Skip to main content
sharethis

ผู้ประท้วงในอิหร่านเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันนัดหยุดงานเป็นเวลา 3 วัน เพื่อกดดันผู้มีอำนาจจากกรณีการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินีต่อไป แม้ก่อนหน้านี้จะมีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลว่าอาจสั่งยุบตำรวจศาสนาที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต และจะมีการนัดประท้วงหลายจุดในวันพุธ (7 ธ.ค.) เนื่องในวันนักเรียนของอิหร่าน

ตำรวจศาสนาในเตหะราน ภาพจาก Fars News ถ่ายเมื่อ 22 เม.ย.2549

ในวันพุธนี้ ผู้ประท้วงจะเดินขบวนไปยังจตุรัสเสรีภาพในกรุงเตหะราน โดยคาดว่า อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีจะเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยเตหะรานในวันดังกล่าว สำหรับการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มโดยผู้ประท้วงนั้นดำเนินการมาตั้งแต่วันจันทร์ หลังเคยนัดหยุดงานประท้วงมาแล้ว 2 ครั้ง

ในแกรนบาซาร์ของเตหะราน มีการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยมากขึ้น พยานหลายคนให้ข้อมูลพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของร้านค้าปิดทำการ ผู้นำฝ่ายตุลาการของอิหร่านได้สั่งให้ทำการจับกุมใครก็ตามที่ส่งเสริมให้มีการนัดหยุดงาน หรือพยายามข่มขู่ร้านค้าให้ปิดทำการ บางส่วนให้การว่าอยากสนับสนุนการประท้วงแต่ไม่สามารถปิดร้านได้

ในกรุงเตหะราน พบว่าผู้หญิงเดินตามท้องถนนโดยไม่สวมใส่ฮิญาบมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่มั่งมี แต่พบการไม่สวมใส่ฮิญาบน้อยลงในพื้นที่อนุรักษ์นิยม บางครั้งยังพบว่าผู้หญิงไม่สวมใส่ฮิญาบเดินผ่านตำรวจควบคุมฝูงชน และกองกำลังติดอาวุธของรัฐ (Basij) ด้วย

สัญญาณยุบ 'ตำรวจศาสนา'?

สัญญาณการยุบตำรวจศาสนากลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ หลังวันเสาร์ (3 ธ.ค.) รายงานของสำนักข่าวแรงงานอิหร่านระบุว่า อิหร่านได้ยุบหน่วยตำรวจศาสนาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอ้างคำพูดของ มูฮัมหมัด จาฟาร์ มอนตาเซรี อัยการของอิหร่าน ระบุว่า "ผู้มีอำนาจที่ก่อตั้งหน่วยงานตำรวจนี้ได้สั่งปิดหน่วยงานนี้ไปแล้ว"

"เรากำลังพยายามเร่งทำงานในประเด็นฮิญาบอย่างเต็มที่ เพื่อหาทางออกอย่างรอบคอบต่อปรากฎการณ์ซึ่งสร้างความเจ็บปวดต่อหัวใจของทุกคน" มูฮัมหมัด จาฟาร์ มอนตาเซรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม มูฮัมหมัด จาฟาร์ มอนตาเซรี ระบุเช่นกันว่าตนเองซึ่งทำงานอยู่ในฝ่ายตุลาการจะยังคงสอดส่องพฤติการณ์ในระดับชุมชนต่อไป ขณะที่เจ้าหน้าที่อิหร่านระบุย้ำว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับฮิญาบและวิธีการบังคับใช้ระเบียบการแต่งกายของผู้หญิง

เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหน่วยงานตำรวจศาสนา ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการยุบหน่วยงานตำรวจศาสนาแต่อย่างใด และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศก็ไม่ได้ตอบเรื่องนี้ตรงๆ เมื่อถูกถามโดยนักข่าว

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียและสื่อหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่าพบการลาดตระเวนของตำรวจศาสนาตามท้องถนนตามเมืองต่างๆ ของอิหร่านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อาลี อัลโฟเนห์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันศึกษารัฐอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นมาตรการไม่เป็นทางการในการลดระดับความตึงเครียดของรัฐบาล

แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันใดๆ จากทางการเกี่ยวกับสถานะของตำรวจศาสนา แต่อัลโฟเนห์ให้ความเห็นว่า "สำหรับในตอนนี้ แทนที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับการสวมฮิญาบ สาธารณรัฐอิสลามมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะไม่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดระดับความตึงเครียดในสังคมมากกว่า"

การเรียกร้องให้ร่วมกันนัดหยุดงานและรวมคนครั้งใหญ่ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการยกระดับความตึงเครียด การปราบปรามจากรัฐ และส่งผลสะเทือนทั่วประเทศ นับเป็นการประท้วงใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่าน พ.ศ. 2522

การประท้วงทั่วประเทศเริ่มขึ้น หลังจากมาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดวัย 22 ปี เสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวโดยตำรวจศาสนาของอิหร่านเมื่อ 16 ก.ย. เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎการสวมฮิญาบ สำหรับตำรวจศาสนาก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยมีภารกิจในการจับกุมและบังคับใช้ระเบียบการแต่งกายโดยเฉพาะการสวมฮิญาบ

รายงานข้อมูลล่าสุดเมื่อวันเสาร์ว่ามีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปแล้ว 470 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชน 64 คน และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปแล้ว 18,210 คน และมีสมาชิกของกองกำลังความมั่นคงเสียชีวิตไปแล้วทั้งหมด 61 คน แต่สภาความมั่นคงกลับระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 200 คน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net