Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์' รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดโพล 'นักศึกษา Gen Z' ราว 85% เห็นว่า 3 เรื่องสำคัญที่ต้องยกเลิกในระดับเท่ากัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นเผด็จการ 85.8% ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง 85.5% ต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร 84.7%

19 ธ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ ชุดที่ 1 จำนวน 707 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางสังคมการเมือง

ธำรงศักดิ์ สรุปภาพรวมของผลการวิจัยทัศนคติคน Gen Z ชุดที่ 1 พบว่า 1.คน Gen Z ส่วนใหญ่ราว 85% เห็นว่า 3 เรื่องสำคัญที่ต้องยกเลิกในระดับเท่ากัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นเผด็จการ 85.8% ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง 85.5% ต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร 84.7%

มีรายละเอียดดังนี้

  • Gen Z มีทัศนคติว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นเผด็จการ จำนวน 606 คน คิดเป็น 85.8% รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นประชาธิปไตย จำนวน 18 คน คิดเป็น 2.5% ไม่แสดงความเห็น 82 คน คิดเป็น 11.6%
  • Gen Z มีทัศนคติว่า ต้องยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง จำนวน 602 คน คิดเป็น 85.5% เห็นว่า ต้องมี ส.ว. แต่งตั้ง 36 คน คิดเป็น 5.1% ไม่แสดงความเห็น 66 คน คิดเป็น 9.4%
  • Gen Z มีทัศนคติว่า ต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร แล้วใช้พลทหารสมัครเป็นทหารอาชีพแทน จำนวน 598 คน ร้อยละ 84.7 ยังต้องการให้มีการบังคับเกณฑ์ทหาร จำนวน 40 คน ร้อยละ 5.7 ไม่แสดงความเห็น จำนวน 68 คน ร้อยละ 9.6


2. คน Gen Z เห็นว่า ทั้ง 3 เรื่องนี้ (รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเผด็จการ – ยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง – ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร) เกี่ยวพันกับการสร้างประชาธิปไตยและเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสัมพันธ์กับการที่ประเทศต้องได้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่คน Gen Z ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง (ได้รับความนิยม 0.3%) และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้คน Gen Z มีความหวังต่อความเจริญของชาติและมีชีวิตที่ดีขึ้นของตนเองและครอบครัวแบบเกือบจะสิ้นหวัง (ระดับน้อยที่สุด 83.2% ระดับน้อย 10.3% รวมเป็น 93.5%)


3. คน Gen Z ส่วนใหญ่ 63% เห็นว่า ต้องยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง แม้ว่าระดับร้อยละจะน้อยกว่า 3 เรื่องแรก แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นร้อยละที่มากทีเดียวเมื่อพบว่าประเด็นเสนอยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง โดยให้เปลี่ยนเป็นระบบประชาชนเลือกนายกจังหวัดแทน ในแบบผู้ว่ากรุงเทพฯ นั้น เพิ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงกันอย่างจริงจังก็เมื่อมีการเลือกตั้งที่ได้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมกับการรณรงค์ของคณะก้าวหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ประเด็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ เราเห็นว่าคน Gen Z ยังมีความต้องการเวลาไตร่ตรองเพื่อการตกผลึกมากขึ้นถึง 18% ขณะที่ยังยืนยันให้มีผู้ว่าฯแบบเดิมเหลืออยู่เพียง 19%

ข้อมูลพื้นฐาน

บทสรุปงานวิจัยทัศนคติชุดที่ 1 ของคน Gen Z ต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-16 กันยายน 2565 โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี รวม 16 จังหวัด จำนวน 707 คน

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 422 คน (59.7%) ชาย 200 คน (28.3%) เพศหลากหลาย 85 คน (12.0%)

โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 173 คน (24.5%) ภาคกลาง 272 คน (38.5%) ภาคเหนือ 62 คน (8.7%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 คน (10.6%) ภาคใต้ 125 คน (17.7%)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net