เทสโก้ถูกฟ้องบังคับใช้แรงงานผลิตชุดยีนส์ F&F ที่โรงงานในแม่สอด

เทสโก้ถูกฟ้องคดีที่อังกฤษ เรื่องบังคับใช้แรงงานภายใต้สภาพการจ้างงานแรงงานชาวพม่าในโรงงานสิ่งทอที่แม่สอด ซึ่งผลิตเสื้อผ้า-กางเกงยีนส์ยี่ห้อ F&F ที่เลวร้ายโดยที่ได้รับค่าจ้างต่ำเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด

อดีตลูกจ้าง 130 รายของโรงงานสิ่งทอวีเคการ์เม้นท์หรือ VKG ในแม่สอด กำลังฟ้องร้องศาลอังกฤษ ผ่านสำนักงานกฎหมาย ‘Leigh Day’ โดยฟ้องร้องบริษัทเทสโก้ในข้อหาปล่อยปละละเลยและได้รับประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งจะกลายเป็นคดีครั้งประวัติศาสตร์ในอังกฤษ เหตุการณ์ที่พวกเขาฟ้องร้องถึงคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2560-2563 กลุ่มลูกจ้างกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ F&F สำหรับผู้ใหญ่และเด็ก ไม่ว่าจะเป็นยีนส์, เสื้อแจ็คเก็ต เดนิม และสิ่งทอชนิดอื่นๆ สำหรับจัดจำหน่ายในห้างเทสโก้สาขาในประเทศไทย

ในคำร้องพวกเขาระบุว่าได้รับค่าจ้างสูงสุด 4 ปอนด์ต่อวัน (170 บาท) ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ภายใต้วงจรการบังคับใช้แรงงานและแรงงานขัดหนี้ที่โรงงาน VKG คนคุมงานยึดใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติและจัดให้แรงงานพักอยู่ในสภาพที่น่าสมเพช แรงงานอาศัยอยู่ในหอพักเล็ก ๆ และนอนบนพื้นซีเมนต์ โดยมีความเป็นส่วนตัวเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากในหอพักไม่มีกุญแจล็อค ผนัง หรือเพดาน

ผู้ที่ฟ้องร้องที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาหรือพม่า ที่อยู่ในสถานภาพเปราะบางและยากไร้ ทั้งยังหลบหนีภัยสงครามหรือออกจากประเทศต้นทางด้วยความหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยและมีทำงานในประเทศไทย ทุกคนทำงานที่โรงงานสิ่งทอดังกล่าว โดยเรียกร้องทางกฎหมายต่อบริษัท เทสโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด (ถือหุ้นโดย บริษัท เทสโก้ (มหาชน) จำกัด จนถึง พ.ศ. 2563) และบริษัท อินเตอร์เท็ค กรุป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบประเมินที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหราชอาณาจักร และ บริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานสภาพการทำงานและการปฏิบัติงานของโรงงาน VKG ผู้ผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ F&F ของเทสโก้

ด้านบริษัท อินเตอร์เทค จำกัด (มหาชน) จำกัด ได้ตอบหนังสือและปฏิเสธความรับผิดใด ๆ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทไม่มีความสัมพันธ์ทางสัญญากับ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด หรือ VKG หรือผู้เรียกร้อง และระบุว่าบริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการตรวจสอบภายใต้มาตรฐานอุตสาหกรรมและโดยผู้ตรวจสอบที่เทสโก้อนุมัติไว้แล้วล่วงหน้า

บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัดซึ่งเป็นบริษัทสาขาของเทสโก้ในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2563 ปฏิเสธความรับผิดในเบื้องต้น เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการจ้างงานที่โรงงาน VKG

เทสโก้ระบุว่า เสื้อผ้าเหล่านี้มีวางขายแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ได้จากการขายเสื้อผ้าเหล่านี้ในไทย ก็จะกลายเป็นผลกำไรให้กับสำนักงานใหญ่ของเทสโก้ที่อังกฤษ การฟ้องร้องในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่บรรษัทสัญชาติอังกฤษอย่างเทสโก้ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับไลน์การผลิตสิ่งทอในต่างประเทศที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของห่วงโซ่อุปทานด้วยตนเอง

โรงงานที่ผลิตสิ่งทอป้อนแบรนด์ F&F แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งอยู่ติดกับประเทศพม่า เป็นโรงงานที่อาศัยแรงงานข้ามชาติจากพม่าและเป็นที่ๆ ผู้คนเรียกว่าเป็น "แดนเถื่อน" ในเรื่องสิทธิแรงงานตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในคำฟ้องระบุว่าเทสโก้ควรจะรับรู้ว่าในพื้นที่แม่สอดมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการขูดรีดแรงงานเกิดขึ้น

เทสโก้ระบุว่าการรักษาสิทธิของทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญ และถ้าหากพวกเขาได้รับรู้ปัญหาใหญ่เช่นนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว พวกเขาก็คงจะทำการตัดสายสัมพันธ์กับ VKG ไปแล้ว

เทสโก้เริ่มทำการจ้างโรงงานแห่งดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 ถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสอบเบื้องต้นที่เปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด ซึ่งจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนี้ควรจะเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกเหนือจากการทำข้อสัญญา, ตรวจทาน และออกใบสั่งซื้อแล้ว เทสโก้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรายวันของโรงงานแห่งนี้น้อยมาก กลุ่มแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของเทสโก้กำลังพยายามทำให้ห้างค้าปลีกแห่งนี้ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่พวกเขาละเลยการปกป้องแรงงานอย่างพวกเขา

ก่อนหน้านี้ศาลแรงงานภาค 6 ในไทยได้ออกคำสั่งให้มีการชดเชยซึ่งคาดการณ์ว่ามีการดำเนินการในปี 2562 โดยที่บริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม ก็ถูกฟ้องไปด้วย ซึ่งในตอนนั้นบริษัทเอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม ยังคงเป็นเจ้าของเทสโกสาขาไทย ก่อนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะซื้อกิจการในเดือน ธ.ค. 2563

นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องให้ดำเนินคดีต่อบริษัทอินเตอร์เทค ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้ตรวจสอบหรือออดิทให้เทสโก้ ทนายความระบุว่านี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ตรวจสอบประเมินเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม

สำหรับคดีความในไทย แรงงานได้ร้องเรียนต่อกรมคุ้มครองและสวัสดิการแรงงาน จ.ตาก ในเดือนตุลาคมปี 2563 ว่าพวกเขายังไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนของเงินเดือนตามค่าแรงขั้นต่ำ เงินทำงานล่วงเวลาทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ฯลฯ อย่างไรก็ตามกรมคุ้มครองและสวัสดิการแรงงาน จ.ตาก มีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชย โดยศาลแรงงานก็รับฟ้องคดีและมีคำตัดสินให้จ่ายเงินชดเชยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ จึงตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อ ขณะที่คดีความในศาลที่อังกฤษขณะนี้อยู่ในความสนใจและความหวังของผู้คนจำนวนมาก

ผู้เชี่ยวชาญแรงงานและทนายความเห็นว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การฟ้องคดีในไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นเพราะโรงงาน VKG เองขึ้นอยู่กับรายงานการตรวจประเมินโรงงานของบริษัทอินเตอร์เทคฯ ที่ระบุในการตรวจสอบว่าไม่มีการระบุว่าพบกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยพวกเขาอ้างว่าจนถึงปี 2563 โรงงาน VKG ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

โอลิเวอร์ ฮอลแลนด์ ทนายความพาร์ทเนอร์สำหนักงานกฎหมาย Leigh Day กล่าวว่า “จากข้อกล่าวอ้างที่แรงงานข้ามชาติที่เปราะบางอยู่แล้วอธิบายให้เราได้รับฟัง การปฏิบัติต่อแรงงานตามที่กล่าวอ้างนั้นได้รับขัดกับภาพลักษณ์ทางจริยธรรมที่เทสโก้พยายามแสดงในสหราชอาณาจักรโดยสิ้นเชิง บริษัทที่มีขนาดธุรกิจเท่านี้ควรดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานที่ผลิตสินค้าของบริษัทจะไม่เผชิญการละเมิด อุตสาหกรรมการตรวจประเมินด้านสังคมกำลังพังทลายอย่างหนักและการพึ่งพาผู้ตรวจประเมินทางสังคมเช่น บริษัทอินเตอร์เทคฯ ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าควรสิ้นสุดยุติลงทันที บริษัทควรเริ่มรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทานของตนให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาประจำพื้นที่ เช่น การใช้แรงงานบังคับจะหมดสิ้นไป”

ที่มา : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท