Skip to main content
sharethis

ผู้ใช้สิทธิบัตรทองตอบรับ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” กว่า 1 เดือน มีผู้รับบริการแล้วกว่า 2.2 หมื่นราย - รพ.สต.แม่ตืน-รพ.ลี้ จ.ลำพูน จัดระบบการแพทย์ทางไกล ดูแลผู้ป่วย ลดอุปสรรคเดินทางในพื้นที่ห่างไกล 

https://live.staticflickr.com/65535/52463181997_fb04394d6b_o_d.jpg%C2%A0

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่านพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมเพิ่มการเข้าถึงบริการปฐมภูมิเพื่อเป็นการดูแลผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จัดระบบบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ในร้านยาที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. (ร้านยาคุณภาพของฉัน) ขณะนี้มีจำนวนกว่า 650 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากผลดำเนินการปรากฏว่าได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากในการเข้ารับบริการ โดยรายงานข้อมูลล่าสุดผ่านระบบแดชบอร์ด (Dashboard) มีผู้ป่วยมารับบริการ common illnesses ที่ร้านยาแล้วจำนวน 22,842 ราย  

สำหรับ 5 อันดับแรกของอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เข้ารับบริการ ได้แก่ อาการไข้ ไอ และเจ็บคอมีการเข้ารับบริการมากที่สุดจำนวน 12,177 ราย หรือร้อยละ 46 ของผู้มารับบริการ รองลงมามีอาการปวดข้อและเจ็บกล้ามเนื้อจำนวน 6,557 ราย ผื่นผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 3,513 ราย ปวดท้อง จำนวน 2,515 ราย ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา จำนวน 1,515 ราย        

เมื่อดูข้อมูลที่แยกตามการวินิจฉัยโรค พบว่าเป็นภาวะเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (โรคหวัดธรรมดา) มากที่สุดจำนวน 5,003 ราย ปวดกล้ามเนื้อ จำนวน 3,482 ราย เยื่อจมูกอักเสบจากการแพ้ จำนวน 2,195 ราย ไข้ (ไม่ระบุชนิด) จำนวน 1,529 ราย และเยื่อบุตาอักเสบ จำนวน 1,191 ราย   

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนร้านยาที่ร่วมให้บริการ common illnesses มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เภสัชกรพรประเสริฐ จังหวัดกระบี่ จำนวน 830 ราย ยาดีเภสัช จังหวัดหนองคาย จำนวน 555 ราย เทอดเกียรติเภสัช จังหวัดพะเยา จำนวน 437 ราย เภสัชกรสุพรรณ2 จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 431 ราย ร้านยาบ้านอิ๋ว จังหวัดนนทบุรี จำนวน 388 ราย 

“จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับบริการจากประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการ โดยสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ยังคงเดินหน้าระบบบริการต่อเนื่อง พร้อมติดตามประเมินผลระยะยาวต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า บริการ common illnesses โดยร้านยานี้เป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการนอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด และต้องเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น วิธีซักอาการ วิธีการดูแล และวิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรรับรองในการให้บริการดูแลโรคทั่วไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ทั้งนี้ บริการ common illnesses โดยร้านยาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าติดตามอาการและผลการดูแล          

แนะนำการบริการ common illnesses ที่ร้านยา มี 2 วิธี คือ 

1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่แนะนำร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อเข้ารับบริการ 

2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช.https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย  

หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา (นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดพร้อมกับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง) เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป 

รพ.สต.แม่ตืน-รพ.ลี้ จ.ลำพูน จัดระบบการแพทย์ทางไกล ดูแลผู้ป่วย ลดอุปสรรคเดินทางในพื้นที่ห่างไกล 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ตืน (รพ.สต.แม่ตืน) อ.ลี้ จ.ลำพูน และโรงพยาบาลลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการปฐมภูมิ (PCC) และบริการดูแลผู้ป่วยด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)  

นายรังสรรค์ วัชรกาวิน ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่ตืน เปิดเผยว่า สำหรับการจัดบริการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine สืบเนื่องมาจากเคยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation : HI) มาก่อนแล้ว จึงนำมาประยุกต์ใช้เพราะมองว่ายังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สะดวกเดินทางมาที่ รพ.สต. โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มโรคเรื้อรัง  

นอกจากนี้ รพ.สต.แม่ตืน ยังเป็นแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิใน ต.แม่ตืน มีลูกข่ายอีก 2 รพ.สต. ได้แก่ รพ.สต.แม่ป๊อก และ รพ.สต.บ้านปาง รวมประชากรทั้งเครือข่ายที่ต้องดูแลประมาณ 1 หมื่นคน ทำให้ รพ.สต.แม่ตืน ยกระดับเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ประจำ ทำให้เวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านจะมารับบริการที่นี่ก่อนเพราะมั่นใจว่ามีแพทย์ 

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมดูแลผ่านระบบ Telemedicine ของ รพ.สต.แม่ตืนประมาณ 5-6 ราย โดยจะเริ่มจัดบริการทุกวันพุธ มีการนัดคิวผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการ เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจแล้วแพทย์ก็จะออกใบสั่งยา หากผู้ป่วยอยู่ในบริเวณ รพ.สต.ลูกข่าย ก็จะมีการให้ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มารับยาและส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน แต่ถ้าพบแพทย์และแพทย์เห็นว่าต้องมีการตรวจเพิ่มเติมก็จะนัดผู้ป่วยให้เข้ามารับบริการที่ รพ.สต. ต่อไป  

“เริ่มต้นจากโรคเรื้อรังเป็นกลุ่มแรก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะขยายไปที่ผู้ป่วยติดเตียง เพราะมองว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงค่อนข้างลำบาก ถ้าเราใช้ระบบ Telemedicine เข้ามา น่าจะตอบโจทย์ในเรื่องของการเคลื่อนไหวของคนไข้ ตอนนี้เริ่มทดลองใช้มีผู้ป่วย 5-6 ราย แต่ก็เริ่มมีคนสนใจ เข้ามาสอบถามรายละเอียดมากขึ้น ตอนนี้เราก็อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและทำการบ้าน” นายรังสรรค์ ระบุ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จุดเด่นของ รพ.สต. แม่ตืนคือมีระบบให้บริการที่เข้าถึงผู้ป่วย เช่น การมีระบบดูแลทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งในอดีตอาจจะคิดว่าระบบดังกล่าวจะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่และอยู่ในเมืองที่เจริญ แต่ที่ รพ.สต.แม่ตืนอยู่ห่างไกลจาก อ.เมืองก็ได้พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีระบบที่ค่อนข้างดี มีการพิสูจน์ตัวตนผู้เข้ารับบริการ เมื่อมีการให้บริการก็จะมีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบที่รวมทั้งจังหวัด ทำให้แพทย์สามารถดูประวัติผู้ป่วยได้ในกรณีที่เคยรักษาที่อื่นมาก่อน และทำให้สามารถติดตามการรักษาได้  

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นตัวอย่างให้แก่ รพ.สต. ที่อื่นได้ ซึ่ง สปสช. ก็เห็นความสำคัญตรงนี้และก็ได้จัดระบบที่จะพัฒนาและเสริมให้สามารถทำกิจกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผ่านงบประมาณค่าใช้จ่าย  

นอกจากนี้ สปสช. พยายามจัดกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าหากมีการลงทุนในลักษณะดังกล่าว แล้วเกิดค่าใช้จ่าย สปสช.จะเป็นคนลงไปดูแล เพราะเชื่อว่าการทำระบบดังกล่าวขึ้นมาประชาชนที่ได้รับบริการจะได้รับประโยชน์  สำหรับงบประมาณนั้นอาจจะไม่ได้จัดเป็นงบประมาณปกติ แต่จะเป็นการเติมเข้าไป เช่น เมื่อมีการให้บริการ Telemedicine หรือลงไปดูแลผู้ป่วยที่ที่บ้าน สปสช.ก็จะมีการเสริมงบประมาณให้  

“วันนี้ก็ได้มีการมาชี้แจงให้กับโรงพยาบาลได้ทราบว่า สปสช. มีการจัดงบประมาณอย่างไร รวมไปถึงทราบปัญหาของโปรแกรมของ สปสช. ซึ่งก็จะต้องช่วยดูการเชื่อมโปรแกรมต่างๆ ให้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะโปรแกรมเบิกจ่าย ซึ่งหากมีการเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วก็เชื่อว่าจะทำให้งานต่างๆ มีความสำเร็จดีขึ้น และเมื่อที่อื่นเห็นว่าเป็นบทเรียนก็จะสามารถพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว  

วันเดียวกันนั้น คณะผู้บริหาร สปสช. ยังได้เดินทางลงไปเยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ และการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผ่านการติดตั้งระบบ Telemedicine ที่รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง (EMS Advanced) และรถส่งต่อผู้ป่วย 

นพ.เผ่าพงศ์ สุนทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลี้ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้สืบเนื่องจากการที่เคยได้ดูแลผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยระบบ HI ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่เมื่อภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นก็คิดว่าการใช้ระบบ Telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ เนื่องจากยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลได้อย่างสะดวก เพราะ อ.ลี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่และโรงพยาบาลค่อนข้างอยู่ห่างไกล 

อย่างไรก็ดี บริการดูแลประชาชนด้วยระบบ Telemedicine ของศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลี้ เริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยจัดกลุ่มโรคที่สามารถดูแลผ่านระบบทางไกล เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลคงที่ที่อาจจะต้องมีการติดตามอาการ ตรงนี้ก็จะมีการประสานกับ อสม. ลงไปเจาะเลือดผู้ป่วยที่บ้าน และติดต่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่โรงพยาบาลผ่านระบบ Telemedicine หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีค่าน้ำตาล หรือมีอาการผิดปกติก็จะมีการนัดมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจซ้ำต่อไป ซึ่งในอนาคตก็จะต่อยอดไปถึงผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงด้วย 

“ตอนนี้ให้บริการ Telemedicine ไปแล้ว 28 รายจาก 65 ราย ซึ่งคัดเลือกจากคนที่มีผลเลือดดี ค่าคงที่ ส่วนมากผู้ป่วยที่ดูแลผ่านระบบ Telemedicine จะใช้ความสมัครใจเป็นหลัก ซึ่งผลตอบรับผู้ป่วยพึงพอใจ เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อแพทย์ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมานั่งคอยที่โรงพยาบาล” นพ.เผ่าพงศ์ ระบุ  

นพ.เผ่าพงศ์ กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลลี้ยังได้นำระบบ Telemedicine มาติดตั้งและนำมาใช้ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รถพยาบาลกู้ชีพขั้นสูง หรือ รถ EMS Advanced จำนวน 1 คัน ที่ใช้รับส่งคนไข้ใน อ.ลี้ และรถส่งต่อผู้ป่วย 1 คัน ที่ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลลำพูน โดยจะติดตั้งกล้องไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่องไปที่ผู้ป่วย และอีกหนึ่งส่วนคือส่องไปที่บุคลากรทางแพทย์ที่ทำการรักษาในขณะนั้น ตรงนี้ก็จะทำให้แพทย์ในห้องฉุกเฉินเตรียมตัวได้ดีขึ้น และยังสามารถดูสัญญาณชีพ และสั่งการผ่านระบบได้ โดยในปี 2565 มีผู้รับบริการ EMS แล้วจำนวน 35 ราย และผู้ป่วยส่งต่อ จำนวน 44 ราย  

“เนื่องจาก อ.ลี้ เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 105 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางร่วม 1 ชั่วโมง ถ้ามีเคสที่เราจะต้องส่งต่ออาจจะมีภาวะฉุกเฉิน หรือแทรกซ้อนระหว่างการส่งต่อ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ฉะนั้นเมื่อเรามีระบบส่งต่อโดยมีระบบ Telemedicine เข้ามา แพทย์ที่โรงพยาบาลลำพูนที่รับส่งต่อ ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลลี้ และแพทย์ที่อยู่ในรถส่งต่อจะสามารถสื่อสารกันได้” นพ.เผ่าพงศ์ ระบุ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net