Skip to main content
sharethis

ภูเก็ต ขาดแรงงานหนัก “โรงแรม-ค้าปลีก” เปิดรับกว่า 1 หมื่นอัตรา

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ  มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางผ่านสนามบินประมาณ 8,000 คนต่อวัน คาดว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และช่วงปีใหม่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.34 ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ตระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีรายได้หมุนเวียนอยู่ที่ 119,180.79 ล้านบาท โดยมีอัตราการเข้าพักในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 57% เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 70% และคาดว่าเดือนธันวาคมจะมีอัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 75-80%

ซึ่งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลทำให้สถานประกอบการมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น หลายแห่งเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกิจการในภาคธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยวภาคบริการและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต พบว่ามีสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 1,463 แห่ง  17,173 อัตรา ประเภทกิจการที่มีความต้องการมากเป็นอันดับแรก คือ ประเภทธุรกิจโรงแรม ที่พัก รองลงมาเป็นประเภทธุรกิจการบริการ และประเภทธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ตามลำดับ ตำแหน่งงานที่มีความต้องการมากที่สุด คือ พนักงานต้อนรับส่วนหน้า รองลงมาพนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม และพนักงานนวดสปา ตามลำดับ

สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ในภาคโรงแรมและบริการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมในเครือ ลากูน่า กรุ๊ป เปิดรับพนักงาน 217 อัตรา ตำแหน่งพนักงานต้อนรับส่วนหน้า พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม พ่อครัว สปา แม่บ้าน

ในภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง เช่น ไทวัสดุกำลังจะเปิดสาขาใหม่ สาขาภูเก็ต 2 ที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เปิดรับสมัครพนักงานกว่า 200 อัตรา ในตำแหน่งหัวหน้างาน พนักงานขาย แคชเชียร์ พนักงานบริการลูกค้า และช่างซ่อมบำรุง

จังหวัดภูเก็ต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขาดแคลนแรงงาน ได้เชิญตัวแทนภาคเอกชน สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ประธานชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาคการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มีการหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นในการประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่าง รับสมัครงาน การจัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน และระยะยาวในการเตรียมกำลังคนของสถานศึกษา

“อยากเชิญชวนให้คนหางานและผู้ประสงค์ที่จะทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงจังหวัดข้างเคียงเดินทางเข้ามาทำงานกับสถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ต ที่จังหวัดภูเก็ต มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 354 บาท จัดอยู่ในกลุ่มอัตราสูงสุดเท่ากับจังหวัดชลบุรีและระยอง และยังจะได้ค่าตอบแทน สวัสดิการอื่น ๆ”

จากการทำงาน โดยคนหางานที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครงานได้ที่ในแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” หรือติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต โทร 0-7621-9660 ต่อ 11-12 หรือโทร 08-3641-9990

ทั้งนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ตจัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 บริเวณชั้น 1 อาคาร R-Phuket Hotel สถานประกอบการรับสมัครงาน 5 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง กว่า 600 อัตรา และจัดกิจกรรมนัดพบแรงงานอีกครั้ง ในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 บริเวณลานกิจกรรมพับบลิคเฮ้าส์ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต (ฝั่งเฟสติวัล)” นายณรงค์กล่าว

ทางด้าน ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามารวดเร็วเกินคาดหมายไว้มากจึงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งภูเก็ตมีจำนวนห้องพักประมาณ 100,000 ห้อง เข้าพักต้นปี 39.19%  กระจายรายได้โดยรวมหมุนเวียน 680,000 ล้านบาท แยกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 120,000 ล้านบาท คนไทย 55,000 ล้านบาท มีสายการบินในประเทศเข้ามา 7 สายการบิน ต่างประเทศ 36 สายการบิน ในเดือนพ.ย. 65 มีบินเข้ามาจำนวนมากเฉลี่ย 224 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาภูเก็ตเคยมีสูงสุดจำนวน 450 เที่ยวบินต่อวัน

“ถือว่าการท่องเที่ยวกลับมาเร็วในไตรมาสสุดท้ายมีผู้เดินทางเข้าออกเฉลี่ยวันละ 34,000 คน นักท่องเที่ยวเข้ามาตอนนี้ ได้แก่ อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย และชาติอื่น ๆ ทั่วโลก อัตราเข้าพักของภูเก็ตเดือน พ.ย. 65 อยู่ที่ 65-70% ขึ้นกับระดับโรงแรม ซึ่งระดับ 5 ดาวเข้าพักได้ดีกว่าโรงแรมขนาดเล็ก

คาดการณ์ในเดือนธันวาคมเข้าพักไม่น้อยกว่า 80% สถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมาเยอะมาก โรงแรมตั้งรับไม่ทัน การรับพนักงานจึงมีความต้องการมากในแรงงานบริการนักท่องเที่ยวใกล้คริสต์มาส ปีใหม่ จึงต้องการแรงงานจำนวนมากพอสมควร ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ทันประสานกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมผ่อนคลายวิกฤตนี้ได้บ้าง” ดร.กฤษฎา กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/12/2565

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบพรรค 'ก้าวไกล' อัตโนมัติทุกปีนำ 4 ปัจจัยมาคำนวณ ทั้งเศรษฐกิจ จีดีพี เงินเฟ้อ และค่าครองชีพ

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป ว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับพรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแต่วิธีการที่ใช้แตกต่างกัน คือให้แก้ที่ระบบการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีฐานให้พูดคุยกันในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อกำหนดเลยว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรจะเป็นเท่าไหร่

พรรคจึงเสนอให้แก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ ว่าต้องปรับขึ้นอัตโนมัติและปรับขึ้นทุกปี โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ คือจีดีพีโตเท่าไหร่ และคำนึงถึงค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ปัจจัยอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่าก็นำปัจจัยนั้นมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้นในแต่ละปี ที่จะพูดคุยบนโต๊ะของบอร์ดค่าจ้าง ก่อนให้บอร์ดฯ ตัดสินใจอีกครั้ง เพื่อให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ตามค่าครองชีพ และปรับขึ้นทุกปี

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ตามที่พรรคก้าวไกลประกาศ ศิริกัญญากล่าวว่า ย้อนกลับไปปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ก็เสนอแนวทางเดียวกันคือไม่ได้แข่งกันที่จำนวนเงินว่าควรปรับเพิ่มเป็นเท่าไหร่ แต่พูดถึงการแก้ไขที่ระบบ และทำให้ดูว่าจากปี 2555 ที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท มาจนถึงวันนี้ หากคำนวณตามวิธีของพรรคก้าวไกล ค่าแรงจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ ซึ่งเราคิดว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมต่อทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า การที่นายจ้างต้องปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 450 บาท อาจเป็นตัวเลขที่เยอะ พรรคก้าวไกลจึงมีแผนช่วยเหลือ เช่น สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รัฐจะเยียวยา 6 เดือนแรกที่มีการประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ รวมถึงช่วยเหลือเงินประกันสังคมที่จะให้งดจ่ายเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อชดเชยส่วนของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และมีอัตราภาษีใหม่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เริ่มที่ 10% ไต่ระดับขั้นบันได ต่างจากปัจจุบันที่เริ่มต้นที่ 15%

ในฝั่งลูกจ้างก็จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและทักษะ เพราะการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ แม้มีความจำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีความยั่งยืนหากทักษะแรงงานไม่ได้รับการยกระดับ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีโครงการ Upskill และ Reskill สำหรับทักษะพื้นฐาน จะมีการเรียนออนไลน์ ส่วนทักษะขั้นสูง อาจมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร สามารถขอเพิ่มค่าแรงจากนายจ้างได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แรงงานในปัจจุบันสามารถหางานใหม่ได้หรือเพิ่มค่าจ้างง่ายขึ้น ยังช่วยให้เด็กจบใหม่ทุกคนได้งานดีๆ ไม่ว่าเขาเรียนจบด้านใด สามารถปรับทักษะได้ตลอด

ส่วนการปรับเงินเดือนเริ่มต้นระดับปริญญาตรี จาก 15,000 เป็น 25,000 บาท ว่าเงินเดือนของคนจบปริญญาตรี ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมานานมาก แต่เราก็ไม่ต้องการให้มีการปรับเงินเดือนทุกครั้ที่มีการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ค่าแรงปรับขึ้นตามกลไกตลาดมากกว่า สำหรับพรรคก้าวไกล เราไม่ได้กำหนดเงินเดือนเป้าหมาย โดยเมื่อปี 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้วิธีปรับเงินเดือนของข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท

ดังนั้น หากจะเพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้เรามีความกังวลเรื่องภาระทางการคลัง แต่หากจะทำเรื่องนี้ ก็ต้องทำควบคู่กับการรีดประสิทธิภาพของระบบราชการให้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าข้าราชการที่จบใหม่ทำงานไม่ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบ ทำให้เมื่อเข้าไปแล้วไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ นี่คือความจำเป็นที่ต้องปฏิรูประบบราชการก่อน

ที่มา: คมชัดลึก, 9/12/2565

สหภาพแรงงานโตโยต้าหนุนโยบายค่าแรง 600 บาทเพื่อไทย ชี้เพียงพอค่าครองชีพช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

8 ธ.ค. 2565 ดร.ปิยรัชต์ สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า พร้อมด้วยสมาชิกผู้ใช้แรงงาน ร่วมให้กำลังใจพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา  โดยมีนายสุธรรม แสงประทุม  ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ รองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายอรรถชัย อนันเมฆ คณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับ

ดร.ปิยรัชต์ กล่าวว่า  ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนได้  หลังจากที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศวิสัยทัศน์ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท และเงินเดือนผู้จบการปริญญาตรีจบใหม่ที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570  ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว   ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องแรงงานไทยในหลากหลายองค์กร  พบว่าพี่น้องแรงงานไทยต้องการให้ปรับค่าแรงให้มีความสมดุลกับค่าครองชีพ  เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้โดยปกติ สามารถดูแลครอบครัวได้  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท  ไม่ได้เกินเลยกำลังของนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ  และพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล  พี่น้องชาวแรงงานมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า  ธุรกิจต้องมีกำไรจึงจะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้   ภาครัฐเอง ซึ่งเป็นส่วนกลางในการนำเสนอนโยบายที่ดีก็จะมีมาตรการรองรับด้วย จึงขอให้กำลังใจคณะทำงานด้านนโยบายของพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยในการผลักดันนโยบายนี้เมื่อสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนการที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคส่วนต่างๆ ที่มีความห่วงใยว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้โรงงานต้องย้ายฐานการผลิต และไม่จูงใจนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามานั้น  ดร.ปิยรัชต์ กล่าวว่า หากมองในทางเศรษฐกิจ  ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท  ในขณะนั้นทุกภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้  ส่วนหนึ่งคือเพราะนโยบายภาครัฐ มีความสอดรับสนับสนุนกัน  ทำให้ภาคธุรกิจเดินต่อไปได้ จนสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับตลาดในประเทศและตลาดเพื่อการส่งออก   เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นต้นทุนทางธุรกิจอยู่ที่ 10% เท่านั้น  หากคุณภาพชีวิตของลูกจ้างปรับตัวดีขึ้นเพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นการมองในเชิงเดี่ยว  แต่หากมองในเชิงมหภาค การปรับขึ้นค่าแรงจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศวิสัยทัศน์ดังกล่าว ถือเป็นการย้อนอดีตในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้สำเร็จ ซึ่งในขณะนั้นหลายฝ่ายฝ่ายมองว่าไม่สามารถทำได้  ซึ่งในครั้งนี้พวกเราชาวแรงงานมีความคิดเห็นว่าจะสามารถทำได้เช่นกัน เพราะจะดำเนินการแบบขั้นได ไม่เกินกำลังที่ทำไม่ได้ ด้วยองคาพยพในภาพรวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วางไว้อย่างชัดเจนว่าจะขยายตัวภายใน 4-5 ปีข้างหน้าจะมีทิศทางเชิงบวกมากขึ้น  ตนในฐานะของผู้ใช้แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมระดับใหญ่  ค่าจ้างแรงงานระดับแรงงานทั่วไปในปัจจุบันอยู่ที่ 500-600 บาทต่อวันอยู่แล้ว  ซึ่งตนมีความเข้าใจอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีความกังวล แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยได้เตรียมนโยบายสำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อให้เดินต่อไปได้แน่นอน

นายสุธรรม แสงประทุม  ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบายของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย  ตรงใจกับผู้ใช้แรงงานและพี่น้องประชาชน  หากรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย ในปี 2570 พรรคเพื่อไทยจะคิด ขับเคลื่อน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จากในอดีตของพรรคไทยรักไทยจนมาถึงพรรคเพื่อไทยทำมาสำเร็จมาโดยตลอด  การที่มีนักกฎหมาย  นักวิเคราะห์ และหลายภาคส่วนวิพากษ์วิจารณ์นั้นถือว่าน่ายินดี ที่ภาคประชาสังคมจะได้มีการถกเถียง  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ขณะนี้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาะวิกฤตหนักที่สุด มีหนี้สินสูง  ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ รายได้ไม่เพียงพอ  ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือความทุกข์ที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่ได้ จึงมีความจำเป็นและเป็นหน้าที่ที่พรรคการเมืองจะต้องคิด และหาทางออกมากกว่า

ส่วนการที่รัฐมนตรีบางคนที่ออกมาแสดงความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยและบอกว่าแนวคิดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นหายนะ  ตนรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากที่คนเป็นรัฐมนตรีจะออกมาคัดค้านแนวคิดที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น  ทั้งที่ควรจะดีใจ และควรคิดหาวิธีการที่จะทำหรือฝึกฝนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนบ้าง แต่สิ่งที่ทำกลับโจมตี แล้วรัฐมนตรีคนนั้นจะเข้าไปอยู่ในใจของผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร

นายสุธรรม กล่าวอีกว่า การประกาศวิสัยทัศน์ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น พรรคเพื่อไทยเรามีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้อย่างมั่นคง เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทย ประกาศนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 70,000 แห่ง  สามารถดำเนินการได้จริง  เม็ดเงินลงสู่หมู่บ้านโดยตรงถึงมือประชาชนโดยไม่มีเบี้ยไบ้รายทาง  รวมทั้งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค  เป็นต้น ทั้งสองนโยบายยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้  และอยู่ในใจพี่น้องประชาชน  นโยบายเหล่านี้ต้องได้รับการปฏิบัติ  สังคมจะก้าวหน้าและดีกว่าที่เป็นอยู่

“ค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทและเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเท่านั้น พรรคเพื่อไทยหากดำเนินนโยบายแล้วทำครบกระบวนการ  ไม่ใช่ปลูกแล้วทิ้ง  ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยดูแล  เอาคนมาช่วย แปรรูปผลผลิตมาเป็นมูลค่าเพิ่ม  ส่งออกไปตามตลาดที่ต้องการ  ทุกส่วนเราทำแล้วไม่ได้ทำแต่ปาก  พี่น้องแรงงานไทยมีครอบครัวที่ต้องดูแล เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นมนุษย์ทุกคน เจ็บป่วยต้องได้รับการดูแล มีลูกต้องได้รับโอกาส ทุกชีวิตต้องมีเกียรติอย่างเท่าเทียม” นายสุธรรมกล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 8/12/2565

สหภาพลูกจ้างฯ รวมพลหลังปีใหม่ ขอ “อนุทิน”  ช่วยเหลือหลังไม่ได้รับความเป็นธรรมเงินเสี่ยงภัยโควิด

8 ธ.ค. 2565 นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.)  เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว Hfocus  ว่า  สหภาพฯ ได้มีการหารือร่วมกันและมีมติว่า ถึงเวลาต้องขอความเป็นธรรมกับท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับความทุกข์ในการทำงานของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน  เพราะที่ผ่านมาได้มีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ไม่มีความก้าวหน้า ความมั่นคงในสายงานสนับสนุนบริการเลย เรียกว่า เหมือนไม่เห็นตัวตนของลูกจ้างเลย

นายโอสถ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เคยประชุมองค์กรวิชาชีพ และลูกจ้างที่ทำงานในกระทรวงฯ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข และบอกว่า จะมีการติดตามความก้าวหน้า สวัสดิการต่างๆ และจะเรียกประชุมเรื่องนี้ในรายละเอียดต่างๆ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีผลใดๆ ไม่มีการเรียกประชุมกลุ่มลูกจ้างทำงานสายสนับสนุน แม้แต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา สหภาพลูกจ้างฯ นำเครือข่ายพนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ Back Office ยื่นหนังสือถึงปลัด สธ. เรียกร้องความเป็นธรรม  ทั้งการจ้างงานที่ไม่ใช้เงินบำรุง การยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น  ขอความมั่นคงในอาชีพ และค่าเสี่ยงภัย 3 จ.ชายแดนใต้ รวมทั้งค่าเสี่ยงภัยโควิด แต่จนบัดนี้ไม่มีการตอบรับใดๆเลย

“ล่าสุดที่ดูจะไม่เป็นธรรม คือ เรื่องเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดที่บอกว่า เอาเงินกู้ยืมให้สายวิชาชีพ ส่วนสายสนับสนุนต้องหางบฯกลางมา การจ่ายเงินให้สายวิชาชีพ 7 เดือน แต่สายสนับสนุนได้กัน 1-2 เดือน บางคนไม่ได้ ตรงนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ จริงๆ เงินตรงนี้ควรเอามาเฉลี่ยกันให้หมด อย่าแบ่งสาย ตอนทำงานไม่เห็นจะแบ่งให้ช่วยเหลือกันหมด ที่ผ่านมาลูกจ้างอยู่ด่านหน้าตลอด พอมีเงินค่าเสี่ยงภัยเรากลับได้น้อยสุด ได้ช้าสุด บางคนยังไม่ได้ด้วยซ้ำ” ประธานสหภาพฯ กล่าว

นายโอสถ กล่าวอีกว่า เงินค่าเสี่ยงภัยโควิดสายวิชาชีพได้รับหลายหมื่นกว่าบาท แต่ลูกจ้างได้รับค่าเสี่ยงภัยประมาณเดือนละ 2-3 พันบาท แต่กลับได้แค่ 1-2 เดือน แบบนี้คืออะไร แทนที่จะได้ตรงนี้มาเจือจุนครอบครัวกลับมีปัญหาล่าช้าไปเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดแบ่งเป็นงบเงินกู้และงบกลาง ไม่ได้มาจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตัดสิน นายโอสถ กล่าวว่า  เงินกู้ยืมขอถามว่าไปทำข้อตกลงอย่างไร ยืมให้สายวิชาชีพอย่างเดียวหรืออย่างไร จริงๆ ยืมมาเพื่อใช้จ่ายในเรื่องโรคโควิด-19 ไม่ใช่หรืออย่างไร จริงๆ ตรงนี้ได้มาควรนำมาเฉลี่ยให้ทุกคนที่ทำงาน ไม่ควรมาแบ่งแยกด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่าบุคลากรที่ทำงานสายสนับสนุนบริการในกระทรวงฯ กว่า 1 แสนคนทำงานโควิดเท่าไหร่ นายโอสถ กล่าวว่า ทำกันหมด เสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน ช่วงระบาดหนักไม่มีใครไม่ทำงานโควิดเลย ก็ควรได้รับหมด “อย่างของตัวเองได้รับค่าเสี่ยงภัยโควิด วันนี้เข้าบัญชีมา 54 บาทในครึ่งเดือน คิดเป็นเดือนละ 108 บาท พอหรือไม่ เงินไม่มากยังได้ไม่ครบเลย” นายโอสถ กล่าว

นายโอสถ กล่าวว่า ทางสหภาพฯ มีมติแล้วว่า ต้องไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พวกเราสายสนับสนุนบริการอีกครั้ง โดยต้องขอพบท่านอนุทิน ให้ได้ เพื่อให้ท่านได้ทราบความทุกข์ของคนทำงานจริงๆ โดยจะขอเดินทางช่วงหลังปีใหม่ เพราะช่วงปีใหม่ 7 วันอันตรายเราทิ้งคนไข้ไม่ได้ เราต้องอยู่ทำงานที่โรงพยาบาล

ผู้สื่อข่าว Hfocus แจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรปฏิบัติงานสถานพยาบาลทั้งในกระทรวงฯ และนอกสังกัด หลายคน ระบุใจความว่า  รพ.หลายแห่งให้บุคลากรเซ็นชื่อได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดก่อนได้รับเงินจริง เนื่องจากระบุว่าต้องนำส่งข้อมูลหลักฐานก่อน  เช่น ให้เซ็นว่าอยู่เวรวันไหน และให้เซ็นรับว่าจะได้รับเงินเท่าไหร่ ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกรอบ และให้เซ็นล่วงหน้าก่อนส่งเบิกไม่เกิน 1 สัปดาห์ เรียกว่า ไม่มีเวลาเช็กอะไรเลย หลายรพ.บอกว่า ให้บุคลากรไปเอาหลักฐานการตรวจผู้ป่วยโควิดมาด้วย ซึ่งหลายคนหาไม่ได้ ณ ตอนนั้นใครจะไปเก็บข้อมูลละเอียดขนาดนั้น กลายเป็นต้องสละสิทธิ์

“ปัญหาที่กังวลคือ การเซ็นรับเงินค่าเสี่ยงภัยก่อน แบบนี้ถ้าไม่ได้รับก็ทำอะไรไม่ได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงอยากให้ทางผู้บริหารสธ.รับทราบปัญหา และลงมาช่วยเหลือพวกเราบ้าง” บุคลากรฯ กล่าว

ที่มา: Hfocus, 8/12/2565

ประกันสังคมแจ้ง ม.33-39 เปลี่ยนสถานพยาลบาลได้ 16 ธ.ค. 2565-31 มี.ค. 2566

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลที่รับบริการได้ปีละ 1 ครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกเนื่องจากอาจมีกรณีย้ายที่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัย สำหรับปี 2566 สำนักงานประกันสังคมจะเปิดให้ผู้ประกันตนทั้ง 2 กลุ่ม ยื่นขอเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2565-31 มี.ค. 2566

ทั้งนี้ สามารถดำเนินการผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นแบบการเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางการแพทย์ สปส. 9-02 กับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ 2) ทำรายการผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th 3) ทำรายการผ่าน Application SSO Connect และ 4) ทำรายการผ่าน Line official sso ทั้งนี้ หากได้ยื่นเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นแล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมอีก

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เหลืออีกไม่นานจะสิ้นปี 2565 แล้ว สำนักงานประกันสังคมยังได้ย้ำเตือนผู้ประกันตนว่าก่อนสิ้นเดือน ธ.ค. 65 นี้ อย่าลืมใช้สิทธิทำฟันประจำปี ตามที่ผู้ประกันตนมาตรา33 และ มาตรา 39 มีสิทธิทำฟันฟรีในงบไม่เกิน 900 บาทต่อปี โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในกรณีที่ไปคลินิกที่มีป้าย “ทำฟันประกันสังคม 900 บาท ไม่ต้องสำรองจ่าย” แต่หากไปคลินิกที่ไม่มีป้ายดังกล่าวก็สามารถสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จมาเบิกกับสำนักงานประกันสังคมได้

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อรับบริการดูแลสุขภาพฟันเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/12/2565

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการหารือประเด็นและข้อเสนอที่สำคัญ โดยไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

กกร.มีความเห็นว่าประเด็นการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่องการทยอยขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท นั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขั้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน

ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึง การครองชีพของลูกจ้าง รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ

การพิจารณาปรับค่าแรงจึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้างรวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน โดยรวม จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2554 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกโดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน ขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328 – 354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน

ขณะเดียวกันปีหน้า SME ยังคงมีปัญหาด้านรายได้และสภาพคล่องในช่วงที่ เศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยยังมีหลายธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ SMEs หยุดหรือยกเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คงต้องมีการทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนตรงจากต่างประเทศที่อาจชะลอลงเพราะต้นทุนค่าแรงของไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงในปัจจุบัน ต่างมีค่าจ้างที่สูงและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานที่ยังคงมีทักษะไม่สูงมากนัก และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันควบคู่ไป และควรคำนึงถึงแรงงานที่ได้รับผลประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ความมุ่งหวังของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทยมากเท่าที่ควร

ที่มา: PPTV, 7/12/2565

'เพื่อไทย' ยืนยันค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือน ป.ตรี 25,000 บาท ทำได้จริง หากรัฐบาลเพื่อไทยยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ

พรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย  ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีการแสดงวิสัยทัศน์รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท

โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย  นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการทีมคิดเพื่อไทย ร่วมรับฟังในการแถลงข่าว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า การแถลงวิสัยทัศน์ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลในปี  2570  ต้องการให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นร้ฐบาล จะทำงานบริหารบ้านเมืองรับใช้พี่น้องประชาชน ซึ่งตนมีความเข้าใจดีว่าเหตุใดจึงมีการถกเถียงในเรื่องนี้  เพราะภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ไม่ดี พรรคเพื่อไทยจึงมองภาพในอนาคตว่า หากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 600 บาทในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ตกต่ำและยังไม่เติบโต

ทั้งนี้การแสดงวิสัยทัศน์ในงาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ วานนี้ (6 ธ.ค.65) คือปรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศให้เติบโตไปพร้อมกัน เพราะในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมาหลักสิบบาท จึงเป็นเหตุผลให้เกิดปัญหา ‘รวยกระจุก จนกระจาย’  คนที่ได้ประโยชน์จากค่าแรงในระดับต่ำ คือ คนกลุ่มเล็กบนยอดสามเหลี่ยมเท่านั้น  แต่ฐานรากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงเดือดร้อน

“พรรคเพื่อไทยจึงต้องคิดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นไปด้วยกัน  ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งประเทศ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก”

นางสาวแพทองธาร กล่าวอีกว่า ปัญหาการรวยกระจุก จนกระจาย เพราะคนไทยซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน  ยังไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับบางประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 1,800 บาทต่อวัน  แต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด  เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น  จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

และทำให้ภาพรวมทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นด้วย  การเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ  คนทุกชนชั้น ทุกระบบ  เติบโตได้ทุกโอกาส  สามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้  การคิดเล็กไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘ คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน”

“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังปรับขึ้นเป็น 600 บาท ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพี จะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่า หรือปีต่อมา อาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี ทั้งหมดคือหัวใจหลัก” นางสาวแพทองธาร กล่าว

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบาย พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า  จุดยืนหรือหัวใจหลักของพรรคเพื่อไทย คือ สร้างรายได้ ขยายโอกาส  ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือหนี้ เราจึงต้องแก้หนี้ด้วยการสร้างรายได้  ไม่ใช่การสร้างหนี้  ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ก็กู้ เมื่อกู้แล้ว  ขยายเพดานกู้  ขณะนี้ค่าจ้างแรงงานยังต่ำ รายได้ประเทศต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง  แต่ในการแสดงวิสัยทัศน์ทั้ง 10 ประเด็นวานนี้ (6 ธ.ค.65)  มีการแถลงแนวนโยบายหลายเรื่องร้อยเรียงกัน  เมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ต้องมีการสร้างรายได้ใหม่ พร้อมกันไปด้วย 

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นของภาคเอกชนทั้งหลายที่เกิดขึ้น  หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รัฐเก็บรายได้จากกลุ่มธุรกิจ 20% จากกำไร แปลว่า รัฐถือหุ้นเอกชน 20% ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่รัฐ ที่ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพื่อหารายได้  ในส่วนของภาคการเกษตร คิดเป็น 40% ของประเทศ แต่สร้างรายได้เพียง 8% ของ GPD  จึงต้องยกระดับรายได้จากภาคเกษตรจาก 10,000 บาท/ไร่/ปี เป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี ด้วยหลักการทำงาน ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ก็จะเกิดรายได้

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ไม่ใช่การทำลายโครงสร้าง แต่เป็นการทำงานร่วมกันในระดับไตรภาคี  ต้องเกิดจากความเห็นพ้องร่วมกันระหว่าง รัฐ - ผู้ประกอบการ - ประชาชน   ค่าแรงขั้นต่ำคิดขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พรรคเพื่อไทยรู้ว่าผลิตภาพการผลิต คือที่มากำไรของผู้ประกอบการที่จะนำมาจ่ายเงินเดือน-โบนัส แรงงานได้  ส่วนรายได้เข้าประเทศอื่นๆ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว พรรคเพื่อไทยคิดจากฐานของรายได้ภาคท่องเที่ยวก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท

“เพื่อไทยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาท  ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนด้วยการสร้างแรงดึงดูดด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่ไทยมีอยู่มากมาย และการจัดการการบิน-สนามบิน-การอำนวยความสะดวกด่านตรวจคนเข้าเมือง  พรรคเพื่อไทยมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชน จะไม่บริหารราชการแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวแบบปัจจุบัน”

นอกจากนี้ ยังนำเอาศักยภาพที่ซ่อนเร้นของประชาชน (ซอฟพาเวอร์) มาสร้างรายได้เข้าประเทศ  เพราะประชากรไทยมี 22 ล้านครัวเรือน เป้าเพิ่มรายได้ใหม่ 1 ครอบครัว 1 คน จะสร้างงานขึ้น 20 ล้านตำแหน่ง คำนวณรายได้ 200,000 บาท/ปี คิดเป็นรายได้ 4 ล้านล้านบาท หรือรายได้เพิ่มขึ้น 25%  พรรคเพื่อไทยทำได้แน่นอน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวัน และปรับเงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 25,000 บาทนั้น  สังคมตั้งคำถามมากมาย ซึ่งขอตอบในหลายประเด็นดังนี้

1. ค่าแรง 600 บาท กับปี 2570 เหมาะไหม ทำได้หรือไม่? คำตอบคำถามนี้ พุ่งตรงไปที่วิสัยทัศน์ของผู้พูดว่ามองประเทศไทยในปี 2570 มีหน้าตาเป็นแบบไหน หากมองยังไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต เป็นเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน เป็นการท่องเที่ยวราคาถูก เป็นการผลิตที่ใช้แต่แรงงานไร้ฝีมือ ไม่แปลกใจว่าค่าแรง 600 บาท คงเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่นั่นไม่ใช่วิธีคิดของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยที่บริหาร 4 ปี  หลังได้รับการเลือกตั้ง  ไทยจะยกระดับการผลิตไปอีกขั้น จากผู้ผลิตตามคำสั่งต่างชาติ จะกลายเป็นการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม  จากภาคการเกษตรตามยถากรรมจะพลิกเป็นการเกษตรที่กำหนดราคาได้ จากการตลาดนำการผลิต จากภาคบริการรายได้ต่ำ เป็นภาคบริการชั้นสูงที่ยกระดับรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ต่อไปนี้ไทยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยเศรษฐกิจศักยภาพสูง ด้วยแรงงานศักยภาพสูง ไม่ใช่แรงงานทักษะต่ำราคาถูก คู่แข่งของเราไม่ใช่เวียดนาม แต่เป็นสิงคโปร์และประเทศที่พัฒนาแล้ว นี่คือวิสัยทัศน์ของเราในอีก 5 ปี ที่ต่างกับผู้วิจารณ์ หน้าตาประเทศไทยที่ต่างกัน และนั่นนำไปสู่ค่าแรงที่แตกกัน

2. ค่าแรง 600 บาท คิดจากอะไร? 3 องค์ประกอบ ของค่าแรง การโตของเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และเงินเฟ้อ ค่าแรงต้องถูกปรับอย่างสม่ำเสมอตามปัจจัยเหล่านี้ แต่ 20 ปีที่ผ่านมาเกาะอยู่เงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และโตไม่ทัน GDP เศรษฐขยายตัวเร็วกว่ารายได้ของแรงงาน หมายถึงรายได้นายจ้างโตเร็วกว่าลูกจ้าง และนี่คือปัญหา คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข และเราตั้งเป้า GDP ต่อจากนี้จะโตปีละ 5%  หากไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ช่องว่างจะระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะยิ่งกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น

3.ค่าแรง 600 บาท กับนายจ้าง? นายจ้างกับลูกจ้างคือขาซ้ายและขาขวาของเศรษฐกิจ ต้องเดินไปคู่กัน การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำคู่ขนานกับต้นทุนนายจ้าง ซึ่งเราจะมีการออกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการต่อไป  ทั้งในเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการผลักในเศรษฐกิจขยายตัว จากนโยบายทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย และในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรับค่าแรง ผนวกกับการลดภาระผู้ประกอบการผ่านการลดภาษีนิติบุคคล

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงสามารถ เพิ่มค่าแรง ลดภาษีผู้ประกอบการ แต่เก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น รายได้เอกชนขยายตัวขึ้น GDP ขยายตัว ทั้งหมดคือความสำเร็จของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าขึ้นค่าแรงโดยเศรษฐกิจยังโต เอกชนเฟื่องฟู นั้นทำได้ และเราเคยทำมาแล้วและจะทำอีกครั้ง

ค่าแรง 600 บาท กับการเร่งเงินให้หมุนเร็วในระบบเศรษฐกิจ   ปัจจุบันเม็ดเงินในประเทศหมุนช้าที่สุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงาน 600 บาทเป็นหนึ่งในคำตอบที่สำคัญ จำเป็นต้องสร้างรายได้ในชนะภาระหนี้ และสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ขยายตัว 

ทั้งนี้ในช่วง รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำมาแล้ว เศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงด้วยเม็ดเงินที่หมุนเร็ว เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เงินเปลี่ยนมือเร็ว เงินหมุนเร็ว กว่าในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกือบ 40% เงินในอดีตหมุนเร็วกว้าในปัจจุบันเกือบ 2 เท่าตรงนี้เป็นสิ่งอันตรายและต้องเร่งแก้ไข

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/12/2565

ไทยหารือออสเตรเลีย เตรียมขยายตลาดแรงงาน ภาคเกษตร-ธุรกิจบริการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ หารือทวิภาคีกับ ฯพณฯ เบรนดัน โอคอนเนอร์ (H.E.The Hon Brendan O’ Connor MP) รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ประเทศออสเตรเลีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia – Pacific Regional Meeting : APRM) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17

และหารือความร่วมมือเปิดตลาดแรงงานในออสเตรเลีย โดยมี นายชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม Ord Meeting Room, Stamford Meeting Rooms ชั้น 4 Raffles City Convention Centre สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายสุชาติกล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีงานทำ มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น และนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน มีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีความพร้อมในการฝึกทักษะให้คนไทยก่อนที่จะไปทำงานในต่างประเทศ

ดังนั้น การหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับออสเตรเลียในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมทั้งฟื้นความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถจัดส่งแรงงานในสาขาภาคเกษตร ช่างฝีมือ และธุรกิจบริการ ตามที่ออสเตรเลียต้องการได้

จากการหารือในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในโอกาสต่อ ๆ ไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำคณะไปพบกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันถึงรายละเอียดความต้องการแรงงานไทยในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งการลงนามความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในออสเตรเลียในโอกาสต่อไปด้วย

“ผมขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ของออสเตรเลียที่ได้หารือในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะช่วยสร้างโอกาสให้แรงงานไทยได้ไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น สามารถเพิ่มทักษะฝีมือ ยกระดับรายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว ที่สำคัญจะช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย” นายสุชาติกล่าวตอนท้าย

นายเบรนดัน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งพื้นฐานของคนออสเตรเลียมีความชื่นชอบคนไทยอยู่แล้ว

การหารือในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีเนื่องจากปัจจุบันออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายสาขา แรงงานไทยจึงเป็นกลายเป็นที่ต้องการของนายจ้างออสเตรเลีย ซึ่งสิ่งที่ได้หารือกันในวันนี้จะได้ให้กลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประสานในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดร่วมกันต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/12/2565

แมนพาวเวอร์เผยไทยครองตำแหน่งสูงสุด ในด้านความพร้อมของประสิทธิภาพต้นทุนเป็นปีที่สองติดต่อกัน

ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคม เภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ และในขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในด้านประสิทธิภาพต้นทุนและความพร้อมของบุคลากร องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักของปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อความยั่งยืนในระยะยาว หลายองค์กรจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงานที่มีอยู่ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในกลุ่ม Gen Z และกลุ่มมิลเลนเนียล เพื่อทดแทนแรงงานกลุ่มสูงอายุที่ออกจากตลาดแรงงานไปแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานประจำปีฉบับที่ 9 ของ Total Workforce Index(TM) ซึ่งเป็นการรายงานดัชนีแรงงานทั้งหมดที่จัดทำโดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ป เพื่อประเมินความพร้อมของแรงงานทั่วโลก ด้วยวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยกว่า 200 รายการ อาทิ ประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าหรือบริการ การย้ายถิ่นของแรงงาน ภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ ด้วยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานที่มีทักษะในตลาดแรงงานจำนวน 69 แห่งทั่วโลก เน้นการให้น้ำหนักความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด และการเพิ่มความยืดหยุ่นของนายจ้าง โดยจัดเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1). ด้านความพร้อมในการทำงาน 2). ด้านประสิทธิภาพด้านต้นทุน 3). ด้านกฎระเบียบ และ 4). ด้านผลผลิต โดยผลการสำรวจมีประเด็นสำคัญโดยสังเขป ดังนี้

- ตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และแคนาดา ในด้านการจัดหางาน การจ้างงาน และการรักษาแรงงานที่มีทักษะไว้กับองค์กร

- ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน ในด้านความพร้อมของประสิทธิภาพต้นทุน

- อินโดนีเซียได้ขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 เป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากดัชนีค่าจ้างเฉลี่ยและต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะและความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด

- ฟิลิปปินส์และมาเลเซียเข้าสู่ 10 อันดับแรก โดยอยู่ที่อันดับ 8 และ 10 ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการในการทำงานแบบไฮบริดเพิ่มขึ้น ความต้องการด้านการศึกษาที่ลดขนาดลงและความต้องการทักษะที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

- จีนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับโลกที่ใหญ่ขึ้นในการผลิตยา เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากประสิทธิภาพด้านต้นทุน

คุณลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า "จากผลของการสำรวจด้านการขาดแคลนผู้มีความสามารถประจำปี 2565 ฉบับปรับปรุงใหม่ในปี 2565 นี้ของ Total Workforce Index(TM) ที่จัดทำโดย ManpowerGroup มุ่งเน้นให้ความสำคัญของการทำงานแบบไฮบริด และการเพิ่มของความยืดหยุ่นนายจ้าง อาทิ การพิจารณาผู้สมัครที่มีทักษะมากกว่าคุณสมบัติด้านการศึกษาและอายุของพนักงาน ซึ่งพบว่าปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในการจ้างงานสูงสุดในรอบ 16 ปี และ 75% ของบริษัททั่วโลกกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ จากปัจจัยการย้ายถิ่นของแรงงาน ภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ เกิดการแข่งขันช่วงชิงในผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นตามความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคม เภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์

ทั้งนี้ Total Workforce Index(TM) ได้ให้คะแนนแต่ละตลาด ด้วยปัจจัยเฉพาะมากกว่า 200 รายการ ปัจจัยทางสถิติแต่ละรายการได้รับการถ่วงน้ำหนักอย่างรอบคอบและจัดกลุ่มเป็น 4 กุล่ม ได้แก่ 1). ด้านความพร้อมในการทำงาน 2). ด้านประสิทธิภาพด้านต้นทุน 3). ด้านกฎระเบียบ และ 4). ด้านผลผลิต โดยพบว่า

- ตลาดแรงงาน 5 อันดับแรก ที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนสูงสุด ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย บาห์เรน แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นมิตรกับนายจ้างมากที่สุดในแง่ของการเติบโตของค่าจ้าง ต้นทุนแรงงาน การสนับสนุนจากรัฐบาล และความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด

- สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอิสราเอล ได้คะแนนในเกณฑ์ดีในด้านความพร้อมของกำลังแรงงานที่มีทักษะ การมีส่วนร่วมในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของแรงงาน ความเท่าเทียมและเสรีภาพทางเพศ ความพร้อมและความสามารถในการทำงานแบบไฮบริด

- สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ และออสเตรเลีย จัดอยู่ในอันดับสูงสำหรับการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี กฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานแบบไฮบริด การผ่อนคลายเรื่องข้อจำกัดด้านพรมแดนและสถานการณ์ทางการเมือง

- สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเม็กซิโกมีศักยภาพในการผลิตสูงสุด รวมถึงความสามารถในการรองรับการทำงานจากทำงานแบบไฮบริดที่เข้าถึงได้มากและทำงานได้ง่ายขึ้น

- ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก มีความต้องการทักษะด้านไอทีสูง สาเหตุหลักมาจากการไม่สามารถเข้าถึงผู้มีความสามารถ ชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีความสามารถด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

- สวิตเซอร์แลนด์และกลุ่มประเทศนอร์ดิกขึ้นสู่อันดับต้น ๆ ในด้านความเชี่ยวชาญผลิตชีววิทยาศาสตร์ โดยมีข้อกำหนดในการผลิตขั้นสูงกว่า ขณะที่เม็กซิโกพบข้อจำกัดเนื่องจากกฎระเบียบกำหนดให้จ้างงานเต็มเวลา

ไฮไลต์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

- ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งสูงสุดสำหรับประสิทธิภาพด้านต้นทุนเป็นปีที่สองติดต่อกัน

- อินโดนีเซียได้ขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 เป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากดัชนีค่าจ้างเฉลี่ยและต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะและความพร้อมในการทำงานแบบไฮบริด

- ฟิลิปปินส์และมาเลเซียเข้าสู่ 10 อันดับแรก โดยอยู่ที่อันดับ 8 และ 10 ตามลำดับ เนื่องจากมีความต้องการในการทำงานแบบไฮบริดเพิ่มขึ้น ความต้องการด้านการศึกษาที่ลดขนาดลงและความต้องการทักษะที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

- จีนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับโลกที่ใหญ่ขึ้นในการผลิตยา เทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากประสิทธิภาพด้านต้นทุน

ที่มา: ThaiPR.net, 6/12/2565

สธ.เร่งของบกลางเพิ่ม จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดกลุ่มตกหล่น-ค้างจ่าย

6 ธ.ค.2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด 19 ว่า หลังกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดจากสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรลงพื้นที่และมีการเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากระบบ GFMIS วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดจากแหล่งงบประมาณ 2 ส่วน คือ 1.งบเงินกู้ สำหรับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดในกลุ่มบุคลากรวิชาชีพ จำนวนรวม 10,024,121,605.03 บาท เบิกจ่ายแล้ว 8,596,739,717.82 บาท คิดเป็น 85.76% คงเหลือ 1,427,381,887.21 บาท และ 2.งบกลางค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดในกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน จำนวนรวม 871,203,436 บาท เบิกจ่ายแล้ว 845,500,942.76 บาท คิดเป็น 97.04% คงเหลือ 25,702,493.24 บาท

"ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดทั้ง 2 ส่วนจะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับบุคลากรสายวิชาชีพและสายสนับสนุนที่ตกหล่น รวมถึงที่ยังค้างจ่ายอีก 3 เดือน คือ กรกฎาคม - กันยายน 2565 และบุคลากรของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนเสี่ยงภัย จะมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการของบกลางจากรัฐบาลมาจ่ายเพิ่มเติมต่อไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับขั้นตอนการเสนอของบกลางค่าตอบแทนเสี่ยงภัยนั้น หลังวันที่ 6 ธันวาคม 2565 จะทบทวนและจัดทำรายละเอียดคำขอทั้งสายตรงและสายสนับสนุน และประสานหน่วยงานภายนอกสังกัดที่เคยเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเพื่อจัดทำคำของบกลาง จากนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมและเสนอคำของบกลางในภาพรวม และหารือแนวทางการเบิกจ่ายของ รพ.สต.ที่มีการถ่ายโอนฯ เมื่อสำนักงบประมาณพิจารณาผ่านคณะรัฐมนตรีและอนุมัติจัดสรรแล้ว จะเริ่มดำเนินการเบิกจ่ายได้ โดยหน่วยงานส่วนภูมิภาค ให้เบิกเงินจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมในสังกัด เบิกจากหน่วยงานต้นสังกัด ส่วนหน่วยงานภายนอกสังกัด เบิกจ่ายจากกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ที่มา: Hfocus, 6/12/2565

ตำรวจ ตม. บุกจับแรงงานเถื่อน 18 คน ในมหาวิทยาลัยดัง 2 แห่ง กลางกรุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนำกำลังกว่า 20 นาย บุกเข้าจับกุมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย จำนวน 18 คน หลังจากได้รับแจ้งจากสายลับว่า มีแรงงานต่างข้ามชาติลักลอบเข้ามาค้าแรงงานตามมหาวิทยาลัยชื่อดัง จึงได้นำกำลังเข้าตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยแบ่งกำลังเป็น 2 ทีม

ทีมแรกเข้าตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน พบแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง และทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 6 คน และอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำนวน 2 คน ส่วนทีมที่ 2 ได้เข้าตรวจสอบภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก พบแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมือง และทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 4 คน และทำงานนอกเหนือสิทธิ จำนวน 6 คน จึงได้คุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปสอบสวนที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู)

ทั้งนี้ จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า แรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมได้ลักลอบเข้ามาทำงานกับบริษัททำความสะอาดแห่งหนึ่ง ซึ่งทางตำรวจได้เชิญตัวเจ้าของบริษัทเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหา ฐานรับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเข้าทำงาน ส่วนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายทั้ง 18 คนนั้น ทางตำรวจจะส่งฟ้องศาล เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ข่าวออนไลน์7HD, 6/12/2565

ฟอร์ดมอเตอร์แจกโบนัส 6.35 เดือน บวกเงินเพิ่มพิเศษ 25,000 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวผู้ใช้ติ๊กต๊อกรายหนึ่ง โพสต์คลิปวิดีโอ ขณะพนักงานกำลังยืนฟังเจ้าหน้าที่โรงงานฟอร์ด ระยอง ประกาศโบนัสประจำปี 2565 จำนวน 6.35 เดือน เงินพิเศษ 25,000 บาท ขึ้นเงินเดือน 4% จนทำให้พนักงานเฮลั่นว่า ขอแสดงความยินดีกับพนักงานโรงงานฟอร์ด ระยอง ทุกคนที่ได้รับโบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ เพิ่มในครั้งนี้

ในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ผมต้องขอขอบคุณผู้บริหารบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ระยองด้วยที่ประกาศโบนัสให้พนักงาน ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานและสถานประกอบการได้ดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างดี

ด้านนายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ออโต อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทจะประสบปัญหาโควิด-19 เช่นกัน แต่ยังมีข้อดีที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือนายจ้างและภาคแรงงานในหลายด้าน

ทั้งการลดเงินสมทบประกันสังคม เยียวยานายจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 โครงการแฟกตอรี่ แซนด์บอกซ์ เปิดจุดตรวจโควิด-19 จัดหาฉีดวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงาน ซึ่งพนักงานกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนโควิด-19 จนทำให้บริษัทเกิดความมั่นคงด้านแรงงาน เพราะพนักงานไม่ป่วย สามารถมาทำงานได้ตามปกติ นอกจากนี้ บริษัทยังดูแลพนักงานให้ได้ค่าแรงที่เป็นธรรม มีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเรื่องส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดี พนักงานก็ให้ใจกับบริษัท

บริษัทเองก็ได้รับรางวัลแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นระดับประเทศ เนื่องจากในแต่ละครั้งบริษัทจะพูดคุยเจรจากับพนักงานเสมอ สามารถบรรลุข้อตกลงด้านสภาพการจ้าง จนกลายเป็นโมเดลแบบอย่างที่ดีด้านแรงงานสัมพันธ์ให้กับแรงงานในภาคตะวันออกด้วย

นายสมเกียรติ เจียดกำจร ประธานสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทางสหภาพได้ประสานกับสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย และได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็ว รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลตรวจโควิด-19 และฉีดวัคซีนให้พนักงานทุกคนฟรีถึงในโรงงาน

“แม้ช่วงแรกพนักงานยังกังวลกับการฉีด แต่เมื่อได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจทั่วถึง ก็สามารถทำให้พนักงานได้รับวัคซีนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พวกเราสบายใจอยู่รอดปลอดภัยไม่ต้องนำเชื้อไปติดคนที่บ้าน และสามารถมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งต้องขอขอบคุณ ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้การดูแลช่วยเหลือภาคแรงงานในยามเดือดร้อนได้เป็นอย่างดี”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/12/2565

สภาองค์การนายจ้างฯ มองตลาดแรงงานไทยปี 2566 ยังเปราะบาง ปัจจัยเสี่ยง ศก.โลกถดถอยฉุดส่งออก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานในปี 2566 ของไทยยังคงมีอัตราการจ้างงานใหม่ขยายตัวแบบเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยปี 2566 โดยมีการประเมินว่ามูลค่าส่งออกรูปเงินเหรียญจะเติบโตได้เพียง 1% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโตระดับ 7.5% โดยปัญหาด้านแรงงานของไทยยังคงเผชิญ 2 ด้าน คือ 1. การขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวสูงและมีทักษะ 2. การตกงานของแรงงานที่จบใหม่ที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง

“เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 ไม่ดีนักและเศรษฐกิจคู่ค้ารายใหญ่ๆ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แม้กระทั่งจีนก็ไม่ค่อยดี เหล่านี้ย่อมกระทบต่อการส่งออกของไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกเดือน ต.ค. 65 ขยายตัวติดลบ 4.4% ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน และคาดว่าเดือน พ.ย.นี้ยังคงติดลบต่ออีก คำสั่งซื้อล่วงหน้าหลายสินค้าเริ่มลดต่ำลง เช่น กลุ่มสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ฯลฯ เมื่อการส่งออกไม่ได้เติบโตมากนัก กำลังการผลิตยังคงเหลือจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเพิ่ม” นายธนิตกล่าว

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเองปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาราว 10 ล้านคน หากปี 2566 มาเพิ่มเป็น 20 ล้านคนก็ยังคงไม่เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มากถึง 40 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวก็ทำให้แรงงานบางส่วนทยอยกลับเข้ามา แต่หากมองตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมซึ่งเป็นพนักงานเอกชนทั่วไป (ม.33) โดยรวมไทยได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้วนับตั้งแต่ พ.ย. 64 ที่แรงงานเริ่มมีการไหลเข้ามาเพิ่มจากเดิมที่ลดลง และ 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) ตัวเลขแรงงานของ ม.33 มีเพิ่มขึ้น 3.5 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาดยังหายไปราว 2.6 แสนคน

นายธนิตกล่าวว่า แรงงานที่ยังหายไปราว 2.6 แสนคนสะท้อนให้เห็นว่าแรงงานคืนถิ่นหลังจากที่ตกงานช่วงโควิด-19 ยังไม่กลับมาเพราะไปอยู่ในภาคเกษตรที่สามารถเลี้ยงชีพได้แบบพอมีพอกินไม่เดือดร้อน และอีกส่วนหนึ่งค่าครองชีพในเมืองสูงขึ้นหากได้งานเพียงคนเดียวไม่เป็นครอบครัวหรือสามี-ภรรยาก็ไม่อาจกลับเข้ามาสู่ระบบแรงงานได้ ขณะเดียวกันเด็กจบใหม่นอกเหนือจากจบการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้างแล้วยังพบว่าเด็กจบใหม่บางส่วนไม่อยากทำงานในระบบมุ่งหางานอสิระหรือฟรีแลนซ์แทน ดังนั้นปี 66 ท่ามกลางสภาพปัจจัยเสี่ยงไม่แน่นอนสูงนายจ้างจึงต้องรักษาแรงงานมีฝีมือไว้ให้มากสุด เช่น การขึ้นเงินเดือน 5-6%

"ปี 2566 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็ต้องปรับตัวเองเพราะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงตามทิศทางของโลก ซึ่งไทยอาศัยตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูงจึงได้รับผลกระทบโดยตรง โดยต้องมีกลยุทธ์ในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับต้นทุนที่สูง การตลาดที่ต้องเน้นเชิงรุกมากขึ้น ฯลฯ ขณะที่ลูกจ้างก็ต้องประหยัดเพราะค่าครองชีพยังคงสูง" นายธนิตกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/12/2565

กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ติดตามความคืบหน้ากรณียกเลิกโครงการ Work And Travel

3 ธ.ค. 2565 การประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ประชุมได้พิจารณาติดตามเรื่องร้องเรียนกรณีผู้จัดโครงการ Work And Travel ยกเลิกโครงการแต่ไม่คืนเงินค่าบริการผู้เข้าร่วมโครงการ  โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน เข้าให้ข้อมูล

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภค เพื่อพิจารณาดำเนินคดีทางแพ่งแทนผู้เสียหาย นอกจากนี้ สคบ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาให้การทำธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลบริษัทที่จัดโครงการ Work And Travel โดยตรง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ติดตามความคืบหน้ากรณีการยกเลิกโครงการ Work And Travel  โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม อาทิ กรมการกงสุล กรมการจัดหางาน กรมการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  สภาองค์กรผู้บริโภค  ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาโครงการ Work And Travel ในประเด็นต่างๆ อาทิ การจะสมัครเข้าร่วมโครงการ Work And Travel จะต้องมีการจัดทำเป็นสัญญาเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจัดส่งนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมโครงการดังกล่าวไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ควรเป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลบริษัทผู้จัดการโครงการ Work And Travel และควรมีการควบคุมสัญญาโดยให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นิสิตนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ  ตลอดจนควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ครอบคลุมถึงการประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, 3/12/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net