นักวิเคราะห์ชี้จีนใช้ 'กับดักหนี้' ยึดทรัพยากร - จุดยุทธศาสตร์ ในประเทศกำลังพัฒนา

สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียออกบทวิเคราะห์การปล่อยเงินกู้ของจีนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกาและที่อื่นๆ เช่นกรณีจีนให้เคนยากู้ยืมเพื่อสร้างทางรถไฟ สะท้อนให้เห็นปัญหาในการปล่อยกู้ของจีนเพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมืองและยึดทรัพยากรในประเทศที่กำลังพัฒนา

5 ธ.ค. 2565 เมื่อไม่นานนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญากู้ยืมที่ประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยา เคยทำไว้กับจีนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (ASPI) ระบุว่าโครงการทางรถไฟที่เคนยาทำกับจีนนั้น เป็นโครงการที่ "ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง" และเน้นย้ำให้เห็นว่าจีนใช้วิธีการแบบกับดักหนี้สินในเชิงรุกล้ำสร้างอิทธิพลต่อประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างไร

ASPI วิเคราะห์ว่าข้อตกลงที่เคนยาทำกับจีนไม่เพียงแค่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กู้ยืมต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งหมดเท่านั้น เช่น กำหนดให้ต้องอาศัยอนุญาโตตุลาการที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายจากจีนในการตัดสินระงับข้อพิพาทใดๆ ก็ตาม แต่ยังทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในระดับที่ไม่สามารถจัดการได้อีกด้วย เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงผิดปกติ

ASPI ระบุว่าข้อกำหนดในข้อตกลงของจีนเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศในโลกเสี่ยงที่จะติดอยู่ในกับดักหนี้สินที่จีนวางไว้ ซึ่งจะเป็นการทำลายอธิปไตยของประเทศเหล่านั้นด้วย

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก มีการปล่อยกู้ให้กับประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ จนถึงเมื่อสิ้นปี 2563 จีนปล่อยกู้ให้กับประเทศต่างๆ เหล่านี้รวมแล้ว 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.9 ล้านล้านบาท) เงินให้กู้ยืมจำนวนมากขนาดนี้เป็นจำนวนที่สูงกว่าผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพีจากทั้งโลกร้อยละ 6 (จำนวนจีดีพีของโลกสำรวจเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 84,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3 ล้านล้านบาท)

เรื่องนี้ทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งขององค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟในด้านการเป็นผู้ปล่อยกู้ระดับโลก อีกทั้งจีนยังขยายการปล่อยกู้ผ่านโครงการริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือที่เรียกว่า"เส้นทางสายไหมใหม่" ในวงเงิน 838,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 29 ล้านล้านบาท) ทำให้ในตอนนี้จีนกลายเป็นประเทศที่ให้ทุนแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ASPI ระบุว่านับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดใหญ่ของ COVID-19 จีนได้ปล่อยกู้ให้กับต่างชาติน้อยลงในแง่การปล่อยกู้ที่ใช้กับโครงสร้างพื้นฐาน (เทียบกับก่อนหน้านี้คือในปี 2562 มีการปล่อยกู้เพิ่มสูงขึ้นมาก) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้ประเทศลูกหนี้ของจีนอยู่ในสถานการณ์คับขับทางเศรษฐกิจ และการที่นานาชาติมีการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะการปล่อยกู้แบบใช้อิทธิพลรุกล้ำของจีนก็ส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย

ถึงแม้จะมีความหวังว่าการที่จำนวนการกู้ยืมจากจีนที่ลดลงในช่วง COVID-19 จะช่วยให้การเป็นเจ้าหนี้ในเชิงล่าอาณานิคมของจีนสิ้นสุดลง แต่การที่เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจาก COVID-19 ยิ่งทำให้มีการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินแก่ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ซึ่งส่วนใหญ่แล้วให้กับประเทศคู่ค้าในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางรวมถึงเคนยาที่มีภาระหนี้สินกับจีนอยู่แล้วด้วย

การปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินนี้มีขอบที่ใหญ่มากมีผู้กู้ยืมสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ อาร์เจนตินา, ปากีสถาน และศรีลังกา ประเทศเหล่านี้ได้รับเงินกู้จำนวน 32,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.14 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2560 ปากีสถานเป็นผู้กู้ยืมจากจีนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561 อยู่ที่ 21,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 762,000 ล้านบาท)

ASPI ระบุว่าเรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงการที่จีนทำให้ประเทศต่างๆ มีภาระหนี้สินทับถมมากขึ้น และจีนก็ต่างจากไอเอ็มเอฟ ตรงที่ไอเอ็มเอฟมีการวางเงื่อนไขอย่างเข้มงวดแต่จีนไม่ได้วางเงื่อนไขเอาไว้ พวกเขาแค่ปล่อยให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศเหล่านี้จมดิ่งลงไปในภาวะหนี้ทับถมเพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญคือสัญญาการให้กู้ยืมของจีนนั้นมักจะเต็มไปด้วยความลับ การเปิดเผยเรื่องการกู้ยืมของเคนยาถือเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างจีนกับเคนยาในเรื่องการรักษาความลับ มีหลายกรณีการกู้ยืมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างขาดความโปร่งใสด้วยเพราะเกิดขึ้นโดยที่ประชาชนผู้จ่ายภาษีไม่ได้รับรู้ กลายเป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบรัฐบาล นอกจากนี้จีนยังได้เปิดช่องทางให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกู้ยืมโดยตรง แต่ให้เงินกู้ผ่านรัฐวิสาหกิจแทนไม่ว่าจะเป็น บริษัทของรัฐ, ธนาคารรัฐ และบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ(บริษัทลูกที่ตั้งเพื่อรับผิดชอบหนี้แทนบริษัทแม่ในทางกฎหมาย) และสถาบันภาคส่วนเอกชนในประเทศที่ทำการกู้ยืม เรื่องนี้ทำให้เกิด "หนี้ที่มองไม่เห็น" เกิดขึ้นในระดับสูงมาก

ยกตัวอย่างเช่นประเทศลาว ที่มีหนี้ที่มองไม่เห็นจากจีนสูงมากในระดับที่กลบหนี้ที่ลาวกู้ยืมอย่างเป็นทางการ ลาวกู้ยืมจากจีนหลังเกิดภาวะช็อคทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 การติดหนี้จีนจึงเปิดโอกาสให้จีนสามารถเข้ามาควบคุมโรงผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ของลาวได้ และเป็นไปได้ที่ลาวจะมีทางเลือกอยู่น้อยมากในการที่จะใช้หนี้จีน ทำให้อาจจะต้องชดใช้ด้วยที่ดินในประเทศตัวเองหรือทรัพยากรธรรมชาติในประเทศตัวเอง

เคยมีเหตุการณ์ใกล้เคียงกับข้อสันนิษฐานนี้เกิดขึ้นมาก่อนคือ มีกลายกรณีที่ลูกหนี้ของจีนถูกบีบให้ต้องยอมชดใช้ด้วยการมอบสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ให้เช่น กรณีของประเทศทาจิกิสถานได้มอบที่ดินของเทือกเขาปามีร์ 1,158 ตร.กม. ให้กับจีน ให้สิทธิต่อบริษัทของจีนในการขุดเจาะเหมืองแร่ เหมืองเงิน และสินแร่อื่นๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังอนุมัติโครงการสร้างฐานทัพใกล้กับเขตแดนติดกับอัฟกานิสถานที่ได้ทุนมาจากจีนด้วย

ประเทศศรีลังกาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีวิกฤตหนี้สินของศรีลังกาได้รับความสนใจจากนานาชาติเมื่อปี 2560 ศรีลังกาไม่สามารถจ่ายหนี้คืนให้กับจีนได้ ทำให้พวกเขาต้องลงนามในสัญญาให้จีนเช่าท่าเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดอย่างท่าเรือ ฮัมบันโตตา รวมถึงที่ดินโดยรอบมากกว่า 60 ตร.กม. โดยสัญญาเช่าระบุว่าจะปล่อยให้จีนเช่าได้ถึง 99 ปี กรณีนี้ถูกเปรียบเทียบกับชาวนาที่ยากจนจำเป็นต้องยกลูกสาวของตัวเองเพื่อแลกกับการใช้หนี้ ถึงแม้ว่าศรีลังกาจะต้องเสียท่าเรือของตัวเองไปแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพวกเขาก็ยังคงอยู่ในสถานะผู้ผิดนัดชำระหนี้อยู่ดี

ท่ากวาดาร์ ประเทศปากีสถาน ภาพโดย Saadsuddozai

อีกกรณีหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือปากีสถาน พวกเขาให้จีนได้รับสิทธิพิเศษในการใช้งานท่าเรือกวาดาร์ที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ได้เป็นเวลา 40 ปี ในช่วงเวลานั้นจีนจะสามารถหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองผ่านรายได้จากท่าเรือร้อยละ 91 นอกจากนั้นยังยกเว้นการเก็บภาษีบริษัทจีนที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรในท่าเรือถึง 23 ปี

นอกจากนั้นจีนยังวางแผนจะสร้างฐานทัพเรือใกล้กับท่าเรือกวาดาร์ของปากีสถานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนมักจะทำกับหลายประเทศที่ติดหนี้อยู่ ประเทศจีบูตีในแอฟริกาเป็นประเทศแรกที่จีนใช้วิธีนี้ ท่าเรือที่จีบูติถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เปิดเส้นทางเข้าสู่ทะเลแดงของจีน และตอนนี้จีนกำลังต้องการจะสร้างท่าเรือที่บริเวณชายฝั่งแอฟริกันตะวันตกด้วยและสถานการณ์หนี้สินของประเทศอิเควทอเรียลกินีตะวันตกของแอฟริกาทำให้แผนการของจีนคืบหน้าไปมาก

ASPI ระบุว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ของจีนที่เน้นการสร้างอำนาจต่อรองสูงสุดให้อยู่เหนือลูกหนี้ มีงานวิจัยนานาชาติชิ้นหนึ่งระบุว่า การที่สัญญาการกู้ยืมของจีนมีการระบุข้อสัญญาย่อยๆ เอาไว้ในเรื่องการยกเลิกหนี้, การเร่งรัดหนี้ และการรักษาสภาพคล่อง เป็นการอนุญาตให้เจ้าหนี้อย่างจีนเข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลลูกหนี้ได้ทั้งนโยบายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ทางการจีนมักจะใช้สิทธิในการระงับหนี้ตามอำเภอใจหรือเรียกให้จ่ายหนี้โดยทันทีเป็นเครื่องมือต่อรองอีกด้วย

ด้วยวิธีการเหล่านี้ทำให้จีนสามารถใช้การปล่อยกู้ให้กับต่างชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านการทูตให้ตัวเองได้ เช่น อ้างเรื่องการผิดนัดชำระหนี้มาเป็นเครื่องมือบีบให้เกิดการทำสัญญาการค้าและการก่อสร้างตามที่จีนต้องการได้ การใช้เรื่องหนี้ของลาวมาเป็นเครื่องมือบีบให้ลาวเป็นพันธมิตรกับจีนบนเวทีโลก และทำให้จีนสามารถเข้าควบคุมท่าเรือของประเทศต่างๆ ในการเสริมความเข้มแข็งทางยุทธศาสตร์ของจีนได้

ASPI เรียกการที่จีนใช้ภาวะหนี้สินมาสร้างอิทธิพลให้ตัวเองเช่นนี้ว่าเป็น "จักรวรรดิ์นิยมแบบเจ้าหนี้" ซึ่งวิธีการเช่นนี้ของจีนทำให้เกิดความเสี่ยงแผ่ขยายไปทั่ว ทั้งต่อลูกหนี้เองและต่ออนาคตของความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท