กมธ.แรงงาน ยันพร้อมช่วยแรงงาน 5 คนถูกเลิกจ้าง โดยซัพพลายเชน ‘ฮอนด้า’ คาดเพราะจัดตั้งสหภาพฯ  

  • ปธ.กมธ.แรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณี ‘วาย-เทค’ ซัพพลายเชน ‘ฮอนด้า’ เมืองปราจีนฯ เลิกจ้างพนักงาน 5 ราย คาดเพราะยุ่งเกี่ยวกับสหภาพฯ พร้อมยื่นเรื่องกรมสวัสดิฯ ช่วยสอบ 19-20 ธ.ค.นี้
  • สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมฯ (CILT) แจ้งบริษัท 'วาย-เทค' แยกพนักงานที่มีส่วนร่วมกับสหภาพฯ 23 คนกักบริเวณบนออฟฟิศ ประชุมกับสมาพันธ์แรงงานฮอนด้าฯ ประสานถึงบริษัท ช่วยสอบ เรียกร้องร่วมรับผิดชอบ

สืบเนื่องจากเมื่อ 22 พ.ย. 2565 บริษัท วาย-เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ยามาชิตะ รับเบอร์ และมีลูกค้ารายใหญ่คือบริษัทฮอนด้า แบรนด์รถยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ทำการปลดพนักงานจำนวน 5 ราย โดยอ้างว่าเป็นการลดระดับการผลิตาส่วนเกิน ขณะที่สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ CILT มองว่าบริษัทมีเจตนาปลดพนักงาน เพื่อทำลายการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เนื่องจากพนักงานทั้ง 5 รายเป็นแกนนำจัดตั้งสหภาพฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

9 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 ธ.ค.) สุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็นประธานกรรมาธิการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีดังกล่าว และแนวทางการช่วยเหลือแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ที่มา: TPChannel)

ประธาน กมธ.แรงงาน เผยว่าเมื่อ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา กมธ.แรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และได้พบกับแรงงานทั้ง 5 คนที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  

สุเทพ มองว่า แม้ว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะกำหนดว่าต้องมีการส่งเสริมให้มีการรวมตัวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ หรือสหภาพฯ และการจัดตั้งสหภาพแรงงานมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รองรับตั้งแต่ปี 2518 แต่นายจ้างบางส่วนก็ใช้วิธีหาเหตุในการเลิกจ้างพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสหภาพฯ ซึ่งทาง กมธ.ได้ลงไปพบกับแรงงานที่ จ.ปราจีนบุรี และได้พบแรงงาน 5 คนที่ถูกเลิกจ้าง จึงมีการสอบถาม และได้ความว่าสาเหตุที่เขาเลิกจ้าง เพราะบริษัทอ้างว่าเป็นการลดกำลังการผลิต 

ทาง กมธ.แรงงาน จึงให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รับเรื่องและในวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ จะมีการลงพื้นที่สอบสวนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และจะออกคำสั่งภายใน 30 วันหลังจากนั้น ซึ่งถ้าผลสรุปออกมาว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก็จะสามารถช่วยแรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้

ประธาน กมธ.แรงงาน ระบุด้วยว่า ทางแรงงานทั้ง 5 คน ส่งเรื่องร้องเรียนมายังคณะ กมธ.แรงงานแล้ว ซึ่งจะส่งเรื่องต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) ให้มีการตรวจสอบ และเมื่อ 7 ธ.ค. สุเทพ มีการอภิปรายหารือกับประธานสภาฯ ระหว่างการประชุมสภาฯ เพื่อให้เร่งรัดรัฐมนตรีให้มีการตรวจสอบช่วยเหลืออีกทาง นอกจากนี้ สุเทพ กล่าวย้ำว่าทาง กมธ.แรงงานพร้อมให้การช่วยเหลือทุกช่องทางอย่างแน่นอน  

สมาชิกสหภาพฯ ถูกกดดันต่อเนื่อง 

เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากประสิทธิ์ ประสพสุข ประธาน CILT เผยว่า บริษัท วาย-เทค มีคำสั่งแยกพนักงานโรงงานจำนวน 23 ราย ซึ่งเป็นพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ย้ายมาทำงานในออฟฟิศ โดยอ้างว่าต้องมาอบรมเพิ่มทักษะ สัมมนา มีการให้ดูสารคดี ชมการ์ตูน ทำท่ากายบริหาร ทำลายเอกสาร และอื่นๆ ในเวลาเดียวกับที่พนักงานกำลังกิจกรรม ก็จะถูกคนจากบริษัทและกล้องวงจรปิดคอยจับตาดูพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด 

ประธาน CILT คาดว่า บริษัททำแบบนี้เพื่อกดดันพนักงาน จะได้ยอมต่อรองกับบริษัท อย่างเช่น อาจมีการลงข้อตกลงไม่ยุ่งเกี่ยวกับสหภาพฯ หรือยอมลาออกจากโรงงานโดยบจ่ายค่าชดเชยให้ ต่อมาคือบริษัทต้องการแยกแกนนำสหภาพฯ ไม่ให้สื่อสารกับพนักงานคนอื่นให้ลุกฮือ หรือแข็งข้อต่อบริษัท และสุดท้าย คือบริษัทต้องการเปลี่ยนความคิดสมาชิกสหภาพฯ ถ้ายังไม่เปลี่ยน ก็จะโดนกดดันต่อไปอย่างนี้ 

“เขาก็อ้างต้องมาอบรมเพิ่มทักษะ ซึ่งมันเป็นคำกล่าวอ้างบังหน้า เพื่อที่จะเอาแกนนำสหภาพแรงงานให้ตัดขาดจากคนงาน ไม่ให้ไปสื่อสาร ไม่ให้ไปพูดเรื่องสหภาพฯ ไม่ให้ไปชวนเข้าเป็นสมาชิก แล้วก็เป็นเหมือนกับว่า เห็นไหม ถ้าคุณเป็นแกนนำ คุณจะเดือดร้อนแบบนี้ คือขึ้นไปอยู่ออฟฟิศก็สูญเสียรายได้ ไม่มีโอกาสได้ทำงานล่วงเวลา ได้เติบโตในหน้าที่การงาน เหมือนเป็นเชิงกลยุทธ์ของเขา ทำแบบนี้มันก็เป็นการลิดรอนสิทธิแรงงานอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือกดดันแกนนำ” ประธาน CILT ระบุ พร้อมกล่าวว่า พนักงานทั้ง 23 คนถูกแยกขึ้นมาอบรมบนออฟฟิศเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว 

นอกจากนี้ พนักงานกลุ่มที่ถูกแยกออกมา จะไม่ได้ทำงานล่วงเวลา หรือ OT ซึ่งมีความสำคัญกับแรงงานมาก และมีพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ อีก 5 คนถูกย้ายแผนกไปทำงานที่โรงงานอื่น 

สุเทพ อู่อ้น กมธ.แรงงาน ให้ความเห็นกรณีนี้ด้วยว่า ตอนลงพื้นที่ก็ได้ทราบปัญหาการกักบริเวณพนักงานโรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสหภาพฯ และไม่ได้ให้ทำงานอะไรเลย พอให้กรมสวัสดิการลงไปตรวจ ก็อาจมีการจัดฉาก หรืออบรมสัมมนา ซึ่งลักษณะแบบนี้ถือเป็นการกีดกัน กักบริเวณพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 

ประธาน กมธ.แรงงาน ยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ และจะรีบผลักดันการช่วยเหลือ นอกจากนี้ สุเทพ มองด้วยว่ากรณีนี้ไม่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปได้ เพราะจะเป็นโมเดลให้นายจ้างใช้วิธีกดดันพนักงานที่ยุ่งเกี่ยวกับสหภาพฯ ในกรณีอื่นๆ หลังจากนี้ และจะทำให้การรวมตัวของแรงงานเกิดขึ้นได้ยาก 

ร้องสมาพันธ์แรงงานฮอนด้า จี้บริษัทต้นสังกัดสอบซัพพลายเชน 

ประสิทธิ์ ระบุว่า เมื่อ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา CILT มีการยื่นหนังสือถึงสมาพันธ์แรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย ช่วยประสานกับบริษัทฮอนด้า มาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริษัทในห่วงโซ่การผลิต บริษัท วาย-เทค และเรียกร้องให้ฮอนด้า ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม

CILT มีการยื่นหนังสือถึงสมาพันธ์แรงงานฮอนด้า แห่งประเทศไทย เมื่อ 4 ธ.ค. 2565

"คุณรู้เรื่องแล้ว คุณยังนิ่งเฉยได้ มันก็คงไม่ถูกต้องนะ คุณควรจะเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้ บริษัทวาย-เทค ละเมิดสิทธิแรงงานตามที่ถูกร้องเรียนจริงหรือไม่ ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน คุณต้องมีมาตรการสิทธิแรงงานที่จะแทรกแซงตรงนี้ใช่ไหม เพราะว่าบริษัทฮอนด้าซื้อชิ้นส่วน เขามีสิทธิ์ที่จะบอกว่าบริษัทไม่ถูกต้อง คุณละเมิดสิทธิแรงงานมันเสื่อมเสียมายังบริษัทฮอนด้าด้วย ในฐานะที่ฉันทำธุรกิจกับเธอ ฉะนั้น ถ้าเธอ (บ.วาย-เทค) ไม่แก้ไขสถานการณ์ตรงนี้ให้มันกลับสู่สิ่งที่มันควรจะเป็น คุณต้องทบทวนแล้วว่าคุณยังจะซื้อสินค้า หรือชิ้นส่วนกับบริษัท ที่ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือละเมิดสิทธิแรงงานสัมพันธ์หรือไม่" ประสิทธิ์ กล่าวย้ำ 

หลังจากนี้ หากทางฮอนด้า ยังนิ่งเฉย ประสิทธิ์ ระบุว่าสหภาพฯ จะร้องเรียนไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านสถานทูต และบริษัทฮอนด้าโดยตรง เพื่อให้มีการตรวจสอบและกดดันบริษัทวาย-เทค และจะร้องเรียนเคสอื่นๆ ในซัพพลายเชนฮอนด้า ไม่ใช่แค่บริษัทวาย-เทค 

"ถ้าเราไปร้องเรียน จะไม่ไปร้องเรียนแค่เคส 'วาย-เทค' แล้ว มันจะมีเคสอื่นๆ ด้วย ที่เป็นซัปพลายเชนของฮอนด้า แล้วละเมิดสิทธิแรงงาน ฉะนั้น ฮอนด้า ควรจะต้องเดือดร้อนด้วย" ประสิทธิ์ ระบุ และกล่าวด้วยว่า ยังมีซัพพลายเชนอย่างน้อยอีก 4 บริษัทของฮอนด้า ที่พบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานอีกด้วย

สำหรับบริษัท 'วาย-เทค' ปลดพนักงานลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกย้อนไปเมื่อปลายปี 2560 บริษัท 'วาย-เทค' เลิกจ้างคนทำงานที่ทำการจัดตั้งสหภาพแรงงานกว่า 30 ราย โดย IndustriALL Global Union สรุปเรื่องร่างที่เกิดขึ้นในลงในเว็บไซต์ ภายใต้บทความ "Thailand: auto parts maker Y-Tec fires workers for unionizing" เมื่อ 10 ต.ค. 2560 ซึ่งเคสการละเมิดสิทธิครั้งนั้นเป็นหนึ่งในเคสอยู่ในข้อเรียกร้องให้มีการตัดสิทธิ์สิทธิพิเศษทางศุลกากร หรือ GSP โดยรัฐบาลสหรัฐฯ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท