Skip to main content
sharethis

'ราษฎรหยุด APEC 2022' เชียงใหม่ โดยคณะก่อการล้านนาใหม่, กป.อพช. ภาคเหนือ และประชาชนราว 50 คน รวมตัวที่หน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึงทูตสหรัฐฯ เรียกร้องให้ตำรวจรับผิดชอบกรณีใช้ความรุนแรงสลายม็อบเอเปค เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 ทำ “พายุ ดาวดิน” เหยื่อกระสุนยาง คฝ. สูญเสียดวงตาหนึ่งข้าง ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน

 

29 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.30 น. เครือข่าย 'ราษฎรหยุด APEC 2022' เชียงใหม่ โดยคณะก่อการล้านนาใหม่, กป.อพช. ภาคเหนือ และประชาชนราว 50 คน รวมตัวที่หน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึงเอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ต่อกรณีการสลายการชุมนุมโดยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ คฝ. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 หรือม็อบเอเปค จนเป็นเหตุให้ “พายุ ดาวดิน” หรือ พายุ บุญโสภณ เหยื่อกระสุนยางจากการสลายการชุมนุมของ คฝ. ต้องสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง และมีผู้ชุมนุม รวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน

ประชาชนที่มามีการตะโกนคำว่า “เอเปคเลือด” ระหว่างเคลื่อนขบวนมาที่บริเวณหน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ พชร คำชำนาญ ตัวแทนจากเครือข่าย 'ราษฎรหยุด APEC 2022' ได้อ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานกงสุล และเล่าถึงเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของ คฝ. ที่กระทำต่อผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 ก่อนที่จะยื่นหนังสือให้แก่เจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลตัวแทนที่ออกมารับมอบหนังสือ

พชร คำชำนาญ ตัวแทนจากเครือข่าย 'ราษฎรหยุด APEC 2022'

ยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลสหรัฐฯ

'ราษฎรหยุด APEC 2022' เชียงใหม่ ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาหนึ่งในประเทศสมาชิก APEC ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในการประชุม APEC2022 ด้วยการกดดันรัฐบาลไทย ให้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุด APEC ต่อการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และขอให้สหรัฐอเมริกายกเลิกข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศกับไทยที่เกิดขึ้นระหว่างประชุม APEC โดยขอให้คำนึงถึงหลักการ Business and Human Rights ที่อาจจะส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นโดยรัฐไทย รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรโดยรัฐ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากประชาชนหรือไม่ แม้เพียงแต่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นต่อการประชุม รัฐบาลถึงกลับใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ต่อประเทศไทยในกรณีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง มี 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกมาแสดงการยอมรับผิดและออกมาขอโทษกับกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และชดใช้ค่าเสียหายทั้งร่างกายและสิ่งของที่สูญเสียไป

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการหาตัวผู้สั่งการและผู้กระทำความผิดในการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ จากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และมาลงโทษ ทั้งทางวินัยและทางอาญา

4. ปฏิรูปการควบคุมการชุมนุมให้สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมแก่ประชาชน โดยรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีก โดยอย่างน้อยต้องมีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมทุกนาย ทุกครั้ง และเจ้าหน้าที่ทุกคนทั้งในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบ ต้องถูกระบุตัวตนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเสียเอง และให้ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมตามหลักสากลและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เอื้อต่อประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

 

หนังสือที่ยื่นต่อเอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

เรื่อง ข้อเรียกร้องของกลุ่ม ราษฎรหยุด APEC ต่อประเทศของท่านในฐานะสมาชิก APEC ต่อกรณีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง 18 พฤศจิกายน 2022

เรียน เอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ราษฎรหยุด APEC 2022 เป็นการรวมตัวกันขององค์กรของชาวนา แรงงาน คนจน คนรากหญ้า และประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการและส่งเสริมประชาธิปไตย กว่า 75 องค์กรทั่วประเทศ เพื่อจับตาการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ตลอดปี 2565 รวมถึงในการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC โดยเราได้จัดให้มีเวทีคู่ขนานสะท้อนความกังวลใจในนามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2565 ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร

จนในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ราษฎรหยุด APEC 2022 ได้ประกาศเคลื่อนขบวนเพื่อติดตามข้อเรียกร้องของเราทั้ง 3 ข้อ ได้แก่ 1) ต้องยกเลิกนโยบาย BCG รวมถึงระเบียบกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุม APEC รอง 2) ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่ม APEC และจะต้องยุติบทบาทในการเป็นประธานการประชุม APEC โดยทันที และ 3) ประยุทธ์ต้องยุบสภาและเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งในระหว่างการเคลื่อนไหวของราษฎรหยุด APEC 2022 เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น ได้เกิดการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน จนทำให้มีผู้ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ 25 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

 

ทำไมเราต้องคัดค้านการประชุม APEC

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ภายใต้คำขวัญ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ถูกโหมประโคมโฆษณาด้วยข้อความสวยหรูว่าเป็นการประชุมซึ่ง “สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม” “ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร” “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” โดย “ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพ APEC” แต่ในความเป็นจริงเนื้อหาของการกำหนดวาระการประชุมเช่นนี้ได้ซุกซ่อนหายนะต่อประชาชนอย่างมหาศาล และเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของตนเอง ทั้งรัฐบาล รัฐราชการ และกลุ่มทุน

โดยเฉพาะ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC รับรองเพื่อให้บรรลุ 'เป้าหมายกรุงเทพ ฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG' นั้น ได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570” โดยผู้บริหารและขับเคลื่อน BCG คือการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ กลุ่มอดีตข้าราชการระดับสูง ร่วมกับเครือข่ายของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ จึงไม่แปลกใจที่แผนการที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน BCG นั้นจะเน้นไปที่ประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่และรัฐราชการเป็นหลัก สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชน กล่าวคือ

1) นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการเปิดทางให้กับการโจรกรรมพันธุกรรม ทำให้นายทุนสามารถเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์หรือการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น จีเอ็มโอ ได้อย่างง่ายดาย ผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.ความหลากหลาย พ.ศ. ...  รวมถึงความพยายามในการแก้ไขแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อผูกขาดเมล็ดพันธุ์

2) นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการเปิดทางให้กับการปลูกพืชพลังงานและการทำโรงไฟฟ้า นำมาซึ่งการลดการปลูกพืชอาหาร เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร และปัญหาด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อประชาชน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลมหาศาล และการนำเข้าขยะพลาสติก และ      

3) นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสามารถผลักดันนโยบายการค้าคาร์บอนเครดิตโดยอ้างวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทุนอุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการปล่อยคาร์บอนนั้นไม่ต้องถูกควบคุม แต่ผลักภาระมาที่ชาวนา แรงงาน และคนจนทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ แต่กลับแย่งชิงที่ดินของประชาชนไปเข้าสู่โครงการปลูกป่าเพื่อเป็นพื้นที่คาร์บอนเครดิตของกลุ่มทุน โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีแนวนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ตามแผนของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งก็ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนอยู่แล้ว

 

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง 18 พฤศจิกายน 2565

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ราษฎรหยุด APEC 2022 ได้เคลื่อนไหวผลักดันข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ รวมถึงสะท้อนความไม่ชอบธรรมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเป็นประธานในที่ประชุม APEC โดยใช้เส้นทางถนนดินสอ ใกล้กับลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 31 คน รวมถึง พายุ บุญโสภณ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาข้างขวาทำให้ตาบอด รวมถึงมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 คนที่ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้ชุมนุม 26 คนถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่ามีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกรัฐไทยพยายามเข้าถึงข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเฉพาะนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่ร่วมการเคลื่อนไหวกับราษฎรหยุด APEC 2022

ขอเรียกร้องของเราต่อประเทศของท่าน

เราขอเรียกร้องให้ประเทศของท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในการประชุม APEC2022 ด้วยการกดดันรัฐบาลไทย ให้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุด APEC ต่อการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และขอให้ประเทศของท่าน ยกเลิกข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศท่านและประเทศไทยที่เกิดขึ้นระหว่างประชุม APEC โดยขอให้คำนึงถึงหลักการ Business and Human Rights โดยจำเป็นจะต้องศึกษาผลกระทบของข้อตกลงต่างๆ ของท่านว่าส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นโดยรัฐไทย รวมถึงการแย่งชิงทรัพยากรโดยรัฐ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากประชาชนหรือไม่ แม้เพียงแต่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นต่อการประชุม รัฐบาลถึงกลับใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน

ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ต่อประเทศไทยในกรณีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง มีดังต่อไปนี้

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกมาแสดงการยอมรับผิดและออกมาขอโทษกับกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และชดใช้ค่าเสียหายทั้งร่างกายและสิ่งของที่สูญเสียไป

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการหาตัวผู้สั่งการและผู้กระทำความผิดในการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ จากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และมาลงโทษ ทั้งทางวินัยและทางอาญา

4. ปฏิรูปการควบคุมการชุมนุมให้สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมแก่ประชาชน โดยรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีก โดยอย่างน้อยต้องมีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมทุกนาย ทุกครั้ง และเจ้าหน้าที่ทุกคนทั้งในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบ ต้องถูกระบุตัวตนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเสียเอง และให้ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมตามหลักสากลและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เอื้อต่อประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

ทั้งนี้เราขอยืนยันว่า การชุมนุมของเราเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามหลักสากลและพวกเราต้องการมีส่วนร่วมโดยการยื่นข้อเรียกร้องและความคิดเห็นเชิงนโยบายต่อผู้นำประเทศต่างๆในการประชุม APEC ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น เพราะ “เราไม่ใช่แค่ผู้บริโภค แต่เราคือผู้ได้รับผลกระทบด้วย”

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ

 

 

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net