Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่บรรดาฝ่ายซ้ายถึงท่าทีของสังคมนิยมต่อสงคราม หากเราหันกลับไปทบทวนท่าทีของมาร์กซิสต์ต่อสงครามในช่วงศตวรรษที่ 19-20 เราจะเห็นได้ว่าสงครามเป็นปัญหาที่มาร์กซิสต์ให้ความสนใจอย่างยิ่ง ผู้นำมาร์กซิสต์อย่างเช่น เฟรดริช แองเกิลส์ ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในช่วงบั้นปลายของชีวิตครุ่นคิดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ในบทความเรื่อง ‘ยุโรปจะปลอดอาวุธได้หรือไม่?’ แองเกิลส์ชี้ให้เห็นว่าเหล่าบรรดามหาอำนาจต่างมุ่งแสวงหาความได้เปรียบคู่แข่งทั้งด้านการทหารและการเตรียมทำสงคราม ทำให้เกิดการแข่งขันผลิตอาวุธในระดับสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นเหตุให้ยุโรปใกล้เข้าสู่ ‘สงครามทำลายล้างที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน’ ในทัศนะของแองเกิลส์ การขยายตัวของกองทัพประจำการที่ดำเนินไปอย่างสุดเหวี่ยงทั่วทั้งยุโรป ถ้าไม่สร้างภาระทางการทหารที่ก่อให้เกิดความหายนะทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน ก็จะนำไปสู่สงครามของการทำลายล้างอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากประชาชนเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในสงครามมากกว่าใครๆทั้งในรูปของการเสียภาษี และการถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยรัฐ ขบวนการกรรมกรจึงต้องต่อสู้เพื่อลดระยะเวลาของการเป็นทหารเกณฑ์ผ่านสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเคลื่อนไหวให้มีการลดกำลังอาวุธ สันติภาพของโลกจึงจะมีหลักประกัน

ความล้มเหลวของขบวนการสังคมนิยมสากล

การถกเถียงปัญหาสงครามในยามสันติได้กลายเป็นปัญหาทางปฏิบัติของขบวนการกรรมกรเมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี 2413 วิลเฮ็ล์ม ลีพคเน็ชท์ และ ออกุสต์ เบเบล ผู้แทนพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้ประนามนโยบายการขยายอำนาจของรัฐบาลบิสมาร์คและลงคะแนนเสียงคัดค้านร่างกฎหมายการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่การทำสงคราม ยังผลให้พวกเขาถูกจำคุก 2 ปีในข้อหาทรยศชาติ

เมื่อมหาอำนาจในยุโรปทวีการล่าอาณานิคม การถกเถียงเกี่ยวกับสงครามภายในสากลที่ 2 (ขบวนการสังคมนิยมสากล) ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น สมัชชาก่อตั้งขององค์กรได้ผ่านมติที่ย้ำว่าสันติภาพเป็น ‘เงื่อนไขเบื้องต้นที่ขาดไม่ได้ในการปลดแอกกรรมกรทั้งมวล’ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสากลที่ 2 กลับไม่ยึดถือหลักการดังกล่าว แทนที่จะส่งเสริมสันติภาพพรรคสังคมนิยมในยุโรปเกือบทั้งหมดกลับสนับสนุนสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้ข้ออ้างที่ว่ากรรมกรจะไม่ปล่อยให้นายทุนได้ประโยชน์จากการล่าเมืองขึ้นแต่เพียงผู้เดียว สากลที่ 2 ได้สนับสนุนลัทธิล่าเมืองขึ้นและอุดมการณ์ชาตินิยมของชนชั้นปกครอง การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสากลที่ 2 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการยึดมั่นในเป้าหมายหลักขององค์กร นั่นคือ การพิทักษ์รักษาสันติภาพ

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้นำของขบวนการบางส่วนที่คัดค้านสงครามอย่างแข็งขันที่สำคัญได้แก่ โรซ่า ลักเซมเบอร์ก และเลนิน ลักเซมเบอร์กได้เรียกร้องให้คัดค้านลัทธิล่าเมืองขึ้นและยับยั้งสงคราม ในหนังสือ ‘สังคมนิยมและสงคราม’ เลนิน ยืนยันว่าสังคมนิยมประนามสงครามระหว่างชาติว่าเป็นสิ่งโหดร้ายป่าเถื่อนเสมอ การสนับสนุนสงครามของสากลที่ 2 เป็นการก่ออาชญากรรม การอ้างว่าสงครามที่รัฐบาลของตนก่อขึ้นเป็นการ ‘ปกป้องปิตุภูมิ’ โดยเนื้อแท้แล้วคือการเปิดไฟเขียวให้ประเทศมหาอำนาจปล้นสะดมภ์และกดขี่ประชาชนในต่างแดน

สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความแตกแยกภายในสากลที่ 2 เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความแตกแยกในขบวนการอนาธิปไตยอีกด้วย เมื่อสงครามระเบิดขึ้น ปีเตอร์ โคโพคิน ประกาศว่าภารกิจของผู้เชิดชูในความก้าวหน้าของมนุษยชาติคือการบดขยี้การรุกรานยุโรปตะวันตกของเยอรมนี ในขณะที่ เอ็นริโก มาลาเตสตา เห็นว่าไม่ควรสนับสนุนทั้งสองฝ่ายเพราะชัยชนะของเยอรมนีจะนำไปสู่ชัยชนะของลัทธิขุนศึก ในขณะที่หากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะจะทำให้ยุโรปและเอเชียอยู่ภายใต้การครอบงำของอังกฤษและรัสเซีย 

ทัศนะต่อสงครามยังก่อให้เกิดการโต้แย้งกันในขบวนการสิทธิสตรีอีกด้วย การที่ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปทำสงครามทำให้ผู้หญิงได้ทำงานซึ่งแต่ก่อนเป็นของผู้ชายเท่านั้น กระตุ้นให้สมาชิกของขบวนการจำนวนมากสนับสนุนการทำสงครามของรัฐบาล ขณะที่โรซ่า ลักเซมเบอร์กและผู้นำหญิงคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ได้เปิดโปงเล่ห์ลวงของรัฐบาลที่ใช้ภัยคุกคามจากสงครามมาหยุดยั้งยกเลิกการปฏิรูปเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคม การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นคุณูปการสำคัญของพวกเธอในการแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่าการคัดค้านลัทธิขุนศึกเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมของสตรี

สหภาพโซเวียตกับสงคราม 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างประเทศทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกับประเทศสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ โจเซฟ สตาลิน ได้ถือเอาประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกเป็นเขตกันชนที่ค้ำประกันความมั่นคงของสหภาพโซเวียต นโยบายเช่นนี้เป็นที่มาของหลักการ ‘อำนาจอธิปไตยที่จำกัด’ ตามหลักการนี้ผู้นำของสหภาพโซเวียตให้เหตุผลว่าเมื่อใดที่มีกลุ่มพลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมนิยมพยายามจะเปลี่ยนการปกครองในประเทศสังคมนิยมหนึ่งใดไปสู่ทุนนิยม การกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของประเทศดังกล่าวเท่านั้น หากยังเป็นปัญหาของประเทศสังคมนิยมทั้งมวลด้วย ภายใต้ตรรกที่ต่อต้านประชาธิปไตยเช่นนี้อะไรคือสังคมนิยมหรือไม่ใช่สังคมนิยมขึ้นอยู่กับการตีความของสหภาพโซเวียตเท่านั้น

ภายใต้หลักการ ‘อำนาจอธิปไตยที่จำกัด’ สหภาพโซเวียตได้เข้าปราบปรามการปฏิวัติในฮังการีและเช็คโกสโลวาเกียอย่างป่าเถื่อนในปี 2499 และ 2511 ตามลำดับ ต่อมาในปี 2522 กองทัพสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองอัฟกานิสถานด้วยข้ออ้างว่าเป็นเขตความมั่นคงของตนเอง การปฏิบัติการเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความตึงเครียดทางทหารเท่านั้น แต่ยังทำลายความน่าเชื่อถือและทำให้สังคมนิยมอ่อนแอลงอีกด้วย สหภาพโซเวียตถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจจักรพรรดินิยมไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกาผู้ซึ่งนับแต่การเริ่มต้นของสงครามเย็นได้สนับสนุนการรัฐประหารและช่วยโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

ฝ่ายซ้ายต้องต่อต้านสงคราม

การสิ้นสุดของสงครามเย็นไม่ได้ทำให้การเข้าแทรกแซงในกิจการของประเทศอื่นลดลง และไม่ได้ทำให้เสรีภาพในการเลือกระบอบการเมืองด้วยตัวเองของพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้มีการก่อสงครามหลายต่อหลายครั้งภายใต้ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นว่าเป็น ‘สงครามเพื่อมนุษยธรรม’ (ทำลายล้างเข่นฆ่าเพื่อมนุษยธรรม!) สงครามเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าระเบียบโลกใหม่ที่มีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวไม่ได้นำไปสู่ยุคสมัยของเสรีภาพและความก้าวหน้าตามความเชื่อของเสรีนิยมใหม่แต่อย่างใด ภายใต้บริบทเช่นนี้ มีฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนการรุกรานประเทศอื่นด้วยกำลังอาวุธ ทำให้พวกเขาไม่แตกต่างจากพวกฝ่ายขวาเท่าใดนัก

การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ฝ่ายซ้ายอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากพวกเขาคัดค้านสงครามก็เกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนการขยายอำนาจของจักรพรรดินิยมตะวันตก การย้อนกลับไปอ่านงานของเลนินคงช่วยให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ได้บ้าง ในงานเขียนเรื่อง ‘การปฏิวัติสังคมนิยมและสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของชาติต่างๆ’ เลนินเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่การต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการรุกรานยึดครองของมหาอำนาจหนึ่ง อาจถูกใช้ประโยชน์จากมหาอำนาจอื่นเพื่อผลประโยชน์ที่ชั่วร้ายพอๆกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ชาวสังคมนิยมปฏิเสธการกำหนดอนาคตตนเองของชาติหนึ่งชาติใด นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าหากไม่คัดค้านสงครามฝ่ายสังคมนิยมก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่อีกต่อไปและสุดท้ายก็จะถูกดูดกลืนโดยอุดมการณ์ของฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาโดยใช้องค์กรทางการทหารอย่างเช่นนาโตซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายอำนาจเพื่อความเหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องอันตรายและไร้ประสิทธิภาพ นอกจากจะไม่สามารถยุติสงครามได้แล้วยังจะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวและโลกมีความไม่มั่นคงยิ่งขึ้น การยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนควรทำผ่านช่องทางการทูตเพื่อลดการเผชิญหน้าทางการทหารและนำไปสู่การสร้างหลักประกันความเป็นกลางของยูเครนที่เป็นอิสระ

  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net