7 ปี คดีระเบิดราชประสงค์สืบพยานได้ 40 จาก 400 กว่าปาก ทนายชี้หลักฐานโจทก์ยังไม่ถึงจำเลย

7 ปีคดีระเบิดพระพรหมแยกราชประสงค์ สืบพยานได้ 40 ปากจากกว่า 400 ทนายเตรียมรับข้อเท็จจริงพยานผู้เสียหายอีกเกือบ 200 ปากลดจำนวนพยานที่ต้องสืบ ชี้หลักฐานและพยานฝ่ายโจทก์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเกี่ยวกับการก่อเหตุ ผลตรวจสารจากหลักฐานชุดที่ทหารยึดไม่เหมือนของตำรวจ

อาเดม คาราดัก (ชุดนักโทษคนหน้า) และ ไมไลรี ยูซูฟู (ชุดนักโทษคนหลัง) ขณะที่คดีของพวกเขายังถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ แฟ้มภาพ

8 ธ.ค.2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดสืบพยานในคดีระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อ 7 ส.ค.2558 ที่มีจำเลย 2 คน คือ อาเดม คาราดัก หรือที่มีชื่อจริงว่า บิลาล เติร์ก โมฮัมหมัด เป็นจำเลยที่ 1 และ ไมไลรี ยูซูฟู จำเลยที่ 2 ที่อัยการทหารฟ้องพวกเขาในฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ใช้วัตถุระเบิดฆ่าผู้อื่น พยายามกระทำให้เกิดระเบิด พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และอื่นๆ รวม 10 ข้อหาก่อนที่คดีนี้จะย้ายมาพิจารณาต่อในศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อปี 2562 

หลังการพิจารณาคดี ชูชาติ กันภัย ทนายความของอาเดม หรือบิลาน คาราดัก กล่าวถึงความคืบหน้าคดีของพวกเขาว่า ตอนนี้สืบพยานไปได้แล้วตั้งแต่ในชั้นศาลทหาร 23 ปาก และมาสืบต่อในศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อีก 17 ปากรวมแล้ว 40 ปาก แต่คดีนี้ก็มีพยานอยู่ถึงกว่า 400 ปาก แต่ภายในเดือนมกราคมนี้คาดว่าจะขอตัดพยานฝ่ายโจทก์อีก 200ปากได้เนื่องจากทางทนายความจะยอมรับข้อเท็จจริงของพยานเหล่านี้เพราะมองว่าไม่มีส่วเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีเพราะเป็นเพียงผู้เสียหายที่เป็นญาติของผู้บาดเจ็บ ตัวผู้บาดเจ็บเองแม้กระทั่งเจ้าของทรัพย์สินที่เสียหายในที่เกิดเหตุเท่านั้น

ทนายความกล่าวถึงส่วนประเด็นคดีที่มีการสืบไปบ้างแล้วเป็นเรื่องของการตรวจพยานหลักฐานที่ทางเจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดไปซึ่งการตรวจต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทำให้มีพยานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานมาเบิกความเป็นปกติ อย่างไรก็ตามทนายความตั้งข้อสังเกตต่อหลักฐานที่ทางกองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจได้รับมาตรวจมีถึง 2 ชุด คือมีมาจากทั้งชุดที่เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ตรวจยึดจากห้องพักของอาเดมและห้องข้างเคียงได้ถึง 106 รายการ ซึ่งทางตำรวจก็ได้ตรวจยึดหลักฐานมาจากทั้งสองห้องเช่นกันและบางส่วนก็ซ้ำอยู่ในรายการตรวจยึดหลักฐานของทหาร

ชูชาติตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดพยานหลักฐานชิ้นเดียวกันถึงถูกตรวจยึดได้ทั้งสองหน่วยงานแต่ทางตำรวจก็ขอไม่ตอบพาดพิงถึงการเก็บพยานหลักฐานโดยทหารซึ่งก็คงต้องรอให้พล.อ.วิจารณ์ จดแตง ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายของ คสช.เป็นคนมาตอบ นอกจากนั้นในการสืบพยานเจ้าหน้าที่ของกองพิสูจน์หลักฐานพบว่าหลักฐานที่ทหารยึดมานั้นจะตรวจพบสารเคมีที่ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของระเบิดในหลายชิ้น แต่หลักฐานชุดที่ตำรวจเก็บมากลับพบเพียงบางชิ้นเท่านั้น อีกทั้งทางฝ่ายทหารยังส่งพยานหลักฐานให้กองพิสูจน์หลักฐานเองโดยตรงไม่ผ่านพนักงานสอบที่ทำคดีด้วยซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยและมีนัยยะสำคัญทางคดี

“มันเป็นชิ้นเดียวกัน ทำไมหลักฐานชิ้นเดียวกันถึงตรวจพบสารต่างกัน ตอนที่ไปอยู่กับทหารอาจจะจัดเก็บไม่เรียบร้อยที่เรียกว่าไม่เป็นมืออาชีพ เอาหลายอย่างมาเคล้าใส่ถุงดำรวมกันปนๆ กัน อาจจะหกหลุดหรือเอามาปนกันเพราะสารที่ตรวจพบบนวัตถุพยานก็เป็นสารเดียวกัน”

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ฝ่ายจำเลยไม่ได้มีพยานปากอื่นนอกจากตัวจำเลยเอง แต่ว่าหลักฐานของโจทก์ที่เอามาใช้สืบยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าทั้งอาเดมและไมไลรี่เป็นผู้กระทำความผิด เพราะสำหรับอาเดมแล้วข้อมูลการเดินทางของเขาก็เข้ามาในไทยหลังจากเกิดเหตุระเบิดแล้ว ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่าอาเดมเข้าไทยมาก่อนเกิดเหตุเลย

ชูชาติกล่าวว่า ฝ่ายโจทก์พยายามมุ่งเน้นไปที่วัตถุพยานที่เก็บได้ในห้อง 412 (ห้องของอาเดม) และห้อง 414 ตำรวจอ้างว่ามีการพบกุญแจห้อง 414 ในห้อง 412 แต่ปรากฏว่ากุญแจที่พบมีสองดอก ดอกที่หนึ่งไขประตูลูกบิดของห้อง 414 ได้ แต่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ได้ชี้แจงแล้วว่ากุญแจลูกบิดหนึ่งดอกอาจจะเปิดได้หลายห้อง แต่ตัวล็อกสายยูที่คล้องห้อง 414 อยู่นั้นไม่มีกุญแจดอกใดที่สามารถเปิดได้ แม้กระทั่งเวลาที่ตำรวจและทหารจะเข้าไปในห้องยังต้องตัดกุญแจเข้าไป แปลว่าอาเดมไม่เคยเข้าไปที่ห้องนั้นเลย 

ทนายความกล่าวถึงสภาพความเป็นอยู่ของทั้งสองคนที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวมาตั้งแต่ปี 2558 ว่า สำหรับไมไลรีตอนนี้ยังไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่อาเดมมีปัญหาที่ตาอาจจะกำลังเป็นต้อกระจก นอกจากนั้นยังเป็นท่อปัสสาวะอักเสบอยู่บ่อยๆ ทางทนายความกำลังทำหนังสือส่งกรมราชทัณฑ์เพื่อส่งตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

ขณะนี้ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้องภายในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11)  แถวแจ้งวัฒนะ แต่ต้องการจะย้ายไปยังเรือนจำปกติเพื่อหัดเรียนภาษาไทย ตนตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากการกดดันของสถานทูตจีนหรือไม่ เพราะตนก็รู้สึกถึงบรรยากาศนั้นในห้องพิจารณาคดี โดยล่ามที่ศาลแต่งตั้งและมาจากการเสนอของสถานทูตจีนก็ชอบพยายามบันทึกเสียง 

“เขาต้องการขอย้ายไปอยู่เรือนจำที่มีคนเยอะๆ จะได้เรียนรู้ภาษาไทยได้บ้าง เพราะที่เขาอยู่มีแค่สองคนเอง การเรียนภาษาไทยก็ช้า ถ้าไปอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตรงบางเขนมันน่าจะดีสำหรับเขา ถ้าอยู่เรือนจำทหาร เจ้าหน้าที่ก็ใช้คนเยอะเกินไป” 

ชูชาติมองว่าคดีความนี้กินเวลายาวนานเกินไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความล่าช้าในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก แต่ปัจจัยหลักของความล่าช้ามาจากการดำเนินคดีในชั้นศาลทหารตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในทางกระบวนการเมื่อต้องโอนคดีกลับมาที่ศาลพลเรือน เพราะเอกสารที่มาจากศาลทหารมีความไม่สมบูรณ์และไม่เป็นระบบตามแบบของศาลพลเรือน

“แล้วคดีนี้ตอนอยู่ในศาลทหาร ตั้งแต่ปี 58 59 60 61 62 อยู่ที่นั่น 4 ปี แทบจะไม่ได้สืบพยาน ได้แค่ 23 ปาก บางทีไปศาลทีก็เลื่อน ผมมองว่าที่ศาลทหารเลื่อนเพราะเขารู้ว่าก่อนเลือกตั้งปี 62 เขาจะต้องมีการโอนสำนวนกลับมายังศาลปกติ(พลเรือน) แน่นอน แล้วก็จริงอย่างที่ว่า”

ทนายความแสดงความเห็นต่อการจัดการสำนวนคดีของอัยการศาลทหารว่าไม่เหมือนสำนวนคดีที่อัยการศาลพลเรือน สำนวนของอัยการศาลทหารมีความไม่สมบูรณ์เละเทะไม่เป็นเหมือนในระบบของศาลพลเรือน คนละรูปแบบเลยมีปัญหาพอสมควร

ชูชาติกล่าวว่า จำเลยที่หนึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ไทยก่อนเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่สองทำธุรกิจในเมืองไทยตั้งแต่ปี 56-57 เป็นหุ้นส่วนบริษัทนำเข้าโทรศัพท์ ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงทั้งสองกับเหตุการณ์ระเบิด

อุปสรรคทางภาษายังเป็นปัญหาในคดี

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในผู้สังเกตการณ์คดี เล่าว่าในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จำนวนหนึ่งและหนึ่งในนั้นมาจากสถานทูตฯ จีน โดยทางมูลนิธิฯ จะดำเนินการส่งรายงานให้กับทางสหประชาชาติและสถานทูตต่างๆ ถึงประเด็นความผิดปกติที่พบในกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น กรณีความซ้ำซ้อนของพยานฝ่ายโจทก์ที่ตอนนี้มีพยานเหลือ 400 ปาก  ซึ่งทำให้คดีมีความล่าช้า

“ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็หมายความว่าเหยื่อ (จำเลย) ได้ถูกละเมิดโดยความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมด้วย” ชลิดากล่าว

นอกจากนั้นเธอยังแสดงความกังวลถึงอนาคตของจำเลยทั้งสองหลังการพิพากษา เนื่องจากมีความกังวลว่าสถานทูตจีนอาจจะขอให้นำตัวกลับประเทศจีน

ชูชาติ กันภัย(2 จากขวา) โบรา บาติยาร์(3 จากขวา) และชลิดา ทาเจริญศักดิ์(2 จากซ้าย)

ด้านโบรา บาติยาร์ ล่ามอิสระระหว่างภาษาอุยกูร์-อังกฤษ เข้าสังเกตการณ์การไต่สวนตั้งแต่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตว่าล่ามในคดีที่สถานทูตจีนเป็นฝ่ายเสนอมามีการแปลความที่ผิดพลาดหลายจุด จากที่เขาจดบันทึกมาตั้งแต่ 22 พ.ย. มีคำที่แปลผิดรวมถึงร้อยกว่าคำ ยกตัวอย่างเช่น การแปลศาลเจ้าเอราวัณ (Erawan Shrine) เป็นย่านเอราวัณ (Erawan District) เขาได้ทำการคัดค้านผ่านทนายความ และผู้พิพากษาก็ให้เขาช่วยล่ามแปลด้วย

โบราแสดงความห่วงใยว่าการแปลผิดอาจมีผลต่อทิศทางของคดี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแต่เดิมในคดีนี้อุปสรรคหนึ่งในการสืบพยานคือการแปลภาษาที่ต้องใช้ล่ามถึงสองคนในการแปลภาษากลับไปมาระหว่าง 3 ภาษา โดยมีล่ามแปลอุยกูร์-อังกฤษซึ่งขณะนี้เป็นล่ามที่จัดหามาโดยสถานทูตจีน แล้วยังต้องมีล่ามแปลอังกฤษ-ไทยที่ทางการไทยจัดหามาทำให้มีความล่าช้าในการพิจารณาคดีด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท