ธงชัย วินิจจะกูล: วิชาประวัติศาสตร์ควรสอน(ฝึกฝน)อะไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ: ต้นปี 2565 ผู้เขียนเสนอรายงานต่อโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ว่าควรปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไปในทิศทางใด รายงานนี้เป็นการเสนอแนวทางการปรับปรุง ไม่ใช่ข้อเสนอเชิงปฏิบัติ เพราะผู้เขียนไม่เคยมีประสบการณ์สอนในระดับมัธยม อย่างไรก็ตาม แนวทางเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะปัญหาของวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมในไทย ไม่ใช่เป็นเพราะครูผู้สอนใช้เทคนิคการสอนไม่น่าสนใจพออย่างที่มักโทษกันง่ายๆ แต่เป็นปัญหาความไม่เข้าใจว่าความรู้ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ควรสอนอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ และไม่เข้าใจว่าวิชานี้เกี่ยวพันกับการเรียนภาษาและสังคมศึกษาวิชาอื่นอย่างไร อีกทั้งที่ผ่านมา แม้จะมีการวิจารณ์ที่ดีมากมาย แต่ยังไม่มีข้อเสนอเป็นแนวทางที่เป็นระบบชัดเจนว่าวิชาประวัติศาสตร์ควรสอนอะไร ผู้เขียนจึงขอเสนอในประเด็นนี้ ขอฝากให้ผู้รู้และเกี่ยวข้องกับการสอนมัธยมพิจารณาว่าจะนำไปใช้หรือไม่ หรือจะแปรเป็นการปฏิบัติจริงอย่างไร

ข้างล่างนี้คือบางส่วนของรายงานดังกล่าว (โดยปรับแก้ถ้อยคำบางแห่งเพื่อให้เหมาะกับการตีพิมพ์ในครั้งนี้ สาระทั้งหมดคงไว้ตามรายงานต้นฉบับ) ผู้เขียนเลือกมาเฉพาะส่วน “ประเด็นสำคัญโดยสรุป” เพื่อให้เห็นภาพรวมของรายงาน และส่วนที่ 10 และ 11 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของประเด็นสรุปที่ 4 และ 5 ส่วนที่เหลือของรายงานซึ่งไม่ได้เสนอในบทความครั้งนี้คือสาระของประเด็นสรุป 3 ข้อแรก

(ข้อเสนอของรัฐบาลในขณะนี้ น่าจะยิ่งทำให้วิชาประวัติศาสตร์เน้นเนื้อหาเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐหนักขึ้นอีก จึงอาจจะยิ่งทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายหนักขึ้นและชิงชังความรู้ประวัติศาสตร์แบบที่รัฐยัดเยียดยิ่งขั้นกว่าเดิม หากรัฐบาลยังดึงดัน ไม่ยอมฟังคำเตือนจากผู้หวังดี ผู้เขียนก็ขอต้อนรับผู้สนใจ “ประวัติศาสตร์นอกขนบ” รุ่นถัดไปไว้ล่วงหน้า)

* คำว่า “ผู้วิจัย” ในรายงานข้างล่างนี้ = ธงชัย “กธ.” = กระทรวงศึกษาธิการ

ประเด็นสำคัญโดยสรุป

1. ความมุ่งหมายของวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยต่างกับในประเทศพัฒนาหลายแห่ง แม้ว่าบนหน้ากระดาษของหลักสูตรแกนกลางของ กธ. นั้น ความมุ่งหมายดูไม่ต่างกันมากนัก แต่ครั้นพิจารณาถึงสาระของหลักสูตรจะพบว่าในประเทศไทยเน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐโดยเฉพาะลัทธิราชาชาตินิยม ในขณะที่ประเทศพัฒนาส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรเพื่อการสร้างพลเมืองที่แข็งขัน (active citizens) สำหรับระบอบประชาธิปไตย

2. ในหลักสูตรของประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ วิชาประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมศึกษา อาจแยกเป็นวิชาต่างหากในระดับมัธยมปลายเท่านั้น ทั้งวิชาสังคมศึกษาทั้งหมดก็เกี่ยวพันอย่างมากกับวิชาการใช้ภาษาตั้งแต่ระดับประถม แต่ในหลักสูตรของไทย วิชาประวัติศาสตร์แยกจากสังคมศึกษามากกว่าและเกี่ยวพันกับวิชาการใช้ภาษาไทยไม่มากนัก

3. การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมควรเปลี่ยนจากเน้นให้รู้เนื้อหาสาระ (Content-oriented) ไปเป็นการเน้นให้ฝึกฝนทักษะ (Skill-oriented) ในการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างวิพากษ์วิจารณ์และเป็นตัวของตัวเอง

4. ทักษะสำหรับการคิดเชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เป็นทักษะทางปัญญา (Intellectual skills) ที่สำคัญได้แก่ เข้าใจคิดว่าปัจจุบันผูกพันกับอดีตอย่างไร (The past in the present); เข้าใจจุดยืนมุมมอง (Perspectives); รู้จักหลักฐาน (Evidence); มองเห็นบริบท (Context); ตีความวิเคราะห์เป็น (Interpretive analysis); และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography)

5. เนื้อหาสาระควรมีลักษณะต่อไปนี้ 1) ไม่ต้องเรียนเหตุการณ์มากมายตามลำดับเวลา แต่เน้นเฉพาะหัวข้อสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ 2) หัวข้อสำคัญควรเป็นกระบวนการหรือแบบแผนความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว 3) ชี้ให้เห็นตัวการและการกระทำภายใต้บริบท 4) ควรเลือกเนื้อหาหลายอย่างในหลักสูตรกระทรวงศึกษา ฯ คัดเลือกนำมาปรับให้เข้ากับ 3 ประการข้างต้น 5) ไม่ว่าเนื้อหาอะไร จะต้องเอื้อต่อการฝึกทักษะดังกล่าวข้างต้น

10. ข้อเสนอแนะ: ทักษะสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์

ข้อเสนอในรายงานฉบับนี้เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะเสนอแนวทางปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยม ข้อเสนอในที่นี้ยังต้องรอการนำไปปฏิบัติและทดสอบผลลัพธ์ อย่างไรก็ตามผู้วิจัยเชื่อว่าข้อเสนอในที่นี้เป็นรูปธรรมพอ วางเป้าหมายกระจ่างชัดพอ และไม่ยากนัก น่าจะสามารถพิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้

10.1 วิชาประวัติศาสตร์ควรเปลี่ยนจากการเน้นเพื่อรู้เนื้อหาสาระ (Content-oriented) ไปเป็นการฝึกฝนทักษะ (Skill-oriented) ในการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและศึกษาหาความรู้ประวัติศาสตร์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ [1]

การเน้นฝึกฝนทักษะนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามต่อเนื่องจากที่เริ่มต้นมาใน 20 ปีที่ผ่านมา จากเดิมซึ่งมิได้สนใจทักษะ มีแต่สอนเนื้อหาประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตามแบบฉบับ ครั้นถึงหลักสูตร 2544 ก็บรรจุการเรียนวิธีการทางประวัติศาสตร์เข้าในหลักสูตร ซึ่งเป็นความพยายามที่ถูกทิศทาง หากแต่ว่าทักษะที่เรียกว่า “วิธีการทางประวัติศาสตร์” นั้นกลับไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร จะให้สอนหรือฝึกฝนอะไร แม้ว่าจะมีบทที่ว่าด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์อยู่หนึ่งบท มีการเอ่ยถึงคำนี้หลายแห่งตลอดหลักสูตรและในตำรา แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือการจัดการกับหลักฐานประวัติศาสตร์เท่านั้น ที่เหลือเป็นทักษะการทำงานค้นคว้าทั่วไปในเชิงปฏิบัติซึ่งไม่ใช่ “วิธีการทางประวัติศาสตร์” ที่สำคัญก็คือหากไม่มีการฝึกฝนพอจริงๆ ทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นเพียงสูตรสำเร็จ เป็นเนื้อหาที่ต้องท่องจำ มิใช่ทักษะทางปัญญาที่ต้องฝึกฝนด้วยการลงมือสอบสวนหาความรู้ประวัติศาสตร์ด้วยตัวนักเรียนเอง

รายงานนี้ขอเสนอ “ชุด” ทักษะทางปัญญาที่จำเป็นสำหรับการคิดเชิงประวัติศาสตร์ สำหรับผู้สนใจทุกระดับ ไม่ว่ามัธยม อุดมศึกษา บัณฑิตศึกษา หรือนักประวิติศาสตร์อาชีพ โดยเพิ่มความซับซ้อนและเชี่ยวชาญในแต่ละระดับที่สูงขึ้นไป เราจะเห็นต่อไปอีกว่าหลายอย่างเป็นทักษะร่วม (common skills) กับสังคมศึกษาวิชาอื่น และหลายอย่างเป็นทักษะที่ควรฝึกฝนในวิชาการใช้ภาษา (ทั้งในระดับประถมและระดับมัธยมควบคู่ไปกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์)

10.2 ทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) เป็นทักษะทางปัญญา (Intellectual skills) จัดได้เป็น 6 ประการหลัก ดังต่อไปนี้  

10.2.1 ประการที่ 1 อดีตเกี่ยวพันกับปัจจุบัน (Past and present)

ขยายความ: ความแตกต่างระหว่างวิชาประวัติศาสตร์กับสังคมศาสตร์อื่นๆ อย่างชัดเจนอยู่ตรงที่ศึกษา “การเปลี่ยนแปลง” อธิบายปรากฏการณ์และภาวะหนึ่งๆ ณ เวลาหนึ่งด้วยการเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมาก่อนหน้านั้นซึ่งคลี่คลายต่อมาจนนำมาสู่ปรากฏการณ์และภาวะดังกล่าว ดังนั้นวิชาประวัติศาสตร์ดูเผินๆ จึงเป็น content-oriented เหมือนกันทั้งโลก และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย แต่อันที่จริง ควรต้องฝึกฝนให้คิดวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์หรือภาวะหนึ่งๆ นั้น เปลี่ยนแปลงคลี่คลายมาอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงมาจนเป็นเช่นนั้น

การคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ (Historical thinking) ไม่สามารถแยกออกจากปรากฏการณ์รูปธรรมได้ จะทำให้เป็นทฤษฎีหรือสูตรนามธรรมก็ไม่รู้เรื่อง การคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับปัจจุบันก็ได้ เพราะอาจศึกษาความเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งในอดีตสู่อีกจุดในอดีตก็ได้ อย่างไรก็ดี ขอเสนอว่า สำหรับการเรียนในระดับมัธยม ควรชี้ให้เห็นความเกี่ยวพันของอดีตถึงปัจจุบัน การเลือกทำเช่นนี้เพื่อจุดประสงค์ 2 อย่างพร้อมกัน คือ ด้านหนึ่งเพื่อฝึกฝนทักษะการคิดที่เน้นการเปลี่ยนแปลง อีกด้านหนึ่ง หวังว่าจะทำให้อดีตเป็นสิ่ง “ใกล้ตัว” คือมีความหมายช่วยให้เข้าใจปัจจุบันได้ดีขึ้น (ซึ่งไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงสิ่งรายรอบตัวนักเรียนเท่านั้น)

ประเด็นย่อยของประการที่ 1

1/1) สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง (change over time) อดีตมีผลต่อปัจจุบันและต่อทางเลือกสู่อนาคต

1/2) ในบางแง่มุม ปัจจุบันเป็นผลของการเปลี่ยนจากอดีต การเปลี่ยนแปลงยังรักษามรดกหรือความต่อเนื่องจากอดีตอยู่ แต่ในบางแง่มุม ปัจจุบันเป็นผลของการสูญสิ้นของอดีต เป็นผลของการพลิกผันแตกหักจากอดีต (เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่รู้จบ ค่อยๆเปลี่ยนก็มาก เปลี่ยนฉับพลันก็มี ถอนรากถอนโคนก็เป็นได้)

1/3) คำถามของทุกสังคมทุกยุคสมัยคือ จะกระทำการเพื่อปรับตัวปรับปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตโดยเก็บรักษาอดีตในแง่ไหนแค่ไหนอย่างไร

1/4) จะเข้าใจปัจจุบันหรือจะสร้างอนาคต จึงต้องรู้จักความเป็นมาและมรดกจากอดีต

10.2.2 ประการที่ 2 จุดยืนมุมมอง (Point of View; Perspectives)

ขยายความ: ประวัติศาสตร์ (ความเปลี่ยนแปลง) ของทุกอย่างย่อมสามารถมองได้จากหลายมุมหรือหลายทัศนะ ต่อให้ไม่มีการใช้อุดมการณ์หรือ concept มาใช้คิดวิเคราะห์เลยก็ตาม เพราะผู้มองความเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆ สามารถยืนอยู่คนละจุดกันก็ได้ “จุดยืน” หมายถึงทัศนคติ อคติ ผลประโยชน์ สถานะของผู้มอง หรือเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นจุดยืนทางสังคม (social position) ย่อมมองความเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆ ตามจุดยืนมุมมองแบบของตน จึงสามารถเล่าเรื่องหรืออธิบายความเปลี่ยนแปลงนั้นๆออกมาได้ต่างกัน แม้อาจจะไม่มีเรื่องเล่าหรือคำอธิบายใดถูกต้องไปหมด แต่กลับเป็นไปได้ว่าเรื่องเล่าและคำอธิบายทั้งหลายต่อความเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆ ล้วนถูกบ้างหรือผิดบ้างพอๆ กัน จึงกล่าวได้เพียงว่า “ต่างกัน” มีข้อจำกัดของมุมนั้นทัศนะนี้ไปคนละอย่างกัน คำอธิบายที่ดีต่อความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ เหตุการณ์ บุคคล หรือภาวะหนึ่งๆ จึงไม่มีแบบเดียว ความรู้ว่าอดีตเป็นอย่างไร มีได้หลายด้านหลายสำนวนเสมอ

ความเข้าใจและความสามารถตระหนักเสมอว่ามีประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน เป็นคุณสมบัติสำคัญของความรู้ประวัติศาสตร์ (และมนุษยศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งวรรณคดี) ซึ่งต่างจากศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป จึงต้องฝึกฝนการคิดเช่นนี้ ในหลักสูตรหลายประเทศมีการฝึกฝนข้อนี้จากการอ่านนิทาน นิยาย วรรณคดีตั้งแต่ระดับประถม

ประเด็นย่อยของประการที่ 2

2/1) เหตุการณ์หนึ่งๆ ถูกมอง (รับรู้ เข้าใจ) จากจุดยืนต่างๆ กัน จุดยืนหมายถึงตำแหน่งแห่งที่ที่รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น เช่น ใกล้หรือไกล โดยตรงหรืออ้อม มีหรือไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง  ฯลฯ หรือเรียกง่ายๆว่ามองจากคนละมุมกัน (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด หรือมีอคติมากน้อยได้ด้วยกันทั้งนั้น)

2/2) ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี จึงอาจมีเกินหนึ่งมุมมอง หลายด้าน หรือมีคำอธิบาย/เรื่องเล่าได้เกินหนึ่งแบบหนึ่งเรื่อง (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด หรือมีอคติมากน้อยได้ด้วยกันทั้งนั้น)

2/3) ปัจจุบันเป็นจุดยืนมุมมองหนึ่ง

2/4) ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ต่างกันมีผลต่อการกระทำต่างๆกันของคนในปัจจุบัน

10.2.3 ประการที่ 3 หลักฐาน (Evidence)

ขยายความ: ความรู้ทุกวิชาต้องมีหลักฐานหรือมีการพิสูจน์ด้วยกันทั้งนั้น หลักฐานประวัติศาสตร์ก็ทำนองเดียวกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์อื่นๆ ในแง่ที่ว่าหลักฐาน “ดิบ” ในตัวมันเองไม่อาจบอกเราได้ว่าให้ข้อมูลอะไร เชื่อได้หรือไม่อย่างไร จะต้องนำมาผ่านกระบวนการเพื่อตรวจสอบและคัดเอาข้อมูลบางอย่างออกมา แต่หลักฐานประวัติศาสตร์ไม่สามารถตรวจสอบในห้องทดลองที่มีการควบคุมได้ หาใหม่จากแบบสอบถามหรือปรากฏการณ์ใหม่ๆ ก็ไม่ได้ แต่เป็นเอกสารและวัตถุสิ่งของที่ตกทอดมาจากอดีตนานมาแล้ว ซึ่งสะท้อนการกระทำ ความคิด อคติ วัฒนธรรมของคนและยุคสมัย เราต้องอาศัยวิธีการที่จะตรวจสอบและคัดเอาข้อมูลบางอย่างออกมาจากเอกสารหรือสิ่งนั้นๆ เพื่อเอามาเป็นหลักฐานประกอบเรื่องเล่าหรือคำอธิบายของเรา

หลักฐานมีหลายประเภท ต้องรู้จักใช้วิธีการแตกต่างกันไปเพื่อตรวจสอบและคัดเอาข้อมูลออกมา บางครั้งต้องรู้ภูมิหลังของเอกสารและเขียน บางครั้งต้องรู้ภาษาโบราณ บางครั้งต้องอาศัยแนวคิดจากศาสตร์อื่นมาช่วยกลั่นเอาข้อมูลออกมา ฯลฯ ทั้งยังขึ้นอยู่กับคำถามของเราเองด้วยว่าต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไรจากเอกสารหรือสิ่งนั้นๆ ดังนั้น เอกสารหรือสิ่งหนึ่งๆ จึงอาจเป็นหลักฐานที่ดีสำหรับบางหัวข้อ แต่อาจไม่ดีสำหรับหัวข้ออื่น นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์ของไทยมักให้ความสำคัญกับหลักฐานชั้นต้น (primary source) อย่างมาก ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่ามีความเข้าใจผิดปะปนอยู่มาก จึงควรปรับความเข้าใจในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมด้วย

ประเด็นย่อยของประการที่ 3

3/1) หลักฐานร่วมสมัย หลักฐานสมัยหลัง; หลักฐานโดยตรง หลักฐานทางอ้อม

3/2) การสอบสวนหาข้อมูลจากหลักฐาน (การวิพากษ์หลักฐาน)

3/3) อะไรนับเป็นหลักฐานหรือไม่ น่าเชื่อถือมากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับหัวข้อหรือคำถาม และวิธีสอบสวน

3/4) ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ “หลักฐานชั้นต้น” -- Keith Barton เสนอว่าความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับหลักฐานชั้นต้นที่มักพบบ่อยมากมี 7 ข้อ [2] ได้แก่ เข้าใจผิดว่า ...

1: ... หลักฐานชั้นต้นน่าเชื่อถือกว่าหลักฐานชั้นรอง

2: ... หลักฐานชั้นต้นเป็นประจักษ์พยานหรือคำให้การมาจากยุคสมัยอดีตนั้นๆ แต่ว่าในความเป็นจริงหลักฐานชั้นต้นส่วนใหญ่มิใช่ประจักษ์พยาน ไม่ใช่คำให้การของผู้พบเห็นเหตุการณ์ในอดีตนั้นๆโดยตรงแต่อย่างใด

3: ... สามารถใช้หลักฐานชั้นต้นตรงๆ ตามที่หลักฐานเสนอหรือกล่าวไว้ ในความเป็นจริงต้องประเมินคุณค่าและต้องหาวิธีว่าจะใช้หลักฐานหนึ่งๆ ในแง่ไหน เลือกสาระข้อมูลอะไรจากหลักฐานนั้น

4: ... ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์มีปรากฏอยู่ในหลักฐานชั้นต้น ข้อนี้ไม่จริงเลย ส่วนใหญ่แล้วนักประวัติศาสตร์เป็นผู้ตั้งคำถามเพื่อหาข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้น หลักฐานนั้นๆ มิได้ตั้งใจหรือล่วงรู้ล่วงหน้าว่านักประวัติศาสตร์สนใจถามอะไร

5: ... หลักฐานชั้นต้นเท่านั้นจะช่วยให้เข้าใจอดีตได้

6: ... การใช้หลักฐานชั้นต้นสนุกกว่า ได้รับความพึงพอใจมากกว่าการใช้หลักฐานชั้นรอง

7: ... การจำแนกจัดประเภทเป็นชั้นต้นและชั้นรองนั้นตายตัวเสมอ ในความเป็นจริงมิได้ตายตัวแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับคำถามของนักประวัติศาสตร์ผู้ใช้หลักฐาน การระบุตายตัวให้ท่องจำว่าหลักฐานชั้นต้นแบ่งเป็นจารึก พงศาวดาร ฯลฯ ตามหลักสูตร กธ. จึงผิด (false) ชวนให้ไขว้เขว (misleading) และไม่เป็นประโยชน์ (not useful)

10.2.4 ประการที่ 4 บริบท (Context)

ขยายความ: สรรพสิ่ง (เหตุการณ์ บุคคล การกระทำ ความคิด รวมทั้งหลักฐานด้วย) เกิดขึ้นและกระทำการโดยได้รับอิทธิพลหรือกระทั่งถูกกำหนดจาก(เงื่อนไข)ปัจจัยแวดล้อมมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งในแง่เกื้อหนุนให้คิดหรือกระทำหรือเกิดขึ้นในแบบหนึ่งๆ และในแง่ที่เป็นขีดจำกัดให้ไม่สามารถคิดหรือกระทำบางอย่างได้ เงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมที่มีบทบาทเช่นนี้เรียกว่า บริบท (context) แต่ในเวลาหนึ่งๆ มี (เงื่อนไข) ปัจจัยแวดล้อมหลายระดับสารพัดอย่างด้วยกัน ต้องฝึกฝนให้รู้จักว่าปัจจัยอะไรเป็นบริบทที่เกี่ยวพันและมีผลต่อการกระทำหนึ่งๆ

แต่ทว่าเงื่อนไขปัจจัยทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในขณะที่หลายศาสตร์สนใจสิ่งที่เป็นสากลหรือเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การคิดเชิงประวัติศาสตร์จึงต่างออกไปตรงที่สนใจปรากฏการณ์และการกระทำภายใต้บริบทเฉพาะเวลาและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ความเข้าใจข้อนี้จึงช่วยให้เราตระหนักว่าปรากฏการณ์ การกระทำ ความคิด คำพูด ชีวิตด้านต่างๆของมนุษย์ย่อมผันแปรไปตามกาลเวลาด้วย ในทางกลับกัน ในบริบทของเวลาหรือยุคสมัยหนึ่งๆ จึงไม่สามารถเกิดปรากฏการณ์ การกระทำ ความคิด คำพูด ฯลฯ บางอย่างได้ ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างผิดยุคผิดสมัยไปได้  ผู้ศึกษาจะตีความหลักฐานหรือเล่าเรื่องหรืออธิบายอย่างผิดยุคผิดสมัยไม่ได้

ประเด็นย่อยของประการที่ 4

4/1) ความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมจึงช่วยให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ และกลับกัน (บริบท ßà สิ่งที่ศึกษา)

4/2) แต่มีบริบทหลากหลายซ้อนทับกัน (scale of contexts) ต่างบริบทอาจมีอิทธิพลต่างกัน

4/3) บริบทเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดและไม่เกิดประวัติศาสตร์ที่ต่างกันไปตามกาลเวลาด้วย

4/4) ผิดยุคผิดสมัย (anachronism)

10.2.5 ประการที่ 5 การตีความวิเคราะห์ (Interpretation & analysis or interpretive analysis)

ขยายความ: การค้นหาข้อมูลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยการตีความ (interpretive methods) อย่างมากเพราะต้องใช้หลักฐานเอกสารตามที่มนุษย์ในอดีตได้ทิ้งไว้ให้ในรูปภาษา หรือใช้สิ่งของจากอดีตซึ่งมีความหมายไม่ชัดเจนขึ้นกับการตีความของเราในปัจจุบัน ข้อมูลจึงมีความแน่นอนเที่ยงตรง (objective) น้อยกว่าวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ซึ่งใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษาและทำทดลองภายใต้การควบคุมหรือสร้างข้อมูลขึ้นจากการสำรวจในปัจจุบันได้

ข้อมูลที่ได้จากหลักฐานต่างๆ ถูกนำมาประมวลกันเข้า ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ว่าข้อมูลเหล่านั้นเกี่ยวพันกันในแง่ไหนอย่างไร การประมวลข้อมูล ไม่ว่าด้วยการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์จึงต้องอาศัยแนวคิด (concept) บางอย่างมาช่วย ทั้งเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่มีและเพื่อระบุความเกี่ยวพันของข้อมูลต่างๆ โดยมากเป็นแนวคิดจากวิชาการเกี่ยวกับสังคมและมนุษย์สาขาอื่นๆ แต่บ่อยครั้งรวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ การตีความและวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลยังอาจเรียนรู้ได้จากการเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์กรณีอื่นอีกด้วย (ความเข้าใจที่ว่างานประวัติศาสตร์เป็นเพียงการนำข้อมูลมาเรียงกันตามลำดับเวลาโดยไม่ต้องใช้ concept ใดๆเลยนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะย่อมต้องอาศัยความเข้าใจบางอย่างที่อาจกลายเป็นสามัญสำนึกไปแล้วก็ได้ มาช่วยเรียงร้อยข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้)

ประเด็นย่อยของประการที่ 5

5/1) ข้อเท็จจริง VS การตีความ ต่างกันอย่างไร

5/2) การตีความ การวิเคราะห์ การถกเถียงโต้แย้งเพื่อประมวลข้อมูลออกมาเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นคำอธิบาย

5/3) การใช้ทฤษฎี มโนทัศน์ (concept) แนวความคิดจากศาสตร์ต่างๆ มาช่วยตีความและอธิบายอดีต 

5/4) การเปรียบเทียบ (เพื่อวิเคราะห์และอธิบายเหตุการณ์ที่คล้าย/ต่างกัน และเพื่อช่วยตีความหลักฐาน)

10.2.6 ประการที่ 6 ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) หรือการสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์

ขยายความ: อดีตที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วจะไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่มีความหมายใดๆ เลย จนกว่าจะมีคนสมัยหลังไปประกอบสร้างมันขึ้นมาใหม่ ดังนั้น อดีตที่เกิดขึ้นจริงกับผลงานที่ประกอบสร้างอดีตจึงแยกจากกันไม่ออกแม้จะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ตาม ผลงานทางประวัติศาสตร์มีได้หลายแบบ โดยหลักๆ อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1) เป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงในหัวข้อหลักหนึ่งๆ ซึ่งอาจมีความซับซ้อนของเรื่องย่อยในเรื่องหลักก็ได้ตามแต่กรณี 2) เป็นคำอธิบายความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คำอธิบายจะซับซ้อนขนาดไหนย่อมแล้วแต่กรณี  งานจำนวนมากผสมผสานการเล่าเรื่องกับคำอธิบายเข้าด้วยกัน

แต่ทว่าการสร้างงานประวัติศาสตร์ย่อมหมายถึงการที่คนสมัยหลังใช้กรรมวิธีบางอย่างทำให้เกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา การสร้างเรื่องเล่า มิใช่เพียงนำข้อมูลมาเรียงต่อกันตามลำดับเวลา ต้องอาศัยแนวคิดทางสังคมมาช่วยประมวลข้อมูล และจะต้องมีองค์ประกอบของการเล่าเรื่องอีกด้วย (ไม่ว่าจะตระหนักรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เช่น มีโครงเรื่อง กำหนดตัวการหรือผู้กระทำหรือประเด็นหลักรอง เล่าเรื่องตามจุดยืนมุมมองของตัวการหนึ่ง เป็นสุขหรือโศกนาฏกรรม หรือพรรณนาความ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้คำ สำนวนโวหาร อุปมา ฯลฯ ที่เหมาะสม เป็นต้น การสร้างเรื่องเล่าต่ออดีตกรณีหนึ่งๆ จึงอาจต่างกันหรือเปลี่ยนไปได้ตามแต่องค์ประกอบของเรื่องเล่าที่ต่างกัน คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ก็ต่างกันหรือเปลี่ยนไปได้ หากใช้แนวคิดต่างกันมาปรับใช้ในการวิเคราะห์สังเคราะห์กรณีเดียวกัน หรือหากแนวคิดที่นำมาใช้เกิดเปลี่ยนแปลงไป

ความรู้เกี่ยวกับอดีตจึงต้องมีการทบทวนตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กรรมวิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์สังเคราะห์ประกอบเป็นเรื่องเล่าขึ้นมา ทั้งยังสามารถมีความรู้หลายอย่างต่างกันเกี่ยวกับอดีตกรณีเดียวกันก็ได้เพราะใช้กรรมวิธีที่ต่างกัน การสร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกันอดีตจึงอาจเป็นผลของหลักฐานใหม่ก็ได้ ของมุมมองแนวคิดใหม่ก็ได้ ของการตีความวิเคราะห์ใหม่ก็ได้ ของการตั้งคำถามใหม่ หรือของการสร้างเป็นเรื่องที่ต่างจากเดิมก็ได้

ประเด็นย่อยของประการที่ 6
6/1) ความรู้ทางประวัติศาสตร์แยกไม่ออกจากการประกอบสร้างเป็นเรื่อง (story) ไม่ว่าเรื่องบอกเล่า (oral) หรือเรื่องที่ประพันธ์เป็นตัวบท (text)

6/2) องค์ประกอบของการสร้างเป็นเรื่อง (เค้าโครง ตัวละคร มุมมอง เสียง สำนวน ฯลฯ) จึงเป็นส่วนหนึ่งของความรู้อดีต

6/3) การสร้างความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เป็นผลของการพบหลักฐานใหม่ แต่อาจเป็นเพราะเปลี่ยนมุมมอง ตีความวิเคราะห์ใหม่ ของการตั้งคำถามใหม่ หรือของการสร้างเป็นเรื่องเล่าที่ต่างจากเดิม

6/4) ความรู้อดีตเกี่ยวพันกับการถกเถียงประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลับกัน

ผู้วิจัยเห็นว่า 5 ประการแรกสามารถเรียนรู้ได้ในระดับมัธยม แต่ประการที่ 6 น่าจะยังไม่จำเป็นสำหรับระดับมัธยม น่าจะเป็นทักษะที่เรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาหรือบัณฑิตศึกษามากกว่า ทั้ง 5 ประการแรกมีทั้งอย่างง่ายและยาก บางอย่างสามารถเรียนตั้งแต่ชั้นประถมในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเล่าก็ได้ และยังต้องฝึกฝนในระดับอุดมศึกษาด้วย (โปรดตระหนักว่าในบางประเทศเริ่มสอนให้รู้จัก point of view ของตัวละครในวรรณกรรมกันตั้งแต่ชั้นประถม 3-4-5)

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะนำไปปรับใช้ในหลักสูตรและการเรียนการสอนจริงๆ อย่างไร คงต้องพิจารณากันอีก

11. ข้อเสนอแนะ: เนื้อหาของวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยม

11.1 หลักคิดของผู้วิจัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ควรสอน มีดังต่อไปนี้

- ควรรักษาสปิริตริเริ่มสร้างสรรค์ของครูที่โรงเรียนสาธิต มธ. แต่ควรพยายามประนีประนอมกับหลักสูตรของ กธ. ด้วย ไม่เพียงเพราะนักเรียนต้องสอบตามสาระของหลักสูตร กธ. แต่เพราะการสอนทักษะต้องกระทำผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- แม้จะถือเอาทักษะเป็นเป้าหมาย เนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติไม่ใช่เป้าหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งสาระสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคและของโลกควรเลือกสรรให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ไทย เช่น ให้เห็นบริบทที่กว้างกว่าสยาม/ไทย ที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสยาม/ไทย

- แต่ในเมื่อสาระตามหลักสูตรมีมากเกินไป โดยปกติครูผู้สอนในโรงเรียนทั่วไปก็ต้องเลือกสรรอยู่แล้วว่าจะสอนสาระอะไรมากน้อย จึงน่าจะเลือกสรรเนื้อหาที่เหมาะสมกับการฝึกฝนทักษะตามต้องการได้จากหลักสูตร กธ. นั่นเอง

- มักกล่าวกันว่าควรสอนเรื่องใกล้ตัวนักเรียน แต่เรื่องใกล้ตัวไม่น่าจะหมายถึงเพียงคนและประเด็นรอบตัวหรือในชุมชนท้องถิ่นหรือในชีวิตประจำวันของนักเรียนแค่นั้น แต่น่าจะหมายถึง “เรื่องที่มีความหมายต่อชีวิตปัจจุบันของผู้เรียน” ซึ่งย่อมเปลี่ยนไปตามวัยของผู้เรียน เด็กอายุน้อยอาจต้องการเข้าใจสังคมเล็กๆรอบตัวนักเรียน (เช่น ครอบครัว ท้องถิ่น) ในขณะที่วัยรุ่นมักต้องการเรียนรู้โลกกว้างกว่านั้น เรื่องของสังคมอาจน่าตื่นเต้นสำหรับนักเรียนมัธยมมากกว่าเรื่องของสังคมเล็กๆรอบตัวเขาก็ได้ ความน่าเบื่อหรือไม่ ย่อมขึ้นกับว่าทำอย่างไรการเรียนจึงจะท้าทายให้หาคำตอบ ต้องไม่เรียนแบบอบรมสั่งสอน (indoctrination) แต่ถึงที่สุดน่าจะขึ้นอยู่กับการทำให้ประวัติศาสตร์มีความหมายกับชีวิตปัจจุบันของผู้เรียน ประวัติศาสตร์ไทยจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ทั้งอาจเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมากก็เป็นได้

- Barton (2012, ดูเชิงอรรถที่ 1) เสนอว่าประวัติศาสตร์ควรทำให้เนื้อหาสาระช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งต่อไปนี้ 1) เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและเหตุการณ์ต่างๆ จากมุมมองของตัวการ (agency) ที่เกี่ยวข้อง การสอนถึงมุมมองในระยะยาวนี้จะต้องชักชวนให้นักเรียนมีประสบการณ์เรียนรู้จากหลักฐานด้วยตัวเองจากจุดยืนต่างๆกัน 2) เรียนรู้ว่าผู้กระทำในประวัติศาสตร์เป็นคนประเภทไหน มีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดเหตุการณ์หรือกระบวนการทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ ไม่จำเป็นจะต้องเน้นที่ชื่อและรายละเอียดของเหตุการณ์ แต่ที่สำคัญกว่าคือเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วรู้จักคิดว่าทำไมปัจจัยนั้นๆ เกี่ยวข้องอย่างไร ทำไมจึงเกิดผลลัพธ์อย่างนั้น 3) การเรียนรู้ทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์ มิได้หมายถึงต้องทิ้งเรื่องเล่าที่มักสอนกันอยู่ แต่หมายถึงทำให้นักเรียนมีส่วนขบคิดหาคำอธิบายเรื่องหนึ่งๆ ว่าคลี่คลายมาได้อย่างไร รู้จักการคิดด้วยเหตุผล ใช้หลักฐานและตีความด้วยตัวเองอีกด้วย
 

11.2 ข้อเสนอ

- เปลี่ยนการเรียนแบบเน้นเหตุการณ์ตามลำดับรัชสมัย ตามยุคสมัยของเมืองหลวง (ศูนย์กลาง) ของราชอาณาจักรสยาม ไปเป็นการเรียนถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง (process), แบบแผน (patterns) ของความเปลี่ยนแปลง, และ ประเด็นสำคัญ (issues) ในประวัติศาสตร์ไทยที่ส่งผลยาวไกล โดยเฉพาะต่อปัจจุบัน [3] ตัวอย่างเช่น การสร้างบ้านแปงเมือง การเกิดรัฐและการปกครอง ศาสนาในประวัติศาสตร์ไทย ลัทธิจักรวรรดินิยมกับสยาม ยุคพัฒนา ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย เป็นต้น จะเรียนเกี่ยวกับสงครามและความสำคัญของกษัตริย์ในสังคมไทยก็ย่อมได้หากเรียนรู้จากหลายแง่หลายมุมมอง

- ไม่ควรปฏิเสธลำดับเวลากว้างๆ ที่ใช้เป็นกรอบของเนื้อหา แต่ไม่น่าจะเป็นการแบ่งยุคสมัยตามราชธานีตามหลักสูตร กธ. ควรแบ่งยุคสมัยตามสาระสำคัญ เช่น ยุคก่อตั้งชุมชนเมือง ยุคศักดินา ยุคสมัยใหม่ หรือยุคใต้อิทธิพลเขมร ยุคพุทธเถรวาทเติบโตเฟื่องฟู ยุคอิทธิพลตะวันตก เป็นต้น

- การเลือกว่าควรสอนกระบวนการเปลี่ยนแปลง แบบแผนของความเปลี่ยนแปลง หรือประเด็นสำคัญใด อาจอิงกับสาระตามหลักสูตร กธ. ก็ได้ เช่น การเกิดรัฐเล็กๆ ดินแดนสยาม (คือการเรียนเกี่ยวกับสุโขทัยนั่นเอง) จักรวรรดิสยามยิ่งใหญ่ขนาดไหนในภูมิภาค (คือการเรียนเกี่ยวกับอยุธยานั่นเอง) สมัยใหม่แบบไทยๆ (คือการเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกรุงเทพฯนั่นเอง) หรือเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ หรือด้านอื่นๆ รวมทั้งวัฒนธรรมก็ได้ เป็นต้น สำคัญที่สุดคือควรเลือกที่หัวข้อที่ผู้สอนถนัดหรือคุ้นเคย และสามารถฝึกฝนทักษะตามที่ประสงค์ได้

- กรอบที่ นิธิ และ สุจิตต์ เคยเสนอไว้ใน “สู่ประวัติศาสตร์ประชาชนไทย” นั้นเป็นประวัติศาสตร์ไทยในบริบทอุษาคเนย์ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ลดประวัติศาสตร์การเมืองของราชอาณาจักรสยามลงไป ประวัติศาสตร์ไทยแบบนี้ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์ และยังสอดคล้องกับ narrative ของประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่สอนกันในต่างประเทศอีกด้วย นี่จึงเป็นตัวอย่างของอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นชุดที่สอดคล้องกัน (coherent) แต่ผู้วิจัยไม่ทราบว่าเค้าโครงนี้จะง่ายกว่าหรือยากกว่าการเลือกหัวข้อที่อิงกับสาระเนื้อหาสาระตามหลักสูตร กธ.

** ไม่มีหัวข้อที่ “ถูกต้อง” หรือ “ผิด” ควรเลือกที่หัวข้อที่ผู้สอนถนัดและสามารถฝึกฝนทักษะได้อย่างมั่นใจ เพราะไม่ว่าจะเน้นที่ประวัติศาสตร์ด้านไหนแง่ไหน ก็ย่อมต้องชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับด้านอื่นและมุมมองอื่นๆ ไปด้วย **

11.3 ตัวอย่างหัวข้อที่อิงกับหลักสูตร กธ. ที่สามารถเลือกสอนทักษะได้

สาระสำคัญของเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยม 4-6 ตามหลักสูตรของ กธ. จัดเป็นหัวข้ออย่างชัดเจน หลายหัวข้อเน้นกระบวนการสำคัญที่มีความหมายต่อปัจจุบัน ซึ่งเราน่าจะสามารถเลือกสรร (โดยดัดแปลงตามสมควร) มาสอนในแบบที่มุ่งหมายฝึกฝนทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์ได้ ทั้งเป็นสาระที่จะช่วยให้เข้าใจสังคมไทยในปัจจุบันได้ดีอีกด้วย แม้ว่าหัวข้อตามหลักสูตร กธ. เหล่านี้จะมีปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาก (เพราะมักสอนเน้นเนื้อหาให้ท่องจำ) ก็ตาม ตัวอย่างหัวข้อตามหลักสูตร กธ. ได้แก่

- รัฐโบราณก่อนประเทศไทย

- ปัจจัยที่มีผลต่อการสถาปนารัฐอาณาจักรในช่วงต่างๆ

- การปฏิรูปสู่สมัยใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 (การเลิกไพร่ทาส ฯลฯ)

- ประชาธิปไตยระหกระเหินนับแต่ 2475 เป็นต้นมา

- การสร้างการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเน้นที่ (...ตามแต่ความถนัดของผู้สอน...)

- บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

- ฯลฯ

อธิบายเพิ่มเติมบางหัวข้อ

(1) หัวข้อ “อาณาจักรโบราณในดินแดนประเทศไทย” ตามหลักสูตร กธ. เป็นลำดับรายชื่ออาณาจักรโบราณก่อนสุโขทัย ให้รายละเอียดสั้นๆ ว่าก่อตั้งเมื่อไหร่ บริเวณไหน มีขนาดอาณาจักรใหญ่โตแค่ไหน แล้วก็สรุปว่าอาณาจักรเหล่านั้นมีอิทธิพลต่ออาณาจักรไทยในเวลาต่อมาอย่างไรเพียงสั้นๆ ทั้งหมดนี้ทำให้หัวข้อนี้กลายเป็นเนื้อหาที่ต้องท่องจำไปอีกแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่หัวข้อนี้สามารถแนะนำเพียงแค่สัก 1-2 แห่งก็พอ แต่ควรจะชวนให้ผู้เรียนช่วยคิดว่าปัจจัยอะไรบ้างเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของรัฐนั้นๆ อย่างไร การเรียนหัวข้อนี้ อาจช่วยให้ผู้เรียนรู้จักภูมิศาสตร์ดินแดนประเทศไทยอย่างมีความหมายและรู้จักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับวิชาอื่น

(2) ในขณะที่หัวข้อ “ปัจจัยที่มีผลต่อการสถาปนาอาณาจักรไทย” นั้น จำแนกออกเป็นปัจจัยทางภูมิศาสตร์และปัจจัยการเมืองของแต่ละราชธานี (สุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ) ซึ่งชวนให้ผู้เรียนต้องวิเคราะห์ตามทันที แต่อาจกลับกลายเป็นแค่สาระที่ต้องท่องจำไปทันทีหากไม่มีการชวนให้คิดว่าวิเคราะห์เช่นนั้นได้อย่างไร มีหลักฐานอะไร และจะต้องตีความหลักฐานเหล่านั้นอย่างไรจึงได้เป็นข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ได้

(3) หัวข้อ “การปฏิรูปสู่สมัยใหม่สมัยรัชกาลที่ 5” มีทั้งหลักฐาน ข้อมูล ประเด็นคำถามสำคัญๆ ที่สามารถชวนให้วิเคราะห์ได้หลายด้านหลายแง่มุมมากและเข้าใจความเกี่ยวพันของอดีตกับปัจจุบันได้ไม่ยากเลย แถมยังตีความต่างออกไปก็ได้ หรือชี้ให้เห็นมุมมองต่างจากชนชั้นนำกรุงเทพฯ ก็ได้ แต่น่าเสียดายว่าเนื่องจากความใกล้ชิดกับปัจจุบันและเป็นรัชสมัยสำคัญที่สุดสมัยหนึ่งของราชวงศ์จักรี หลักสูตร กธ. จึงต้องควบคุมสาระเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ต้องลดทอนจนกลายเป็นสูตรสำเร็จไว้ท่องจำ ทั้งสาเหตุ การดำเนินการและผลของการปฏิรูป แถมยังถือว่ามุมมองที่ต่างจากชนชั้นนำกรุงเทพฯกลายเป็นอันตรายอีกด้วย

(4) “บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์” ตามหลักสูตร กธ. มีแต่กษัตริย์ เจ้า ขุนนางระดับสูงสุด กล่าวถึงแต่ด้านที่เป็นคนดีมีความสามารถพิเศษ มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญ อุทิศตนเพื่อราษฎร ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นประวัติศาสตร์ด้านเดียวทั้งของบุคคลนั้นและของสังคม จนกลายเป็นการเชิดชูบูชาเทพที่ราษฎรต้องสำนึกบุญคุณ การสอนในหัวข้อนี้ที่ดีกว่าเดิมและมุ่งฝึกทักษะการคิด ควรชี้ให้เห็นว่าสาระแบบบูชาเทพ เกิดจากการตีความหลักฐานผิวเผินอย่างไร สามารถชี้ให้เห็นมุมมองอื่นต่อบุคคลนั้น หรือเลือกบุคคลสำคัญที่ถูกมองข้ามจากมุมมองด้านเดียว เป็นต้น

11.4 หัวข้อตัวอย่างข้างบนนี้ ทุกหัวข้อสามารถช่วยฝึกฝนทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์ได้ทุกประการทั้งนั้น แต่ผู้สอนสามารถเลือกเน้นทักษะบางอย่างบางประเด็นเหนือทักษะอื่นๆ ตามแต่จะออกแบบการสอนในหัวข้อนั้นๆ หากผู้สอนลองคิดหรือลองออกแบบว่าจะสอนหัวข้อตัวอย่างข้างบนนี้อย่างไร จะเน้นทักษะข้อไหน แล้วลองเช็คลงในตารางข้างล่างนี้ จะพบว่าเราท่านสามารถเลือกได้ต่างๆ กันออกไป ไม่มีสูตรตายตัว ดังที่ผู้วิจัยลองทำเป็นตัวอย่างข้างล่างนี้

 

ทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์

Historical thinking skills

  หัวข้อตามตัวอย่างในข้อ 11.3

  (1)     (2)      (3)      (4)

1. อดีตเกี่ยวพันกับปัจจุบัน Past and present

1) สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง (change over time) อดีตมีผลต่อปัจจุบันและทางเลือกสู่อนาคต

2) ในบางแง่มุม ปัจจุบันเป็นผลของการเปลี่ยนจากอดีต การเปลี่ยนแปลงยังรักษามรดกหรือความต่อเนื่องจากอดีตอยู่ แต่ในบางแง่มุม ปัจจุบันเป็นผลของการสูญสิ้นของอดีต เป็นผลของการพลิกผันแตกหักจากอดีต

3) คำถามของทุกสังคมทุกยุคสมัย: จะกระทำการเพื่อปรับตัวปรับปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตโดยเก็บรักษาอดีตในแง่ไหนแค่ไหนอย่างไร

4) จะเข้าใจปัจจุบันหรือจะสร้างอนาคต จึงต้องรู้จักความเป็นมาและมรดกจากอดีต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2)

 

3)

 

4)

 

 

2. จุดยืนมุมมอง Perspectives                   

1) เหตุการณ์หนึ่งๆ ถูกมอง (รับรู้ เข้าใจ) จากจุดยืนต่างๆ กัน

2) ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี จึงอาจมีเกินหนึ่งมุมมอง หลายด้าน หรือมีคำอธิบาย/เรื่องเล่าได้เกินหนึ่งแบบหนึ่งเรื่อง (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิด หรือมีอคติมากน้อยได้ด้วยกันทั้งนั้น)

3) ปัจจุบันเป็นจุดยืนมุมมองหนึ่ง

4) ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ต่างกันมีผลต่อการกระทำต่างๆกันของคนในปัจจุบัน

 

2)

 

 

 

1)

 

2)

 

4)

 

3. หลักฐาน Evidence                      

1) หลักฐานร่วมสมัย หลักฐานสมัยหลัง; หลักฐานโดยตรง หลักฐานทางอ้อม

2) การสอบสวนหาข้อมูลจากหลักฐาน (การวิพากษ์หลักฐาน)

3) อะไรนับเป็นหลักฐานหรือไม่ น่าเชื่อถือมากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับกรณีและขึ้นกับวิธีสอบสวนว่าหาข้อมูลอะไร

4) ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ “หลักฐานชั้นต้น” ที่มักพบบ่อย

 

 

 

 

1)

2)

 

3)

 

4. บริบท Context            

1) ความเข้าใจปัจจัยแวดล้อมจึงช่วยให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ และกลับกัน

2) แต่มีบริบทหลากหลาย ต่างบริบทมีอิทธิพลต่างกัน

3) บริบทเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดและไม่เกิดประวัติศาสตร์ที่ต่างกันไปตามกาลเวลาด้วย

4) ผิดยุคผิดสมัย (anachronism)

 

1)

 

 

4)

 

2)

 

5. การตีความวิเคราะห์ Interpretation & analysis (or Interpretive analysis)

1) การตีความ การวิเคราะห์ การถกเถียงโต้แย้งเพื่อประมวลข้อมูลออกมาเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นคำอธิบาย

2) การใช้ทฤษฎี มโนทัศน์ (concept) แนวความคิดจากศาสตร์ต่างๆ มาช่วยตีความและอธิบายอดีต 

3) การเปรียบเทียบ (เพื่อวิเคราะห์และอธิบายเหตุการณ์ที่คล้าย/ต่างกัน และเพื่อช่วยตีความหลักฐาน)

 

 

 

1)

 

2)

 

3)

 

 

 

 

1)

 

2)

 

 

มีหัวข้ออีกมากมายที่ผู้สอนสามารถเลือกสรรจากหลักสูตร กธ. ปรับให้ออกห่างจากอุดมการณ์ของรัฐ (ราชาชาตินิยม ความเป็นไทย ฯลฯ) ปรับให้เข้ากับความรู้และความถนัดของผู้สอน เพื่อฝึกฝนทักษะตามความมุ่งหมายและเป็นสาระที่ช่วยเข้าใจอดีตและปัจจุบันของสังคมไทยอีกด้วย

 

อ้างอิง

[1] นี่เป็นแนวโน้มที่นักการศึกษาพยายามผลักดันในหลายประเทศ ดู Keith Barton, 2012, “History from learning narrative to thinking historically,” chap 7, Contemporary Social Studies: An Essential Reader, ed. William B. Russell III, Information Age Publishing, pp. 119–138

[2] Keith Barton, 2005, “Primary Sources in History: Breaking Through the Myths,” in Phi Delta Kappan, 86, pp.745-753

[3] ดู James P. Shaver, 1995, “Rationales for Issue-Centered Social Studies Education,” The Social Studies, May-June 1995, pp. 95-99 ซึ่งอธิบายว่าข้อดีเสียของการเรียนประวัติศาสตร์แบบเน้นที่เหตุการณ์กับแบบที่เน้นกระบวนการ แบบแผนและประเด็นสำคัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท