แรงงานภาคเหนือ รวมตัว วันแรงงานข้ามชาติสากล ชี้ 'แรงงาน = คน' ทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดงาน “แรงงาน = คน : เราทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น” เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล หรือ วันแรงงานย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญ และเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย

20 ธ.ค. 2565 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดงาน “แรงงาน = คน : เราทุกคนที่ย้ายถิ่นไม่ใช่คนอื่น” ขึ้นที่ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 17.30 – 21.00 น. เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล หรือ วันแรงงานย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงละครจากตัวแทนแรงงาน แฟชั่นโชว์สะท้อนประวัติศาสตร์แรงงานย้ายถิ่น เวทีพูดคุย และกิจกรรมดนตรีสันทนาการโดยตัวแทนแรงงานย้ายถิ่นและเครือข่าย

ก่อนจบงานทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันย้ายถิ่นสากล ระบุ ประเทศไทยมีการย้ายถิ่นของแรงงานจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานเนินนาน โดยการใช้แรงงานข้ามชาติในลักษณะการ “ว่าจ้าง” ในยุคแรกเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ช่วงทศวรรษ 2370  ทุก ๆ จะมีแรงงานจากภาคใต้ของจีนเข้ามาทำงานในไทยราว 6,000 – 8,000 คน เข้ามาทำงานรับจ้างในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีความต้องการแรงงานสูง ทำให้มีคนจีนอพยพเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และหลังทศวรรษ 2500 ประเทศไทยเริ่มปรับตัวเองสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงานจึงทวีจำนวนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจึงเริ่มมีนโยบายอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า

ดังนั้น เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงเรียกร้องรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญ และมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยด้วย ดังนี้

  1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
  2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  3. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  4. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)
  5. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  และให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพ อาทิ พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี

 

แถลงการณ์เนื่องในวันย้ายถิ่นสากล

 

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ

การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่ง ไปยังอีกประเทศหนึ่ง  เพื่อทำงานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานาน ทั่วโลก โดยได้มีการแบ่งสาเหตุของการเคลื่อนย้ายแรงงานไว้ 4 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ

1. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงงานจากประเทศที่เศรษฐกิจต่ำกว่า ด้อยพัฒนากว่า จะย้ายตัวเองไปทำงานในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า

2. การเคลื่อนย้ายไปประเทศอื่น เพราะสงครามหรือความขัดแย้งภายในภายประเทศตัวเอง

3. การถูกย้ายไปเป็นแรงงานในประเทศเจ้าอาณานิคมซึ่งเกิดขึ้นในสมัยยุคล่าอาณานิคม

4. การอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานในประเทศอื่น เพราะภัยธรรมชาติ หรือความขาดแคลนจากประเทศตนเอง และในช่วงปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตัวเอง จากรายงานของ Oxfam ระบุว่า ทุกๆ ปีจะมีประชากรทั่วโลกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานของตัวเอง เพราะปัญหา climate change ซึ่งคนกลุ่มนี้มีทั้งที่อยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย และย้ายตัวเองไปตั้งรากฐานใช้ชีวิตทำงานในประเทศอื่น

ในประเทศไทย การย้ายถิ่นของแรงงานจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีมานาน โดยการใช้แรงงานข้ามชาติในลักษณะการ “ว่าจ้าง” ในยุคแรกเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ช่วงทศวรรษ 2370  ทุก ๆ จะมีแรงงานจากภาคใต้ของจีนเข้ามาทำงานในไทยราว 6,000 – 8,000 คน เข้ามาทำงานรับจ้างในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีความต้องการแรงงานสูง ทำให้มีคนจีนอพยพเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

หลังทศวรรษ 2500 ประเทศไทยเริ่มปรับตัวเองสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงานจึงทวีจำนวนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจึงเริ่มมีนโยบายอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า หลังจากนั้นจึงได้เปิดให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเป็น 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ปัจจุบันมีตัวเลขการจ้างแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติที่ถูกกฎหมายกว่า 2.5 ล้านคน โดยร้อยละ 80 ของแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติจากพม่า ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือ แรงงานจากกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนี้

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและเป็นแผนนโยบายระยะยาว 5 ปี หรือ 10 ปี โดยต้องกำหนดนโยบายที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

4. รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) รวมถึงการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)

5. รัฐบาลต้องยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี  และให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพ อาทิ พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี

 

 

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

18 ธันวาคม 2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท