‘กลุ่มผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ’ แถลง รัฐสวัสดิการ ต้องรวม ‘งานดูแล’ ชี้ ‘แม่-Care worker’ ต้องได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม

เนื่องในโอกาสวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2565 ‘ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย’ แถลงรัฐสวัสดิการต้องรวม ‘งานดูแล’ ชี้ ‘แม่-Care worker’ ต้องได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม พร้อมชง 6 ข้อเสนอ แก้รธน. ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของงานดูแลในบ้าน 

29 พ.ย. 65 เวลา 13.00-16.30 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (The community based WHRD Collective in Thailand) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายชุมชนและขบวนการภาคประชาชน 19 กลุ่ม จัดกิจกรรมแถลงข่าวและเสวนาสาธารณะเนื่องในโอกาสวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล เรื่อง “การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่อง Care Income คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล” เพื่อเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของงานของแม่และคนทำงานดูแลในบ้าน ซึ่งรวมถึงคนทุกเพศ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

(เรียงจากซ้าย) แสงศิริ ตรีมรรคา - นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ - ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล - ปรานม สมวงศ์ - ชูศรี โอฬาร์กิจ - อังคณา นีละไพจิตร - ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ขบวนฯ ระบุว่า งานดูแลในบ้านเป็นงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยสาเหตุหลักอันหนึ่งคือวัฒนธรรมที่เชื่อว่างานดูแลในบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และความเชื่อทางสังคมที่ว่าผู้หญิงหรือแม่ที่ดีต้องเสียสละทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ในขณะที่สังคมไทยให้ความสนใจเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการมากขึ้น นโยบายสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการถกเถียงเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานของแม่ของคนดูแลในบ้านอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีผลกระทบทำให้แม่และคนทำงานดูแลในหลายครอบครัวต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม โดยงานเหล่านี้ไม่ได้รับการให้คุณค่าทางสังคมและการเมือง และไม่ได้รับค่าตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจจากงบประมาณของรัฐ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเคยลงนามในปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (Beijing Declaration and Platform for Action) เมื่อพ.ศ. 2538 ซึ่งระบุว่างานดูแลในบ้านที่ผู้หญิงทำมีความสำคัญในการดูแลครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และต้องถูกนับและให้มูลค่า โดยปฏิญญาฉบับดังกล่าวยังเสนอให้รัฐบาลคำนวณและประมวลมูลค่าของงานดูแลในบ้านและให้นับสถิติดังกล่าวเป็นมูลค่าเศรษฐกิจในระดับประเทศด้วย

ระหว่างกิจกรรม ขบวนฯ มีการนำเสนอข้อเรียกร้อง 6 ข้อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้มีความตระหนักถึงคุณค่าของงานดูแลในบ้าน ดังนี้

1. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพพหุวัฒนธรรม กำหนดหลักการเพื่อสนับสนุนให้มีกฎหมายลูกออกมารับรองเรื่องสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงข้ามชาติ กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น อัตลักษณ์ภาษา ผู้หญิงพิการ เด็ก กลุ่มที่มีความหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนา 

2. ในรัฐธรรมนูญใหม่รัฐต้องตระหนักว่างานในบ้านเป็นงานที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ งานในบ้านเป็นงานต้องได้รับค่าตอบแทนตามมูลค่างานที่ทำ ตัวอย่างข้อเสนอของผู้หญิงในรัฐธรรมนูญของประเทศ ไอร์แลนด์ “รัฐต้องตระหนักถึงคุณค่าของงานดูแลที่กระทำโดยมารดาและผู้ดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัวและนอกบ้าน งานเหล่านี้เป็นการทำงานที่มีทักษะและเป็นการบริการที่มอบให้แก่สังคมโดยรวม สามารถเป็นประโยชน์และสร้างคุณูปการโดยรวมได้ โดยไม่มีสิ่งใดเทียบได้ รัฐจะต้องทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่ทำงานนี้โดยไม่เลือกปฏิบัติด้านเพศสภาพจะได้รับการตระหนักทางเศรษฐกิจและอื่นๆ และจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและค่าจ้างเนื่องจากการทำงานสร้างคุณูปการทางสังคมนี้” 

3. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดการศึกษาทางเลือกที่ต้องมีมากขึ้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมีและสามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตัวเอง รัฐต้องให้ การสนับสนุนทำให้ได้จริงและสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการศึกษาของเด็กในชุมชนที่ต้องมีคนดูแลพิเศษ เช่น เด็กพิการ, เด็กที่มีความต้องการพิเศษในการดูแลและส่งเสริมด้านต่างๆ เป็นพิเศษมากกว่าเด็กปกติทั่วไป ต้องจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความพิเศษของเขา จะต้องมีการจัดสรร ให้โรงเรียนในชุมชนมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ และงบประมาณสนับสนุน

4. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ เข้าถึงได้ เช่น ต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่มีผู้หญิงเข้าถึงการถือครองไม่ต่ำกว่า 50% ต้องจัดสรรให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการในทุกระดับอย่างน้อย 50% ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงอย่างรอบด้านโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีบ้านพักฉุกเฉินที่ผู้หญิงทุกคนใช้ได้ แรงงานหญิงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเท่าเทียม สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย ต้องมีทางเลือกให้ผู้หญิงที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐต้องมีสวัสดิการให้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงทุกกลุ่มด้วยการจัดให้มีล่ามหรือแปลเอกสารเป็นทุกภาษาของทุกกลุ่มผู้หญิง 

5. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดลดอำนาจกระจุกตัวและกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นที่ผู้หญิงทุกระดับมีอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วม

6. ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจและงบประมาณทหารเพื่อนำมาจัดสรรรัฐสวัสดิการให้กับผู้หญิงและประชาชนทุกคน

ก่อนจบกิจกรรม ตัวแทนขบวนฯ อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จากประชาชน และให้รัฐบาล สนับสนุนให้มีรายได้เพื่องานดูแลเป็นค่าตอบแทนให้แม่และผู้ให้การดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม รายได้เพื่องานดูแลเหล่านี้อาจจ่ายเป็นเงินสด หรือในรูปแบบที่อยู่อาศัย ที่ดิน และช่องทางอื่น นอกจากนี้ ขบวนฯ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ และแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อการรักษาและการฟื้นฟู พายุ บุญโสภณ ผู้สนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดิน จัดสรรค่าชดเชยให้กับเขาและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมระหว่างการประชุมเอเปคทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท