‘อิสระ แต่เปราะบาง’ ชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ไร้อำนาจต่อรอง สู่ข้อเสนอจัดตั้งสหภาพฯ ยกระดับสิทธิ

  • เกศนคร และไชยวัฒน์ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ (CUT) แจงชีวิตแรงงานสร้างสรรค์ไทยที่อิสระ แต่เปราะบางจากการคุ้มครองโดยรัฐ ไร้อำนาจการต่อรองนายจ้าง 
  • เสนอตั้งสหภาพแรงงาน สร้างอำนาจต่อรอง กำหนดราคากลาง และกฎหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต-ผลงาน พร้อมดูบทเรียนสหภาพแรงงานภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ ที่ช่วยยกระดับสิทธิแรงงานทำหนัง และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นมหาอำนาจด้าน 'จอเงิน'

เมื่อ 26 พ.ย. 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท มรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รุ่นที่ 5 (MCI5) วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. จัดโครงการสัมมนาวิชาการทางกฎหมาย และจริยธรรมในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เรื่อง ‘อนาคตแรงงาน (สร้างสรรค์) ไทย ใครกำหนด?’ ซึ่งพูดถึงปัญหาแรงงานสร้างสรรค์ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของแนวทางการสนับสนุนเชิงนโยบายในอนาคต

วิทยากรสัมมนา ประกอบด้วย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ 'ไนล์' เกศนคร พจนวรพงษ์ และ 'อิง' ไชยวัฒน์ วรรณโคตร สองผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หรือ Creative Union of Thailand - CUT

สำหรับคำว่า 'แรงงานสร้างสรรค์' ปกติแล้ว หลายคนอาจนึกถึง นักเขียนหนังสือ นักวาดรูป ศิลปินแขนงต่างๆ คนออกแบบกราฟิก แต่ทาง CUT จะนิยามกว้างกว่า คือ แรงงานทุกคนบนโลกใบนี้ ในประเทศไทย หรือที่ใดก็ตาม สามารถเป็นแรงงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้นมา และไม่ควรจำกัดแค่ว่า ‘ทำงานในอุตสาหกรรม’ ยกตัวอย่างว่า อุตสาหกรรมเกมส์ ทาง CUT ไม่ได้มองแค่ว่า วิศวกร หรือการเขียน เป็นแรงงานสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่มองว่าแม่บ้านที่เสิร์ฟกาแฟ หรือคนอื่นๆ ทั้งซัพพลายเชนคือแรงงานสร้างสรรค์

อนึ่ง สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หรือ CUT ก่อตั้งโดยไนล์ และอิง ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักเมื่อ 2564 โดยสหภาพฯ จะทำงานกับแรงงานสร้างสรรค์ เช่น นักเขียน นักวาด คนวงการสื่อพิมพ์ ภาพยนตร์ วงดนตรี วงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอื่นๆ เพื่อรวมตัวกันรักษาสิทธิและผลประโยชน์ด้านต่างๆ 

ชีวิตนักวาดไทย รายได้ต่ำเตี้ย

ไชยวัฒน์ สมาชิก CUT กล่าวถึงปัญหาแรงงานสร้างสรรค์ในไทยโดยใช้แบบสำรวจการทำงานของนักวาด มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 380 คน ส่วนใหญ่อายุ 20-30 ปี รองลงมา อายุ 15-20 ปี อายุ 30-60 ปี และต่ำกว่า 15 ปี ตามลำดับ และผู้ตอบข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สูงถึง 56.6 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลที่สำรวจมีตั้งแต่เรื่องรายได้ เวลาการทำงาน รูปแบบการจ้างงาน สุขภาพกายและจิตใจ และนำเรื่องสภาพแวดล้อมทั้งหมดมาผูกโยง และวิเคราะห์กับการหมดไฟในการทำงาน หรือ เบิร์นเอาท์

(คนที่ 2 จากซ้าย) เกศนคร พจนวรพงษ์ และ (คนที่ 2 จากขวา) ไชยวัฒน์ วรรณโคตร (ที่มา: ไลฟ์สดเฟซบุ๊ก Seminar X creative workers)

ผลจากแบบสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่นักวาดรูปจะทำงานเป็นงานหลัก ราว 40 เปอร์เซ็นต์ และเลือกทำงานเป็นงานรอง หรือรายได้เสริม รวมกันสูงถึง 59.9 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการได้ค่าตอบ ส่วนใหญ่เป็นรายชิ้นสูงถึง 81.1 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รายได้เฉลี่ยต่อชิ้นงาน (กรณีที่รับงานเป็นรายชิ้น) มากสุดคือ ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อชิ้น อยู่ที่ 54.4 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็น 1,000-3,000 บาท อยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ 3,000-5,000 บาท อยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์ 5,000-10,000 บาท อยู่ที่ 8.4 เปอร์เซ็นต์ และ มากกว่า 3 หมื่นบาท อยู่ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ 

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของนักวาด ส่วนใหญ่รายรับ 3,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 47.7 เปอร์เซ็นต์ 3,000-5,000 บาท อยู่ที่ 15.4 เปอร์เซ็นต์ 5,000-10,000 บาท อยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ 10,000-25,000 บาท อยู่ที่ 16.6 เปอร์เซ็นต์ และรายได้ 25,000-50,000 บาท อยู่ที่ 8.4 เปอร์เซ็นต์ 

อนึ่ง เกศรา ระบุเพิ่มเติมว่า รายได้เสริม หมายถึงนักศึกษาที่ทำงานระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เป็นลักษณะรายได้เสริม แต่งานรอง คือคนที่มีอาชีพประจำ และหารายได้เพิ่มเติมจากการเป็นนักวาด 

เคยถูกโกง-ทำงานหนัก

ผลสำรวจเผยอีกว่าส่วนใหญ่นักวาดถูกโกงค่าจ้างทำงานหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า ‘เคย น้อยกว่า 5 ครั้ง’ อยู่ที่ 28.2 เปอร์เซ็นต์ และ ‘เคย รับค่าตอบแทนล่าช้า น้อยกว่า 5 ครั้ง’ อยู่ที่ 44.5 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีการทำสัญญาจ้างที่เป็นธรรม อยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ 

ไชยวัฒน์ ระบุเพิ่มว่า สัญญาจ้างที่เป็นธรรมในที่นี้คือสัญญาจ้างที่ทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้ทำงาน มาดูรายละเอียดก่อนเซ็นสัญญา แต่ปัจจุบัน การทำสัญญาจ้างเป็นผู้ว่าจ้างฝ่ายเดียวทำสัญญา และมีรายละเอียดหลายร้อยหน้าให้คนทำงานเซ็น ซึ่งถ้าไม่เซ็น ก็ไม่ได้ทำงาน

เวลาการทำงาน นักวาดส่วนใหญ่ทำงานโดยเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมง (ชม.) ต่อวัน 42.2 เปอร์เซ็นต์ 48-60 ชม. ราว 41 เปอร์เซ็นต์ และ 12 ชม. ราว 23.8 เปอร์เซ็นต์

นักวาดป่วยเป็นว่าเล่น

โรคเจ็บป่วยที่นักวาดเป็นบ่อย ได้แก่ ข้อมืออักเสบ ปวดหลัง Office Syndrome ตาอักเสบ กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบ และโรคกระเพาะ ไชยวัฒน์ กล่าวติดตลกว่า โรคเหล่านี้เป็นโรคคนรวย เพราะค่ายาแพงมากแต่ละโรค แต่พอมาดูสภาพการจ้างงานของนักวาด ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์และกฎหมายการจ้างงานของไทยมีความเปราะบาง ฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการ แม้มีประกันสังคม มาตรา 40 แต่การคุ้มครองไม่มากมาย

ด้านการเจ็บป่วยจากการทำงานหนัก-ค่าแรงต่ำ พบว่า เจ็บป่วย มีโรคประจำตัว ราว 65.1 เปอร์เซ็นต์, ต้องใช้สารกระตุ้นเพื่อการอดนอน เช่น กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ราว 37.2 เปอร์เซ็นต์, ทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ อีก 78.5 เปอร์เซ็นต์, ตอบสนองต่อการทำงานได้ช้าลง ไม่มีสมาธิ และเกิดความผิดพลาดระหว่างทำงาน จำนวน 70.9 เปอร์เซ็นต์, ประสบปัญหาด้านจิตใจ เครียด วิตกกังวล ส่งผลต่อการเป็นซึมเศร้า มีจำนวนสูงถึง 74.4 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน 84 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ไชยวัฒน์ สมาชิก CUT กล่าวเสริมถึงการเข้าไม่ถึงสวัสดิการและการรักษาพยายาลโรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ว่าเป็นไปโดยลำบาก ยิ่งเป็นนักวาดรูปในต่างจังหวัด การเข้าถึงบริการแทบจะเป็นไปไม่ได้ 

"สภาพต่างๆ ที่สำรวจมา มันไม่เป็นมิตรต่อสภาพการทำงาน คุณอยากเห็นรูปสวยๆ อยากเห็นการวาด การออกแบบอินโฟกราฟิกที่มีประสิทธิภาพ สภาพร่างกายและสภาพในชีวิตเขาเป็นแบบนี้ ในสภาพแบบนี้มันไม่สามารถทำงานได้ดีได้" ไชยวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง CUT กล่าว 

อุตสาหกรรมก้าวหน้า-คุณภาพชีวิตแรงงานถดถอย

ไชยวัฒน์ ระบุต่อว่า เมื่อมาส่องวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยภาพรวม อุตสาหกรรมอนิเมชันญี่ปุ่น ปี 2561 ขนาดรายได้อุตสาหกรรมอยู่ที่ 17.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หุ้นของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ขึ้นถึง 546 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาเพียง 5 ปี แอปอ่านหนังสือการ์ตูน ‘meb’ หรือ ‘readAwrite’ มีผู้ใช้งานและรายได้สูงขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และในปี 2564 มีรายได้ 1,456 ล้านบาท อุตสาหกรรมมังงะในญี่ปุ่นเมื่อปี 2563 ทำรายได้เฉพาะในสหรัฐฯ 5.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตจากปีที่แล้ว 23 เปอร์เซ็นต์ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมที่เติบโตนี้กลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน

เปราะบาง-ไร้อำนาจต่อรอง

เกศนคร มองถึงอุปสรรคของแรงงานสร้างสรรค์ที่ทำงานลักษณะ ‘ฟรีแลนซ์’ แม้มีความเป็น ‘อิสระ’ แต่มีความเปราะบาง เนื่องจากไม่มีอำนาจในการรวมตัวต่อรอง 

“เรา (ฟรีแลนซ์) เป็นอิสระจริงๆ จากความมั่นคงทางรายได้ และก็สวัสดิการด้วย … เราไม่มีวันลาป่วย วันลาคลอด เงินชดเชย ประกันสังคมที่ดี การกำหนดชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน เราเป็นอิสระจากการคุ้มครองแรงงานทั้งหมด หนักกว่านั้น เราเป็นอิสระจากการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย” เกศนคร ระบุ 

เจตนารมย์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เกิดขึ้นเนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างมีอำนาจการต่อรองไม่เท่ากัน แรงงานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน มีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการให้การช่วยเหลือ แค่ไปร้องเรียนเวลานายจ้างละเมิดสิทธิ แต่ถ้าทำงานฟรีแลนซ์ ต้องไปร้องเรียนไปที่ศาลแพ่ง ไม่มีทางเลือกอื่นให้เข้าถึงกฎหมาย

บรรยากาศการสัมมนา (ที่มา: MCI at College of Innovation,Thammasat University)

ไปได้แค่ศาลแพ่ง ต้นทุนเวลาโอกาส-เงินที่หายไป

เกศนคร ระบุว่า ปัญหาของการฟ้องศาลแพ่ง มีต้นทุนเยอะ ทั้งค่าเสียเวลา เสียโอกาส และเสียทรัพย์จำนวนมาก แค่ค่าจ้างทนายความ เริ่มต้นที่ 3-5 หมื่นบาทแล้ว เมื่อค่าใช้จ่ายสูง ก็ทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงกฎหมายตามมา

“ไนล์ (เกศนคร) เป็นนักเขียนการ์ตูน ค่าเริ่มต้นของการวาดรูปๆ หนึ่งคือ 200 บาท ไนล์ จะมีปัญญาไปฟ้องนายจ้างเปล่า มันเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานสร้างสรรค์ไปถึงกระบวนการทางกฎหมายน้อยมาก มีต้นทุนที่สูงมาก การฟ้องคดีแพ่ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อจะได้เงิน 200 ที่ฉันโดนโกง นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานสร้างสรรค์อยู่ในสถานะที่ค่อนข้างเปราะบาง” สมาชิก CUT กล่าวย้ำ พร้อมระบุว่า ต้นทุนการฟ้องร้องนายจ้าง ยังรวมถึงผลกระทบต่อสภาพทางจิตใจ สภาพทางเวลา ต้นทุนโอกาสในชีวิตที่เราจะไปทำงานต่อ 

“ในฐานะที่เป็นแรงงานสร้างสรรค์ อำนาจทางกฎหมายของเรา ที่เราคิดว่าจะปกป้องเราได้ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ได้เป็นแค่คำขู่ เวลาเราไปดำเนินการถึงในชั้นศาลจริงๆ มันแทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เกศนคร ระบุ

รัฐต้องลงทุนที่แรงงาน สนับสนุนคน

ไชยวัฒน์ ระบุต่อว่า จากการตกผลึกโดยการอ่านงานวิชาการ สะท้อนว่าหลักคิดการออกนโยบายของรัฐไทยสนับสนุนแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยังคงเป็นยุคเก่าหลังสงคราม เรียกว่าเศรษฐกิจแบบไหลริน หรือ Tickle Down Economy คือการเชื่อว่าทำให้ธุรกิจเติบโตก่อน แล้วเดี๋ยวแรงงานจะได้ผลประโยชน์ แต่จากข้อมูลผลสำรวจคุณภาพชีวิตแรงงานนักวาด สะท้อนว่า 'มันไม่เกิดขึ้น' ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการจ้างราคาถูก และคนทำงานในอุตสาหกรรมจะถูกทำให้กลายเป็นเครื่องจักร เพื่อให้เกิดโอเวอร์โปรดักชันเพื่อป้อนตลาด และท้ายสุดจะนำมาสู่การสะสมทุน และการผูกขาดเนื้อหา และการค้า (Capital Accumulation)

สมาชิก CUT ระบุต่อว่า เขาเสนอให้รัฐต้องเปลี่ยนหลักคิดจากการสนับสนุนทุน เป็นการ 'สนับสนุนคน' โดยตรง คือออกนโยบายภาษีอัตราก้าวหน้า และนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากระจายเป็นสวัสดิการ หรือเงินอุดหนุนให้คนที่เป็นนักวาด อาจจะทำให้นักวาดมี ‘Gap Year’ ได้ไปลองทำงานของตัวเอง ลองผิดลองถูก ลองสร้างสรรค์ ลองทำงานของตัวเอง 

ไชยวัฒน์ ระบุต่อว่า เมื่อเปลี่ยนหลักคิดการสนับสนุน ก็จะทำให้เกิด ‘Decent Work’ หรืองานที่มีคุณค่า และเป็นธรรม เพราะทุนเวลาจะใช้งาน เขาก็จะคิดมากขึ้น มีแนวโน้มถูกขูดรีดน้อยลง ส่งผลให้นักวาดได้สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพไม่ต้องผูกติดกับตลาดมากขึ้น หรือในแง่ของคนงานมีชีวิตที่ดีมากขึ้น  

ท้ายสุด ไชยวัฒน์ เสนอต่อรัฐถึงนโยบายภาพรวม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานสร้างสรรค์ว่า รัฐควรมี บริการทั่วไป (general service) หรือแอปฯ เพื่อรองรับคุณภาพชีวิตของฟรีแลนซ์ มีกฎหมายเก็บภาษีความมั่งคั่งจากนายทุน เพื่อการป้องกันการผูกขาดจากเนื้อหา รัฐควรสนับสนุนการจ้างงาน สร้างโอกาส สนับสนุนการจ้างงานนอกกรุงเทพฯ อำนาจการรวมตัวของแรงงานสร้างสรรค์ เพื่อเป็นอำนาจการในส่งเสียง และต่อรองของคนตัวเล็กตัวน้อยต่อนายทุน

สหภาพแรงงาน หนทางสร้างการต่อรอง

ด้านเกศนคร ระบุว่า สภานภาพของแรงงานสร้างสรรค์ อยู่ในสถานะ ‘เปราะบาง’ เนื่องจากขาดอำนาจต่อรอง จึงต้องรวมกลุ่มเป็นสหภาพฯ คนทำงานไม่สามารถต่อรองคนเดียวได้ ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจ ฟังก์ชันของสหภาพฯ นั้น สามารถนำไปสู่การต่อรองและกำหนดราคากลาง เพราะการกำหนดราคากลางส่วนใหญ่คนที่กำหนดคือนายจ้าง เขาโยนงบฯ (budget) มาให้ และให้ผู้ถูกจ้างไปจัดการทุกอย่าง คนทำงานไม่มีสิทธิในการตั้งราคาว่าอยากได้ราคาภาพต่อหนึ่งภาพเท่าไร 

เกศนคร ระบุต่อว่า สหภาพแรงงาน สามารถรวมตัวกันเสนอกฎหมายแรงงานที่เป็นธรรมต่อคนทำงานได้มากขึ้นด้วย 

"ทำไมเราถึงเปราะบาง เพราะว่าเราไม่มีสวัสดิการ แรงงานไม่คุ้มครองเรา สิ่งหนึ่งที่มันจะเป็นภารกิจของการรวมตัวกัน คือการไปแก้ไขกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนคนที่มีอำนาจเขาไม่มีทางมาแก้ให้เรา ถ้าเสียงของเรามันไม่สามารถรวมตัวกัน และมีพลังพอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิภาพ ความปลอดภัย การลาคลอด ที่บรรจุในสัญญาจ้าง จนไปถึงการฟังก์ชันต่างๆ ของสหภาพแรงงาน การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย มีตัวแทนในการเจรจา พยายามทำยังไงก็ได้ ไม่ต้องให้คนไปถึงอำนาจศาล ผ่านการเจรจาของสหภาพ อันนี้จะเป็นฟังก์ชันประเทศที่พัฒนาแล้ว มันจะเกิดขึ้น" เกศนคร ทิ้งท้าย 

บทเรียนจากเกาหลีใต้ สิทธิแรงงานที่ดี-วงการหนังไปข้างหน้า

ไชยวัฒน์ กล่าวว่า เขาชวนมองการต่อสู้ของแรงงานสร้างสรรค์ หรือคนตัวเล็กตัวน้อย มีส่วนในการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน และผลงานภาพยนตร์ได้อย่างไรบ้าง ไชยวัฒน์ กล่าวถึงแรงงานสร้างสรรค์เกาหลีใต้สมัยก่อนที่คุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าประเทศไทย เนื่องจากไม่มีการจ้างงาน ไม่มีเวลาทำงานที่ชัดเจน หรือผลิตงานจนตายก็มี โดยสิ่งเหล่านี้เกิดจากการพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเวลานั้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ใช้ระบบการผลิตที่ย่ำแย่ และการผลิตแบบโอเวอร์โปรดักชัน วงการอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก และด้วยปัญหาการจ้างงานอันย่ำแย่ ได้เกิดการต่อต้านและก่อตั้งสหภาพแรงงานภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ช่วงปี 2548 โดยมีคนงานรวมตัวกัน 400 คน และพยายามสร้างข้อตกลงใหม่ว่า กระบวนการผลิตภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ จะผลิตแบบเดิมไม่ได้ แม้ว่าจะส่งออกภาพยนตร์ได้ แต่ไม่สามารถขึ้นมาเป็น ‘Hub’ หรือศูนย์กลางของโลกภาพยนตร์ได้ จึงมีการตกลงระหว่างทุนและแรงงาน

ข้อตกลงดังกล่าวมีการพูดคุยกันเป็นเวลา 2 ปี จึงเกิดข้อตกลงกำหนดชั่วโมงการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม และเกิดการต่อรองต่างๆ เวลาจะจ้างงาน

ต่อมาในปี 2556 เกิดประกันสังคมในกองถ่าย และมีเงินเดือน มีสัญญาจ้างมากขึ้น จนถึงจุดเปลี่ยน 2558 จากการต่อสู้ของสหภาพแรงงานทำให้เกิดการแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ เอาเรื่องสัญญาจ้างที่เป็นธรรม และเงื่อนไขการจ้างงานใส่ในกฎหมายตัวนี้ ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นการผลิตที่เปลี่ยนแปลงแบบโอเวอร์โปรดักชัน หรือการผลิตแบบกดขี่ ทำให้คุณภาพของงานภาพยนตร์เริ่มดีมากขึ้น

การสำรวจของ ‘สภาภาพยนตร์เกาหลี’ (Korean Film Council - KFC) เผยว่า หลังจาก 2561 วงการภาพยนตร์เริ่มใช้สัญญาจ้างมากขึ้น โดยเพิ่มจาก 36.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 เป็น 77.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561   

ไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เวลาประเทศไทย หรือคนไทย มักเอาเรื่องการพัฒนาภาพยนตร์ในเกาหลีใต้มาเป็นกรณีศึกษา แต่กลับไม่นำเอาเรื่องสิทธิแรงงานภาพยนตร์มาพูดเลย นอกจากนี้ เขายกตัวอย่าง ผู้กำกับเกาหลีใต้ ‘บงจุนโฮ’ เจ้าของรางวัลออสการ์ปี 2563 จากภาพยนตร์เสียดสีสังคมบ้านเกิด ‘Parasite’ ซึ่งผู้กำกับแดนกิมจิเคยออกมาเปิดเผยว่า เขาใช้สัญญาจ้างงานที่ได้มาตรฐานสำหรับกองถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วย

บงจุนโฮ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ (credit: Ilya Volkov (Kreecher))

หมายเหตุ - โครงการสัมมนาวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา HIM740 สัมมนาทางกฎหมายและจริยธรรมในมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รับผิดชอบรายวิชาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัชนีกร แซ่วัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท