Skip to main content
sharethis

คุยกับ '3 แรงงานข้ามชาติ LGBTQ จากเมียนมา' เกี่ยวกับเหตุผลในการเลือกย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ไทย ทั้งเรื่องข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ทางเพศ ประสบการณ์ถูกคุกคาม-ล้อเลียนเพราะอัตลักษณ์ทางเพศในที่ทำงานทั้งจากคนไทยและจากคนประเทศเดียวกัน รวมทั้งมุมมองจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ LGBTQ เกี่ยวกับปัญหาและช่องว่างทางนโยบายที่ยังรอการเติมเต็ม

  • เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้ว ที่ไทยเป็นประเทศปลายทางของแรงงานอพยพจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา แรงงานข้ามชาติผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นส่วนหนึ่งในคลื่นแรงงานอพยพจำนวนมากนี้เช่นกัน เหตุผลในการอพยพนั้นมากกว่าข้อจำกัดทางเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง แต่มีเรื่องบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาด้วย
  • แรงงานข้ามชาติ LGBTQ ในไทยจำนวนไม่น้อย เคยถูกคุกคาม-ล้อเลียน-ทำร้ายเพราะอัตลักษณ์ทางเพศจากประเทศต้นทาง ที่บ้างยังมีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันและวัฒนธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม จึงทำให้แรงงานกลุ่มนี้มักเลือกไทยเป็นประเทศปลายทาง ด้วยเหตุผลคือเรื่องโอกาสในหางานและเสรีภาพทางเพศที่มากกว่า หลายคนจึงมักมองว่าไทยเป็นแดนสวรรค์ของกลุ่ม LGBTQ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ 
  • ผลสำรวจจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า แรงงานข้ามชาติ LGBTQ จำนวนมากเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงข้ามเพศมีแนวโน้มค่อนข้างมากที่จะเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลที่ว่าสภาพการทำงานที่ไม่ดีและการถูกคุกคามเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ นอกจากนี้พวกเขาอาจต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายจากนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในพื้นที่ปิด เช่น งานดูแลในบ้านหรือกิจการขนาดเล็ก ซึ่งมักได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินไม่มาก แต่นายจ้างให้ที่พักอาศัยในบ้าน เป็นต้น
  • การเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติ LGBTQ พวกเขามักถูกเลือกปฏิบัติซ้ำสอง (double discrimination) ทั้งในมิติชาติพันธุ์และมิติทางเพศ มีความเสี่ยงถูกคุกคาม ล้อเลียน หรือรังแกด้วยเหตุแห่งเพศทั้งจากคนไทย และจากแรงงานข้ามชาติด้วยกันในที่ทำงาน และไม่ได้มีทางเลือกหางานมากนัก นี่จึงเป็นกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มที่ยังตกหล่นจากการออกนโยบาย ซ้ำแรงงานข้ามชาติ LGBTQ อยู่กันอย่างกระจัดกระจายและไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยเพศสภาพ จึงยิ่งทำให้การเก็บข้อมูลเพื่อทำนโยบายเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก
  • โอกาสนี้ ประชาไท คุยกับ 3 แรงงานข้ามชาติ LGBTQ จากเมียนมา เกี่ยวกับเหตุผลในการเลือกย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ไทย ประสบการณ์คุกคาม-ล้อเลียนเพราะอัตลักษณ์ทางเพศในที่ทำงาน ตลอดจนมุมมองจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ LGBTQ เกี่ยวกับปัญหาและช่องว่างทางนโยบายที่ยังรอการเติมเต็ม  

เคยคิดว่าเมืองไทยจะปลอดภัย

แต่ไม่ใช่อย่างที่หวัง

“เคยมีคนที่โรงงานมาจับหน้าอก จับก้น เราอายที่มีคนมาเห็น โกรธด้วยทำไมต้องมาจับ” จอยบอก 

จอย (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติกว่า 2.5 ล้านคนจากประเทศเมียนมาที่เข้ามาไทย เพราะข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการไม่สามารถหารายได้ที่สอดคล้องกับค่าครองชีพได้ในประเทศต้นทาง แต่เหตุผลของจอยมีมากกว่านั้น จอยประสบกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศจากต้นทาง ทำให้มีความฝันตั้งแต่ยังเด็กว่าจะย้ายมาทำงานที่ไทย เพราะมองว่าไทยมีงานที่ดีและมีเสรีภาพทางเพศมากกว่า แต่ชีวิตก็ไม่เป็นอย่างที่หวัง เพราะงานหายาก และยังคงถูกเลือกปฏิบัติซ้ำสองในที่ทำงาน

จอย (นามสมมติ) แรงงานชาวทวาย อายุ 32 ปี ทำงานอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร

จอยเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานในโรงงานอาหารกระป๋อง เพื่อนร่วมงานคนไทยมีความเข้าใจ แต่ตนมักจะโดนกลั่นแกล้งจากคนเมียนมาด้วยกันเองเพราะว่าตนเป็นหญิงข้ามเพศ ทั้งการคุกคามทางคำพูดและทางร่างกาย จอยไม่กล้าเล่าให้คนรักฟัง เพราะกลัวว่าตนจะสร้างปัญหา หากคนรักไปทะเลาะกับคนอื่น

จอย เกิดและเติบโตที่รัฐทวาย รู้ตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ว่าเป็นหญิงข้ามเพศ และยืนยันเปิดเผยตนเองเท่าที่ทำได้ตลอดมา แต่ว่าพ่อแม่และสังคมรอบข้างไม่ยอมรับ ในการสนทนา จอยเรียกตัวเองว่าผู้หญิง และเปิดรูปในโทรศัพท์ให้ดู

“ตอนที่อยู่เมียนมา เราผมยาว แต่งหน้าด้วย แต่ยังไม่ได้แต่งชุดผู้หญิงได้เต็มที่ เพราะเกรงใจพ่อแม่”

จอยเล่าต่อว่าโดนแกล้งตั้งแต่สมัยเป็นเด็กๆ ที่อยู่เมียนมา ซึ่งตนก็ไม่ได้ชอบ แต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่เพราะว่ารู้สึกอายและไม่อยากสร้างปัญหาให้คนอื่น

จอยเล่าว่า เมื่ออายุประมาณ 18 ปี ตนเคยถูกทำร้ายจากผู้ชายในหมู่บ้านเดียวกัน หลังจากนั้นตนเล่าให้พ่อแม่ฟัง แต่พ่อแม่กลับพูดว่า “เกิดมาเป็นผู้ชาย ทำไมไม่เป็นผู้ชาย” ถึงพ่อแม่จะรู้ว่าตนไม่ได้ไปหาเรื่องคนอื่นก่อน แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ชอบในสิ่งที่ตนเป็นอยู่ดี เหตุการณ์ในครั้งนั้นยิ่งทำให้ตนรู้สึกอยากย้ายออกไปอยู่เมืองไทย

“สมัยอยู่ประเทศเมียนมา มีผู้ชายคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมาต่อว่า ด่าที่เป็นกะเทย ด่าลามไปถึงพ่อแม่ จากนั้นก็จิกผมแล้วชกเข้าที่หน้า” จอยเปิดเผยเรื่องนี้

พอย้ายมาเมืองไทยแล้ว ก็พบความจริงว่าชีวิตไม่เป็นอย่างที่หวัง จอยไม่ได้ทำงานประจำมาแล้วถึง 3 ปี ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ งานหายาก และการสมัครเข้าทำงานที่โรงงานมีค่าใช้จ่ายสูงเหยียบหมื่น จึงต้องจำใจออกจากห้องเช่ามาอาศัยอยู่กับคนรู้จัก ตอนนี้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการไปช่วยงานที่ร้านเสริมสวย แฟนของจอยที่ทำงานบนเรือประมงมักจะแวะเอาเงินและปลามาให้

“แต่ก่อนเวลาอยู่เมืองไทยแล้วเจอปัญหา ก็อยากกลับบ้านที่เมียนมา แต่ตอนนี้คือไม่อยากกลับจริงๆ เพราะที่บ้านแย่กว่า เพราะนักการเมืองไม่ดี ถึงอยากกลับก็ต้องอยู่ที่นี่ก่อน เงินที่ได้มาก็ต้องส่งให้พ่อแม่” จอยบอก

ชุมชนคนพม่า ใน จ.สมุทรสาคร  

ผลสำรวจจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า แรงงานข้ามชาติ LGBTQ จำนวนมากเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงข้ามเพศมีแนวโน้มค่อนข้างมากที่จะเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลที่ว่าสภาพการทำงานที่ไม่ดีและการถูกคุกคามเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ นอกจากนี้พวกเขาอาจต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายจากนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในพื้นที่ปิด เช่น งานดูแลในบ้านหรือกิจการขนาดเล็ก ซึ่งมักได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินไม่มาก แต่นายจ้างให้ที่พักอาศัยในบ้าน เป็นต้น

'สบายใจ' เมื่ออยู่ในร้านเสริมสวย

“สมัยทำงานโรงงานก็มีโดนแกล้งบ้าง จับนม จับก้น เหมือนมาจับดูว่าคนนี้มีนมไหม แต่ดีกว่าที่เมียนมาเยอะ การเป็นกะเทยในประเทศเมียนมาเป็นอะไรที่สังคมไม่ยอมรับเลย” แนนบอก

เรื่องเล่าของจอยนั้นสอดคล้องกับแนน แต่ต่างกันที่แนนทำงานเป็นช่างเสริมสวยอย่างเต็มเวลาในร้านทำผมแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากบริเวณที่จอยอยู่มากนัก

แนน (นามสมมติ) แรงงานชาวทวาย ทำอาชีพช่างเสริมสวย ใน จ.สมุทรสาคร

“ตัดผม แต่งหน้า ได้เงินเยอะกว่า งานข้างนอกอิสระมากกว่าที่โรงงาน” แนนบอก

แนนเล่าว่า ในตอนแรกตนมาทำงานในโรงงานเฉกเช่นแรงงานจากเมียนมาคนอื่นๆ แต่ได้รับค่าแรงน้อย บวกกับเผชิญกับการกลั่นแกล้งด้วยเหตุเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ เมื่อรู้สึกไม่อยากทำงานโรงงาน แนนจึงฝึกแต่งหน้าและทำผมจนสามารถลาออกจากการโรงงานเพื่อทำงานเป็นช่างเสริมสวยได้เต็มตัว ข้อดีคือได้เงินเยอะกว่า และสภาพแวดล้อมในร้านเสริมสวยที่มีแต่ผู้หญิงด้วยกันก็สบายใจกว่า

“พ่อแม่ไม่ยอมรับที่เราเป็นแบบนี้ แต่พอเราทำงานได้ ส่งเงินให้ที่บ้าน พ่อแม่ก็โอเคขึ้น” แนนบอก พร้อมกับเล่าว่าตนไม่ได้คิดฝันตั้งแต่แรกว่าจะย้ายมาเมืองไทย แต่อยู่บ้านแล้วไม่มีงานทำ ซ้ำยังเป็นตัวเองได้ไม่เต็มที่ จึงย้ายตามญาติมาอยู่เมืองไทย  

แนนบอกว่า ตนเรียนจบแค่ชั้น ม.2 เพราะไปเรียนแล้วไม่สนุก เพราะเป็นหญิงข้ามเพศแล้วสังคมไม่ยอมรับ ที่เมียนมามีชุดนักเรียนก็ต้องใส่ชุดผู้ชาย

“พอพ่อตายเราก็ได้อิสระมากขึ้น เพิ่งทำนมเมื่อปีที่แล้วที่เมืองไทย ถ้าพ่อไม่ตายคงไม่ได้ทำนม” แนนหัวเราะ

อยู่เมืองไทย เป็นตัวเองได้

แต่ยังหวาดกลัว

“แต่ก่อนอยู่โรงงานบัวลอยมีแต่ผู้ชาย อยู่นานๆ แล้วเราก็ไม่อยากอยู่ไง คิดในใจว่าเราจะปลอดภัยหรือเปล่า” เล็กบอก

เล็กเป็นชาวกะเหรี่ยง อายุ 42 ปี ทำงานที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง ใน จ.นครปฐม เล่าว่า ตนมาจากเมืองพะอัน (Hpa-An) เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง เติบโตและเรียนหนังสือที่เมียนมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่พ่อแม่เป็นคนกะเหรี่ยงที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม พวกเขาอาย ไม่อยากให้ลูกเป็นชายข้ามเพศ เล็กย้ายมาทำงานที่ไทยตั้งแต่ปี 2538 จึงพูดภาษาไทยได้คล่อง เราคุยกันด้วยภาษาไทย

“พี่ใจเป็นผู้ชายตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พ่อแม่อยากให้เป็นผู้หญิงมากกว่า” เล็กบอก

(เรียงจากซ้าย) คนรักของเล็ก และ เล็ก

เมื่ออายุ 13 ปี ได้ยินคนพูดกันว่า ที่แม่สอด มีงานทำ ตนจึงบอกพ่อกับแม่ว่าไม่อยากเรียนหนังสือ อยากทำงานเลี้ยงตัวเอง แต่ที่บ้านเห็นว่าตนอายุน้อยและ “ใจเป็นผู้ชาย” จึงไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงตัวเองได้จริงไหม พ่อแม่จึงไม่สนับสนุน และให้เรียนหนังสืออย่างเดียว

“เดินทางมาเอง ไม่ได้พูดกับพ่อแม่เลยนะ หนีออกมาจากที่บ้านเลย” เล็กบอกพร้อมเล่าว่าเคยทำงานมาหลายอย่าง อาทิ ทำจี้ห้อยคอ ทำความสะอาดบ้าน อยู่โรงงานทำบัวลอย จนมาลงเอยที่โรงงานเย็บผ้าในปัจจุบัน - เล็กบอกว่าสบายใจกับงานที่นี่มากที่สุด ต่างจากที่โรงงานก่อนหน้านี้

จากนั้นเล่าว่า ตนเคยมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ค่อยดีนัก สมัยทำงานในโรงงานบัวลอย ที่แม้เนื้องานจะไม่หนัก แต่ก็ได้ค่าตอบแทนน้อยนิดจนไม่มีเหลือเก็บ ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ทำให้ ‘รู้สึก’ ไม่ปลอดภัย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เล็กเลือกที่จะเปลี่ยนงาน 

โรงงานดังกล่าวเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กที่นายจ้างให้พนักงานพักอาศัยในนั้นเลย และความที่พนักงานเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย จึงมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว เวลาที่ต้องอาบน้ำ เขาอาบเสร็จ ตนก็ต้องไปอาบต่อ ทำให้มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ในใจ

“แม้ว่าเป็นทอมก็จริง แต่ร่างกายเป็นผู้หญิง ก็ต้องระวังไว้ อยู่แบบนี้นานๆ ไม่รู้เราจะปลอดภัยหรือเปล่า” เล็กบอก

เล็กเล่าให้ฟังว่า มีบ้างที่ตนพบเจอการคุกคามทางวาจาในที่ทำงาน ซึ่งเป็นการพูดล้อเล่นโดยเพื่อนร่วมงานผู้ชาย 

“พี่เป็นทอมใช่ไหม คนอื่นก็จะรู้ว่าถ้ามาเรียก 'พี่สาวจ๋า' แบบนี้ พี่ไม่ชอบ เขาก็จะไม่เรียก เขาก็จะเรียกว่าพี่ชาย”

“บางคนเขาดูตัวเรา เขาก็รู้แล้วว่าต้องเรียกเราแบบไหน แต่บางคนมันไม่รู้ ไม่ใช่ไม่รู้หรอก แกล้ง” เล็กบอก

เมื่อผู้เขียนถามว่า การถูกล้อเลียนในที่ทำงานแบบนี้ส่งผลให้อยากเปลี่ยนงานไหม เล็กตอบว่า ถ้าตนยังทำงานได้ดี นายจ้างไม่ได้มีปัญหาก็ไม่ได้ส่งผลอะไร

“แต่ถ้าตัวเราไม่อยากได้ยิน ไม่อยากฟัง ก็อาจจะย้ายออกไป” เล็กบอก

เล็กเล่าต่อถึงเรื่องการเปิดรับสมัครงานว่า นายจ้างไม่ได้เลือกหรอกว่าจะเอาแค่ผู้ชายตรงเพศ-ผู้หญิงตรงเพศ ไม่เอา LGBTQ เพราะนายจ้างก็จะดูแค่ว่าเราทำงานให้เขาได้หรือเปล่า แต่ในทางปฏิบัติแล้ว อย่างตนและเพื่อนที่เป็นชายข้ามเพศก็ไม่ต้องการไปทำงานในไซต์ก่อสร้าง ที่เต็มไปด้วยแรงงานผู้ชายและมีสภาพแวดล้อมการพักอาศัยที่ไม่ปลอดภัยนัก จึงทำให้ทางเลือกในการเลือกงานของแรงงานข้ามชาติ LGBTQ จำกัดกว่าไปโดยปริยาย

“แต่ถ้าไม่มีงานจริงๆ ยังไงเราต้องทำ เราต้องกิน เราต้องใช้ ถ้าเราไม่ทำงานเราไม่มีเงินใช้” 

เล็กบอกว่า ตนเคยคิดอยากรวมกลุ่มแรงงานจากเมียนมาที่เป็นชายข้ามเพศ เผื่อมีอะไรจะได้ช่วยเหลือกัน แต่ก็ต้องพับแผนไป เหตุผลอาจเพราะแรงงานจากเมียนมาคนอื่นๆ อยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัวเองมากนัก ขนาดตนอยู่ไทยมานานกว่า 20 ปี ยังรู้สึกหวาดกลัวเวลาต้องเดินทางไปข้างนอก

ผู้เขียนถามว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น เล็กตอบว่า ไม่รู้ เป็นความกลัวที่อยู่ในใจ

ภาพวันแต่งงานของเล็กกับคนรักแขวนอยู่ในบ้าน โดยงานแต่งงานจัดขึ้นในเมืองไทย

เพราะการรักเพศเดียวกันในเมียนมายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ช่องว่างทางนโยบายที่ยังรอการเติมเต็ม 

“แค่การรวมตัวอยู่ในที่สาธารณะในเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นคนข้ามเพศ โดยเฉพาะชายข้ามเพศ หญิงข้ามเพศ ด้วยความที่เพศสภาพเขาเด่นมาก ด้วยลักษณะที่ non-conformative (ไม่เป็นไปตามระเบียบของสังคม:ผู้เขียน) ทำให้เขามีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศได้” จเร กล่าว

ผศ.ดร.จเร สิงหโกวินทร์ อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ LGBTQ ได้ให้มุมมองเชิงวิเคราะห์กับผู้สื่อข่าวในประเด็นนี้ว่า การออกนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ LGBTQ นั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมาก เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ แรงงานก็ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยพอที่จะแสดงตนว่าเป็นเพศใด ทำให้นักวิจัยเก็บข้อมูลได้ยาก การออกแบบนโยบายจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากตามไปด้วย 

ผศ.ดร.จเร สิงหโกวินทร์ จากคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

“ถ้าเขาอยู่ในกลุ่มของเขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่เปิดเผยมาก โดยวัฒนธรรมของเมียนมาเอง การเป็นคนรักเพศเดียวในประเทศเมียนมาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” จเร กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ LGBTQ ตั้งข้อสังเกตว่า บริบททางวัฒนธรรมเมียนมามีความคล้ายกับเมืองไทยในแง่ที่ว่าเป็นเมืองพุทธ มีความเชื่อซึ่งเป็นมายาคติอยู่อันหนึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เชื่อกันว่าการเกิดเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน เป็นกรรมจากการเคยเป็นชู้กับภรรยาคนอื่นในชาติที่แล้ว รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ ก็มักจะมีความเชื่อแบบอนุรักษนิยมแฝงอยู่ในวิถีชีวิต

แต่ความแตกต่างก็คือเมืองไทยไม่มีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกัน บวกกับในสื่อไทยก็มีภาพของ LGBTQ ปรากฏค่อนข้างมาก เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทย ที่แม้บางคนจะไม่ถึงกับยอมรับ LGBTQ เสียทีเดียว แต่ก็มีความคุ้นเคยกับ LGBTQ มากกว่า หากเทียบกับเมียนมา

“บ้านเรายังมีความทันสมัยพอสมควร ค่อนข้างเปิดกว้างมาเป็นระยะเวลานาน คนที่เป็น LGBTQ บ้านเรามีบทบาทในสื่อ แม้จะไม่ได้มีทุกวงการ แต่ในพม่าคือไม่มีเลย” จเร กล่าว

ด้าน ภัทร์นฤน วงศ์กาศ หนึ่งในทีมนักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มุมมองเกี่ยวกับอำนาจทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้แรงงานข้ามชาติมีเสรีภาพทางเพศเพิ่มขึ้น จากแต่เดิมที่ต้องพึ่งพาเงินครอบครัวในประเทศต้นทาง - ที่ซึ่งไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของพวกเขา

"หลายบ้านพ่อแม่ไม่ยอมรับแต่แรก แต่พอมาทำงานแล้วส่งเงินกลับไปได้ กล่าวคือมีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พ่อแม่ก็ไม่พูดเรื่องอยากให้แต่งงานหรือเลิกเป็นแล้ว" ภัทร์นฤน กล่าว

ภัทร์นฤน วงศ์กาศ นักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติที่มีความหลากหลายทางเพศ

"ในการทำงานบางประเภท อย่างเช่น กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ เขาเจอคนที่มีอัตลักษณ์คล้ายกันหรือเป็นรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง เขาก็รู้สึกดีต่อใจ มีเพื่อนสนับสนุน มีคนเสมือนครอบครัวในขณะที่อยู่ที่นี่ มีเครือข่ายช่วยเหลือกันเพราะยังมีช่องว่างในการเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งการเข้าถึงข้อมูล ภาษาและความเข้าใจ เป็นต้น" ภัทร์นฤน กล่าว

นักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติที่มีความหลากหลายทางเพศ เล่าว่า แรงงานข้ามชาติ LGBTQ กลุ่มที่ตนได้พบและสัมภาษณ์บอกว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ เลยต้องระวังตัว ปกปิดตัวเองหรือไม่สุงสิงกับคนอื่น เพื่อนและวงซัพพอร์ตจึงน้อยลงตามไปด้วย โดยกลุ่มที่ทีมวิจัยของตนสัมภาษณ์จะเป็นชาวไทยใหญ่ที่ส่วนใหญ่อยู่เชียงใหม่ และแรงงานจากเมียนมาที่อยู่ในสมุทรสาคร ส่วนน้อยจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา และลาว เนื่องจากข้อจำกัดในการเชื่อมต่อกับพวกเขาในตอนที่ทำวิจัย

“ขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของคนๆ นั้นด้วย ถ้าแสดงออกชัดเจนหรือคนอื่นทราบก็จะถูกแซว ซุบซิบนินทาโดยเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะจากคนจากชุมชนหรือประเทศเดียวกัน กับคนไทยจะเจอน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับประเภทของงานด้วย” ภัทร์นฤน กล่าว

สำหรับมุมมองของ ทีปา ภารตี (Deepa Bharathi) นักวิจัยด้านแรงงานในแง่มุมความเท่าเทียมทางเพศ ตำแหน่ง Chief Technical Adviser จาก Safe and Fair programme ประจำสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ให้มุมมองสอดคล้องกับภัทร์นฤนในประเด็นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า แรงจูงใจดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับแรงงานข้ามชาติ LGBTQ อย่างโดดเด่นชัดเจนกว่าปัจจัยข้ออื่นๆ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการถูกเลือกปฏิบัติจากครอบครัวมาตั้งแต่ต้นทางจึงยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตนเองมากกว่าคนอื่น หากเราดูผลการวิจัยจะพบว่า แรงงานข้ามชาติ LGBTQ ที่ตอบแบบสอบถาม 72% ตอบว่ามีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการย้ายเข้ามาหางานทำและการเลือกประเทศปลายก็พิจารณาถึงโอกาสที่ตนเองจะได้รายได้มากที่สุด โดยรวมแล้ว เรื่องลักษณะของงานที่แรงงานข้ามชาติ LGBTQ จะเลือกทำกับประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีสหสัมพันธ์กันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง สำหรับแรงงานที่เป็นคนข้ามเพศและเพศหลากหลาย บ้างก็ทำงานในสถานบันเทิง ในขณะที่บางคนก็ทำงานในภาคส่วนอื่นๆ

 

Deepa Bharathi, Chief Technical Adviser, International Labour Organization

ทีปา ภารตี กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ LGBTQ ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ บอกกับทีมนักวิจัยว่า พวกเขาสามารถหาเงินเลี้ยงตัวเองได้อย่างเพียงพอในประเทศปลายทาง ทั้งยังเหลือเก็บออม และส่งให้ครอบครัวในประเทศต้นทางได้ การมีเงินเก็บทำให้แรงงานบางคนลงทุนทำธุรกิจในประเทศต้นทางหรือซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 

สำหรับระดับความรุนแรงในที่ทำงานและการถูกล่วงละเมิด กลุ่มที่มักเผชิญความรุนแรงสูง ได้แก่ แรงงานข้ามชาติ LGBTQ ที่มีอัตลักษณ์แสดงออกอย่างชัดเจน ผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิง ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปิด อาทิ งานดูแลบ้านหรืองานบนเรือประมง และผู้ที่จำเป็นต้องพักอาศัยร่วมกับแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ 

งานเขียนชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทักษะด้านสื่อที่จัดโดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์

เนื้อหาทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนและผู้เผยแพร่แต่เพียงผู้เดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net