Skip to main content
sharethis
  • อีก 3 นัดจะปิดฉาก #ฟุตบอลโลก2022 ลง แต่ประเด็นการถ่ายทอดในไทยยังไม่มีแววจะจบง่ายๆ ล่าสุด กกท. เสนอ IPTV จ่ายรายละ 22 ล้าน ถ่ายทอดสด 
  • 'กสทช. พิรงรอง' ชี้ กกท.ฉีก MOU ความเสียหายได้เกิดแล้ว  หลัง กสทช.เรียกคืนเงิน 600 ล้าน จาก กกท. 
  • ‘รองโฆษกเพื่อไทย’ จี้ กกท.ตอบให้ชัดก่อนรีดเงินเอกชนถ่ายทอด ห่วง บอลจบ-คนไม่จบ ถามที่ผ่านมาคนดูไม่ได้ ใครต้องรับผิดชอบ

ขณะที่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 เหลืออีก 3 นัดจะปิดฉากลง แต่ประเด็นปัญหากระบวนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 หรือจอดำส่งผลให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ดูผ่านกล่องรับสัญญาณทีวีทางอินเทอร์เน็ต หรือ IPTV (Internet Protocol Television) ไม่สามารถดูการถ่ายทอดได้ เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามถ่ายทอดสดนั้น ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ 

กกท. เสนอ IPTV จ่ายรายละ 22 ล้าน ถ่ายทอดสด

วานนี้ (13 ธ.ค.) สื่อกลายสำนัก เช่น มติชนออนไลน์ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, เพจ 'สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว' รายงานว่า ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กก 5102/ว14158 เรื่อง ขอเชิญแจ้งความประสงค์ในการถ่ายทอดสดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ถ้าจะถ่ายบอลโลกอีก 4 นัด

หนังสือที่ลงนามโดย ผู้ว่า กกท. ระบุว่า หากมีความประสงค์ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ขอให้เสนอสิทธิประโยชน์ ‘ตามความเหมาะสม’ ให้กับ กกท. ภายในวันที่ 13 ธ.ค.65 และในเอกสารที่ออกมานั้นกลับระบุจำนวนเงิน 22 ล้านสำหรับการถ่ายทอด 4 นัด แบ่งเป็นดังนี้

  • การแข่งขันรอบรองชนะเลิศ 4 ล้านบาท/แมทซ์  จำนวน 2 แมทซ์
  • การแข่งขันรอบรองชนะเลิศ  6 ล้านบาท/แมทซ์   จำนวน 1 แมทซ์
  • การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Final  8 ล้านบาท/แมทซ์  จำนวน 1 แมทซ์

ฐานเศษฐกิจกรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่ให้เงินสนับสนุนสูงสุด 300 ล้านบาท โดย กกท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ TRUE ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยเงินสนับสนุนของ TRUE  แบ่งเป็นทีวีดิจิทัลจำนวน 200 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาท สนับสนุนถ่ายทอดสดผ่านระบบกล่องรับสมาชิก IPT และ OTT ( Over-the-top คือการให้บริการเนื้อหาเช่น ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) ซึ่ง TRUE ได้ดำเนินการฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาขอคุ้มครองสิทธิชั่วคราวจนส่งผลให้กล่องรับสัญญาณ IPTV ไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลก 2022 ได้เป็นการชั่วคราว

ภาพจากฐานเศรษฐกิจออนไลน์

ขณะที่ บริษัท ซุปเปอร์ บอรดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN บริษัทในเครือ AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกผ่านกล่อง IPTV  ภายใต้ชื่อบริการ "AIS Play Box" ได้ทำหนังสือถือ การกีฬาแห่งประเทศไทย ว่า ณ ขณะนี้ บริษัทฯ ยังคงไม่สามารถแพร่เสียงแพร่ภาพถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอสโลก (FIFA WorldCup Final 2022) ได้ ตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯที่กลุ่ม ทรู ได้ยื่นคำร้องขอห้ามไว้ ซึ่งในปัจจุบันศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ยังไม่มีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งตังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้ง กสทช, ในฐานะผู้กำกับดูแลการ ประกอบกิจการโทรทัศน์ของบริษัทฯ ก็ยังมิได้มีคำสั่งในประการอื่นใดภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีคำสั่งห้ามดังกล่าว

กสทช. พิรงรอง ชี้ กกท.ฉีก MOU ความเสียหายได้เกิดแล้ว

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นัดพิเศษลงมติ 6 ต่อ 0 เสียง ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยคืนเงินค่าสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 จำนวน 600 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 5% ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจาก กสทช. จากที่ก่อนหน้าที่ กสทช.เคยมีมติให้เงินสนับสนุนถ่ายทอด โดยสาเหตุเนื่องจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไม่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง MOU เรื่องสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดโดยไม่ดำเนินการให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) ทุกรายถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ นอกจากนี้ กสทช. ยังขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัตตาม MOU ของ กกท. ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป 

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา พิรงรอง รามสูต 1 ใน กสทช. โพสต์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Pirongrong Ramasoota'ว่า ณ จุดนี้ ความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตาม MOU ได้บังเกิดแล้ว การจะยกประโยชน์ให้ฝ่ายที่ละเมิด MOU กับ กสทช.ด้วยการไปยกเลิก MOU อีกอันที่ให้ exclusive right กับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการถ่ายทอดบอลโลกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆและยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆที่เป็นผลพวงตามมาย่อมไม่เป็นการเยียวยาความเสียหายใดๆ และไม่สามารถลบล้างเจตนาที่จะละเมิด MOU กับ กสทช.ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ไปลงนามใน MOU กับผู้ประกอบการรายใหญ่

พิรงรอง ในฐานะกสทช. ที่กำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ และเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่ได้อนุมัติการสนับสนุนเงิน 600 ล้านเพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาตั้งแต่ต้น ระบุว่า ตนมีสองประเด็นที่คิดว่าน่าจะต้องสร้างความกระจ่างคือ

1. ในการรับเงินสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้านบาท กกท. มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทของ กสทช. ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ และ กกท.ก็รับทราบก่อนการทำ MOU และการลงนามใน MOU ที่รับการสนับสนุนแล้วว่า กสทช. มีเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับกฎ must have / must carry ส่วนหนึ่งเพราะ กกท.เคยมีประสบการณ์บริหารสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิคที่ ครม. ได้อนุมัติหลักการให้ กกท. ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนการกีฬา (50%) ให้มาขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส (50%)

ซึ่งในครั้งนั้น กกท. ก็ได้รับการสนับสนุนไปเช่นเดียวกับครั้งนี้ (แต่ครั้งนี้ไม่มีมติครม.)และทราบเงื่อนไขสำคัญนี้ ของ กสทช. เป็นอย่างดี ซึ่ง กกท. ก็สามารถทำตามกฎทั้ง 2 ได้โดยเรียบร้อยทุกแพลตฟอร์มออกอากาศได้หมด (ยกเว้น OTT ที่ กสทช.ไม่มีขอบเขตอำนาจกำกับดูแล)

ดังนั้น การที่ กสทช. ให้การสนับสนุนไปโดยเสียงข้างมากก็เข้าใจว่า กกท.จะสามารถดำเนินการให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การไปทำข้อตกลงหรือสัญญาใดๆตามมาที่ขัดแย้งกับ MOU ที่ได้ทำมาก่อนหน้า แม้จะอ้างข้อจำกัดใดๆหรือความเห็นใดๆที่ไม่ได้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร ย่อมไม่มีประเด็นให้หักล้างความไม่ชอบธรรมทางกฎหมายได้

2.ในประเด็นที่กสทช.มีมติให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ กกท. ปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขใน MOU และหากไม่ดำเนินการโดยทันที กสทช.จะดำเนินการแจ้งยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) และให้กกท. คืนเงินสนับสนุนที่ได้รับไว้ทั้งหมดคืนแก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือนั้น

เหตุที่ กสทช. ต้องดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากเงิน 600 ล้านบาท เป็นเงินของรัฐที่กองทุน กทปส.จะต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งแต่แรก ความเห็นส่วนตัวเราเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจ่ายเงินจากกองทุนอย่างชัดเจน จึงมีความเห็นเป็นเสียงข้างน้อยที่จะไม่ให้การสนับสนุน อย่างไรก็ดี กสทช.เป็นการทำงานในรูปแบบองค์กรกลุ่ม มติจึงต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก และเมื่อได้สนับสนุนออกไปแล้วปรากฎว่าการใช้จ่ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ MOU จึงมีการออกมติตามมาดังข้างต้น

‘รองโฆษกเพื่อไทย’ จี้ กกท.ตอบให้ชัดก่อนรีดเงินเอกชน ถ่ายทอดบอลโลก ห่วง บอลจบ-คนไม่จบ ถามที่ผ่านมาคนดูไม่ได้ ใครต้องรับผิดชอบ

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ชนินทร์  รุ่งธนเกียรติ  รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีการเปิดเผยเอกสารจาก กกท. เรียกรับเงินสนับสนุนจำนวน 22 ล้านบาทจากผู้ให้บริการ IPTV แลกกับการได้ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 4 นัดสุดท้ายว่า ปัญหาทั้งหมดของการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสัญญาณตลอดจนการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎ must carry ของ กสทช.ในครั้งนี้ สะท้อนความล้มเหลวและการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างสิ้นเชิง นอกจากจะมีการดำเนินการที่ล่าช้า ไร้การวางแผน จนไทยโดนโขลกค่าถ่ายทอดราคาแพงกว่าประเทศอื่นแล้ว รัฐบาลเองยังป่าวประกาศว่าคนไทยต้องได้ดูฟุตบอลโลกอย่างเท่าเทียม แต่เอาเข้าจริงมีพฤติการณ์เอื้อนายทุน ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ ให้สิทธิ์ขาดเอกชนบางเจ้าในการถ่ายทอดผ่านระบบ IPTV และขาดการพัฒนาระบบถ่ายทอดสัญญาณ จนถูกร้องให้ระงับการถ่ายทอดผ่านระบบจานดำทั่วประเทศ จนประชาชนหลายล้านคนเข้าไม่ถึง

ชนินทร์กล่าวว่า การที่ กกท. ออกหนังสือขอให้แจ้งความจำนงถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบ IPTV 4 คู่สุดท้าย พร้อมเรียกเงินสนับสนุนเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่ต้องคำถามมากมายในสังคม จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตอบคำถามให้ชัดเจน ดังนี้
1. การที่ กกท. ทำสัญญากับเอกชนให้สิทธิพิเศษขัดแย้งกับสัญญาที่ทำกับ กสทช. และประวิงเวลาให้มีการเรียกร้องและฟ้องร้องมากมาย จนเหลือเพียง 4 คู่สุดท้าย จึงจะดำเนินการแก้ปัญหา เข้าข่ายการฮั้วหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายหรือไม่
2. ในเมื่อการถ่ายทอดผ่านระบบ IPTV เป็นหนึ่งในช่องทางที่ได้รับการยืนยันจาก กสทช.แล้วว่าต้องทำได้อย่างเสรี เหตุใดเอกชนที่ต้องการร่วมถ่ายทอดสัญญาณจึงต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
3. ในเมื่อเอกชนที่ กกท.ให้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสัญญาณไปก่อนนั้น ยินดีให้มีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านเครือข่ายของเอกชนรายอื่นโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว เงินสนับสนุนที่ กกท. เรียกเก็บในครั้งนี้ จะเข้ากระเป๋าใคร เพื่อประโยชน์อะไร หรือเป็นเพียงกติกาตั้งเปล่า เพื่อกีดกันการถ่ายทอดที่ควรจะเสรีหรือไม่
4. ในเมื่อการบริหารการถ่ายทอดที่ผ่านมาล้มเหลว ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลของ กสทช. มีประชาชนผู้เสียสิทธิ์เข้าไม่ถึงการถ่ายทอดจำนวนมาก และเอกชนบางรายที่โดนรอนสิทธิ์การถ่ายทอดอย่างไม่เป็นธรรม ใครควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องได้รับการชดเชยอย่างไร

“พลเอกประวิตร ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องนี้ เพราะท่านเองเป็นผู้รับปากกับประชาชนตั้งแต่แรกว่าทุกคนต้องได้ดูบอลโลกอย่างเท่าเทียม มิเช่นนั้นเกรงว่าบอลจบ คนจะไม่จบ จากที่หวังจะได้คะแนนเพิ่ม กลายเป็นต้องพังยับเพราะบริหารงานกันแบบไม่สนใจประชาชน” ชนินทร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net