Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' เห็นด้วยสภาอุตสาหกรรมฯ หยุดการขึ้นค่าไฟฟ้า ชี้ความสามารถแข่งขันไทยจะลด เวียดนามหน่วย 2.88 บาท แนะ 4 แนวทางลดค่าไฟฟ้าในระยะสั้นและระยะยาว - 'แพทองธาร' จับเข่าคุยผู้ประกอบการท่องเที่ยว แบ่งปันวิสัยทัศน์ท่องเที่ยว 2570 ปั้นประเทศไทยจะเป็นแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

18 ธ.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขต บางรัก สาทร ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาไฟฟ้าสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยละ 4.72 บาท เป็น หน่วยละ 5.69 บาท สร้างความเดือดร้อนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมาก จนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องออกเรียกร้องขอให้หยุดการขึ้นค่าไฟฟ้าไว้ก่อน เพราะภาคธุรกิจคงแบกกันไม่ไหว เนื่องจากตอนต้นปียังอยู่ที่หน่วยละ 3.70 บาทเลย หรือขึ้นราคาถึง 53% ซึ่งหนักมาก อีกทั้ง ประเทศเวียดนามที่เป็นประเทศคู่แข่งของไทยคิดค่าไฟฟ้าเพียงหน่วยละ 2.88 บาทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันเกือบเท่าตัว นอกจากนี้การขึ้นค่าไฟฟ้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องขึ้นราคาสินค้าทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และประชาชนจะยิ่งเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว เหมือนซ้ำเติมความลำบาก

ดังนั้นหากรัฐบาลยังยืนยันจะขึ้นค่าไฟฟ้าในระดับนั้นจะทำให้การแข่งขันของไทยลดลง นักลงทุนต่างประเทศจะไม่มาลงทุนในประเทศไทย แต่จะหันไปลงทุนในประเทศเวียดนามหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว โดยล่าสุดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยหล่นลงมาถึง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ลงมาอันดับที่ 33 ซึ่งย่ำแย่อยู่แล้ว ทั้งนี้การที่ประเทศไทยต้องขึ้นราคาไฟฟ้าในระดับสูง เกิดจากการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงและต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการส่งมอบสัมปทานการขุดก๊าซในพื้นที่อ่าวไทย ปริมาณก๊าซจากเมียนมาร์ที่ลดลง อีกทั้งยังปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมสำหรับโรงงานไฟ้ฟ้าที่สร้างเกินความต้องการใช้เป็นจำนวนมากกว่า 50%
ดังนั้น จึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขราคาค่าไฟฟ้าดังนี้

1. อย่าเพิ่งขึ้นราคาไฟฟ้า ตรึงราคาค่าไฟฟ้าไปก่อน เพราะราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะลดจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า อีกทั้งหลังจากฤดูหนาว ความต้องการพลังงานจะลดลง ราคาพลังงานและราคาก๊าซธรรมชาติเหลวน่าจะลดลง

2. รัฐบาลต้องเข้าไปเจรจาหาข้อยุติในกรณีพิพาทเรื่องการส่งมอบสัมปทานในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อให้การนำก๊าซขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้าไม่หยุดชะงัก โดยราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซในอ่าวไทย และ จากก๊าซจากประเทศเมียนมาร์จะอยู่เพียงหน่วยละ 2-3 บาทเท่านั้น ในขณะที่เชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นที่ต้องนำเข้าจะแพงกว่านี้มาก

3. เจรจาลดค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเพราะมีกำลังผลิตเกินความต้องการมาก โดยปัจจุบัน รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อมถึงเดือนละ 8,000 ล้านบาท ปีละเป็นแสนล้านบาท ซึ่งสูงมากและต้องนำมารวมกับค่า FT ของราคาไฟฟ้า นอกจากนี้ยังจะมีโรงไฟฟ้าทึ่จะก่อสร้างเสร็จอีกหลายโรงซึ่งต้องจ่ายค่าความพร้อมนี้กันมากขึ้น

4. หยุดการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าทุกชนิด จนกว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการจะลดลง ทั้งนี้ในขณะที่การผลิตไฟฟ้ายังเกินความต้องการแต่รัฐบาลยังจะออกใบอนุญาติไฟฟ้าอีกกว่า 5,203 เมกกะวัตต์ แม้จะอ้างว่าเป็นไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็จะเพิ่มปริมาณไฟฟ้าที่ล้นเกินให้ล้นเกินมากขึ้น

5. เร่งเจรจาแหล่งพลังงาน ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลงและจะทำให้ลดราคาค่าไฟฟ้าได้ อีกทั้งรัฐบาลจะได้รายได้เป็นจำนวนมากในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ และ ผู้มีรายได้น้อย จากค่าภาคหลวง และ ภาษีจากธุรกิจต่อเนื่องในด้านต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก และ ยังช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก

ทั้ง 5 แนวทางนี้สามารถทำได้ทันที และจะทำให้ราคาพลังงานของประเทศไทยลดลง อีกทั้งไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงาน รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงผลกระทบของราคาพลังงานที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงาน ดังนั้นการดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่ต่ำสุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะลดราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และ ราคาก๊าซหุงต้มทันที เพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และจะเป็นการลดภาวะเงินเฟ้อเลยด้วย ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

'แพทองธาร' จับเข่าคุยผู้ประกอบการท่องเที่ยว แบ่งปันวิสัยทัศน์ท่องเที่ยว 2570 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 ที่พรรคเพื่อไทย โดยร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2570 โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีข้อความดังนี้

“ใครๆ ก็บอกว่าการท่องเที่ยวเป็น engine สำคัญที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่พอถึงวิกฤตโรคระบาคโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะซาลง รัฐบาลลดมาตรการควบคุมโรคระบาด นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาเที่ยวกันแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างก็ยังคงอยู่ อนาคตการท่องเที่ยวไทยจะไปทางไหนก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจน

คือเสียงสะท้อนจากวงแลกเปลี่ยนความคิดจากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ทำให้กลับมาคิดตกตะกอนอะไรได้หลายอย่างมากเลยค่ะ

พูดกันตามจริง ในฐานะผู้ประกอบการเหมือนกัน การท่องเที่ยวบ้านเรายังไม่ฟื้นค่ะ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตั้งแต่ก่อน โควิด-19 การท่องเที่ยวของบ้านเราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงมากพอ เมื่อเจอ worst case scenario จึงล้มลงและยากที่จะฟื้นฟูให้เป็นเหมือนเดิม

จะดีกว่าหรือเปล่านะ ถ้ารัฐบาลในสมัยหน้ามองการณ์ไกลหรือรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จนไม่ทำให้ engine ที่สำคัญของ GDP ไทยต้องตกหลุมตกบ่อ ชะงักงันขนาดนี้ และจากการพูดคุยในวงนี้ทำให้รู้เลยค่ะ การพาให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตมากกว่าก่อนโควิด-19 มี 4 เรื่องที่ต้องทำดังนี้ค่ะ

1) อ่านเทรนด์โลกให้ขาด แต่เดิม ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวไทยพึ่งตลาดจีนกว่า 60% แต่พอมีนโยบาย Zero-Covid ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวเมืองไทยได้ การท่องเที่ยวไทยก็ล้มลงทันที การท่องเที่ยวบ้านเราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้วค่ะ เราควรมองเทรนด์ผู้บริโภคให้ขาด ทุกวันนี้คนเราหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 ตัวเลขจาก Global Wellness Institute ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 15 ของตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้วก็น่าสนใจนะคะ เพราะตลาดนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และอิสระทางเวลา ถ้าประเทศไทยสามารถปักหมุดเรื่องนี้ เท่ากับเราสามารถกำลังดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้ามา

2) สร้างแรงงานให้พร้อม ไทยเรามีแรงงานด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน แต่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องลดพนักงานลง พอประเทศเปิด ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มเข้าที่เข้าทาง แรงงานไทยเราก็กลับเข้าสู่ระบบไม่ทัน ตั้งแต่กลุ่มอาชีพสายบริการ การโรงแรม จนไปถึงธุรกิจการบิน ถ้าไทยจะปักหมุดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้อยู่ในใจคนทั่วโลก การส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาเพื่อเตรียมแรงงานให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้ หรือจะเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นในบางสาขางานของอุตสาหกรรมนี้ที่หาแรงงานได้ยากจริงๆค่ะ ก็น่าจะนับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจค่ะ

3) กิโยตินกฎหมาย กฎหมายไทยเราซับซ้อนมากเกินไป แต่ละหน่วยงานมีระเบียบของตัวเอง บางระเบียบก็ขัดแย้งกัน เช่น เรามี พ.ร.บ.โรงแรมที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน แต่ พ.ร.บ. นี้กลับอยู่ในอำนาจมหาดไทย ขณะที่เรื่องโฮมสเตย์ กลับอยู่ในอำนาจของกรมการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการทำแพ เป็นเรื่องของกรมเจ้าท่า การอนุญาตให้ตั้งที่พักในอุทยานแห่งชาติ ก็เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ฉะนั้นแล้ว กฎหมายอะไรที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ควรยกเลิก/แก้ไขได้แล้วค่ะ เพราะว่าไปแล้ว กฎหมายนอกจากทำหน้าที่ควบคุมระเบียบสังคมแล้ว ก็ควรเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการทำธุรกิจด้วยหรือเปล่าคะ?

4) สุดท้ายคือ สร้างการตลาดทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นและมั่นใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่เดิม Sea Sand Sun ของบ้านเราเป็นที่นิยมชมชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มมูลค่าของการท่องเที่ยวให้มากกว่าแค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็น ‘ธรรมชาติ+สุขภาพ+วิทยาศาสตร์’ แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มความรับรู้ของนักท่องเที่ยวผ่านหลายช่องทางของการสื่อสาร จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มอีกมากเลยค่ะ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้พูดแค่ในฐานะผู้ประกอบการนะคะ แต่อยากลองแชร์ไอเดียในฐานะคนหนึ่งคนที่อยากเห็นการท่องเที่ยวของประเทศไทยดีขึ้นทั้งระบบด้วย เพราะทุกคนในระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยค่ะ

แน่นอนค่ะ การจะผลักดันเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการศึกษา พูดคุย จนเกิดความร่วมมือในระดับวงกว้างกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวทั้งระบบ และร่วมกันกำหนดว่าการท่องเที่ยวไทยควรไปในทิศทางใด

เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ว่าในปี 2570 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะต้องกลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของโลก สร้างงานสร้างรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท และเทศกาลต่างๆ ในไทย เช่น ‘สงกรานต์’ หรือ ‘ลอยกระทง’ จะต้องถูกนักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดไว้ในปฏิทินของตน

แค่คิดอยู่ในหัวยังตื่นเต้นเลย ยังไงก็ขอบคุณทุกคนในวง ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิด และแชร์แง่มุมต่างๆ ให้ฟังกันอีกครั้งนะคะ เป็นวันที่ได้รับอาหารสมองมากมายเลยค่ะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net