Skip to main content
sharethis

บอร์ด สปสช. ถกเดือด 2 ชั่วโมง หา ‘ข้อสรุป’ โอนงบบัตรทองให้ รพ. ‘อนุทิน’ ลั่น อย่ามากล่าวหาว่าผมทำร้าย ปชช. บอร์ดประชาชนชี้ ทำลายหลักการถอยหลังเข้าคลอง

20 ธ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 มีวาระประเด็นที่น่าสนใจ โดยมีการนำร่างข้อเสนอการปรับประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 ซึ่งเป็นวาระการประชุมสืบเนื่องจากครั้งที่แล้ว

การประชุมครั้งนี้ถูกจับตามอง เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “การโอนเม็ดเงิน” กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งครอบคลุมทั้งงบค่ารักษา งบกองทุนเฉพาะ ตลอดจนที่ยังเป็นปัญหานั่นคือ “งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” หรือ P&P ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่า เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ คือการ “หาทางออกร่วมกัน” ของ บอร์ด สปสช. ในประเด็นร่างข้อเสนอการปรับประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566

เหตุผลที่ต้องมาหาทางออกร่วมกันนั้น เป็นเพราะ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะ รมว.สธ. ยังไม่ลงนามในหลักเกณฑ์การดำเนินงานฯ เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเมืองของอนุทิน มีข้อสังเกตในประเด็น การนำงบ P&P จากกองทุนบัตรทอง ไปใช้ดูแลทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

จากเหตุผลข้างต้น จึงทำให้ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณกองทุนบัตรทอง ลงไปยังหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลต่างๆ ได้ แม้ว่า เมื่อ 7 พ.ย.2565 บอร์ด สปสช. ที่มีอนุทิน เป็นประธานบอร์ด ประชุมร่วมกันและมี “มติเห็นชอบ” ในหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 เพื่อให้ประธานบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบลงนาม

ต่อมา อนุทิน ที่อีกบทบาทคือ รมว.สธ. ได้พบว่า หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 อาจขัดแย้งกับตัวบทกฎหมาย จึงมีหนังสือกลับมายังบอร์ด สปสช.อีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค.2565 ในนาม สธ. ที่ให้ปรับแก้ไขร่างประกาศบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเสนอให้ รมว.สธ.ลงนาม โดยไม่ต้องนำงบสำหรับค่าบริการ 4 รายการไปใช้สำหรับประชาชนคนไทยทุกคน แต่คงไว้เฉพาะสิทธิบัตรทอง หรือ UC ไปพลางก่อน ระหว่างหาข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน

นั่นหมายความว่า การบริการสาธารณสุขให้คนไทยทุกคน ทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ทั้งสิทธิ์บัตรทอง สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการ ใน 4 รายการ คือ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ (PP-HIV) ค่าบริการผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ระหว่างนี้จะให้บริการได้แค่ประชาชนเพียงสิทธิ์บัตรทองไปก่อน

หารือ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา-ครม.’ เพื่อตีความ

อย่างไรก็ตาม สธ.ได้ทำหนังสือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. มติ ครม.เมื่อ 1 ก.พ.2565 อนุมัติให้ สปสช. นำงบประมาณค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) บริการ PP-HIV บริการ LTC และบริการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปใช้จ่ายสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิ์บัตรทองด้วยหรือไม่ และอาจจะขัดแย้งกับมาตรา 9, 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้ต้องตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก่อน หรือมาตรา 7 ที่ต้องลงทะเบียนใช้สิทธิหรือไม่ อย่างไร

2. รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สามารถลงนามในประกาศ ตามมติ ครม. ให้บริหารงบประมาณในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง หรือ Non UC โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 9,10 โดยถือว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรา 18 (14) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้หรือไม่

3. กรณีที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เห็นชอบงบประมาณตามที่ สปสช.เสนอ แต่ สปสช.ไม่ได้ขอให้ครม.มีมติมอบหมายอย่างเป็นทางการ การที่ครม.อนุมัติแล้ว ถือว่าครม.มอบหมายให้ทำได้หรือไม่ อาศัยอำนาจกฎหมาย และเรียบใด

ขณะเดียวกัน ยังมีหนังสืออีกชุดที่ตีคู่ไปยังสำนักงานเลขาธิการครม. เพื่อหารือใน 3 ประเด็น คือ 1. มติครม.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 ที่อนุมัติงบค่าบริการ 4 รายการ สำหรับผู้มีสิทธิ์ UC เท่านั้น หรือสำหรับคนไทยทุกคน

2. มติ ครม.ที่อนุมัติให้ สปสช. นำงบไปจ่ายให้กับประชาชนสิทธิอื่นได้ จะขัดแย้งกับกฎหมายในมาตรา 9, 10 ที่กำหนดให้ต้องตรา พ.ร.ก. ก่อนหรือไม่

3. รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. ให้สามารถบริหารงบในส่วนของประชาชน Non UC โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 9,10 โดยถือว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรา 18 (14) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม อนุทิน กล่าวกับที่ประชุมบอร์ดสปสช. ด้วยว่า หนังสือทั้ง 2 ฉบับที่ส่งไปหารือ ยังไม่ได้มีการตอบกลับมา ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน

สปสช.เสนอปล่อยงบไปก่อน เว้น P&P ที่มีปัญหา

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบ 2 ประเด็นร่วมกัน คือ 1. เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2566 และ 2. เห็นชอบให้ สปสช. เสนอร่างประกาศ หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 เพื่อให้รมว.สธ.ลงนาม

ต่อมา สปสช. ได้ทำหนังสือความเห็นชอบของบอร์ด สปสช. ไปยัง อนุทิน ซึ่งอีกบทบาทคือ รมว.สธ.ได้ลงนาม แต่ รมว.สธ. ขอให้มีการปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวบางส่วนที่อาจขัดแย้งต่อกฎหมาย โดยเฉพาะไม่ต้องให้นำงบประมาณสำหรับบริการ 4 รายการให้คนไทยทุกคน แต่คงไว้เฉพาะในส่วนสิทธิบัตรทอง หรือ UC ไปพลางก่อน ระหว่างที่รอข้อสรุปทางกฎหมายที่ชัดเจน

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า รายละเอียดของงบประมาณ ที่ยังเป็นประเด็นมีอยู่ 4 รายการ คือ การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ (PP-HIV) ค่าบริการผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) และค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งหากแยกส่วนของสิทธิ์ Non UC ทั้ง 4 รายการ จะพบว่าต้องใช้งบประมาณดูแล 5,146.05 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 รมว.สธ. พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวง รวมไปถึง สปสช. เข้าหารือร่วมกันกับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว และได้มีข้อสรุป 5 ข้อ คือ 1. การบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้กับประชาชนสิทธิ Non UC ทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ อาจไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ และภารกิจตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ 2. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชน ขอให้สปสช.แยกจัดสรรงบประมาณผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ให้หน่วยบริการก่อน ส่วนเงินบริการ PP ให้รอคำตอบที่ชัดเจนจากครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงพิจารณาดำเนินการต่อไป

3. เงินบริการ P&P ขณะนี้สธ. อยู่ระหว่างดำเนินการหารือร่วมกันกับครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานกำลังพิจารณาเกี่ยวกับระเบียบ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว 4. ระหว่างรอการพิจารณา สธ.ยินดีและพร้อมบริการ P&P ให้ประชาชนตามปกติ และ 5. ให้สปสช.หารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน กับหน่วยบริการในสังกัดสปสช. สังกัดภาครัฐ และเอกชน

“จากที่ได้หารือกันมา ก็นำไปสู่การประชุมครั้งนี้ เพื่อขอให้เห็นชอบข้อสรุป 5 ข้อ เพื่อให้ รมว.สธ. ได้ลงนาม และจะได้มีการจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการ โรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชนต่อไป แต่งดเว้นบริการ P&P ไว้ก่อน ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว ก็จะดำเนินการได้ทันที” นพ.จเด็จ กล่าว

‘อนุทิน’ ลั่น “ผมไม่ได้ทำร้ายประชาชน”

จากนั้น อนุทิน จึงขอให้บอร์ด สปสช. ที่เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นต่อข้อสรุป 5 ข้อดังกล่าว เริ่มจาก กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะกรรมการสปสช. ผู้แทนองค์กรเอกชน (ชุมชนแออัด) กล่าวว่า ประเด็นงบบริการ P&P ไปไม่ถึงคนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า ถือเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 20 ล้านคนที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง หรือกลุ่ม Non UC

 อย่างไรก็ตาม เข้าใจดีถึงการหารือร่วมกันระหว่าง สธ. และทางรองนายกรัฐมนตรี รวมถึง สปสช.ด้วยในการหาข้อสรุปออกมา แต่อีกส่วนต้องยอมรับว่าการหารือนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย หรือเป็นการหารือนอกกฎหมาย จึงไม่อาจเห็นชอบกับข้อสรุปนี้ เพราะประชาชนหลายล้านคนได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่ และนี่อาจเป็นการจงใจทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความเสียหาย เพราะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ก็ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ์ในการรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

“และนี่อาจเป็นการจงใจทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะ ทั้งกฤษฎีกาและสำนักงบประมาณ ยืนยันมาแล้วว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ์ในการรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” กรรณิการ์ กล่าวและว่า น่าเสียดายที่ขณะนี้มีการประชุม UNAIDS ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้มุ่งมั่นมากพอ

กรรณิการ์ ได้ถามต่อว่า “ท่านทราบหรือไม่ว่าสิ่งที่ ผอ. UNAIDS ชื่นชมประเทศไทยนั้นเกิดจากความร่วมมือกันของภาคประชาสังคม กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการร่วมกันดำเนินงานเพื่อค้นหา ลดการติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย HIV/AIDsโดยเฉพาะการให้ความรู้ การรณรงค์ค้นหาผู้ป่วย การป้องกันการติดเชื้อทั้งการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก การให้ยาก่อนติดเชื้อ (PrEP) ยาหลังติดเชื้อ (PEP) นั้นใช้งบประมาณจากกองทุน HIV สำหรับคนไทยทุกคนที่ท่านยังไม่เซ็น”

ต่อมา จอน อึ๊งภากรณ์ คณะกรรมการ สปสช. ผู้แทนองค์กรเอกชน (ด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี) กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ กำลังพยายามทำให้เกิดการกลับมติ หรือถอนมติเดิมจากที่ประชุมครั้งก่อน เพราะเกิดมีความเห็นทางกฎหมายจากนักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้พิสูจน์กันมาแล้วว่า สิ่งดีๆ ที่เคยทำกันมาก่อน ได้สร้างประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศอีกทั้งยังไม่เคยเกิดปัญหามาก่อนด้วย ก็ควรทำต่อไป ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลองเช่นนี้

“หรือต่อไป เมื่อเด็กต้องได้รับการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค หากจะบริการก็ต้องถามกันก่อนว่าเป็นลูกข้าราชการหรือเปล่า หรือการรับวัคซีนของผู้สูงอายุ ก็ต้องมาตรวจสอบสิทธิ์กันก่อน แบบนี้จะเป็นอันตรายต่อประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้ง ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดจากคนใกล้ชิด ทำให้มีประเด็นนี้ขึ้นมา อนุทิน ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. ควรจะปกป้องสิ่งดีๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อสุขภาพให้กับคนไทยมาตลอด” จอน กล่าว

ด้านอนุทิน กล่าวตอบโต้ทันทีว่า ขอตำหนิ น.ส.กรรณิการ์ ที่บอกว่าพวกตนจงใจกลั่นแกล้ง และในฐานะที่ น.ส.กรรณิการ์ ก็ทำงานใน สธ. ก็ควรพูดจาด้วยความระมัดระวังด้วย เพราะพวกเราทุกคนทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน

อนุทิน กล่าวอีกว่า นพ.จเด็จ มาเสนอว่า อย่าเอาเงิน 2 หมื่นล้านมาเป็นตัวประกันของเงินอีกกว่า 8 หมื่นล้านบาทที่ต้องลงไปหาประชาชนได้แล้ว ตนได้พยายามหาช่องทางที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อให้เกิดทางออกที่ดีที่สุด แต่กลับเจอการข่มขู่ ตนจะเลิกประชุมเพื่อหาทางออกก็ได้ และรอความชัดเจนจาก ครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็หมดวาระ หรือทุกคนอยากได้แบบนั้น  

อนุทิน กล่าวยืนยันกับที่ประชุมว่า จะใช้ทุกความสามารถที่มีเพื่อหาทางออกเรื่องนี้เพื่อไม่ให้ภาพรวมในการดูแลประชาชนเสียหาย แต่ขณะนี้ที่กังวลอย่างมากคือ หน่วยบริการ โรงพยาบาล จะไม่มีเงินบริการประชาชน แม้ว่าปลัดสธ. จะยืนยันว่า หน่วยบริการ และโรงพยาบาลทุกแห่ง จะดูแลตามปกติเช่นเดิมก็ตาม ซึ่งก็ต้องขอบคุณอย่างมากในการดูแลประชาชนต่อไป แต่ทั้งนี้ งบประมาณก็ต้องไปหาประชาชนให้เร็วที่สุดเช่นกัน

“จึงมาเหลืออยู่ตรงนี้ ว่าบอร์ดจะเห็นด้วยหรือไม่ ในส่วนที่ไม่เป็นปัญหาก็ปล่อยให้งบประมาณลงไปก่อน ส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ก็รอความชัดเจน” อนุทิน กล่าว

‘นพ.สุวิทย์’ เสนอทางออกให้ทุกคน

ต่อมา นพ.สุวิทย์ วิบุญผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ กล่าวว่า อยากเสนอร่างประกาศมติใหม่ให้กับการประชุมเพื่อเป็นทางออก ซึ่งอยากให้บอร์ด สปสช. ได้พิจารณาร่วมกันว่าจะเห็นชอบได้หรือไม่ โดยข้อสรุปมี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคน มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนทุกสิทธิ สามารถรับบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน และทุกฝ่ายจะดำเนินการ่วมกันให้บรรลุเป้าหมายนั้น โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

2. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นด้วยที่มีการทำความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมประชากรในส่วนใดบ้าง ตามมาตรา 5,9,10,66 โดยปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการ ครม. ตามที่ สธ.ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2565

3. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ ปี 2566 โดยในหลักการชะลอการจัดสรรงบประมาณ PP, PP-HIV, LTC และ อปท. เฉพาะส่วน Non UC วงเงิน 5,146.05 ล้านบาท ทั้งนี้ สธ.จะจัดบริการให้ครอบคลุมทุกคนที่สธ.รับผิดชอบ และสปสช.จะดำเนินการให้หน่วยบริการอื่นนอกสังกัดสธ. ดำเนินการเช่นเดียวกันโดยไม่ให้มีช่องว่าง และ 4.รับรองมติในที่ประชุมเพื่อดำเนินการได้ทันที

นพ.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า หากเป็นข้อสรุปนี้ เชื่อว่าไม่มีใครจะทำร้ายใครได้ และไม่ใช่การแขวนสิทธิ์คนไทย Non UC อีก 20 ล้านคน เพราะมีการแสดงเจตนารมณ์ของพวกเราอย่างชัดเจน ทุกคนจะสบายใจและเดินออกจากการประชุมนี้ได้อย่างไร้กังวล 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มมีบรรยากาศที่ดีขึ้นหลังจากได้เห็นแนวทางข้อเสนอของ นพ.สุวิทย์ ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยว่า ในอนาคตควรจะให้มีการออกพ.ร.ก.ที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการถกเถียงในประเด็นนี้อีกในอนาคต

บอร์ดสปสช. ไฟเขียวตามข้อเสนอ

โดยหลังจากที่วงประชุม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อสรุปของ นพ.สุวิทย์ และดูเหมือนว่าทิศทางจะเห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว ต่อมา อนุทิน กล่าวกับวงประชุมว่า ตนเป็นนักบริหาร เป็นนักการเมือง ความรู้ด้านสาธารณสุขของจึงมีขนาดเท่าหางอึ่ง จึงต้องอาศัยความรู้จากท่านทั้งหลาย ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ควาสามารถ โดยตนเข้ามาใช้การบริหารที่ดีที่สุด เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายร่วมกันให้ได้

“ที่มาบอกว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากคนใกล้ชิด ผมรับรองได้ว่าไม่มีผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น หลายคนมาทำงานกับผมเพราะอยากมาช่วยเหลือ เพราะงาน สธ.มันหนัก ผมไม่มีคนใกล้ชิดที่ไหนหรอก ทีมงานผมคือคนในสธ.ทั้งหมด อย่าได้กล่าวหาผม ว่าให้ใจกับคนใกล้ชิด คนใกล้ชิดตัวผมที่สุดคือผมคนเดียว”  อนุทิน กล่าว

อนุทิน กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ขอให้บอร์ดสปสช. ได้พิจารณาและผ่านความเห็นชอบไปก่อน  และขอรับรองกับทุกท่านว่า จะทำทุกความสามารถเพื่อให้งบ P&P ไปสู่ทุกคนให้ได้ หากจะให้ความกรุณาผ่านเรื่องนี้ไปก่อน เพื่อให้งบประมาณไปสู่หน่วยบริการ และโรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชน อย่างไรก็ตาม หากไม่เป็นไปตามนี้ ก็ต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด และอาจจะกระทบต่องบประมาณของ สปสช.ในปี 2566 ทั้งหมดด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวเสริมด้วยว่า เมื่อได้พิจารณาดูแลมีประเด็นทางกฎหมาย ด้วยความเป็นห่วงเรื่องการจัดสรรเงินงบประมาณอย่างถูกต้อง จึงนำมาสู่กาประชุมในครั้งนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสปสช.จะไม่จ่ายเงิน เพียงแต่ขอให้นักกฎหมายได้ช่วยให้ความเห็นทางกฎหมายจนมีความชัดเจนเฉพาะประเด็นที่เกิดปัญหา หากเห็นชอบตามข้อสรุปที่เป็นร่างมติของนพ.สุวิทย์ ก็อยากให้รับรองมติ เพื่อจะได้ดำเนินการในการจัดสรรงบประมาณในทันที

ทั้งนี้ ในท้ายสุดหลังจากใช้เวลาประชุมวาระดังกล่าวถึง 2 ชั่วโมง ที่ประชุมบอร์ด สปสช.จึงมีมติเห็นชอบข้อสรุปจากนพ.สุวิทย์ และมอบหมายให้สปสช.ดำเนินการในขั้นต่อไปได้ทันที

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net