‘เริ่มแยกสอนวิชาปวศ.’ ดีเดย์ ปี 66 ‘รมว.ศธ.’ จ่อลงนามประกาศ นักวิชาการชี้ ควรเรียนเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่รักชาติ

‘เลขาธิการ กพฐ.’ เผย เริ่มดีเดย์ ปี 66 แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาจากกลุ่มสาระสังคมฯ เพื่อสอนเป็น 1 วิชาอย่างชัดเจน ฝ่าย ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รมว.ศธ.จ่อลงนามประกาศ รับลูกนโยบาย ‘พล.อ.ประยุทธ์’ หวังปลูกฝังให้เยาวชนรักชาติ ด้าน ‘อาจารย์ปวศ.มธ.’ เห็นแย้ง ควรเรียนเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อรักชาติ

2 ธ.ค. 2565 มติชนออนไลน์รายงานกรณี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบ แนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 โดยจะแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นรายวิชาพื้นฐาน โดยให้เหตุผลว่า การแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกมาต่างหากนั้น มีสาเหตุมาจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องการเห็นเยาวชนมีความรักชาติมากขึ้น จึงสั่งการให้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการออกประกาศฯ แยกรายวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดเนื้อหา หวังปลูกฝังให้นักเรียนรักชาติ ขณะที่นักวิชาการมีทั้งเห็นด้วย และคัดค้าน ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาอยู่ที่วิธีการสอน เนื่องจากโรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามอุดมคติของรัฐ ทั้งที่การสอนประวัติศาสตร์ ต้องให้เด็กตั้งคำถาม และวิพากษ์ข้อมูลหลักฐานได้ ขณะที่นักเรียนไม่มีปัญหา แต่ต้องเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจบริบทของสังคม ไม่ใช่เพื่อรักชาติ โดยอยากให้ปรับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม

มีความคืบหน้าล่าสุด (เมื่อ 1 ธ.ค.) มติชนออนไลน์รายงานว่า อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ขณะนี้สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเสนอให้รมว.ศธ.พิจารณาลงนาม อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ สพฐ.ออกแบบใหม่นั้น จะมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่การเรียนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องราว ทุกสิ่งอย่าง แต่จะสอนให้ผู้เรียนรู้เรื่องตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน และวิถีชีวิต เพื่อให้รู้รากเหง้าของตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร และจะต่อยอดให้ดีขึ้นอย่างไร ทั้งนี้การแยกรายวิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐานในครั้งนี้ จะมีผลกับการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

สำหรับมุมมองของนักวิชาการที่เห็นคัดค้าน ไทยรัฐออนไลน์รายงานความคิดเห็นของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นการตัดสินใจที่เร็วไป ถือเป็นความผิดปกติทางการศึกษาที่อยู่ดีๆ แยกวิชาการประวัติศาสตร์ออกจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่หลักการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง จะต้องมาจากหลายพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเด็ก ทั้งเรื่องทฤษฎี เหตุการณ์บ้านเมือง และสังคม

“อยู่ดีๆ ปรับแค่วิชาเดียวตามคำสั่งนายกฯ น่าจะมีประเด็นใดซ่อนเร้นหรือไม่ หรือมีความต้องการในเรื่องใดเป็นประเด็นหลัก ก็อยากถามถึงสาเหตุ หรือเห็นเด็กนักเรียนเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจเป็นสาเหตุทำให้เห็นว่าเด็กไม่รักบ้านเมือง หรือบรรพชน ไม่น่านำมาเป็นประเด็นหลักแยกวิชาประวัติศาสตร์วิชาเดียว เพราะแทบทุกวิชาต้องปรับปรุงหมด อย่างภาษาอังกฤษ ตกต่ำมาก วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็ไม่ดี ไม่ใช่ปรับปรุงแค่อันเดียว หรือจะให้เด็กรักชาติ อย่างที่ทางราชการต้องการหรือเปล่า” นักวิชาการด้านการศึกษากล่าวกับไทยรัฐออนไลน์

ด้าน ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน โดยได้บอกกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า ปัญหาสำคัญของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนนี้ คือ เนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย เป็นเนื้อหาในทางเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดกระบวนการวิพากวิจารณ์โต้แย้งได้ ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบัน และไม่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้เรื่องวิชาประวัติศาสตร์ก็ยังมีจำนวนจำกัด

พีพีทีวีรายงานความคิดเห็นของอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ เพิ่มเติมระบุ หัวใจสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์คือสอนให้คนเข้าใจว่าอดีตเป็นมาอย่างไร จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรในปัจจุบัน เพื่อมองไปสู่อนาคต เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก จึงควรสอนให้นักเรียนใช้ประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นฐานความรู้ในการมองโลกกว้างมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมไทย และในสังคมโลก รวมถึงมองว่า วิชาประวัติศาสตร์ควรจะไปไกลเกินกว่าคำว่ารักชาติ แต่ควรสอนว่าเราควรอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท