Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ให้กำลังใจกลุ่มงานหัตถกรรม โดยสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มงานหัตถกรรม โดยสมาคมคนเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จังหวัดนครพนม ซึ่งมีนางสาวปฐมพร ปานลักษณ์พล ประธานกลุ่มฯ สมาชิกกลุ่ม รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนม ร่วมให้การต้อนรับ ณ กลุ่มงานหัตถกรรม โดยสมาคมคนเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญด้านความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้ดิฉันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มงานหัตถกรรม โดยสมาคมคนเพื่อคนพิการทางสติปัญญา จ.นครพนม ซี่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยใช้ชื่อว่า ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัวคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 เพื่อให้คนพิการสามารถทำงานในที่สาธารณประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการประกอบอาชีพงานด้านหัตถกรรม เช่น การทำดอกไม้ดินไทย การทำพรมเช็ดเท้า การรีดใบตองกาละแม เป็นต้น ซึ่งได้จดทะเบียนให้เป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน โดยสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ได้ทาง เฟสบุค “สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม”

นางเธียรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือคนพิการอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขอรับการสนับสนุนด้านกายอุปกรณ์ เช่น รถวิลแชร์ เตียงผู้ป่วย เก้าอี้ส้วม การขอรับทุนประกอบอาชีพจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ จำนวน 130 ครอบครัว ขอทุนในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ หลังละไม่เกิน 75,000 บาท จำนวน 32 ครอบครัว และเงินทุนสงเคราะห์รายละ 3,000 – 5,000 บาท จำนวน 32 ครอบครัว จากสภาสังคมสงเคราะห์ การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม เรื่อง เกษตรอินทรีย์ และสื่อกระตุ้นพัฒนาเด็กพิการทางสติปัญญา อีกทั้งยังเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายประกันสังคมจังหวัดนครพนม และทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนมอีกด้วย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 16/12/2565

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ เรียกร้องภาครัฐ แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

นาย อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ (MWG) จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day 2022) ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ในงานมีการเสวนา “ เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเสวนา พร้อมกันนี้ นายแม็กซิมิลเลียน พอตเลอร์ หัวหน้าแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและการบูรณาการทางสังคมองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดกว้าง (การจ้างงานที่เป็นธรรม) เชื่อมโยง (การจัดหางานอย่างมีจริยธรรม) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

นายอดิศร กล่าวว่า “จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หลุดจากระบบการจ้างงานอย่างถูกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ยังไม่เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานพม่า ที่มีปัญหาทางการเมืองภายใน ไม่เอื้อต่อการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน หากเทียบก่อนและหลังการระบาดของโควิด เฉพาะช่วงเดือนต.ค.2565 พบแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึงประมาณ 160,000 คน จากแรงงานข้ามชาติ ที่ขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีมากถึง 1,876,945 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 2,438,794 คน”

“เห็นได้จากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาล มีนโยบายเปิดจดทะเบียน และดึงแรงงานข้ามชาติที่หลุดเข้าระบบถึง 4 ครั้ง และมีมาตรการในการขยายเวลาการดำเนิน การของแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ ออกไปอีกมากกว่า 10 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่าระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติล้มเหลว ล่าช้าเปิดช่องแสวงหาประโยชน์”

“ถ้าหากจะประเมินการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพโยกย้ายของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านพบว่าการดำเนินการของรัฐบาลไทยนั้น ถอยหลังและสอบตกและนำไปสู่ 4 ปัญหาสำคัญ คือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายหลุดระบบ ,พบแรงงานอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ,รัฐบาลยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้า,ขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ,และมาตรการการจัดการยังส่งผลให้การคอรัปชั่น และเอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาประโยชน์ ของระบบนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ”

“ทั้งนี้ข้อเสนอสำคัญสำหรับการ บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพของรัฐบาลไทย ต้องการให้มีการทบทวนแนวทาง และระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียน และขอต่อใบอนุญาตทำงานออกไปตามเงื่อนไขข้อจำกัด จัดระบบการดำเนินการที่ง่าย เอื้อต่อการดำเนินการของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติเข้าอยู่ระบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันการหลุดจากระบบของแรงงานข้ามชาติ เช่น มีมาตราการผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานนำเข้า MoU

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพม่า ที่ครบวาระการจ้างงานตามกฎหมาย ยังสามารถทำงานในประเทศไทย ได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ จะเอื้อต่อการดำเนินมากขึ้น เร่งรัดการจัดระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำระบบรับเรื่องร้องเรียน ที่มีประสิทธิภาพและลงโทษอย่างจริงจังต่อเจ้าหน้าที่ ที่แสวงหาประโยชน์จากข้อจำกัดของนโยบาย และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การจัดการผู้อพยพ เพื่อการบริหารจัดการระยะยาว”

ขณะที่ นายแฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า “สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ภาครัฐดำเนินการล่าช้า โดยล่าสุดมติครม. 5 ก.ค.เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง แต่การดำเนินการที่ล่าช้าทำให้แรงงานถูกจับกุมดำเนินคดี เมื่อนำแรงงานไปข้อขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเอกสารติดตัวเป็นสำเนาใบขอขึ้นทะเบียน สำเนาใบเสร็จ เป็นต้น แต่เอกสารเหล่านี้ใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้”

“เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่รับฟัง หรือไม่มีความเข้าใจ ในเรื่องเอกสารหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ไม่รู้ว่าเอกสารแต่ละประเภทคืออะไร ต้องดูอย่างไร จะขอดูเพียงพาสปอร์ตตัวจริงเท่านั้น เมื่อไม่มีพาสปอร์ตมาแสดง ก็ถูกจับเข้าไปนอนในคุก สุดท้ายต้องให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมายืนยันให้จึงถูกปล่อยตัวออกมา ถือว่าเป็นการติดคุกฟรี ดังนั้นหากจะให้จัดเรตติ้งให้กระทรวงแรงงาน ขอให้เรตติ้งทำงานตกขอบและยังช้าอยู่ ข้อเสนอแนะของเราคือ ภาครัฐควรปรับปรุงการทำงาน กระทรวงแรงงานกับตำรวจต้องทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้สื่อสาร และประสานงานกันให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น”

ด้าน ธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวว่า “นโยบายการขึ้นทะเบียนของกระทรวงแรงงานไม่ชัดเจน มีเรื่องการเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตนจึงพาคนงานไปยื่นหนังสือ ติดตามความคืบหน้าปัญหา การขึ้นทะเบียนและเรียกร้อง ให้กระทรวงแรงงานดูแลไม่ให้มีการเรียกรับเงิน แต่กลับถูกกระทรวงแรงงาน ไปแจ้งความกล่าวหาว่าตนเองให้ที่พัก ซ่อนเร้นคนต่างด้าวฯสุดท้าย ตำรวจอ้างว่าข้อหาดังกล่าว ไม่มีพยานหลักฐานจึงแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการที่ตนถูกภาครัฐฟ้อง ในหลังออกมาเรียกร้องในประเด็นสิทธิแรงงานนั้นมองว่าเป็นเพราะความไร้น้ำยา ในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ เป็นการรู้ไม่จริงแต่ทำเป็นเก่ง มันบ่งบอกว่าคุณพยายามมีมติ ครม.ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถทำให้จบได้ เนื่องจากกลไกไม่เป็นวัน สต็อป เซอร์วิส ไม่อำนวยความสะดวกในการให้แรงงานต่อเอกสาร หรือใบอนุญาตทำงาน จึงทำให้เป็นภาระของแรงงาน และสุดท้ายมันจึงเป็นช่องทาง ของการทำงานหากินของนายหน้า

ขณะที่ Thandar Myo อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กล่าวว่า “ในตอนช่วงสถานการณ์ตอนโควิดระบาด ตนเองได้ทำงานเป็น อสต.ของศุภนิมิต บางครั้งก็มีแรงงานข้ามชาติบางคนในชุมชนที่ลงไปทำงานไม่สบาย ก็มาขอความช่วยเหลือให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเขาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ คุยกับหมอกับพยาบาลไม่รู้เรื่อง เมื่อลงไปช่วยก็สังเกตุเห็นว่า ที่โรงพยาบาลไม่มีล่ามเลย จึงคิดว่าหากโรงพยาบาลมี อสต.มาช่วยในการสื่อสาร ก็จะลดอุปสรรคปัญหาไปได้เยอะ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่เหนื่อยมาก นอกจากนี้ตนยังยังมีข้อเสนอ ในเรื่องสถานะของ อสต.เองก็ยังไม่ได้รับการยอมรับ จึงอยากให้มีการอบรมที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานรัฐ และมีใบรับรองให้ เพื่อจะสามารถใช้อ้างอิงและสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่แรงงานข้ามชาติในชุมชนได้ และอยากให้มีการสนับสนุนค่าตอบแทนให้กับ อสต. ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง ซึ่งทำงานเป็นทั้งล่ามและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ให้กับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงช่วยเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดในชุมชนแรงงานฯ อยากขอให้หน่วยงานรัฐของไทย ช่วยผลักดันให้เป็นจริงในอนาคตได้หรือไม่”

ที่มา: The Reporter, 15/12/2565

‘จ๊อบส์ดีบี’ เผยสายงานเลิกจ้างช่วงโควิด กลับมารับคนแล้ว แต่เป็นชั่วคราว

งานคือเงิน และเงินบันดาลสุข แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจได้รับผลกระทบจากการค้าขายสินค้าไม่ได้ หรือยอดขายลดลง แต่มี “ต้นทุนคงที่” โดยเฉพาะการจ้างงานต้องแบกรับ เมื่อไม่ไหว หรือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การลดคน เลิกจ้าง จึงเกิดขึ้นในวงกว้าง

ทว่า ล่าสุด สถานการณ์ “จ้างงาน” เริ่มกลับมาคึกคักแล้ว “จ๊อบส์ดีบี”(JobsDB) แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของประเทศไทยภายใต้การบริหารของกลุ่ม SEEK ทำการสำรวจ “แนวโน้มสถานการณ์การจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566” กับบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในประเทศไทยจำนวน 429 บริษัท โดยสัดส่วน 48% เป็นองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 160 คน พบข้อมูลน่าสนใจหลายประการ ดังนี้

1.สายงานที่เผชิญการเลิกจ้างช่วงโควิด กำลังกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง และเป็นการจ้างแบบ “เต็มเวลา” เช่น สายงานบัญชี การบริหารผลิตภัณฑ์ ธุรการและทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริการลูกค้า

2.งานที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า เป็นสายงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเทคโนโลยีการทำงานระยะไกล หรือผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ และมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในสายงานนี้จะได้รับการว่า “จ้างแบบพนักงานชั่วคราว”

3.บริษัทส่วนใหญ่ที่ร่วมทำแบบสำรวจจะจ้างงานพนักงานแบบเต็มเวลา ส่วนช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มี 1 ใน 5 บริษัทที่ “เลิกจ้างพนักงาน” อย่างน้อยหนึ่งคน

4.บริษัทขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะจ้างงานพนักงานประจำแบบเต็มเวลาเพิ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะสายงานการขาย การพัฒนาธุรกิจที่ 21% การบริหารผลิตภัณฑ์ 18% และไอที 17%

นอกจากนี้ แนวโน้มยังพบว่ามีบริษัทอย่างน้อย 3 ใน 5 บริษัท “วางแผนเพิ่มแรงงาน” แต่เป็นรูปแบบของการ “คงจำนวนพนักงานชั่วคราวและปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงาน” ของพนักงานเหล่านี้แทน สะท้อนสัญญาณว่าบริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ายอดขายและความต้องการสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น

แต่อีกด้านทำให้เห็นองค์กรมีความยืดหยุ่นในการจ้างงาน โดยไม่เน้นจ้างประจำ ซึ่งถือเป็นการรองรับบริบทธุรกิจที่เผชิญความไม่แน่นอน(FYI)

อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณจากบริษัทราว 4% ที่วางแผน “ลด” จำนวนพนักงานชั่วคราว

5. สายงาน 3 อันดับสูงสุด เป็นสายงานที่ถูกจ้างเป็นพนักงานชั่วคราว ได้แก่ สายงานการผลิต การบริการลูกค้า และฝ่ายธุรการและทรัพยากรบุคคล

ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพว่า สถานการณ์การจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เริ่มกลับมาคึกคักเหมือนก่อนช่วงเกิดโควิดระบาด โดยเฉพาะการจ้างงานพนักงานชั่วคราวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถยังคงสูง

ทั้งนี้ องค์กรที่จ๊อบส์ดีบี ทำแบบสำรวจมองปัจจัยที่จะดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานด้วย นอกจาก “เงินเดือน” ยังมีค่าตอบแทน สวัสดิการ วันหยุดพิเศษ เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณามากขึ้น ดังนั้นจึงพบ 8 ใน 10 บริษัท มีการให้โบนัสตามผลงาน โบนัสตามสัญญาหรือการันตี ทว่า การ “เลื่อนตำแหน่ง” ให้พนักงานยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดพนักงาน อีกด้านยังมีบริษัทที่มอบสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมค่าที่พักและเงินกู้ โดยอีก 12 เดือนข้างหน้า จะปรับเพิ่มขึ้น 2-3% ด้วย

“การจ้างงานในประเทศไทย กลับไปสู่สภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว ทำให้การแข่งขันเพื่อช่วงชิงคนที่มีความสามารถก็จะเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ในการดึงดูดและการรักษาบุคลากรไว้ให้ได้ รวมถึงการให้ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และโปรแกรมอื่น ๆ ที่จะเสริมสร้างประสบการณ์การทำงาน”

ส่วนแนวโน้มการทำงานในอนาคต คาดว่าจะเกิดการปรับตัว มีการนำระบบดิจิทัลมาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการด้านทรัพยากรบุคคล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/12/2565

DSI บุกค้นบริษัทลวงคนไทยนับพันค้ามนุษย์เก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2565 ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบริษัทของผู้ต้องหาหญิงชาวไทยและชายชาวต่างชาติ ที่ถูกตำรวจฟินแลนด์ จับกุมในข้อหาค้ามนุษย์ที่ฟินแลนด์

โดยขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญามายังทางการไทย ให้เข้าตรวจค้นบริษัทจัดหางานคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ ในพื้นที่กทม.แห่งหนึ่ง พบมีพฤติการณ์ชักชวนคนไทยนับพันคนเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์

"มีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายคนละ 50,000 บาท แต่เมื่อถึงฟินแลนด์จะถูกยึดหนังสือเดินทาง ถูกบังคับให้ตกเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงเกินจริง ต้องทำงานวันละ 14-18 ชม.เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ที่ไม่เป็นธรรม"

ร.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า กระทำดังกล่าวอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้อื่นทำงานโดยการนำภาระหนี้สินหรือยึดเอกสารหนังสือเดินทาง จนผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำยอมต้องทำงานเป็นการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์

ซึ่งต่อมาองค์การพัฒนาเอกชนชื่อริคุ ของฟินแลนด์ ได้รับแจ้งให้เข้าช่วยเหลือคนไทยจากแคมป์คนงาน จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจฟินแลนด์ ทั้งนี้ ปฏิบัติการตรวจค้นดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง DSI สำนักงานอัยการสูงสุด และทางการฟินแลนด์

"ผลการตรวจค้นพบเอกสารการจัดตั้งบริษัท ข้อมูลแรงงานไทย เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือ Berry Processing ที่ผู้ต้องหาใช้ในการโกงน้ำหนักผลไม้ป่า ทำให้แรงงานไทยเป็นจำนวนมากตกเป็นหนี้สินกับทางบริษัทฯ"

โดย DSI จะนำหลักฐานดังกล่าวส่งมอบให้กับทางการฟินแลนด์ ตามคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา สำหรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในไทย DSI จะได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ เพื่อเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ที่มา: Thai PBS, 14/12/2565

สศช.แถลงภาวะสังคมไตรมาส 3/2565 การจ้างงานฟื้นตัวหลังโควิด จับตา NPL ยังพุ่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2565 โดยมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องของสถานการณ์แรงงานไตรมาสสาม ปี 2565 การจ้างงานขยายตัวได้จากสาขานอกภาคเกษตรกรรม  แต่ภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวจากปัญหาอุทกภัย การว่างงานปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ  และชั่วโมงการทำงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงยังหดตัวจากผลของเงินเฟ้อ

โดยการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่ร้อยละ 4.3 หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นคือ สาขาค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 8.3 ตามลำดับ เป็นผลของการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ช่วงไตรมาสสาม ปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นมาก และสาขาการผลิตมีการจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 12.4 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.4 จากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้ทำงานล่วงเวลา มีจำนวน 6.8 ล้านคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ

ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน หดตัว ร้อยละ1.7 และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวมหดตัวถึงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.23 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.99 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ

1. การมีแนวทางบรรเทาภาระค่าครองชีพของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ จากค่าจ้างที่แท้จริงที่หดตัวลงจากผลกระทบของเงินเฟ้อในระดับสูง อย่างไรก็ตาม แรงงานในระบบจะได้รับการชดเชยจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น

2. การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน ซึ่งในไตรมาส 3 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยถึง 59 จังหวัด โดยจังหวัดดังกล่าว มีเกษตรกรรวมกันมากถึง 8.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเกษตรกรยากจนจำนวน 8.9 แสนคน ซึ่งอาจได้รับความเสียหายที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

3.การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบ การอบรมและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ผลสำรวจของสมาคมโรงแรมไทยเดือนกันยายน ปี 2565 พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมร้อยละ 77 ยังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2565 ขยายตัวชะลอลง ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ และติดตามผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาอุทกภัย และลูกหนี้เสีย ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น

หนี้สินครัวเรือนไตรมาสสอง ปี 2565 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากร้อยละ 3.7 ของไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่ปรับลดลงเป็นร้อยละ 88.2 จากไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการก่อหนี้ของครัวเรือนจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้ด้านคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงินโดยในไตรมาสสาม ปี 2565 สัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.62

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสอง ปี 2565 ยังพบว่า หนี้เสียขยายตัวในระดับสูง ในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของ COVID-19

อีกทั้ง ในระยะถัดไป มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้นสถานการณ์ข้างต้นนำมาซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 2) การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาอุทกภัย และการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/12/2565

ภูเก็ตขาดแรงงาน 1.7 หมื่น เตรียมแนวทาง จ้างผู้สูงอายุ-เคลื่อนย้ายแรงงาน

13 ธ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวภูเก็ตขาดแคลนแรงงานหนักหลังธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดว่า เรื่องนี้เป็นผลพวงจากการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้มีการเฉลิมฉลองที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยครบ 10 ล้านคน ตามเป้าหมายส่งเสริมตลาดต่างประเทศของปี 2565 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา

“การที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และช่วงปีใหม่เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้แล้ว อย่างไรก็ตามการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ตกว่า 17,000 อัตรา นั้น กรมการจัดหางานได้สำรวจความต้องการจากหอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต พบว่า มีความต้องการแรงงานในสถานประกอบการธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต จำนวน 405 แห่ง และมีตำแหน่งงานว่าง (กิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว) ทั้งสิ้น 8,772 อัตรา ซึ่งที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้เตรียมการรับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานแล้ว” รมว.แรงงาน กล่าว

โดยกระทรวงแรงงานวางแนวทางไว้ 3 ด้าน 1. สนับสนุนการทำงานแบบพาร์ทไทม์ในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา โดยประสานกับวิทยาลัยจังหวัดพังงา ในการนำนักเรียนเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อสร้างรายได้ให้แก่นักเรียนและนักศึกษา พร้อมกับช่วยให้สถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีแรงงานขับเคลื่อนกิจการในช่วงเทศกาลปีใหม่ และฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง 2. การจัดนัดพบแรงงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ณ ลานกิจกรรมพับบลิคเฮ้าส์ (หน้า KFC) ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต พร้อมประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างผ่านช่องทาง Facebook สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต และช่องทางไลน์ open chat และ 3. การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่งที่มีคนต้องการหางานทำจำนวนมาก แต่มีตำแหน่งงานว่างไม่เพียงพอที่จะรับเข้าทำงาน เพื่อประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่ากากระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการแก้ปัญหาตาม 3 แนวทางแล้ว โดยหลังจากนี้ยังเตรียมการประชาสัมพันธ์ กระตุ้นสถานประกอบการในการเพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุในพื้นที่ เพิ่มสวัสดิการด้านที่พัก เบี้ยขยัน เพื่อเป็นแรงจูงใจแรงงานนอกพื้นที่ให้กลับเข้ามาทำงานในจังหวัดภูเก็ต

“งานในจังหวัดภูเก็ตเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 354 บาท เป็นอัตราค่าจ้างสูงสุดในประเทศไทย (เท่ากับ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง) โดยผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการจัดหางานออนไลน์กับกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “ไทยมีงานทำ”

ซึ่งรวบรวมตำแหน่งงานจากจังหวัดภูเก็ตและทั่วประเทศไว้มากที่สุด คนหางานสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตนเอง โดยจับคู่ (matching) ตำแหน่งงานตามพื้นที่ และภูมิลำเนา รวมถึงจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่

นอกจากนี้ยังมีการให้บริการประกาศรับสมัครงานสำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ โดยการลงทะเบียนนายจ้าง เพื่อประกาศตำแหน่งงาน และคัดลอกรายชื่อผู้หางาน ซึ่งทั้งหมดนี้ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต โทร 0-7621-9660 ต่อ 11-12 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/12/2565

ตม.เชียงราย ช่วยเหยื่อสามีภรรยากลับไทย หลังถูกหลอกไปทำงานที่ท่าขี้เหล็กฝั่งเมียนมา

13 ธ.ค. 2565 พ.ต.อ.เขมชาติ วัฒนนภาเกษม ผกก.ตม.เชียงราย เปิดเผยว่า ตามที่ ตม.เชียงราย ได้รับแจ้งจากศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และ สภ.ตาพระยา ให้ช่วยเหลือ นส.สุภัชชา หรือ น้ำตาล หอมผล อายุ 31 ปี และ นายจิรวัฒน์ หอมผล (สามี) อายุ 35 ปี ถูกหลอกไปทำงานที่ท่าขี้เหล็กฝั่งเมียนมา ตั้งวันที่ 17 ก.ย.65 จึงสั่งการให้ พ.ต.ท.มนตรี อินเปรี้ยว สว.ตม.เชียงราย สืบสวนติดตามประสานเจ้าหน้าที่เมียนมาจนกระทั่งสามารถเข้าช่วยเหลือคนทั้ง 2 กลับเข้ามาทางสะพานข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 2 อ.แม่สาย ได้อย่างปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ พม.เชียงราย เข้าสอบสวนขยายผลถึงเครือข่ายขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ

ผู้เสียหายทั้ง 2 คน ถูกคนไทยเคยรู้จักกันสมัยทำงานที่บ่อนกัมพูชา แนะนำให้รู้จักคนชื่อ “ปุ้ย” ใช้ Facebook ชักชวนให้ไปทำงานที่ท่าขี้เหล็ก มีค่าตอบแทนดี โดยมีนายทุนจีนจองตั๋วเครื่องบินจัดรถรับส่งเข้าพักโรงแรมที่แม่สายและพาลักลอบข้ามแม่น้ำสาย ไปทำงานในอาคารชั้นเดียวเรียงต่อกัน 7 อาคาร มีกำแพงล้อม รอบสูง 5 เมตร ด้านบนขึงลวดหนาม 2 ชั้น มีทางเข้าออกประตูเดียว ทหารว้าเฝ้า 4 คน เป็นพื้นที่กลุ่มนายทุนจีน เช่าจากกองทัพรัฐว้า (United Wa State Army) แบ่งพื้นทำกิจการค้าประเวณี, ห้องหลอกให้รักชวนลงทุน ( Romance Scam ) ห้องหลอกเล่นพนันออนไลน์ ฯลฯ มีกลุ่มคนจีนทำหน้าที่ในการบริหารงาน เป็นพื้นที่ปลอดเจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาเข้าตรวจสอบ เมื่อผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานไม่ได้ตามเป้าที่ตกลงไว้ จะต้องเสียค่าที่พักค่าอาหารวันละ 200 หยวน หรือ1,000 บาท ให้ทำงานวันละ 15 ชั่วโมง นอนวันละ 4 ชั่วโมง ถูกกักตัวไม่ให้ออกข้างนอก หากไม่ตั้งใจทำงาน ทำผิดเงื่อนไข จะถูกซ้อมชกต่อย ตบตี คุมขังแบบจำกัดพื้นที่ เมื่อทนไม่ไหวต้องติดต่อญาติให้นำเงินไปไถ่ตัว

ที่มา: Police TV, 13/12/2022

รมว.สำนักนายกชี้ขึ้นค่าแรงต้องเป็นฉันทามติ คกก.ไตรภาคี ไม่ใช่ประกาศแล้ว 4-5 ปีค่อยหาวิธี

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์แรงงานตลอดระยะเวลา 8 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าพี่น้องแรงงานไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงวางเป้าหมายสร้างการเติบโตรายได้ของแรงงานอย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับและเน้นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แรงงานทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย แม้ในช่วงโควิด-19 ก็ยังเดินหน้ามาตรการรักษาการจ้างงาน เสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานเปิดช่องการจ้างงานใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น Smart Job Center

ขณะเดียวกัน ยังกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการ Upskill, Reskill และ New Skill เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้าง ส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ เช่น ไทยมีงานทำ และ Future Skill - New Career ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งของ กทม. หน่วยงานฝึกอาชีพของกระทรวงมหาดไทย การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถาบันยานยนต์และสถาบันพัฒนา ผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

รวมไปถึงให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และอุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value Added) แม้ว่าตลาดแรงงานจะถูกท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปชันและโควิด-19 แต่ก็ยังทำให้แรงงานไทยเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังสนับสนุนให้มีโครงการฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อพัฒนาแรงงานหรือพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และทักษะฝีมือสอดคล้องกับอุตสาหกรรม 6 กลุ่มเป้าหมาย คือ ดิจิทัล, ระบบอัตโนมัติ, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ชีวภาพ, ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ โดยมีผู้ได้รับการฝึกอบรม 5,671 คน โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม/บริการ มีผู้ได้รับการฝึกอบรม 28,304 คน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตภาพได้จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบ SME กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ 17,407 คน รวมถึงมีการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานของสถานประกอบการที่มีแรงงานต่ำกว่า 50 คนลงมา และบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอุปสงค์และอุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 17,359 แห่ง

อย่างไรก็ตาม นายธนกร ยังระบุด้วยว่า “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องคำนึงถึงภาพรวมที่ให้พี่น้องแรงงานมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่นายจ้างด้วย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา จึงเป็นฉันทามติร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้พี่น้องแรงงานเติบโตเคียงข้างไปกับเศรษฐกิจของประเทศได้ ไม่ใช่ประกาศว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้แบบไม่ปรึกษาหารือกับใคร แล้วค่อยไปหาวิธีเอาในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีแต่จะทำให้สังคมสับสนเปล่าๆ”

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 12/12/2565

นักวิชาการ ห่วงนโยบายขยับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ต้องขึ้นปีละ 12.7% หากเศรษฐกิจยังโตช้าอาจกลายเป็นจุดอันตรายเศรษฐกิจไทย

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์มองการขึ้นค่าแรงที่วันละ 600 บาท ในระยะ 4 ปี เป็นไปได้ยาก เพราะไม่ได้ขึ้นเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำเท่า แต่ค่าแรงอาจต้องถูกยกขึ้นทั้งแผง สะท้อนสกิลของแต่ละอาชีพ

อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรง อาจเป็นต้นทุนต่อผู้ประกอบการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เจอปัญหาสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 ดังนั้นอาจกระทบเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางจนลามถึงการจ้างงาน และอาจเห็นเอสเอ็มอีปิดกิจการมากขึ้นซึ่งยังไม่รวมผลกระทบต่อเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ดังนั้นการคาดหวังเห็นเงินเฟ้อระดับ 2.5%ในปีหน้า ที่ค่าแรงเริ่มขยับถือว่ายาก

“ทางเศรษฐศาสตร์มองการขึ้นไปสู่ 600 บาท ใน 4 ปี เป็นไปได้ยาก แต่ทางการเมืองก็ไม่แน่ ซึ่งผลกระทบจากขึ้นค่าแรง ด้านแรกกระทบเงินเฟ้อขึ้นแน่นอน และผลที่กระทบเพิ่ม คือ ภาระของเอสเอ็มอี ที่จะมีปัญหาการจ้างงานมากขึ้น และอาจเห็นเอสเอ็มอีล้มตายเพิ่ม ท้ายที่สุดจะวนกลับมาสู่ปัญหาการจ้างงาน และการขึ้นค่าแรงต้องมาควบคู่การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ”

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย น่าจะใช้หลักคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตที่สะท้อนค่าจ้างสำหรับแรงงานที่เพียงพอในการดูแลครอบครัว โดยดูแลคู่สมรสและบุตรอีก 1-2 คน ถือเป็นเป้าหมายในอุดมการณ์รัฐสวัสดิการที่ใส่ใจชีวิตแรงงานที่ดี

ทั้งนี้ ยหากดำเนินการตามกรอบ 4-5 ปี ต้องระวังโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับได้แค่ไหน เพราะปัจจุบันค่าแรงอยู่ที่ 323-354 บาท จะขึ้นไปที่ 600 บาท ต้องขึ้นปีละ 12.7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจากโควิด-19 จึงโตได้อย่างมากปีละ 3.7%

“รายได้ธุรกิจเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.7% ต่อปี แต่ค่าแรงเพิ่ม 12.7% ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมาก คำถาม คือ ธุรกิจรับสถานการณ์ได้แค่ไหน ถ้าธุรกิจขึ้นค่าแรงไหว ผลที่ตามมา คือ ธุรกิจผลักราคาให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าแพงมากขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ แต่หากธุรกิจขึ้นค่าแรงไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน หรือต้องยอมทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำลง ไม่ได้ 600 บาทเพื่อให้ได้งาน”

นอกจากนี้ หากมองแบบเป็นกลาง ธุรกิจที่ไหว คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่จ่ายค่าแรงสูงไดี รวมทั้งธุรกิจเศรษฐกิจโมเดิร์น เช่น ร้านอาหารแฟรนไชส์ส่วนนี้แรงงานน่าจะได้ประโยชน์ แต่ธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้มีจำนวนมาก เช่น เอสเอ็มอี ธุรกิจส่งออกที่เน้นแข่งขันค่าแรงจะล้มหายไป เพราะผลกระทบจากโควิดยังไม่หาย แต่มาเจอต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น

สำหรับข้อเสนอที่เป็นไปได้มากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก้าวกระโดด คือ ควรขึ้นค่าจ้างแรงงานกลุ่มเศรษฐกิจโมเดิร์น หรือรวมถึงบริการภาคท่องเที่ยว เช่น สปา คนขับรถ พนักงานโรงแรม ซึ่งควรได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยได้แบ่งผลตอบแทนจากผลกำไรของธุรกิจให้มากขึ้น โดยค่าแรงที่เพิ่มควรมาพร้อมทักษะ เช่น แรงงานในภาคบริการต้องพัฒนาทักษะ เช่น ทักษะ hospitality

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570  หากเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีต่อเนื่อง ช่วงนั้นจีพีดีขยายตัว 3-4% ฉะนั้นถ้ายกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว ถือเป็นจุดอันตรายและเป็นประเด็นที่หลายคนกังวลตอนนี้

ขณะเดียวกันการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการส่งสัญญาณที่จะทำให้ค่าจ้างแท้จริงเฉลี่ยโดยรวมขึ้นด้วย ซึ่งนายจ้างคงไม่ได้อยากให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น แม้ว่าปัจจุบันนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างแท้จริงที่อัตราขั้นต่ำก็ตาม โดยมีแรงงาน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะต่ำ เท่านั้นที่ยังได้รับค่าจ้างแท้จริงตามอัตราขั้นต่ำที่ระดับ 300 กว่าบาท   

ดังนั้น การขึ้้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องมาพร้อมกับ “ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้น” และ “ประสิทธิภาพแรงงานสูงขึ้น” เพื่อทำกำไรหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้นายจ้าง และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย เป็นมองเป็นโซลูชั่น win-win ทุกฝ่าย และเป็นไปได้มากกว่า ขณะที่การกำหนด "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม“ เพื่อให้ ”แรงงานสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยู่รอดได้” มี 2 ประเด็นต้องพิจารณาเพิ่ม คือ

1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นระดับ “ต่ำกว่า” อัตราค่าจ้างแท้จริง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรเป็นระดับที่ “สูงพอ” ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยต้องพร้อมกับยกระดับอัตราค่าจ้างที่แท้จริง ทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างแท้จริงมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะหากดูค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจนในวันนี้ที่ระดับ 300 กว่าบาท เมื่อหักปัจจัยเงินเฟ้อออกยังคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หมายถึงเป็นอัตราที่ไม่ได้ปรับขึ้นในรูปแบบของ “ค่าจ้างที่แท้จริง” เลย ทั้งนี้แนะนำว่าต้องส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น สนับสนุนลงทุนเทคโนโลยีช่วยแรงงานเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต และต้องกำหนดนโยบายสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมไม่ให้ธุรกิจใหญ่กำหนดหรือกดค่าจ้างได้

2.ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีระดับค่าครองชีพต่างกัน ต้องพิจารณาเช่นกัน เช่น หากเป็นแรงงานในเมืองหลวง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับ 300 กว่าบาท คงไม่ได้เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานอยู่รอดได้

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า  นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในรอบ 5 ปี และน่าจะมาจากการมองเฉพาะมุมเพิ่มค่าครองชีพทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น ลดความเลื่อมล้ำ แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ยังขึ้นกับ “เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ โดยหาก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง นายจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอาจปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราดังกล่าวได้

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนั้นจะเป็นภาระต้นทุนที่เกินธุรกิจรับได้  ซึ่งถ้าธุรกิจไม่เติบโต การจ้างงานจะลำบากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากจะอยู่ไม่ได้ เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ เอสเอ็มอี

นายเชาว์ กล่าวว่า การขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำได้ต้องกลับไปดูจุดที่ว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้พร้อมรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไหร่ โดยค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่งขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2565 อยู่ที่ 354 บาท  หากจะขึ้นหลังจากนี้ต้องประเมินโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ โครงสร้างแรงงาน สัดส่วนแรงงานแต่ละพื้นที่ การพัฒนาทักษะแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มนุษย์ค่าจ้างมี 18 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเอกชน 14 ล้านคน ภาครัฐ 8 ล้านคน โดยแรงงานไทย 1 คน ต้องเลี้ยงดูอย่างน้อย 3 คน และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับเป็นค่าแรงเลี้ยงคนเดียว ส่วนลักษณะการทำงานแรงงานไทยมีความมั่นคงทางอาชีพค่อนข้างต่ำ เราจะถูกปลดจากงานเมื่อใดก็ได้

“ต่อให้เพิ่มค่าแรงขึ้น 5% แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้น 65% ดังนั้น ค่าแรงขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อของคนในประเทศจึงน้อยลง และไม่สามารถทำให้จีดีพีของประเทศสูงขึ้นได้ เมื่อมองเรื่องค่าแรง ควรมอง 4 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ต้นทุนค่าครองชีพลูกจ้าง 2.ความสามารถที่นายจ้างจะจ่ายได้ 3.การเปรียบเทียบค่าจ้างของประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจคล้ายกัน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย 4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเศรษฐกิจมหาภาค

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรง 600 บาท คงไม่สามารถขึ้นได้ทันที และอาจต้องขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งนักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ในประเทศ ต้องคำนวณการเพิ่มกำลังซื้อจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเพิ่มกี่เปอร์เซอร์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องมีนโยบาย มีทุนที่จะช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้เขาลดต้นทุนแอบแฝงต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้

“หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้วนั้น การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทต่างชาติ ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย”

รวมทั้งการที่ต่างชาติมาตั้งฐานผลิตในประเทศไทย โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเพราะค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีส่วนประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทาง หรืออื่นๆ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงมีความจำเป็นสำหรับแรงงาน เศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้สิ่งจูงใจการลงทุนในไทยไม่ใช่ค่าจ้างรัฐบาลต้องหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการ

อย่างบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพิ่มศักยภาพที่ทำให้เขาพร้อมมาลงทุนที่ไทย จ้างงานคนไทยด้วยค่าแรงมาตรฐานสากล เหมือนประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ได้น้อยกว่าประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ทำไมพวกเขาถึงให้ค่าแรงสูงๆ เหมือนประเทศเหล่านั้นไม่ได้ อย่าเปรียบเทียบไทยกับประเทศด้อยพัฒนา

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ค่าแรงในปัจจุบันยอมรับว่าน้อยเกินไป เพราะค่าครองชีพปรับขึ้นมากกว่าค่าแรง ดังนั้น จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงงาน แต่จะขึ้นจำนวนเท่าใดต้องพิจารณารอบด้าน โดยต้องปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป หากขึ้นทันทีจะกระทบมาก

"และการขึ้นค่าแรงไม่ใช่เฉพาะนายจ้างลูกจ้าง แต่ต้องมองส่วนอื่น เช่น ค่าครองชีพขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ และการขึ้นค่าแรงควรเป็นแบบไตรภาคี รวมถึงรัฐบาลต้องทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว”

นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีแนวทางในการกำหนด หรือออกนโยบายที่มีผลการศึกษาละเอียดถึงขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ควรมีฐานข้อมูลแรงงาน ที่จะช่วยสะท้อนการจ้างงานอย่างละเอียด มีระบบการฝึกทักษะ อัพสกิล รีสกิลในทุกกลุ่มอาชีพ และต้องเป็นข้อมูลที่อยู่บนฐานข้อมูลจริง วางแผนการดำเนินงานใน 3-4 ปีข้างหน้า

“การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้าหากธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้มีลูกค้าจำนวนมาก การเพิ่มค่าแรงอาจทำให้ผู้ประกอบการลำบาก ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และช่วยหาลูกค้าให้ผู้ประกอบการร่วมด้วย”

ขณะเดียวกันต้องยกระดับทักษะแรงงานให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยการขึ้นค่าแรงแต่ไม่ยกระดับฝีมือยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน

ส่วนการกำหนดให้เงินเดือนเริ่มต้นของคนทำงานราชการที่จบ ป.ตรี เท่ากับ 25,000 บาท ต้องมีการปรับเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมดใหม่ทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่เข้าทำงานก่อน เพราะบางคนทำงานมา 5 ปี 10 ปี เงินเดือนเพิ่งจะแตะ 25,000 บาท ความวุ่นวายแบบนี้จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจเช่นกัน

“ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือน 25,000 บาท จะกระทบโครงสร้างค่าแรงของธุรกิจทั้งหมด ต้นทุนค่าแรง เงินเดือนที่ธุรกิจแบกรับ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจย่อมมีทางออกแต่อาจไม่ดีสำหรับคนทำงาน เช่น การจ้างผู้จบระดับ ปวช. หรือ ปวส.มาทำงานแล้วค่อยฝึกให้เก่งขึ้น การทำสัญญาจ้างรายปี การจ้างแบบ Outsource ซึ่งอาจทำให้ผู้จบใหม่หางานไม่ได้ถูกผลักออกสู่การจ้างงานนอกระบบที่มีความมั่นคงและรายได้ต่ำกว่าที่ควร”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/12/2565

เผยพลิกโฉมแรงงานสู่เกษตรกรอัจฉริยะรอบปี 2556 กว่า 32,300 คน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในงบประมาณปี 2566 กรมได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานภาคการเกษตร สู่เกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งเป้าหมายให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉรยะ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 32,300 คน

“รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดโครงการศูนย์เรียนรู้ โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะขึ้น โดยมีเป้าหมายในการทำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ ทั่วประเทศ รวม 95 โรงเรือน

และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานภาคการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ตั้งเป้าหมายให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉรยะ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 32,300 คน” นายประทีปกล่าว

สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นอีกจังหวัดนำร่องที่มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ จำนวน 15 แห่ง โดยระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 15 คน เพื่อให้มีความรู้และสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำวิธีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะได้อย่างถูกต้อง

การอบรมดังกล่าวในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้เช่นกัน และหลังจากนั้น จะขยายผลให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถสมัครเข้าอบรมโดยติดต่อได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วไประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

“ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งปัจจัยภายในโรงเรือนและภายนอก เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ความชื้นดิน ความเข้มของแสง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบให้น้ำ ระบบพ่นหมอก ระบบการกักเก็บหรือจัดน้ำและเทคโนโลยีอื่นๆ อีกหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพื้นในพื้นที่ของตนเองได้ จะช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น คุณภาพของพืชผักดีขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนและกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายประทีปกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/12/2565

ไรเดอร์โหมงานหนัก จนโรคหัวใจกำเริบ วูบดับขณะกำลังกลับบ้าน

11 ธ.ค. 2565 เมื่อเวลา 12.00 น. ร.ต.อ.วีระพงษ์ อะภัยวงค์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.บางพลี สมุทรปราการ ได้รับแจ้งพบผู้หมดสติ ริมถนนทางเข้าออกของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในซอยวัดศรีวารีน้อย ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จึงประสานเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เดินทางไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบนายทองหล่อ (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี สวมเสื้อพนักงานส่งอาหารแอปพลิเคชั่นดัง นอนหงายเสียชีวิตอยู่บนถนน ใกล้กันพบจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ สีแดง ล้มอยู่ ที่ท้ายรถพบกล่องสำหรับใส่ของ ตรวจสอบผู้เสียชีวิตไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย ตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด-19

สอบถามแม่ของผู้ตาย เล่าว่า เมื่อคืนประมาณเที่ยงคืน ตนเองโทรศัพท์หาลูกชาย ซึ่งยังวิ่งรับส่งอาหาร ยังไม่กลับเข้ามาบ้าน โดยปกติผู้ตายมักวิ่งรับส่งอาหารเข้าดึกตลอด เมื่อเช้าช่วงตี 5 ตนเองเห็นลูกนอนอยู่บนโซฟาที่บ้าน จากนั้นช่วงเวลา 7 โมงเช้า ได้ออกมาวิ่งรับส่งอาหารตามปกติ ก่อนจะมาพบว่าเสียชีวิตดังกล่าว

ด้าน นายนัธกร (สงวนนามสกุล) อายุ 16 ปี ลูกชายของผู้ตาย เล่าว่าทั้งน้ำตาว่า พ่อมีอาชีพไรเดอร์รับส่งอาหาร มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ตนเองได้คุยกับพ่อครั้งสุดท้ายเมื่อวาน และเมื่อเช้าพ่อก็มาวิ่งไรเดอร์ตามปกติ พ่อกำลังขี่จักรยานยนต์เข้าบ้านแต่ก็มาวูบเสียชีวิต ทั้งที่จะถึงบ้านอยู่แล้ว ห่างไปแค่ 2 ซอยเท่านั้น

ผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า คนที่ขับรถตามหลังผู้เสียชีวิตมาเล่าให้ฟังว่า ผู้เสียชีวิตจอดรถจักรยานยนต์อยู่ริมทาง เนื่องจากคงไม่ไหว ก่อนจะล้มไปทั้งคนทั้งรถ ตนเองมาพบผู้เสียชีวิตก็อยู่ในสภาพตาค้าง ปัสสาวะราดแล้ว

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า ขณะผู้เสียชีวิตกำลังขี่รถจักรยานยนต์เข้าบ้าน โรคหัวใจกำเริบแล้วเกิดวูบล้มไปทั้งคนและรถ จากนั้นมอบร่างผู้เสียชีวิตให้มูลนิธินำส่งชันสูตรที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: Nation TV, 11/22/2565

ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทเครือ "ตู้ห่าว" ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานเกี่ยวกับคนขับรถบริษัท เอ็นจีแอล ทรานสปอร์ต จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทของนาย "ตู้ห่าว" จำนวนกว่า 500 คน ถูกโกงเงินชดเชย และไม่ยอมคืนเงินประกัน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน ว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า กลุ่มลูกจ้างประมาณ 30 คน ไปยื่นคำร้อง (คร.7) ต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 (เขตคลองสามวา สายไหม มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง หนองจอก) กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อกฎหมาย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการรับวินิจฉัยคำร้อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงจากลูกจ้างและจะเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ขณะที่นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้ไปยื่นคำร้อง (คร.7) สามารถไปยื่นคำร้อง คร.7 กรณีค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นๆ ต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานท้องที่ที่ลูกจ้างทำงาน หรือตามภูมิลำเนา หรือท้องที่ที่สะดวก หรือจะยื่นผ่านระบบคำร้องอิเล็กทรอนิกส์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่

www.labour.go.th ทั้งนี้ กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายตามสิทธิที่พึงได้รับ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/12/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net