Skip to main content
sharethis

‘ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์’ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน และ ‘กัญญา ธีรวุฒิ’ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ‘2 หญิงนักปกป้องสิทธิ’ เข้ายื่นขอรับเงินเยียวยา ตามสิทธิใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ หวังรัฐไทยเยียวยาให้บุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย หลัง ‘สุรชัย’ และ ‘สยาม’ สองนักกิจกรรมทางการเมืองกลายเป็นผู้ถูกบังคับสูญหาย

(ซ้าย) ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน

(ขวา) กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ

9 ธ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย แซ่ด่าน และ กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ สองบุคคลที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมด้วยตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ตัวแทนจาก Protection International และตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิในการเยียวยาในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในระหว่างที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องตามหาสุรชัยและสยามที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหาย

มนทนา ดวงประภา ทนายความกล่าวว่า วันนี้เราพาแม่และภรรยาของทั้งสองท่านมาขอใช้สิทธิเพื่อรับค่าเสียหาย เพราะครอบครัวของทั้งสองครอบครัวเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น โดยที่ครอบครัวของทั้งสองไม่มีส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งในกรณีที่เสียชีวิตไปแล้ว ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็สามารถขอรับค่าตอบแทนได้ อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องนี้ในครั้งนี้มีความท้าทายในการพยายามขอค่าเสียหาย เพราะในส่วนของการเป็นผู้เสียหายอาจจะต้องมีรายละเอียดว่าทั้งสองได้รับความเสียหายในกรณีนี้อย่างไร เช่นหากเขาถูกทำให้เสียชีวิต เขาถูกทำให้เสียชีวิตโดยวิธีการแบบไหนอย่างไร ซึ่งในกรณีถูกบังคับให้สูญหายหลักฐานเหล่านี้อาจจะยังไม่มี ซึ่งในกรณีแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะถูกบังคับให้สูญหาย และอาจจะได้รับบาดเจ็บ ข่มขืนใจ ถูกหน่วงเหนี่ยวและถูกกักขังจนทำให้เสียชีวิตได้โดยบุคคลอื่นที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร อาจจะเป็นรัฐหรือว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป  ซึ่งกรณีของคุณสุรชัยและคุณสยามเคยถูกตั้งข้อหาจากรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ อั้งยี่ซ่องโจร และยุยงปลุกปั่น ซึ่งการตั้งข้อหาเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทนายความกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ได้กำหนดไว้ให้กลุ่มคนสองจำพวกที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยาได้คือส่วนของผู้เสียหายเองและจำเลยในคดีอาญา ซึ่งสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่เป็นครอบครัวของผู้เสียหายที่ได้รับการกระทำจากทางคดีอาญาในส่วนนี้สามารถพิจารณาให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้

สยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมทางการเมือง

ถ่ายเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555 กิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย. ที่หมุดคณะราษฏร ถ่ายโดย 
Suwanna Tallek)

ด้านปรานม สมวงศ์ Protection International กล่าวว่าตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ ข้อ 8 ระบุรัฐต้องประกันสิทธิของเหยื่อจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับที่จะได้รับการเยียวยา ที่มีประสิทธิผล  การลงนามของไทยแม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้แต่ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็น ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ประเทศไทยต้องให้ความเคารพและสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยให้ความมุ่งหมายของอนุสัญญาฯ บรรลุผล

“ เราคาดหวังให้คณะกรรมการเห็นสมควรในการที่จะชดเชยเยียวยาให้กับครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็นความคาดหวังสูงสุดของเรา ส่วนค่าเสียหายจะได้เท่าไหร่เราละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นสิทธิในการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แต่คนที่เป็นครอบครัวของบุคคลที่สูญหายเขามีความทรมานกายทรมานใจจากบุคคลที่เขารักสูญหายไป มันเป็นสิ่งที่นับเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่สิ่งที่เราคิดคือเราจะให้เขาได้รับการชดเชยเยียวยาพอสมควรได้อย่างไร เราจึงคาดหวังว่าคณะกรรมการฯจะอนุมัติเงินให้กับสองครอบครัวนี้” มนทนา ดวงประภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ

สุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมทางการเมือง

ขณะที่ปราณีกล่าวว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบเพราะคนในครอบครัวสูญหาย และไม่สามารถตามหาตัว ไม่ทราบชะตาชีวิต หรือตามหาศพได้ ตามที่คาดว่าอาจจะถูกบังคับให้สูญหายเพราะมีการพบศพของเพื่อนที่หายไปพร้อมกัน วันนี้ตนมาเรียกร้องและหวังว่าการมายื่นเรื่องของเราในครั้งนี้อย่างน้อยจะได้รับการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะหลายปีที่เราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาตามหาครอบครัวของเราที่สูญหายเราก็ได้สูญเสียไปหลายสิ่งเหมือนกัน และยังเป็นการกระตุ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐช่วยติดตามสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้นอย่างจริงจัง เพราะไปมาหลายหน่วยงานหลายปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า แล้วสุดท้ายยังมีการปิดสำนวนว่าไม่มีศพทั้งๆที่เราคาดว่าเป็นศพของคุณสุรชัย

ภรรยาของสุรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่แน่ใจว่าการยื่นขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังหรือไม่ เพราะยังอยู่ในรัฐบาลที่เคยทำรัฐประหาร แต่ก็ยังมีความหวังว่ากลไกหรือกระบวนการนี้จะช่วยเยียวยาความสูญเสียที่เกิดกับครอบครัวของตนได้บ้าง เพราะทุกวันนี้ตนยังต้องจ่ายเงินค่าประกันตัวชั่วคราวให้กับศาลในคดีที่คุณสุรชัยถูกกล่าวหาว่าได้ขึ้นไปปราศรัยบนเวทีคู่ขนานในการประชุมอาเซียนเมื่อปีพ.ศ. 2553 ทั้งที่เรามีพยานว่าคุณสุรชัยไม่ได้ขึ้นไปปราศรัยในเวทีดังกล่าว แต่เราก็ฟ้องกลับไม่ได้เพราะคุณสุรชัยไม่สามารถมาขึ้นศาลได้ ตนจึงต้องจ่ายค่าปรับแทนทุกเดือนเดือนละสามพันบาท

“การยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ยังเป็นการยืนยันและตอกย้ำด้วยว่าคุณสุรชัยไม่ใช่อาชญากร ความคิดความเชื่อทางมโนสำนึกของผู้คนมันไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองหรือทุกๆ เรื่องได้  การพิพากษาความผิดให้กับคุณสุรชัยและนักต่อสู้อีกหลายคนที่มีความดิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมือง ด้วยการอุ้มหายหรือบังคับให้สูญหายจึงเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เรายังยืนยันว่าจะต่อสู้ในเรื่องนี้เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ” ปราณีระบุ

ขณะที่กัญญากล่าวว่า ก่อนที่สยามจะหายตัวไป เขาเป็นกำลังหลักของครอบครัว เรามีการพูดคุยวางแผนอนาคตร่วมกัน สยามให้แม่เอาเงินเก็บบางส่วนของเขาไปดาวน์รถมาใหม่จะเอามาไว้วิ่งทำงานรับงานเพิ่มกัน ครอบครัวเรากำลังจะเห็นแสงสว่าง แต่อยู่ๆ เขาก็ถูกบังคับให้สูญหายไปจากแม่หายไปจากครอบครัว นอกจากจะเสียใจจากการสูญเสียแล้วเราก็ตกอยู่ในความยากลำบากหนี้สินที่ต้องหาเงินมาปิดในแต่ละเดือนก็เป็นจำนวนเงินที่มาก   เราก็เคว้างกันอยู่จนถึงทุกวันนี้  ดังนั้นการมายื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้เราจึงมีความหวังว่าเราจะได้รับความยุติธรรมอย่างน้อยก็จากช่องทางนี้สักเรื่องให้ครอบครัวของเราได้รับเงินเยียวยาเพื่อจะทำไปใช้ต่อยอดเรื่องอื่นๆ ในการต่อสู้ของเราเพื่อตามหาลูกต่อไป

ทั้งนี้เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ทั้ง ปราณี และกัญญา ลุกขึ้นมาตามหา ทวงถาม ความยุติธรรมให้กับสามีและลูกที่ถูกบังคับให้สูญหาย ในฐานะของภรรรยาและแม่ เนื่องจากสุรชัยและสยามถูกบังคับให้สูญหายตั้งแต่ ธ.ค. ปี 2561 และ พ.ค. ปี 2562 ตามลำดับ โดยทั้งสองได้พยายามร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เช่น กองบังคับการปราบปราม  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ,สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ สถานทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย เป็นต้น แต่แล้วก็กลับได้รับการยุติเรื่องหรือไม่ได้รับความคืบหน้าแต่อย่างไร  

นอกจากนี้ในปี 2539 ประเทศไทยได้ไปลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่ต้องได้รับในการคุ้มครองตามกฎหมาย จะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ  (ข้อ 6) หรือบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยอำเภอใจมิได้ หรือจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (ข้อ 9) และรัฐที่เป็นภาคีต้องประกันว่าบุคคลใดที่สิทธิและเสรีภาพซึ่งถูกรับรองในกติการนี้ถูกละเมิดต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลอย่างจริงจัง (ข้อ 2) เป็นต้น

การเข้ายื่นขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้จึงจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่น่าจับตามองว่ากลไกของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิฯอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับทั้งสองครอบครัวหรือประชาชนคนอื่นๆที่ถูกละเมิดสิทธิฯก็ควรจะได้รับสิทธิในการชดเชยและเยียวยาเลย ซึ่งขั้นตอนแรกๆที่รัฐจะสามารถกระทำการได้เลยที่จะเป็นการคืนความยุติธรรมในเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้เสียหายได้หรือไม่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net