Skip to main content
sharethis

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาไทยร่วมกับประชาคมโลกมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนพม่าอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพเพื่อนำพม่ากลับสู่ประชาธิปไตย แม้ว่าเผด็จการทหารจะคุมประเทศไม่ได้แต่กองกำลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่สามารถสู้เพื่อประชาธิปไตยตามลำพังได้

ฝ่ายสื่อสารของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) รายงานว่าเมื่อ 29 พ.ย. 2565 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กษิต ภิรมย์ หนึ่งในคณะกรรมการของAPHR และ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation :PEF) เป็นตัวแทนแถลงชี้แจงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมมุษยชนที่เกิดขึ้นภายในพม่า พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชนไทยให้ความสนใจกับสถานการณ์ในพม่า ย้ำว่าหากประเทศเพื่อนบ้านของไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ปัญหาเหล่านั้นอาจกระทบมาถึงไทยผ่านทางชายแดน เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและอาวุธเถื่อน

“ประเทศไทยควรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ตกถึงประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยของพม่าอย่างแท้จริง โดยการเปิดชายแดนให้ชาวพม่าหลบหนีมาหาที่ปลอดภัย เปิดรับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ให้เข้ามาอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยไม่ผลักดันพวกเขากลับสู่ประเทศพม่าในขณะที่รัฐบาลทหารยังครองอำนาจ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเหล่านี้ ไทยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินมูลค่ามหาศาล เนื่องจากปัจจุบันมีสหประชาชาติและรัฐบาลต่างชาติให้ความช่วยเหลือด้านเม็ดเงินอยู่แล้ว นานาชาติเพียงต้องการให้ไทยเปิดทางแก่การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนมากขึ้น” กษิต ภิรมย์ คณะกรรมการของ APHR และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 สถานการณ์ในประเทศยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง เผด็จการทหารนำโดย พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ทำสงครามกับประชาชนอย่างป่าเถื่อน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศ โดยกองทัพได้สังหารประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 2,371 ราย และมีผู้พลัดถิ่นหลายแสนคน เผด็จการทหารยังจำคุกนักโทษการเมืองไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และทำให้การทารุณกรรมผู้ถูกจับกุมเหล่านั้นกลายเป็นกิจวัตร ซ้ำยังเปิดฉากปราบปรามเสรีภาพการแสดงออกและการรวมกลุ่มอย่างกว้างขวาง รวมถึง การปราบปรามสื่ออิสระและประชาสังคมอย่างรุนแรง

แม้อาเซียนจะพยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในพม่า เช่น การออกฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รวมทั้งการแต่งตั้งทูตพิเศษเกี่ยวกับกิจการของพม่า ทว่าจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการไต่สวนของรัฐสภาระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในพม่า (International Parliamentary Inquiry: IPI) พบว่าการแก้ปัญหาวิกฤตพม่ายังไม่มีความคืบหน้า จัดได้ว่าประสบความล้มเหลว และโดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนานาชาติยังเข้าไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในพม่า

“การช่วยเหลือยังจำกัดอยู่ในตัวเมืองบางเมืองที่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายทหาร การช่วยเหลือยังไม่ถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ และมีจำนวนมากที่อพยพหนีตายมาอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือบทบาทหน้าที่ของทูตพิเศษมีความจำกัดและไม่ชัดเจน และเป็นตำแหน่งชั่วคราว และไม่มีความต่อเนื่องในการทำภารกิจ ในการนี้จึงเห็นว่าฝ่ายอาเซียนควรแต่งตั้งบุคลากรเข้าร่วมในงานของทูตพิเศษเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรที่จะรองรับงานและขยายบทบาทได้มากยิ่งขึ้น และมีสถานะเป็นงานประจำ


 

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยยังคงเลือกยืนอยู่ข้างรัฐบาลทหารพม่า และเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชนพม่า นโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่เปิดให้มีการรับเข้ามาของผู้ลี้ภัยใหม่ และยังไม่เคยติดต่อพูดคุยกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านฝ่ายทหารพม่า” ชลิดา กล่าว

ในขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า บทบาทสมาชิกรัฐสภาไทยในเรื่องพม่านี้ยังมีความจำกัดอยู่ สมควรที่จะมีการทบทวนท่าที และดำเนินการบทบาทในเชิงรุก เพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาวิกฤตพม่า สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบันควรเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาชายแดน และการนำสันติภาพและประชาธิปไตยกลับสู่พม่า นอกจากนั้นรัฐบาลไทยก็ควรเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย รวมทั้งการให้สื่อได้เข้าไปตรวจสอบจัดหาข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน

“เมื่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าเดือดร้อน และเราไม่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลโดยตรง เพราะปัญหาจะเข้ามาถึงเราผ่านทางชายแดนไทย-พม่า เช่น ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการลอบค้าทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ สัตว์ป่า และอาวุธเถื่อน รวมถึงโรคระบาดที่ไม่ใช่แค่โควิด-19 ปัจจุบันสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในพม่าอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากภาครัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะดำเนินการช่วยเหลือดูแล เช่น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนพลเมืองได้ เพราะการสู้รบที่กระจัดกระจายไปทั่ว และความไม่พร้อมของฝ่ายกองทัพพม่าที่กุมอำนาจรัฐอยู่” กษิตกล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net