Skip to main content
sharethis

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า ปี 2565 นี้นับเป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครองของอิสราเอล เผชิญกับการสูญเสียชีวิตภายใต้น้ำมือทางการอิสราเอลมากที่สุด นับตั้งแต่ที่มีการเริ่มเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการสำรวจในเรื่องที่ทางการอิสราเอลปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์อย่างไรบ้างตลอดช่วง 2565 ปีที่ผ่านมา พวกเขาระบุในรายงานที่นำเสนอโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ว่า ปี 2565 นี้นับเป็นปีที่มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการกระทำของทางการอิสราเอลมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการเริ่มเก็บสถิติในเรื่องนี้

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ทำการประณามอิสราเอลในแง่ที่พวกเขาใข้กำลังเกินกว่าเหตุต่อชาวปาเลสไตน์โดยอาศัยกองทัพอิสราเอลเป็นผู้ก่อเหตุ นอกจากนี้ยังมีการก่อความรุนแรงโดยกลุ่มชาวอิสราเอลที่เข้ามายึดครองพื้นที่ชาวปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมายในเขตเวสต์แบงค์ด้วย เป็นเหตุให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 150 รายในปีนี้ที่เขตเวสต์แบงค์ ในจำนวนนี้่เป็นเด็ก 33 ราย นอกจากนี้กลุ่มชาวอิสราเอลติดอาวุธที่ยึดครองพื้นที่ปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมาย ยังได้สังหารชาวปาเลสไตน์รายอื่นๆ อีก 2-3 รายในปีนี้

ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ ได้ก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจนเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตรวม 4 นาย เป็นเหตุให้ยามของกลุ่มที่ชาวอิสราเอลที่ยึดครองและตั้งรกรากในปาเลสไตน์เสียชีวิต 1 ราย และสมาชิกกลุ่มชาวอิสราเอลที่ตั้งรกรากโดยไร้ความชอบธรรมเสียชีวิตรวม 5 ราย

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันระบุว่า "พวกเราต้องการที่จะย้ำเตือนอิสราเอลถึงการที่พวกเขาต้องรื้อถอนการยึดครองพื้นที่อย่างผิดกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงค้างคาอยู่ ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครองจะต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะกลุ่มบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ในฐานะข้าศึกศัตรู หรือผู้ก่อการร้าย"

นอกจากนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ทางการอิสราเอลมีความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายนานาชาติในการทำให้เกิดความมั่นคงและสวัสดิภาพให้กับกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้พื้นที่ยึดครองด้วย

อีกประเด็นหนึ่งคือการที่กลุ่มชาวอิสราเอลหัวรุนแรงที่เข้ามายึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ได้สร้างที่พักของตัวเองแล้วก็ทำการติดอาวุธเดินสัญจรไปมาในพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ นับเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นแสดงความเป็นห่วง เพราะกลุ่มเหล่านี้ใช้อาวุธโจมตีชาวปาเลสไตน์ในบ้านของตัวเอง โจมตีใส่เด็กที่เดินทางไปโรงเรียน ทำลายทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ และเผาสวนมะกอกที่พวกเขาปลูก รวมถึงยังได้ก่อการร้ายสร้างความหวาดผวาต่อชุมชนชาวปาเลสไตน์โดยที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ

สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่กองทัพอิสราเอลได้คอยช่วยเหลือกลุ่มผู้ยึดครองในการก่อเหตุรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ด้วย เรื่องนี้ทำให้กลายเป็นเรื่องยากในการที่จะแยกแยะว่าการก่อเหตุแบบไหนเป็นการก่อเหตุจากกลุ่มชาวอิสราเอลติดอาวุธผู้ตั้งรกรากในปาเลสไตน์และการก่อเหตุแบบไหนที่เป็นความรุนแรงจากรัฐ การที่กลุ่มๆ หนึ่งก่อเหตุได้โดยลอยนวลไม่ต้องรับผิดกลายเป็นการเน้นย้ำให้อีกกลุ่มก่อเหตุได้โดยลอยนวลไม่ต้องรับผิดไปด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้ยึดครองชาวอิสราเอลได้ก่อเหตุรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านร่างมติเรียกร้องให้มีการยกเลิกการที่ชาวอิสราเอลเข้าไปยึดครองพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย

รายงานจากยูเอ็นระบุอีกว่า กองทัพอิสราเอลได้กระทำผิดอย่างมากในเรื่อง "กฎของการปะทะ" ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าควรจะใข้กำลังเมื่อใด ที่ไหน อย่างไร เช่น การที่ควรจะใช้กำลังได้ก็ต่อเมื่อมีภัยถึงแก่ชีวิตเท่านั้น ไม่ควรใช้กำลังจำพวกกระสุนจริงยิงใส่บุคคลที่ไม่มีอาวุธ ซึ่งยูเอ็นมองว่าการที่กองทัพอิสราเอลล้มเหลวในเรื่องกฎของการปะทะให้มีผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก อีกทั้งยังอาจจะเข้าช่าย "การวิสามัญฆาตกรรม" และนับเป็น "การละเมิดสิทธิในการมีชีวิต" ของเหยื่ออย่างจงใจด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีการห้ามไว้ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 และธรรมนูญกรุงโรมด้วย

ท้ายที่สุด กลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า การที่อิสราเอลมีความตั้งใจที่จะยึดอาณานิคมเขตเวสต์แบงค์ของปาเลสไตน์ก็กลายเป็นสิ่งที่เสริมให้เกิดความรุนแรงต่อกลุ่มชาวปาเลสไตน์ที่เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งดูเหมือนว่าทางอิสราเอลตั้งใจจะทำให้ชีวิตชาวปาเลสไตน์มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นหลังจากนี้ จากการที่พวกเขาจัดตั้งรัฐบาลแบบที่ขวาจัดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่เป็นชาวอิสราเอลผู้ยึดครองดินแดนอย่างผิดกฎหมาย

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอรายงานในเรื่องนี้ประกอบด้วย ฟรานเซสกา อัลบานีส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมาตั้งแต่ปี 2510 โดยที่อัลบานีสเป็นผู้ที่เคยเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลด้วยความรู้ความชำนาญของตัวเองจนถูกกล่าวหาในเชิงใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคนเหยียดชาวยิว ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ คือ มอร์ริส ทิบอล-บินซ์ ผู้รายงานพิเศษด้านการวิสามัญฆาตกรรมหรือการประหารชีวิตโดยพลการ และ คลีมง วอยล์ ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสันติ

เรียบเรียงจาก

2022 Deadliest Year on Record for Palestinians Under Israeli Occupation: UN, Common Dreams, 18-12-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net