Skip to main content
sharethis

'เลขาฯคณะก้าวหน้า' แจงร่าง 'ปลดล็อกท้องถิ่น' เพิ่มอำนาจ-งบประมาณท้องถิ่นได้จริง ยกทั่วโลกกระจายอำนาจหลายรูปแบบ ไทยจะมีภูมิภาคหรือไม่ ให้ประชาชนตัดสินใจ ท้า ส.ว. โหวตผ่าน พิสูจน์ว่าแก้รัฐธรรมนูญได้ ถ้าเป็นประโยชน์ของประชาชน

30 พ.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (30 พ.ย.65) ที่รัฐสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อภิปรายนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น โดยเริ่มต้นว่าการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเทศไทยมีการพูดคุยมายาวนาน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 และเกิดผลเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์แบบ จึงมีความจำเป็นต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาที่ตกค้างมาอย่างน้อย 5 ประการ

ปิยบุตรกล่าวว่า ประการแรก อปท. ในประเทศไทยยังคงมีอำนาจและภารกิจอย่างจำกัด หลายครั้งเป็นไปอย่างล่าช้า มีอำนาจเฉพาะที่กฎหมายกำหนด แต่หากมีภารกิจอื่นในพื้นที่ที่ท้องถิ่นต้องการทำ แต่กฎหมายไม่ให้อำนาจ ก็ทำให้ปัญหาความทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ประการที่สอง ปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างอำนาจของราชการส่วนกลางและอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งถูกเอาไปวางไว้ในทุกๆ จังหวัด ซ้ำซ้อนกับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดสภาพอำนาจซ้ำซ้อน บางกรณีก็เกี่ยงกันทำ บางกรณีก็แย่งกันทำ

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ประการที่สาม ปัญหาเรื่องงบประมาณและรายได้ของ อปท. ไม่เพียงพอ ถ้าท้องถิ่นไม่มีรายได้ ไม่มีความเป็นอิสระทางงบประมาณเพียงพอ ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ ทุกวันนี้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นอยู่ที่ 35% แต่เอาเข้าจริง หลายๆ เรื่องเป็นงานฝากที่ราชการส่วนกลางเอาไปให้ท้องถิ่น เช่น การจ่ายเบี้ยสวัสดิการ เงินสวัสดิการต่างๆ เงินส่วนนี้ ท้องถิ่นไม่สามารถเอาไปคิดอ่านทำอะไรได้ ประการที่สี่ การกำกับดูแลของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ทำไปทำมากลายเป็นบังคับบัญชามากขึ้น เริ่มมีหนังสือเวียน ระเบียบ ข้อสั่งการต่างๆ เข้าไปสั่งการท้องถิ่นให้ทำนั่นทำนี่ หรือบางครั้งก็สำรวมนิดหน่อยโดยการใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ” ทั้งๆ ที่หลักการปกครองตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนกลางและภูมิภาคไม่ใช่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่จะไปสั่งการให้ท้องถิ่นทำอะไรได้ เต็มที่ไปได้ไกลสุดคือการประสานงานร่วมมือกัน และประการที่ห้า การมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่หมายความว่ากระจายระบบราชการแข็งตัวตึงตัวเอาไปไว้ที่ท้องถิ่น แต่จะต้องกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนพลเมืองในท้องถิ่น นั่นก็หมายความว่าพลเมืองจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นอกไปจากแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ปิยบุตรกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ที่ได้รวบรวมสังเคราะห์มาพร้อมกับการไปศึกษางานวิจัยของนักวิชาการจำนวนมาก นำไปสู่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น ที่มีสาระสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น รับรองหลักการกระจายอำนาจ, กำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะให้ท้องถิ่น, แก้ไขปัญหาเรื่องอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น, ยืนยันหลักการท้องถิ่น 2 ประเภท คือแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ, การประกันเรื่องหลักการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น, ขยับสัดส่วนรายได้ส่วนกลาง-ท้องถิ่น ไปสู่ร้อยละ 50-50 พร้อมทั้งกำหนดแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น การกู้เงินและออกพันธบัตรท้องถิ่น, เพิ่มรูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น มากกว่าแค่ให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะเอง, ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล, การกำหนดขอบเขตอำนาจกำกับดูแลของส่วนกลาง, การมีส่วนร่วมของประชาชน, กำหนดระยะเวลาการถ่ายโอนอำนาจเพื่อกำหนดสภาพบังคับ และแผนการจัดออกเสียงประชามติว่าประเทศไทยจะเอาอย่างไรกับราชการส่วนภูมิภาค

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การกระจายอำนาจในโลกนี้มีหลายรูปแบบ หลายประเทศกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์แต่ยังเก็บราชการส่วนภูมิภาคไว้ เช่น ฝรั่งเศส สเปน บางประเทศกระจายอำนาจสมบูรณ์โดยยกเลิกภูมิภาคไปเลย เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร การตัดสินใจจึงควรเป็นการถามประชาชนผ่านการทำประชามติ และไม่ใช่ทำแบบทันที แต่มีโรดแมปแผนการต่างๆ มาเสนอ และทำภายใน 5 ปี สิ่งนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าท้องถิ่นทำอะไร ภูมิภาคทำอะไร ถ้าประชาชนตัดสินใจว่ายกเลิก ส่วนภูมิภาคก็ไม่ใช่จะหายไป แต่จะถูกยุบไปรวมอยู่กับท้องถิ่นหรือส่วนกลางเท่านั้นเอง และร่างนี้ไม่ได้ยุ่งอะไรกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต่อให้ร่างนี้ผ่านกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คงอยู่

ปิยบุตรกล่าวว่า ตนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ในซีกสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่มีพรรคไหนบอกว่าไม่กระจายอำนาจ แต่อาจเห็นแตกต่างกันบ้างซึ่งเราสามารถไปปรับปรุงแก้ไขกันได้ต่อไปในวาระที่ 2 เช่นเดียวกันในสมาชิกวุฒิสภา ได้ยิน ส.ว.อภิปรายหลายครั้ง ท่านก็พูดชัดเจนว่าสนับสนุนการกระจายอำนาจ ขอเรียนว่าร่างนี้อาจช่วยให้วุฒิสภาแสดงออกให้สังคมได้เห็น ว่าวุฒิสภาไม่ได้ขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net