Skip to main content
sharethis

โรม ก้าวไกล แนะ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกับประเทศกลุ่ม ASEAN กดดันรัฐบาลพม่าให้เลิกปฏิบัติการที่อาจเข้าข่ายเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา หลังเกิดกรณีเรือผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเสียในน่านน้ำไทย กว่า 1 สัปดาห์ ขาดน้ำ-อาหาร เสียชีวิตแล้วกว่า 30 คน ปีนี้มีชาวโรฮิงญาอพยพข้ามแดนกว่า 1,900 คน มากกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 6 เท่า พร้อมถาม พล.อ.ประยุทธ์ จะทำหรือไม่ ในเมื่อเครื่องบินรบพม่าเฉี่ยวเข้ามาในน่านฟ้าไทยรัฐบาลยังออกมาแก้ตัวให้กองทัพพม่า

 

9 ธ.ค. 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม” เสนอแนวทางแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา หลังเกิดกรณีเรือผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเสียในน่านน้ำไทย กว่า 1 สัปดาห์ ขาดน้ำ-อาหาร เสียชีวิตแล้วกว่า 30 คน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565

 

โรม ระบุว่า จากข่าวเมื่อช่วง 1 - 2 วันที่ผ่านมา ที่มีการพบเรือขนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาลอยลำอยู่กลางทะเลอันดามัน ไม่สามารถเดินทางต่อได้เพราะเครื่องยนต์เสีย และที่ผ่านคนบนเรือจากกว่า 200 คนได้เสียชีวิตจากการขาดอาหารและน้ำไปแล้วกว่า 30 คน น่ากังวลอย่างยิ่งว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก หรือร้ายแรงกว่านั้นคือเรืออาจล่มหรือสูญหายได้

เมื่อมีผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังหน่วยงานรัฐไทยที่รับผิดชอบพื้นที่ทะเล เช่น ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ก็กล่าวว่าเรือดังกล่าวอยู่ห่างชายฝั่งไปกว่า 100 ไมล์ทะเล หน่วยงานไม่มีศักยภาพพอที่จะให้ความช่วยเหลือได้ จึงประสานต่อไปยังกองทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีการเข้าไปช่วยเหลือ เพราะอยู่นอกน่านน้ำไทย จึงไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบ

โรมเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐไทยที่มีศักยภาพจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้คนกว่า 200 คนต้องเสียชีวิตไปทั้งที่ประเทสไทยสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

โรมกล่าวว่า ตนเองไม่ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยต้องรับคนกลุ่มนี้มาดูแลในระยะยาว แต่ในขั้นต่ำที่สุดควรต้องให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าให้พวกเขามีชีวิตรอดในช่วงเวลาวิกฤตที่สุดนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ในภาพใหญ่ต้องพูดถึงต้นตอที่สำคัญที่สุดของสถานการณ์เกี่ยวกับชาวโรฮิงญา นั่นคือการถูกสังหารและขับไล่ออกจากถิ่นที่อยู่เดิมของพวกเขาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในพม่าแล้ว แต่ภายหลังการรัฐประหารน่ากังวลว่าจะเลวร้ายลงด้วยเมื่อคำนึงถึงพฤติกรรมการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร เช่นล่าสุดที่เพิ่งจะสั่งประหารชีวิตนักศึกษาพม่า 7 คน ที่อายุยังไม่ถึง 25 ปี ยังมีข้อมูลระบุอีกว่า ในปีนี้มีชาวโรฮิงญาอพยพข้ามแดนกว่า 1,900 คน มากกว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 6 เท่า และต้องเสียชีวิตระหว่างพยายามลี้ภัยถึง 119 หรือในกรณีของผู้ที่ไม่ได้ลี้ภัย ก็พบข่าวมีชาวโรฮิงญาถูกฆ่าและโยนศพทิ้งที่ชานเมืองย่างกุ้งถึง 13 คน

โรมเห็นว่า การแก้ปัญหานี้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืนไม่ให้ต้องมีชาวโรฮิงญาลี้ภัยออกมาจนกลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอีกหลายประเทศอีกนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นานาชาติโดยเฉพาะประเทศกลุ่ม ASEAN จะต้องกดดันพม่าให้เลิกปฏิบัติการที่อาจเข้าข่ายเป็นการล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้กับชาวโรฮิงญา และให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดได้อย่างปลอดภัยเสียที

โรมกล่าวว่า ประเทศไทยเองในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิดควรที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อยุติปัญหานี้ด้วย แต่เมื่อดูท่าทีของผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะริเริ่มการแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่กรณีเครื่องบินรบพม่าเฉี่ยวเข้ามาในน่านฟ้าไทย หรือทหารพม่ายิงปืนข้ามเขตแดนเข้ามาจนทำให้คนไทยในพื้นที่เกิดความหวาดกลัว รัฐบาลไทยกลับยังกลับออกมาพูดแก้ตัวให้กับกองทัพพม่า

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net