สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 2565

กรมการขนส่งฯ รับรอง 6 แอปพลิเคชันบริการรถยนต์รับจ้างถูกต้องตามกฎหมาย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ให้การรับรองแอปพลิเคชันบริการรถยนต์รับจ้างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว 6 ราย ได้แก่ ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส (Hello Phuket Service) บอนกุ (Bonku) เอเชีย แค็บ (Asia Cab) โรบินฮู้ด (Robinhood) แกร็บ (Grab) และล่าสุดได้ให้การรับรองแอปพลิเคชัน “Airasia Super App” เรียบร้อยแล้ว

สำหรับผู้ขับรถให้บริการผ่านแอปพลิเคชันต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาระบบการอบรมใบอนุญาตขับรถออนไลน์รองรับผู้ที่ต้องการขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ โดยเข้าอบรมได้ที่เว็บไซต์ www.dlt-elearning.com ในหัวข้อ “อบรมขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ” หลังจากผ่านการอบรมแล้ว ให้จองคิวผ่าน DLT Smart Queue เพื่อยื่นคำขอ ทดสอบสมรรถภาพ และทดสอบข้อเขียน ณ สำนักงานขนส่ง และจะได้รับหนังสือสอบประวัติอาชญากรรมเพื่อนำไปยื่นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแล้ว จึงจะได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้เป็นหลักฐานในการต่อภาษีประจำปีรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรอบภาษีต่อไปด้วย

ทั้งนี้ หากประชาชนผู้ใช้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน และพบผู้ขับรถมีกิริยาวาจาไม่สุภาพ ไม่เก็บค่าโดยสารตามที่แอปพลิเคชันกำหนด ใช้งานรถที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีพฤติกรรมขับรถประมาทหวาดเสียว สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, 2/12/2565

‘กมธ.แรงงาน’ ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาแรงงานกระทบโควิด ‘ฉะเชิงเทรา’

2 ธ.ค. 2565 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ เลขานุการคณะกรรมาธิการ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะที่ปรึกษา ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการแรงงานเข้าร่วมการศึกษาดูงานเกี่ยวกับปัญหาด้านแรงงานภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

นางปทุมพร เปรมปรีดา แรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา  นายประสิทธิ์ ปาตังคะโร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวสุจิตรา ขจรกิดาการ จัดหางานจังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวนฤมล บุญมี ประกันสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา นายปฐมพงศ์ ฟักเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล

ในที่ประชุม ได้มีการสรุปข้อมูลประชากรแรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร การวางแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน การขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมการซักถามข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของแรงงานภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 รวมถึงการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ ให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของแรงงานภายในจังหวัดได้

ที่มา: แนวหน้า, 2/12/2565

กสร. ประชุมหารือประเด็นปัญหาการดำเนินการของกรมฯ กับผู้แทนสหภาพ ขสมก.

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มอบหมายให้ นางสาวรัดเกล้า เชาวลิต ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ ร่วมประชุมหารือถึงประเด็นปัญหาและการดำเนินการของกรมฯ กรณีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แทรกแซงกิจการของสหภาพแรงงาน และออกคำสั่งที่ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงขอให้ตรวจสอบถึงการดำเนินการของนายจ้างว่ามีความถูกต้องหรือไม่ โดยกรมฯ ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการรับจดทะเบียนคณะกรรมการสหภาพแรงงานให้ทราบ กรณีมีข้อโต้แย้งถึงการจดทะเบียนกรรมการ จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนที่จะรับจดทะเบียนคณะกรรมการสหภาพแรงงาน ณ ห้องประชุม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้น 1 กระทรวงแรงงาน

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 1/12/2565

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึก Gig Worker ล็อคเป้าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีค่าอาหารพร้อมมอบเครื่องมือประกอบอาชีพ เป้าหมายทั่วประเทศ 31,500 คน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะทางของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 13 ล้านราย ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม GIG Worker ที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกใน 8 กลุ่มอาชีพจำนวนไม่น้อยกว่า 31,500 คน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และมอบชุดเครื่องมือทำมาหากินให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการดังกล่าว

นายประทีป กล่าวต่อไปว่า ซึ่ง 8 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ (1) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยียานยนต์/ เครื่องกล (2) กลุ่มอาชีพเกษตรและอาหารแปรรูป (3) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้าง (4) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัล (5) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (6) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศิลป์ (7) กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ และ (8 กลุ่มอาชีพ เทคโนโลยีงานเชื่อม มีการฝึกอาชีพถึง 38 หลักสูตร เช่น หลักสูตรการการบำรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตร หลักสูตรการบำรุงรถจักรยานยนต์ หลักสูตรการทำประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม หลักสูตรเทคนิคการล้างและเคลือบสีรถยนต์ หลักสูตรการเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตรช่างแต่งผม หลักสูตรผู้ประกอบอาหารไทย หลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ เป็นต้น ทุกหลักสูตรจะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ปัจจุบันสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสำรวจข้อมูลความต้องการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย

“สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมนอกจากมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว ระหว่างการฝึกอบรมมีค่าอาหารให้วันละ 120 บาทอีกด้วย พร้อมกับประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่อให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดในการลงทุนต่างๆ และมอบชุดเครื่องมือทำหากินเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นต้น ผู้สนใจที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเข้าไปดูรายละอียดและสมัครได้ที่ www.dsd.go.th หรือติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร.กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/12/2565

เกาหลีใต้เพิ่มโควตาทำงาน 3 กลุ่ม 1.5 หมื่นคน ชี้โอกาสดียกระดับคุณภาพชีวิต

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบถึงผลการหารือระหว่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กับ นาย มุน ซึง ฮย็อน (Mr. Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ทำให้ไทยได้โควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีเพิ่ม

นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นแรงงานไทย ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ หากไทยจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ จะเป็นโอกาสยกระดับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ทำให้คนไทยมีงานทำ นำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ตลาดแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากแรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนมาก เดินทางไปทำงาน ซึ่งจากข้อมูลในเดือน กรกฎาคม ปี 2565 มีจำนวนแรงงานไทยสะสม อยู่ในเกาหลี เป็นจำนวนถึง 12,950 คน

กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ได้ขอเพิ่มโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2566 ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก วีซ่าทำงานประเภท E-9 (แรงงานทั่วไป) ที่จัดส่งตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ขอเพิ่มโควตาจากเดิมที่เคยจัดส่งไปปีละ 2,500 คน เป็น 5,000 คน

กลุ่มที่ 2 วีซ่าทำงานประเภท E-7 (แรงงานประเภททักษะ แรงงานฝีมือ) ไปทำงานสาขาช่างเชื่อม ช่างทาสี ในอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ จำนวน 5,000 คน และกลุ่มที่ 3 วีซ่าทำงานประเภท E-8 (แรงงานเกษตรตามฤดูกาล) จำนวน 5,000 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,000 คน จากเดิม 2,500 คน

โดยช่วงสัปดาห์การจัดการประชุมเอเปค 2022 จึงหยิบยกประเด็นการขอเพิ่มโควตาแรงงาน และการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรี ได้วางแนวทางในการทำงานให้กับคณะรัฐมนตรี โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ ดูแล ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นอันดับต้น โดยรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับและดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การเพิ่มโควตาแรงงานไทยในประเทศเกาหลีจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้ของแรงงานไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง และของประเทศไทยได้

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้หยุดการทำงานแต่เพียงเท่านี้ ยังพิจารณาหาช่องทางอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย” นายอนุชา กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 1/12/2565

รถบัสบรรทุกแรงงานเมียนมาเบรกแตก ชนไหล่เขาดอยรวก ตาย 3 เจ็บ 38

เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก ได้รับแจ้งอุบัติเหตุรถบัสโดยสารแรงงานเมียนมาในระบบเอ็มโอยูประสบอุบัติเหตุชนไหล่เขา บริเวณดอยรวก หลักกิโลเมตรที่ 68-69 เส้นทางสาย อ.แม่สอด-อ.เมืองตาก เขต ต.แม่ท้อ อ.เมือง จึงประสานหน่วยกู้ภัยในพื้นที่ไปยังที่เกิดเหตุ

พบรถบัสพลิกคว่ำตะแคงอยู่ข้างถนนติดกับไหล่เขา แรงงานเมียนมาร้องโอดโอยขอความช่วยเหลือ ขณะที่คนขับและแรงงานบางส่วนติดอยู่ในรถยนต์ รวมทั้งผู้เสียชีวิตด้วย

หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพยายามช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในรถ

เบื้องต้นป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตาก ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 3 คน ได้รับบาดเจ็บ 38 คน โดยรถคันดังกล่าวเดินทางจาก อ.แม่สอด เพื่อนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาในระบบเอ็มโอยูไปส่งที่กรุงเทพฯ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุเบรกรถไม่ทำงาน ทำให้เสียหลักพุ่งชนไหล่เขาข้างทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดดังกล่าวเป็นช่วงลงเขา มีเครื่องหมายเตือนห้ามเร็ว เนื่องจากดอยรวกเป็นจุดอันตราย เกิดอุบัติเหตุหมู่หลายครั้งแล้ว มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลายครั้งแล้ว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/11/2565

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยชี้ตลาดแรงงานไทยเผชิญ “ค่าจ้างสองขั้ว” ความแตกต่างทักษะทางปัญญา-กายภาพ

29 พ.ย. 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยงานวิจัยของ รศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ Dr. Lusi Liao นักวิจัยที่ Institute of Strategy Research for the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area ประเทศจีน ได้เผยผลศึกษา “สมอง vs กำลัง : แรงงานสองขั้ว อัตราผลตอบแทนของทักษะ และความไม่เท่าเทียมของค่าจ้าง”

โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบปรากฏการณ์ “ค่าจ้างสองขั้ว” (wage polarization) ในตลาดแรงงานไทย โดยค่าจ้างของแรงงานในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะต่ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางมีแนวโน้มคงที่

โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ความต้องการจ้างงานแรงงานทักษะสูง (Skill-biased technical change: SBTC) ได้รับค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานของแรงงานในชนบทไปสู่การทำงานในพื้นที่เขตเมือง และการโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทำให้ระดับค่าจ้างที่แท้จริงต่อหัวของแรงงานทักษะต่ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ค่าจ้างสองขั้วสามารถอธิบายการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างในประเทศไทยได้ โดยทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงาน (Wage gap) ในกลุ่มอาชีพทักษะสูงและกลุ่มอาชีพทักษะปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากวัดราคาของทักษะแรงงาน (skill price) ด้วยการสร้างดัชนีสะท้อนทักษะทางปัญญาและทักษะทางกายภาพที่แรงงานจำเป็นต้องใช้ในแต่ละอาชีพ แต่ละอุตสาหกรรม และประมาณการอัตราผลตอบแทนของแต่ละทักษะ พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผลตอบแทนของงานที่เน้นทักษะทางปัญญา เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนของงานที่เน้นทักษะทางกายภาพ สะท้อนความต้องการในตลาดแรงงานไทยที่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะทางปัญญามีระดับสูงกว่าแรงงานที่มีทักษะทางกายภาพ และทำให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางปัญญาและแรงงานในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางกายภาพมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนแรงงานทักษะสูงยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานยังอยู่ในระดับสูง คำถามสำคัญจึงตามมาว่า ลำพังแต่ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่? นโยบายการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานในอาชีพที่ใช้ทักษะทางปัญญาสูงให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมาตรการยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วให้สูงขึ้น และพัฒนาตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/11/2565

คาดปี 2566 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขาดแคลนแรงงาน 26 ล้านตำแหน่ง

29 พ.ย. 2566 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เปิดเผยรายงานแนวโน้มการจ้างงานและประเด็นทางสังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2565 : ทบทวนยุทธศาสตร์รายภาคอุตสาหกรรมต่ออนาคตของการทำงานที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (Asia-Pacific Employment and Social Outlook 2022 : Rethinking sectoral strategies for a human-centred future of work by 2022)

พบว่าตัวเลขการจ้างงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2565 สูงกว่าตัวเลขการจ้างงานก่อนเกิดวิกฤตโควิดปี 2562 ที่อัตราร้อยละ 2.0 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากการสูญเสียตำแหน่งงานกว่า 57 ล้านตำแหน่งที่เกิดขึ้นในปี 2563

ถึงกระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวก็ยังไม่สมบูรณ์ ภูมิภาคนี้ยังคงขาดตำแหน่งงานจำนวน 22 ล้านตำแหน่งในปี 2565 เมื่อเทียบกับสถานการณ์หากไม่เกิดการระบาดใหญ่ โดยช่องว่างของงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และจำนวนตำแหน่งงานที่ขาดแคลนนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านตำแหน่งงาน (ร้อยละ 1.4) ในปี 2566 เนื่องจากแรงต้านจากบริบทภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกและระดับภูมิภาคในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ชั่วโมงการทำงานทั้งหมดในภูมิภาคนี้ยังคงต่ำกว่าตัวเลขในปี 2562 ขณะที่อัตราการว่างงานในภูมิภาคในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปี 2562

ภายในปี 2565 ทุกภูมิภาครองมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานที่หายไปในปี 2563 และมีการเติบโตของการจ้างงานในเชิงบวกจากปี 2562

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการจ้างงานไม่สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนประชากร เฉพาะแปซิฟิกเท่านั้นที่อัตราส่วนการจ้างงานต่อจำนวนประชากรในปี 2565 สูงกว่าปี 2562

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/11/2565

ม.ค.-ก.ย. 2565 'ประกันสังคม' จ่ายชดเชยผู้ประกันตนกรณีเลิกจ้าง-ว่างงาน รวม 6,864.84 ล้านบาท

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (Social Security Office) เปิดเผยตัวเลขที่ประกันสังคมจ่ายชดเชยดูแลผู้ประกันตนระหว่างเดือน  ม.ค.-ก.ย. 2565  แบ่งเป็น ประโยชน์ทดแทน ถูกเลิกจ้าง: 1,742.47 ล้านบาท ประโยชน์ทดแทน สิ้นสุดสัญญาจ้าง: 259.19 ล้านบาท ประโยชน์ทดแทน สมัครใจลาออก: 4,863.19 ล้านบาท โดยรายละเอียดแต่ละเดือนมีดังต่อไปนี้

มกราคม จำนวน 743.43 ล้านบาท

กุมภาพันธ์ จำนวน 744.93 ล้านบาท

มีนาคม จำนวน 623.59 ล้านบาท

เมษายน จำนวน 443.93 ล้านบาท

พฤษภาคม จำนวน 832.09 ล้านบาท

มิถุนายน จำนวน 970.94 ล้านบาท

กรกฎาคม จำนวน 822.54 ล้านบาท

สิงหาคม จำนวน 1,021.64 ล้านบาท

กันยายน จำนวน 928.77 ล้านบาท

รวมจ่ายทั้งสิ้น 6,864.84 ล้านบาท

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2565

แรงงานไทยสร้างชื่อ คว้าแรงงานต่างชาติดีเด่นประจำปี 2565 จากสมาคมสิ่งทอไต้หวัน

เพื่อเป็นการให้กำลังใจแรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างพากเพียรขยันขันแข็ง พัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้เทคนิคการทำงาน เป็นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน สมาคมผ้าไหมและสิ่งทอของไต้หวัน ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอทั่วไต้หวันจำนวนกว่า 120 บริษัท และมีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 30,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทยประมาณ 5,000 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ได้จัดให้มีการประกวดแรงงานต่างชาติดีเด่นเป็นประจำทุกปี  โดยจะมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแด่แรงงานต่างชาติที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ จวบจนกระทั่งขณะนี้ มีการจัดประกวดแรงงานต่างชาติดีเด่นมาแล้ว 26 รุ่น มีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอได้รับเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นแล้วกว่า 200 คน แรงงานไทยเหล่านี้ ได้สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แรงงานไทยโดยรวม

สำหรับในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 69 แห่งการจัดตั้งสมาคมผ้าไหมและสิ่งทอ ทางสมาคมฯ ได้มีการจัดประชุมสามัญประจำปี ขณะเดียวกันได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่แรงงานต่างชาติดีเด่นเช่นเคย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ โดยมีแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงานสิ่งทอ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับการเสนอชื่อจากนายจ้างและผ่านการคัดเลือกแรงงานต่างชาติดีเด่นจำนวน 16 คน ในจำนวนนี้ แรงงานไทยได้รับการคัดเลือก 3 คน แรงงานเวียดนาม 8 คน แรงงานฟิลิปปินส์ 3 คน และอินโดนีเซีย 2 คน โดยนางสาววรัตม์สุดา ศรัทตต์ รอง ผอ. สำนักงานแรงงานไทย ไทเป เดินทางไปร่วมแสดงความยินดี และได้มอบเงินรางวัลเพื่อเป็นการกำลังใจแด่แรงงานไทยทั้ง 3 คนด้วย

สำหรับคนงานไทยที่ได้รับรางวัลแรงงานต่างชาติดีเด่นในภาคอุตสาหกรรมผ้าไหมและสิ่งทอในเขตพื้นที่ไต้หวัน ประจำปี 2565 ทั้ง 3 คน มีดังนี้ 1) นายสมเกียรติ วงษ์ชัย อายุ 41 ปี มาจากจังหวัดอุดรธานี พนักงาน Sun Shine Textile Enterprise Co., Ltd. 2) นายนิรุธ คำใสย อายุ 38 ปี มาจากจังหวัดหนองคาย พนักงาน Ho Yu Textile Co., Ltd. และ 3) นายอวยพร ทองสวน อายุ 37 ปี มาจากจังหวัดพิษณุโลก พนักงาน Formosa Taffeta Co., Ltd.

ที่มา: Radio Taiwan International, 27/11/2565

พรรคแรงงานสร้างชาติ ปลุกคนงานเลือก ส.ส.น้ำดีสายเลือดแรงงานแก้ปัญหาผู้ใช้แรงงาน

นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ  (รสช.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายศรศาสตร์  นาเมืองรักษ์ โฆษกพรรคฯ เดินทางไปพบปะกลุ่มผู้ใช้แรงงานจ.สมุทรปราการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจนโยบายพรรคแรงงานสร้างชาติ กรณีที่พรรคแรงงานสร้างชาติประกาศชูนโยบายความจำเป็นที่ต้องมีการปฎิรูปสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประกันสังคมอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกรณีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมาแล้วครบ180 งวด หรือเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2541 โดยเงินสมทบดังกล่าวจะถูกหักเป็นเงินกรณีชราภาพไว้จำนวนหนึ่งไปจนถึงอายุ 55 ปี จากนั้นจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีสามารถเลือกรับเงินชราภาพแบบบำเหน็จ(เงินสมทบก้อนเดียวทั้งหมดที่สะสมไว้) หรือจะเลือกรับเป็นเงินบำนาญรายเดือนจนกระทั่งเสียชีวิต

“ทั้งหมดนี้ถือเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้ประกันตนในฐานะเจ้าของเงินตัวจริง ได้มีสิทธิในการเลือกรับเงินเพื่อใช้จ่ายช่วงบั้นท้ายชีวิตมากยิ่งขึ้น”หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวและว่านอกจากนี้พรรคแรงงานสร้างชาติยังมีนโยบายเด่นช่วยเหลือผู้ประกันตน โดยจะจัดให้มีโรงพยาบาลของผู้ประกันตนโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ประกันตนรวมทั้งการตั้งธนาคารแรงงาน สำหรับผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายสิบล้านคนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อต่างๆได้ง่ายขึ้น” นายมนัส กล่าว

นายศรศาสตร์  นาเมืองรักษ์ โฆษกพรรคฯ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่วันนี้ผู้ใช้แรงงานควรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีสายเลือดคนแรงงาน เพราะจะได้เข้าใจปัญหาคนแรงงานที่แท้จริง ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาสภาพการทำงานของแรงงานมีความซับซ้อน และหมักหมมมานาน จำเป็นต้องได้ ส.ส.น้ำดีที่มาจากภาคแรงงานเข้าไปผลักดันในการแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคแรงงานสร้างชาติขอปลุกคนแรงงานให้รู้สิทธิและเรียกร้องให้ลุกขึ้นมากำหนดวาระ ชะตาชีวิตของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานโดยแรงงาน เพื่อแรงงานในอนาคตต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 27/11/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท