ประมวลสถานการณ์ปัญหาการเลิกจ้างตัวแทนของสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง

ประมวลสถานการณ์ที่มาของการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง จากกรณีบริษัทไม่ขึ้นค่าจ้างประจำปี 63 ตามข้อตกลง สู่สหภาพแรงงานฯ ฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน และการร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จนถึงข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานให้บริษัทรับ 11 กรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานภายใน 30 พฤศจิกานี้

ช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีการเลิกจ้างพนักงานโรงงานในหลายอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งขณะนี้ยังคงมีรายงานการเลิกจ้างให้เห็นตามสื่อ กระทั่งปิดโรงงาน ย้ายกิจการไปต่างประเทศ เช่น บริษัทพานาโซนิค แต่ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างกรณีปัญหาการเลิกจ้างพนักงานที่มุ่งขจัดตัวแทนของฝ่ายแรงงานในการต่อรองปรับปรุงสภาพการจ้างเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งแตกต่างจากกรณีการเลิกจ้างพนักงานอื่นที่มักเกี่ยวข้องกับกำไรขาดทุน การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้อยู่รอด หรือแสวงหาโอกาสทำกำไรอย่างยั่งยืน เพื่อรณรงค์ปกป้องสิทธิการรวมกลุ่ม เจรจาต่อรอง และเปิดเผยปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมทั้งความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของแรงงาน

ผู้บริหารของบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด (เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ) ได้ยื่นคำร้องขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่งต่อศาลแรงงานกลางและเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานที่ไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้าง รวมทั้งสิ้น 12 คน เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565  โดยอ้างว่ากระทำผิดตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จัดประชุมใหญ่ไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งตัวแทนสหภาพแรงงานยืนยันว่า กรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 12 คน ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวหา  

ที่มาของการเลิกจ้าง

ตามข้อบังคับของสหภาพแรงงานและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 กำหนดให้สหภาพแรงงานต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งสหภาพแรงงานฯ ถือปฏิบัติติดต่อกันมาตลอดทุกๆ ปี และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 สหภาพแรงงานฯ จัดประชุมใหญ่ขึ้นตามปกติ โดยมีสมาชิกเวียนกันมาลงชื่อเข้าร่วมประชุมจำนวน 840 คน เพราะบริษัทฯ มีเวลาทำงานที่ไม่ตรงกัน เมื่อประธานสหภาพแรงงาน เห็นว่า จำนวนสมาชิกที่อยู่ในที่ประชุมครบองค์ประชุมแล้ว ประธานฯ จึงเปิดการประชุมและให้สมาชิกพิจารณาวาระต่าง ๆ หลายวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระที่ 8 พิจารณาเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของสมาชิกและพนักงานตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ประชุมพิจารณาและมีมติมอบหมายให้สหภาพแรงงานฯ เป็นตัวแทนในการดำเนินการหากเกิดกรณีที่ผู้บริหารของบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งดำเนินคดีในศาลด้วย

บริษัทไม่ขึ้นค่าจ้างประจำปี 2563 ตามข้อตกลง

จากนั้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ผู้บริหารของบริษัทฯ ประกาศชะลอการปรับค่าจ้างประจำปี 2563 ให้แก่พนักงานทุกคน  สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า การชะลอการปรับค่าจ้างดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของสมาชิกและพนักงาน สหภาพแรงงานฯ จึงเข้าพบและเจรจากับฝ่ายบริหารเพื่อรับทราบเหตุผลและความจำเป็นของบริษัทฯ แต่การเจรจาไม่เป็นผล และฝ่ายบริหารของบริษัทฯ มีประกาศไม่ปรับค่าจ้างประจำปี 2563 ให้แก่พนักงาน ซึ่งสหภาพฯ ขอเจรจาเช่นกันแต่ไม่เป็นผล สหภาพแรงงานฯ จึงเห็นสมควรฟ้องร้องต่อศาลแรงงานเพื่อให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง

สหภาพแรงงานฯ ฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน

การฟ้องคดี สหภาพแรงงานฯ ดำเนินการตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ลงมติไว้ล่วงหน้าแล้ว และมีการส่งรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นนายทะเบียนของสหภาพแรงงานฯ ด้วย สหภาพแรงงานฯ พยายามชี้แจงบริษัทว่า ไม่ได้จัดทำเอกสารรายงานการประชุมใหญ่อันเป็นเท็จเพื่อใช้ฟ้องร้องบริษัทให้ได้รับความเสียหายดังที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ กล่าวอ้าง  อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่สหภาพแรงงานฯ ฟ้องบริษัทฯ เรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ด้วยเหตุนี้ สหภาพแรงงานฯ จึงยุติคดีโดยไม่อุทธรณ์ต่อ  เพราะต้องการที่จะรักษาระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน ฯ กับบริษัทฯ ไว้

กระนั้น ผู้บริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทฯ มีคำสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงาน/กรรมการลูกจ้างหยุดทำงานโดยได้รับค่าจ้าง และห้ามไม่ให้เข้าไปภายในบริเวณโรงงาน ทำให้กรรมการสหภาพแรงงานเดือดร้อน เพราะได้รับค่าจ้างพื้นฐานประมาณ 8,000 บาท ซึ่งน้อยเพราะเป็นลูกจ้างรายวัน ทำงานระบบ 4 วัน หยุด 2 วัน ค่าจ้างของพนักงานโดยเฉลี่ยวันละ 353 บาท (คิดค่าจ้าง 20 วัน/เดือน หรือ 244 วัน/ปี) และยังเป็นการบั่นทอนจิตใจกันอย่างรุนแรง ทำให้สมาชิกของสหภาพแรงงานเกิดความหวาดหวั่นในสถานะของการเป็นสมาชิกภาพ เพราะเห็นตัวอย่างที่คณะกรรมการถูกกระทำจากฝ่ายบริหารดังกล่าว

การร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

ในประเด็นของการจัดประชุมสหภาพแรงงานไม่ครบองค์ประชุม น.ส.ชวัลลักษณ์ โสคำ หนึ่งในผู้ถูกเลิกจ้างที่ไม่ได้เป็นกรรมการลูกจ้าง ร้องเรียนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ในสอบสวนในประเด็นเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขัดต่อมาตรา 121 และ 123 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และขอให้บริษัทรับ น.ส.ชวัลลักษณ์ โสคำ กลับเข้าทำงาน จากนั้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) วินิจฉัยว่า บริษัทเลิกจ้าง น.ส.ชวัลลักษณ์ โสคำ เป็นการกระทำไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 121และ 123  การวินิจฉัยยังระบุว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานที่ทำหน้าที่ฟ้องร้องบริษัท ไม่ได้จัดทำเอกสารการประชุมอันเป็นเท็จมาดำเนินคดีกับบริษัท การกระทำของผู้แทนสหภาพแรงงานขาดเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อหรือเกิดความเสียหายแก่บริษัท เป็นการรักษาสิทธิตามกฎหมาย ไม่เป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง จึงมีคำสั่งให้บริษัทรับ น.ส.ชวัลลักษณ์ โสคำ กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย และให้ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 10 วัน แต่บริษัทใช้สิทธิ์ทางศาลแรงงานขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นผลให้คำสั่งรับกลับเข้าทำงานต้องยืดเยื้อออกไปอีกเป็นเวลานาน  ซึ่งตัวแทนสหภาพแรงงานมองว่า การกระทำนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า บริษัทใช้กระบวนการทางศาลกลั่นแกล้งกดดันให้กรรมการสหภาพแรงงานทนทำงานต่อไปไม่ได้ ไม่เป็นการรักษาแรงงานสัมพันธ์ที่ดีแต่อย่างใด

ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง สรุปว่า การกระทำของบริษัท แม้จะเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน เป็นการอาศัยกระบวนการทางกฎหมายในอันที่จะทำลายสิทธิ เสรีภาพ การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและสิทธิการเจรจาต่อรอง แทรกแซงการประชุมของสหภาพแรงงาน และกลั่นแกล้งให้ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ นั่นแสดงถึงการกระทำที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองของสหภาพแรงงาน อันอาจเป็นการขัดต่อหลักจรรยาบรรณการค้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (EICC)  ที่บริษัทได้ประกาศเป็นเกณฑ์มาตรฐานในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ร้องให้บริษัทรับ 11 กรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานภายใน 30 พฤศจิกายน นี้

สหภาพแรงงานมีประสบการณ์การต่อสู้มานาน นับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2522 เป็นตัวแทนพนักงานเจรจาทำข้อตกลงกับนายจ้างเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขั้นตามลำดับ มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัท ให้ความร่วมมือกับบริษัทในการสร้างผลผลิตที่ก้าวหน้า ทำให้บริษัทมีผลกำไรมาโดยตลอด แม้ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤติการณ์โควิดเมื่อสองปีที่ผ่านมาแต่ NXP ประเทศไทยยังทำกำไรในปี 2564 ถึง 993,455,285 บาท มีจำนวนพนักงานประมาณ 3,200 คนผลิตสารกึ่งตัวนำ ชิพ เซ็นเซอร์ให้บริษัทผลิตรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นเหตุผลของการปรับค่าจ้างประจำปีให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม

กอปรกับเมื่อปี 2556 บริษัทเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานจากเดิมที่ทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน (6.1) ให้เป็นระบบทำ 4 หยุด 2 (4.2) ซึ่งทำให้วันทำงานทั้งเดือนลดลงและรายได้ของพนักงานถดถอย ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัวได้ ชีวิตของพวกเขายังลำบากมากขึ้นในช่วงของการระบาดของโควิด-19  เมื่อบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างเพิ่มค่าจ้างประจำปีให้แก่พนักงาน สหภาพแรงงานจึงดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน แต่บริษัทกล่าวหาว่าการประชุมสามัญประจำปีมีสมาชิกเข้าร่วมไม่ครบองค์ประชุม สหภาพแรงงานจึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลแรงงาน ด้วยข้อหาลักษณะที่แทรกแซงการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงาน ไปสู่การเลิกจ้างขจัดตัวแทนของแรงงาน กระนั้นนายจ้างไม่อาจขัดขวางการดำเนินงานขององค์กรสหภาพแรงงานแม้กรรมการจะยังอยู่ข้างนอก พวกเขายังคงทำหน้าที่ตัวแทนแรงงาน เจรจาข้อเรียกร้องประจำปี 2565 ที่ยื่นนายจ้างเมื่อเดือนสิงหาคม และจัดประชุมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ที่มาข้อมูล : สัมภาษณ์กรรมการสหภาพแรงงานเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง ที่ถูกเลิกจ้าง และเอกสารคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 73/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท