3 ก้าวไกล อภิปรายหนุน ร่างปลดล็อกท้องถิ่น - ส.ว.กิตติศักดิ์ ชี้เปรียบเสมือนต้นไม้-ผลไม้พิษ

  • 3 ก้าวไกล อภิปรายหนุน ร่างปลดล็อกท้องถิ่น 'พิธา' ชู กระจายอำนาจแบบบิ๊กแบง ปลดปล่อยศักยภาพทั่วประเทศ ชี้ กฎระเบียบรัฐรวมศูนย์ทำไทยชวดเงินช่วยเหลือกองทุนโลกร้อน 'พริษฐ์ ก้าวไกล' ตอบกลับทุกข้อกังวล แจงปลดล็อกท้องถิ่นควบคู่เพิ่มอำนาจประชาชน ช่วยลดทุจริต ย้ำกระจายอำนาจไม่เท่ากับแบ่งแยกดินแดน สวนกลับ ไม่ได้เสนอกระจายอำนาจสุดโต่ง ทุกวันนี้ต่างหากที่รวมศูนย์สุดโต่ง 'ณัฐพงษ์' เผยตัวเลขกลางสภา ชี้ชัดการทุจริต 'ส่วนกลาง' มากกว่า 'ท้องถิ่น' ย้ำร่าง รธน. 'ปลดล็อกท้องถิ่น' เพิ่มเครื่องมือ 'ปราบโกง' เอาไว้เรียบร้อย
  • ส.ว.กิตติศักดิ์ มองเสนอแก้หมวดท้องถิ่น เปรียบเสมือนต้นไม้-ผลไม้พิษ ขณะที่ ส.ว. สถิตย์ ชี้การมีอำนาจทางการคลังคือการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ลดพึ่งพิงรายได้ส่วนกลาง เพื่อสร้างแรงจูงใจพัฒนาท้องถิ่นตนเอง

 

30 พ.ย.2565 การประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น ของรัฐสภา ซึ่งมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชน 76,591 รายชื่อ เป็นผู้เสนอ โดยในวันนี้ (30 พ.ย.) ธนาธรและปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อภิปรายนำเสนอในรัฐสภา

The Reporters รายงานว่า หลังจากสมาชิกรัฐสภาอภิปรายเสร็จแล้ว ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หารือกับพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาแล้วว่า พรุ่งนี้คงไม่พร้อม ดังนั้น นัดหมายได้เร็วที่สุดคือ วันพุธที่ 7 ธ.ค. 65 ซึ่งมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประธานฯ จึงขอเลื่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 7 ธ.ค. 65 เป็นเวลา 13:00 น. เพื่อนัดหมายการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในช่วงเช้าของวันดังกล่าว เวลา 09:30 น. เพื่อถามมติที่ประชุมว่า จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนี้หรือไม่ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เท่านั้น โดยไม่มีวาระอื่น

สำหรับสมาชิกรัฐสภาอภิปรายสนับสนุนและคัดค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว บางส่วนมีดังนี้ 

'พิธา ก้าวไกล' ชู กระจายอำนาจแบบบิ๊กแบง ปลดปล่อยศักยภาพทั่วประเทศ ชี้ กฎระเบียบรัฐรวมศูนย์ทำไทยชวดเงินช่วยเหลือกองทุนโลกร้อน 

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ว่า จากวิกฤติโควิด วิกฤติค่าครองชีพ วิกฤติราคาพลังงานที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าศักยภาพของโครงสร้างรัฐรวมศูนย์แบบปัจจุบันไม่สามารถพาประเทศไปข้างหน้าได้ ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างบิ๊กแบง (Big Bang) รัฐราชการรวมศูนย์แบบที่เรามีอยู่ในขณะนี้ พาประเทศต่อไปข้างหน้าไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

พิธากล่าวว่า เกือบทุกคนคงเห็นตรงกัน ว่าประเทศต้องกระจายอำนาจ บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระจายแบบ Big Bang โดยมองว่าปฏิบัติได้ยาก แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปในเรื่องที่ยาก ผ่าตัดประเทศเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง ประเทศของเราก็จะเป็นกบต้มไปเรื่อยๆ จนพังพินาศไปอย่างไม่ทันรู้ตัว บางท่านอาจมองว่าร่างนี้สุดโต่ง แต่คำว่า “สุดโต่ง” เป็นเรื่องสัมพัทธ์ ไม่ใช่สัมบูรณ์ เทียบกับในอดีตร่างนี้อาจถูกมองว่าสุดโต่ง แต่เทียบกับสถานการณ์โลกในตอนนี้ ร่างนี้อาจไม่ทันกินด้วยซ้ำไป

พิธากล่าวต่อว่า หากรัฐสภาแห่งนี้ปฏิเสธที่จะรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ประเทศไทยของเราจะสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาลที่จะผ่าตัดพลิกโฉมประเทศไทยใน 3 เรื่อง โอกาสแรกคือการระเบิดศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากที่ประเทศไทยเคยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 3 เครื่องยนต์ ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ก็จะกลายเป็น 7,852 เครื่องยนต์ ทุกตำบล ทุกเมือง ทุกจังหวัดที่ถูกปลดล็อกจะสามารถกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย

พิธากล่าวว่า โอกาสที่ 2 ที่อาจสูญเสีย คือการเพิ่มศักยภาพให้การบริหารงานภาครัฐอย่างมหาศาล ดังที่แสดงในการศึกษาของ OECD ยิ่งประเทศมีระดับการกระจายอำนาจสูงขึ้น ระดับประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐก็สูงขึ้น ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือส่วนกลาง และโอกาสที่ 3 ที่จะสูญเสียไปมหาศาล คือการแก้ปัญหาสำหรับอนาคตในเรื่องภาคเกษตร เพราะใน 20-30 ปีข้างหน้า ผลผลิตการเกษตร ข้าว อ้อย มัน จะลดลง 20-30% เกิดวิกฤติราคาอาหารอย่างแน่นอน จากสภาพภูมิอากาศ ตามข้อตกลง Paris Agreement ประเทศพัฒนาแล้วต้องส่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาช่วยประเทศกำลังพัฒนารวม 3.5 ล้านล้านบาท เฉพาะในปี 2564 สภาพยุโรปส่งเงินไปช่วยทั่วโลกมากกว่า 8 แสนล้านบาท และให้ลงมาที่ท้องถิ่นเพราะเขาเชื่อว่าภาวะโลกรวนต้องใช้ความยืดหยุ่น รวดเร็ว ของท้องถิ่น รอรัฐบาลกลางไม่ได้ แต่ในเงิน 8 แสนล้านเหล่านี้มาช่วยท้องถิ่นไทยได้ 0 บาท เพราะท้องถิ่นไทยไม่สามารถกู้เงินได้

“นี่คือสาเหตุที่เราต้องปลดล็อกท้องถิ่นในวันนี้ เพื่อปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของทุกจังหวัด ทุกเมือง ทุกตำบล ให้ความเจริญกระจายไปทุกหย่อมหญ้า สร้างเครื่องยนต์ใหม่ทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยฝ่ามรสุมความเสี่ยงของโลกในอนาคตได้ ถ้าประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนไปอย่าง Big Bang จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระจายอำนาจในวันนี้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเอาประเทศไทยออกจากสภาวะกบต้มและขับเคลื่อนให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้” พิธากล่าวทิ้งท้าย

'พริษฐ์ ก้าวไกล' ตอบกลับทุกข้อกังวล แจงปลดล็อกท้องถิ่นควบคู่เพิ่มอำนาจประชาชน ช่วยลดทุจริต ย้ำกระจายอำนาจไม่เท่ากับแบ่งแยกดินแดน สวนกลับ ไม่ได้เสนอกระจายอำนาจสุดโต่ง ทุกวันนี้ต่างหากที่รวมศูนย์สุดโต่ง

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้แจงร่างปลดล็อกท้องถิ่นว่า แม้การกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ทุกปัญหาในประเทศหายไปทันที แต่การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้หลายปัญหาที่สะสมมายาวนานถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทุกการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและคนที่ยังลังเล ตนจึงขอชี้แจงให้คลายข้อกังวลใน 3 ประเด็นหลัก

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลแรก ที่บางฝ่ายแสดงความเห็นว่าหากกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นบางแห่งอาจยัง “ไม่พร้อม” ที่จะรับผิดชอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งหมดแทนที่ส่วนกลาง ตนอยากชวนให้มองว่า “ความพร้อม” ในการจัดทำบริการสาธารณะ มีอย่างน้อย 3 คุณสมบัติที่สำคัญ (1) มีความเข้าใจพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน (2) มีวาระที่ชัดเจนและระยะเวลาเพียงพอในการทำงาน (3) ต้องผ่านสนามแข่งขันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจและยอมรับว่าคุณเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าคนอื่นๆ เมื่อพิจารณาจาก 3 เกณฑ์นี้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในพื้นที่ กลับน่าจะยิ่งมีความพร้อมมากกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง เมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่น ถนนหน้าบ้านใครพัง โรงพยาบาลไหนขาดงบ ท้องถิ่นก็แก้ได้หมด ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าถนนเป็นของหน่วยงานอะไรหรือลุ้นว่า ส.ส. บ้านเราอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล นอกจากนั้น ข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ยังช่วยให้รัฐส่วนกลางให้มีความพร้อม มีเวลา และมีสมาธิมากขึ้น กับบทบาทสำคัญที่ส่วนกลางควรทำ เช่น การกำหนดมาตรฐานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน หรือการทำภารกิจที่เกินเลยขอบเขตท้องถิ่น อาทิ การต่างประเทศ การคลัง

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ข้อกังวลที่สอง หากกระจายอำนาจ จะเพิ่มการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ตนไม่ปฏิเสธว่าปัญหาการทุจริตในระดับท้องถิ่น มีอยู่จริง แต่ก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าการแก้ไขปัญหาคือการรวมศูนย์อำนาจมาที่ส่วนกลาง แต่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เราแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนขอยกการวิเคราะห์ของ Robert Klitgaard นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ที่สถาบันวิจัย TDRI เคยนำมาต่อยอด ซึ่งบอกว่าปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทุจริตมี 3 ส่วนสำคัญคือ ดุลพินิจ การผูกขาด ความไม่โปร่งใส ซึ่งเราจะเห็นชัดว่าการรวมศูนย์อำนาจ มีความเสี่ยงต่อการทุจริตมากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจาก (1) ระบบรวมศูนย์ ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการจำนวนมหาศาลทั้งหมด แต่หากกระจายอำนาจ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการถามประชาชน ว่าต้องการเห็นนโยบายหรือโครงการไหน (2) ระบบรวมศูนย์ ทำให้หน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการต่างๆ จะมีความผูกขาดโดยปริยาย แต่หากกระจายอำนาจ งบทั้งหมดจะถูกกระจายไปตาม อปท. หลายพันแห่ง แต่ละแห่งจะพิจารณาโครงการต่างๆในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ และ (3) ระบบรวมศูนย์ งบประมาณจะอยู่ห่างไกลจากประชาชน และภาษีจากทุกพื้นที่จะถูกยำรวมกัน ประชาชนจะรู้ตัวยากขึ้นว่าตนเองกำลังโดนโกงหรือไม่ แต่หากเรากระจายอำนาจ งบประมาณจะอยู่ในหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนจะยิ่งตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ง่ายขึ้น รู้ตัวได้เร็วขึ้นและอาจรู้สึกหวงแหนงบประมาณมากขึ้นหากโดนโกง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการทุจริต จึงควรเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง เช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ การเข้าชื่อถอดถอนท้องถิ่น หรือ การคุ้มครองความปลอดภัยของคนที่เปิดโปงการทุจริต

พริษฐ์กล่าวว่า ข้อกังวลที่สาม การกระจายอำนาจจะนำไปสู่สหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตนขอย้ำใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจ การเป็นสหพันธรัฐ และ การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะการแบ่งแยกดินแดนหมายถึงการสร้างรัฐใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากรัฐเก่า และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง โดยที่รัฐเก่าไม่มีอำนาจอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐใหม่อีกต่อไป เช่น ประเทศติมอร์-เลสเต ที่แยกตัวมาจากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการเป็นสหพันธรัฐ คือการที่อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งระหว่างส่วนกลางและส่วนมลรัฐ จนทำให้อำนาจเกี่ยวกับภารกิจบางส่วน ถูกแบ่งมาอยู่กับมลรัฐอย่างถาวร โดยที่ส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้อีกต่อไป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับการกระจายอำนาจ เรากำลังพูดถึงแค่การกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังอยู่กับส่วนกลาง นั่นหมายถึงว่า ในเชิงกฎหมาย ส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจ ในการปรับระดับการกระจายอำนาจ ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อยู่เสมอ การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกระจายอำนาจ จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐ และหากทำสำเร็จ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิม ส่วนประเด็นที่สองคือ การกระจายอำนาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน เช่น ประเทศสกอตแลนด์ เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แตกต่างจากส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร จึงมีความต้องการในการกำหนดอนาคตของพื้นที่ตนเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) จึงตัดสินใจจัดประชามติในปี 1997 เพื่อถามคนสกอตแลนด์ว่าต้องการให้มีการกระจายอำนาจและจัดตั้งสภาสกอตแลนด์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชน 74% เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย ถัดมาเกือบ 20 ปี ในปี 2014 สหราชอาณาจักร ก็มีการจัดประชามติอีกครั้งหนึ่ง ถามชาวสกอตแลนด์ว่าต้องการให้สกอตแลนด์แยกออกมาเป็นเอกราชหรือไม่ ผลปรากฎในรอบนี้ มีเพียง 45% เท่านั้นที่เห็นด้วย โดย 55% ไม่เห็นด้วย จึงทำให้สหราชอาณาจักรยังคงรักษาการเป็นรัฐเดี่ยวไว้ได้ อย่างหวุดหวิด ในกรณีของสหราชอาณาจักร หลายคนจึงยอมรับว่าการกระจายอำนาจในวันนั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยรักษาให้ประเทศเขายังคงเป็นรัฐเดี่ยวจนถึงทุกวันนี้

“ผมได้เพียงแต่หวังว่า ตัวอย่างของอังกฤษและสกอตแลนด์จะช่วยตอกย้ำ ให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านเห็นว่าการกระจายอำนาจที่เรากำลังพิจารณากันในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นคนละเรื่อง กับการเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ หรือ การแบ่งแยกดินแดน อย่างที่หลายคนกังวล แต่การกระจายอำนาจนี่แหละ กลับจะเป็นหนทางที่ดี่สุด ในการรักษาไว้ซึ่งรัฐเดี่ยวที่ท่านหวงแหน ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ที่คงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์จากปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมา จากบทเรียนและหลักฐานที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และจากทิศทางของโลกในอนาคต เชื่อว่าเราคงเห็นตรงกันว่าประเทศเราต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้อาจเห็นต่างกันในรายละเอียด ว่าควรกระจายไปถึงขั้นไหน

“สมาชิกรัฐสภาหลายท่าน อาจจะพยายามบอกว่าร่างของเราเป็นร่างที่กระจายอำนาจแบบสุดโต่ง แต่ผมมองต่าง การปฏิเสธการกระจายอำนาจ และคงไว้ถึงการบริหารรัฐรูปแบบเดิมต่างหาก คือการรวมศูนย์อำนาจแบบสุดโต่ง จึงอยากเชิญชวนให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการเมืองไทย ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการกระจายอำนาจฉบับนี้ เพื่อเดินหน้าเปิดบทสนทนาให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกันเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ เพราะโจทย์สำคัญที่เราต้องขบคิดในวันนี้ คงไม่ใช่คำถามว่า การกระจายอำนาจนั้นดีหรือไม่ดีสำหรับประเทศ แต่คือเราจะออกแบบการกระจายอำนาจกันอย่างไรเพื่อปลดล็อกให้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ก้าวหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” พริษฐ์กล่าว

'ณัฐพงษ์ ก้าวไกล' เผยตัวเลขกลางสภา ชี้ชัดการทุจริต 'ส่วนกลาง' มากกว่า 'ท้องถิ่น' ย้ำร่าง รธน. 'ปลดล็อกท้องถิ่น' เพิ่มเครื่องมือ 'ปราบโกง' เอาไว้เรียบร้อย

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางแค พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ว่า ประเด็นที่อภิปรายกันว่าการเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่วนกลาง-ส่วนท้องถิ่นให้เท่าเทียมกันเป็นร้อยละ 50-50 จะเอาเงินมาจากไหน ตนอยากชี้แจงตรงนี้ว่าจากที่ติดตามและค้นข้อมูลมา จริงๆ แล้วไม่ต้องหาใหม่ หมายความว่า โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เกิดการถ่ายโอน "งาน-เงิน" ไปด้วยกัน เพื่อถ่ายโอนภารกิจทั้งหมด ไปให้ท้องถิ่นดูแล ยกเว้นทหาร ความมั่นคง เงินตรา ศาล

“ผมยืนยันว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการกระจายอำนาจดีๆ ท้องถิ่นเขาถือเม็ดเงินงบประมาณมากกว่าส่วนกลาง แทบทั้งสิ้น” ณัฐพงษ์ระบุ

ส่วนประเด็นที่บอกว่ากระจายอำนาจ เท่ากับกระจายโกง ณัฐพงษ์แสดงข้อมูลจาก 101PUB ศูนย์วิจัย Think Tank ที่ทำการรวบรวมข้อมูลหน้านี้ออกมาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในช่วงเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2564 พบว่าตัวเลขมูลค่าความเสียหาย ที่อาจเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันของส่วนกลางนั้นสูงกว่าท้องถิ่นถึง 9 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขสถิติเรื่องร้องเรียนกรณีการทุจริต จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2547–2560 รวมจำนวน 10,382 เรื่อง เป็นการร้องเรียนท้องถิ่น 2,212 เรื่องที่เหลืออีก 8,170 เรื่อง เป็นเรื่องร้องเรียนมาที่มาจากหน่วยงานของราชการส่วนกลาง และส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่ท้องถิ่น

ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อการถ่วงดุลตรวจสอบ ไม่ให้โกงกระจาย นั้นไม่จริงแต่อย่างใด ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่างหาก ที่จะเป็นกลไกในการ ปราบและปราม คนโกง ไม่ว่าคนโกงเหล่านั้น จะอยู่ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการใด

ณัฐพงษ์ ระบุด้วยว่า เครื่องมือปราบและปรามคนโกง ที่ได้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นนี้ ในส่วนของการ ปราบโกงนั้น มีการระบุไว้ในมาตรา 254/6 (5) ในร่าง รธน.ฉบับปลดล็อกท้องถิ่นนี้ มีบทบัญญัติกำหนดให้ท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานโดยไม่ต้องร้องขอ และประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่หลักสากลเรียกว่า “การเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” การเปิดเผยข้อมูลสัญญา การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อต่อต้านการผูกขาด การเผยแพร่บันทึก หรือไลฟ์สดการประชุม และการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบ OCDS (Open Contracting Data Standard) ที่สนับสนุนการพัฒนาโดยธนาคารโลก

ส่วนเครื่องมือเพื่อใช้ในการปรามการทุจริตนั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ตามบทบัญญัติใน รธน.ฉบับนี้ อยู่ในมาตรา 254/6 (4) ซึ่งในต่างประเทศมีการนำมาใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในเทศบาลเมืองปอร์ตู อะเลกรี (Porto Alegre) ในประเทศบราซิล พบว่ามีการให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และการใช้เม็ดเงินภาษี ที่มีความคุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนดีขึ้นมาก นอกจากที่ทำประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นแล้วยังทำทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

ส.ว.กิตติศักดิ์ มองเสนอแก้หมวดท้องถิ่น เปรียบเสมือนต้นไม้-ผลไม้พิษ

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ว่า ตนเห็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดท้องถิ่น ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้และผลไม้ที่เป็นพิษ เนื่องจากมีรายละเอียด ว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ในหมวดท้องถิ่น ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเห็น ปัจจุบัน ผู้บริหารท้องถิ่นก็มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในร่างฯ ฉบับนี้ ยังได้ระบุทิ้งท้ายว่า ราชการส่วนใหญ่สังกัดท้องถิ่น โดยตนเห็นว่า ในอนาคต ในส่วนราชการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจเต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ และผู้ที่มีเบื้องหลังในการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย หรือลักษณะสีเทา เข้ามายึดครองในส่วนราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ และที่สำคัญ หากร่างฯ ฉบับนี้ ผ่าน อาจทำให้นักการเมืองเข้าไปยึดครองและควบคุมการทำงานของส่วนราชการท้องถิ่น โดยที่หน่วยงานราชการส่วนกลาง ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่งผลกระทบตามมาให้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาทำงานก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการตัวเอง 

กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ 100% ซึ่งปัจจุบันก็มีกฎหมายการกระจายอำนาจอยู่แล้ว หากจะแก้ไขในส่วนนี้ ก็ให้ไปพิจารณาจากส่วนนี้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอาจส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนตามมาได้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณประจำปี ต้องจัดสรรให้กับท้องถิ่นในอัตรา 50 ต่อ 50 ตนมองว่า จะเอางบประมาณมาจากส่วนไหน ในเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการตัวเอง โดยที่รัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นเงินภาษีจากแต่ละท้องถิ่นได้ และสุดท้าย ที่ร่างฯ ฉบับนี้ ระบุว่า ภายใน 5 ปี คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง พร้อมทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อาจทำให้ ในอนาคต ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องไปทำความเคารพและขอรับการสนับสนุนด้านต่างๆ จาก นายก อบต. นายกเทศมนตรี เหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หรือไม่

ส.ว. สถิตย์ ชี้การมีอำนาจทางการคลังคือการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ลดพึ่งพิงรายได้ส่วนกลาง เพื่อสร้างแรงจูงใจพัฒนาท้องถิ่นตนเอง

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว.อภิปรายว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของท้องถิ่นได้นั้นคือการกระจายอำนาจทางการคลัง เพราะหากปราศจากอำนาจทางการคลังก็จะไม่มีงบประมาณไปพัฒนาท้องถิ่นตามที่มุ่งหวังไว้ได้ ซึ่งการมีอำนาจทางการคลังการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของท้องถิ่นได้นั้นคือการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่แท้จริงนั้นจะต้องทำให้มีอิสระทางการคลังของท้องถิ่น หมายถึงท้องถิ่นต้องมีรายได้ของตนเองให้มากพอ และพึ่งพาส่วนกลางให้น้อยลง ปัจจุบันรายได้ทางการคลังของท้องถิ่นนั้นมาจากรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ และรายได้ที่เกิดจากการอุดหนุน หากแบ่งเป็นแต่ละประเภทแล้วพบว่าประเภทรายได้ที่เกิดจากการอุดหนุนจะมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นยังต้องพึ่งพิงส่วนกลางอยู่ ลักษณะนี้เองทำให้ต้องถูกกำกับจากส่วนกลาง ดังนั้นหลักการที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีรายได้ของตนเองมากขึ้น เพื่อให้มีอิสระในทางการคลังของตนเองมากขึ้น พร้อมเสนอว่าต้องพัฒนาโครงสร้างภาษีท้องถิ่นให้มีขอบข่ายที่กว้างขวาง ชัดเจนมากขึ้น ต้องพัฒนาความสามารถในการจัดเก็บภาษีให้สามารถจัดเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐจัดเก็บให้ ปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐส่วนกลางแบ่งให้ให้มีสัดส่วนที่ทำให้เห็นว่ารายได้ทางการคลังของท้องถิ่นมีอิสระเพียงพอในการจัดการบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นควรจะได้จัดทำเอง

ทั้งนี้ รายได้ทั้งหลายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หากพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็มักจะพูดถึงแต่เพียงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น แต่ไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง เพราะจากสถิติพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้น้อยกลับได้รับการจัดสรรรายได้ที่น้อย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้มาก กลับได้รับการจัดสรรรายได้จากส่วนกลางจำนวนมาก ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้น ขณะที่ส่วนที่แย่อยู่แล้วก็แย่อยู่เหมือนเดิม ไม่ได้เป็นการกระจายอำนาจระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง

นอกจากนี้ สถิตย์ ยังอภิปรายว่า การต้องพึ่งพิงรายได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่รายได้จากความสามารถของตนเอง ทำให้ขาดแรงจูงใจในการหารายได้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องพัฒนาความสามารถในการหารายได้เพราะหากรอเพียงแต่รายได้จากการสนับสนุน จะทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ ซึ่งก็จะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่นตามไปด้วย

   

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท