Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานโตโยต้า สนับสนุน นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท และเงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย ชี้ สมดุลกับค่าครองชีพให้แรงงานได้ใช้ชีวิตได้โดยปกติ ดูแลครอบครัวได้ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท โดยที่ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ หากมีนโยบายภาครัฐสนับสนุน

 

8 ธ.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า พร้อมด้วยสมาชิกผู้ใช้แรงงาน ได้มาร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีสุธรรม แสงประทุม ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย และอรรถชัย อนันเมฆ คณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้การต้อนรับ

ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนได้ หลังจากที่แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบการปริญญาตรีจบใหม่ที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแรงงานไทยในหลากหลายองค์กร

ตนเองพบว่า แรงงานไทยต้องการให้ปรับค่าแรงให้มีความสมดุลกับค่าครองชีพ เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้โดยปกติ สามารถดูแลครอบครัวได้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ไม่ได้เกินเลยกำลังของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ และพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล แรงงานมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ธุรกิจต้องมีกำไรจึงจะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ภาครัฐเอง ซึ่งเป็นส่วนกลางในการนำเสนอนโยบายที่ดีก็จะมีมาตรการรองรับด้วย จึงขอให้กำลังใจคณะทำงานด้านนโยบายของพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยในการผลักดันนโยบายนี้เมื่อสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนการที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคส่วนต่างๆ ที่มีความห่วงใยว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้โรงงานต้องย้ายฐานการผลิต และไม่จูงใจนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามานั้น ปิยรัชต์ กล่าวว่า หากมองในทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในขณะนั้นทุกภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ส่วนหนึ่งคือเพราะนโยบายภาครัฐ มีความสอดรับสนับสนุนกัน ทำให้ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ จนสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับตลาดในประเทศและตลาดเพื่อการส่งออก เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นต้นทุนทางธุรกิจอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากคุณภาพชีวิตของลูกจ้างปรับตัวดีขึ้นเพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นการมองในเชิงเดี่ยว แต่หากมองในเชิงมหภาค การปรับขึ้นค่าแรงจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศวิสัยทัศน์ดังกล่าว ถือเป็นการย้อนอดีตในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้สำเร็จ ซึ่งในขณะนั้นหลายฝ่ายฝ่ายมองว่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งในครั้งนี้พวกเราชาวแรงงานมีความคิดเห็นว่าจะสามารถทำได้เช่นกัน เพราะจะดำเนินการแบบขั้นได้ ไม่เกินกำลังที่ทำไม่ได้ ด้วยองคาพยพในภาพรวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วางไว้อย่างชัดเจนว่าจะขยายตัวภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จะมีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น ตนในฐานะของผู้ใช้แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับใหญ่ ค่าจ้างแรงงานระดับแรงงานทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ 500-600 บาทต่อวันอยู่แล้ว ซึ่งตนมีความเข้าใจอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีความกังวล แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมนโยบายสำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อให้เดินต่อไปได้แน่นอน

สุธรรม แสงประทุม ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย ตรงใจกับผู้ใช้แรงงานและประชาชน หากรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ในปี 2570 พรรคเพื่อไทยจะคิด ขับเคลื่อน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จากในอดีตของพรรคไทยรักไทยจนมาถึงพรรคเพื่อไทยทำมาสำเร็จมาโดยตลอด การที่มีนักกฎหมาย นักวิเคราะห์ และหลายภาคส่วนวิพากษ์วิจารณ์นั้นถือว่าน่ายินดีที่ภาคประชาสังคมจะได้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ขณะนี้ประเทศตกอยู่ในสภาะวิกฤตหนักที่สุด มีหนี้สินสูง ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ รายได้ไม่เพียงพอ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือความทุกข์ที่ประชาชนเผชิญอยู่ได้ จึงมีความจำเป็นและเป็นหน้าที่ที่พรรคการเมืองจะต้องคิด และหาทางออกมากกว่า

ส่วนการที่รัฐมนตรีบางคนที่ออกมาแสดงความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย บอกว่าแนวคิดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นหายนะ ตนรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากที่คนเป็นรัฐมนตรีจะออกมาคัดค้านแนวคิดที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งที่ควรจะดีใจ และควรคิดหาวิธีการที่จะทำหรือฝึกฝนเพื่อช่วยเหลือประชาชนบ้าง แต่สิ่งที่ทำกลับโจมตี แล้วรัฐมนตรีคนนั้นจะเข้าไปอยู่ในใจของผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร

สุธรรม กล่าวอีกว่า การประกาศวิสัยทัศน์ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น พรรคเพื่อไทยเรามีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้อย่างมั่นคง เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทย ประกาศนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 70,000 แห่ง สามารถดำเนินการได้จริง เม็ดเงินลงสู่หมู่บ้านโดยตรงถึงมือประชาชนโดยไม่มีเบี้ยใบ้รายทาง รวมทั้งโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นต้น ทั้งสองนโยบายยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และอยู่ในใจพี่น้องประชาชน นโยบายเหล่านี้ต้องได้รับการปฏิบัติ สังคมจะก้าวหน้าและดีกว่าที่เป็นอยู่

“ค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเท่านั้น พรรคเพื่อไทยหากดำเนินนโยบายแล้วทำครบกระบวนการ ไม่ใช่ปลูกแล้วทิ้ง ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยดูแล เอาคนมาช่วย แปรรูปผลผลิตมาเป็นมูลค่าเพิ่ม ส่งออกไปตามตลาดที่ต้องการ ทุกส่วนเราทำแล้วไม่ได้ทำแต่ปาก พี่น้องแรงงานไทยมีครอบครัวที่ต้องดูแล เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นมนุษย์ทุกคน เจ็บป่วยต้องได้รับการดูแล มีลูกต้องได้รับโอกาส ทุกชีวิตต้องมีเกียรติอย่างเท่าเทียม” สุธรรม กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net