Skip to main content
sharethis

30 พ.ย. 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ (ปลดล็อกท้องถิ่น) ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ

ในช่วงหนึ่ง เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ร่างฯ ที่ผู้เสนอมา แม้จะอธิบายว่ายังเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่ดูเนื้อหาแล้ว ตนกังวลว่า คือรัฐอิสระดีๆ นี่เอง ปัญหาที่จะให้บ้านเมืองดีขึ้น ความจริงอยู่ที่นักการเมือง มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ประชาชนมากน้อยแค่ไหน หากบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในชุมชน ในบ้านเมือง ในประเทศ ก็ต้องรักษาประโยชน์ส่วนร่วม ไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลูกฝังความคิดผิดๆ ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน

เมื่อดูตามมาตราสุดท้าย จะยกเลิกกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้น ตนอยากเห็นประเทศเป็นรัฐเดียว ไม่อยากเป็นรัฐอิสระ เพราะฉะนั้นในเนื้อหาที่เสนอทั้งหมด ยังรับหลักการเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ 

“ส่วนตัวไม่ได้รังเกียจผู้เสนอร่างฯ เพียงแต่ระแวดระวังพฤติกรรม การแสดงออกช่วงที่ผ่านมา เลยผสมผสานกันว่า ข้อเสนอจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับพี่น้องทั้งประเทศ ผมให้ความสำคัญประชาชนที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไข แต่ในข้อเสนอที่เสนอมา ต้องเรียนเลยว่า โดยรวมๆ ไม่มีการกระจายอำนาจที่จะสำเร็จได้อย่างแท้จริง จึงไม่อาจรับหลักการในร่างฉบับนี้ได้” เสรี กล่าว

'พรรณิการ์ วานิช' ตอบทำไมต้อง “ปลดล็อกท้องถิ่น” | 2 ธ.ค. 65

'ธนาธร' เสนอร่าง 'ปลดล็อกท้องถิ่น' ชี้เปลี่ยนประเทศได้ภายใน 10-15 ปี | 30 พ.ย. 65

ด้านปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงข้อกังวลของ ส.ว.เสรี ว่าหากยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจะกระทบกับความเป็นรัฐเดี่ยว ปิยบุตรกล่าวว่าความเป็นรัฐเดี่ยวหรือสหพันธรัฐไม่ได้สัมพันธ์ยึดโยงกับราชการส่วนภูมิภาค ยกตัวอย่าง อังกฤษ และญี่ปุ่น ที่มีรัฐเดี่ยวแต่ไม่มีภูมิภาค

นอกจากนี้เขายังตอบ 10 ประเด็น ข้อซักถามและสร้างความเข้าใจผิดของสมาชิกรัฐสภา ที่มีต่อร่างปลดล็อกท้องถิ่น

1. ไม่ได้เสนอยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
2. การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
3. ไม่กระทบความเป็นรัฐเดี่ยว จะมีหรือไม่มีส่วนภูมิภาคก็เป็นรัฐเดี่ยวอยู่ดี
4. จัดการอำนาจที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับส่วนท้องถิ่น
5. ไม่ใช่การทำเอากระแส ทำมานานแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 65 แต่สภาเพิ่งมาบรรจุวาระ 
6. การเกิดขึ้นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเป็นอำนาจของสภา ไม่ใช่ใครนึกอยากตั้งก็ทำได้เลย
7. สภาพลเมืองท้องถิ่นไม่อาจถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองท้องถิ่นได้
8. การออกเสียงประชามติคือการจัดการความแตกต่างทางความคิดที่ดีที่สุด 
9. เราคิดว่าเราร่างมาดีแล้ว แต่ถ้าท่านคิดว่ายังไม่ดีพอ ก็ขอให้ไปแก้ในวาระที่ 2 และ 3 
10. การไม่มีผู้ว่าและราชการส่วนภูมิภาค จะไม่กระทบกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่าง อปท.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net