นที่บ้านตามุยแห่งนี้ มีลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงสายสำคัญที่ไหลลงโขง ได้แก่ ลำห้วยตามุย ลำห้วยนาแสน และฮ่องบอน (ฮ่องหมายถึงร่องน้ำขนาดเล็ก)  ห้วยและฮ่องคือแหล่งทำมาหากินสำคัญของชาวบ้านและแหล่งวางไข่ของปลาในฤดูน้ำขึ้น เมื่อน้ำลดลงชาวบ้านเข้าไปปลูกพริก มะเขือ ถั่ว ข้าวโพด ผักกาดฮิ่น และมันแกว อีกทั้งเป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ แหล่งน้ำใช้ของชาวบ้าน และ แหล่งหาปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักหาสัตว์น้ำจากลำห้วยเล็กๆ เหล่านี้เพราะเข้าถึงง่าย เช่น  กบ เขียด ปลา กุ้ง และ หอย เป็นต้น 

‘ผู้เกี่ยวข้อง’ กับเขื่อนบ้านกุ่ม/เขื่อนสาละวัน ได้แก่ รัฐบาลลาว รัฐบาลไทย บริษัทสำรวจได้แก่ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU- Memo of Understanding) เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และบริษัทที่จะดำเนินการก่อสร้างได้แก่ อิตาเลียนไทย  คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต้องมาจัดเวทีรับฟังเสียงคนริมโขงในพื้นที่และมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า  ‘ฟังอย่างลึกซึ้ง’ นั่นคือการฟังแบบมี ‘ความรู้สึกรู้สมและมีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ฟังความต้องการ ข้อมูล อารมณ์ ความรู้สึก และความหมาย’ ของแม่น้ำโขงในสายตาของผู้คนริมน้ำโขงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

‘ความเป็นแม่น้ำโขง’ ที่เสนอผ่าน ‘เสียง’ ไม่ใช่เพียงแม่น้ำสายหลักแต่คือองคาพยพทั้งหมดของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผู้คนริมโขง และสรรพสิ่งที่ประกอบสร้าง ‘ความเป็นแม่น้ำโขง’ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมนิเวศ อีกทั้งอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวข้อง

‘การฟังเสียงอย่างลึกซึ้ง’ พร้อมกับข้อมูลข้อเท็จจริงและความตรงไปตรงมาของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนโดย ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (Stakeholders) จะช่วย ‘เปิดพื้นที่ให้เสียงของทุกสรรพสิ่งทั้งเสียงของธรรมชาติและเสียงผู้คนริมโขง’ มีความหมาย มีความสำคัญ และ มีส่วนร่วมในฐานะ ‘ผู้ถือสิทธิ์’ (the rightsholder) ในพื้นที่แม่น้ำโขง ได้มีสิทธิ์ที่จะรักษาและปกป้องแม่น้ำโขงรวมทั้งลำห้วยสาขา

‘เสียง’ เสนอในที่นี้ สะท้อนว่าสำหรับผู้คนริมแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาแล้ว แม่น้ำโขงคือแก่นของชีวิตทั้งมวล คนริมโขงเปรียบแม่น้ำโขงเหมือนร่างกายจิตใจ ส่วนลำน้ำสาขาเป็นเสมือนแขนขาของแม่น้ำโขง ดังนั้นแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาทั้งระบบจึงหมายถึงองคาพยพที่มีชีวิตในตัวเองและทำหน้าที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในทุกมิติทั้งต่อระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
 

อ้างอิง

MRC (Mekong River Commission-คณะกรรมการธิการแม่น้ำโขง). 2010. Profiles of 12

proposed Mainstream https://www.mrcmekong.org/assets/Publications/Consultations/SEA-Hydropower/3-LMB-MSD-DriversQuick-Project-profiles-4Jun10.pdf)

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กนกวรรณ มะโนรมย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หมายเหตุ:   ผู้เขียนขอขอบคุณชาวบ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เปล่งเสียงออกมา ขอบคุณนุ้ย (คำปิ่น อักษร) ผู้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวตามุยมากกว่า 10 ปี และ ขอขอบคุณอาจารย์ ดร. วรธนิก โพธิจักร อาจารย์หลักสูตรภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สำหรับการพิสูจน์อักษรและปรับแก้ภาษาให้สละสลวยมากยิ่งขึ้น และ เสียงที่ปรากฏในบทความนี้มาจากชาวบ้านตามุย ที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ไว้ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2565

ภาพปก: ภาพแม่น้ำโขง ขณะตะวันชิงพลบ  บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท