Skip to main content
sharethis

เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว หรือตรงกับวันที่ 18 พ.ย. 2565 ชาลินี ถิระศุภะ หรือ “เจน” ช่างภาพข่าวที่คร่ำหวอดในวงการข่าวมาหลายปี ได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดให้ไปถ่ายภาพการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC” ที่พยายามเคลื่อนขบวนจากถนนดินสอ ไปยังที่จัดการประชุม APEC ในขณะนั้น แต่ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดไว้

ชาลินีเล่าว่าตอนนั้นเธอกำลังยืนอยู่กับกลุ่มช่างภาพคนอื่นๆ ข้างหลังรถกระบะของตำรวจ เพื่อถ่ายภาพแนวตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่กำลังตั้งแนวโล่ใกล้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ทันใดนั้นเอง จู่ๆ ก็มีขวดแก้วอันหนึ่ง ลอยมาจากแนวตำรวจมายังทิศทางของเธอ ก่อนจะกระแทกลงบนฝากระโปรงรถจนแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และเศษแก้วชิ้นหนึ่งก็ได้พุ่งเข้าใส่ใบหน้าของเธอ กลายเป็นแผลในดวงตา ตามที่ปรากฏในคลิปที่แชร์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย

“เราเห็นมันลอยมาเลยอะ เราก็พยายามหลบนะ แต่มันเร็วมาก” ชาลินีเล่าในสัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาลินีเกือบต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างฉิวเฉียด เพราะเศษแก้วที่พุ่งเข้าดวงตาของเธอห่างจากตาดำไปเพียง 1 มิลลิเมตร และอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก็มีผลกระทบระยะยาวด้วย แต่จนถึงทุกวันนี้ กลับไม่มีคำชี้แจง การเยียวยา หรือการแสดงความรับผิดชอบใดๆ จากทางตำรวจ 

“ไม่มีเลยนะ ไม่มีแม้แต่ใครจะติดต่อมา” ชาลินีระบุ

ความเงียบงันของตำรวจยังดำรงอยู่ต่อไป ถึงแม้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อกรณีการบาดเจ็บของชาลินีและผู้สื่อข่าวอีก 3 คน และในวันที่ 21 ธ.ค. บรรดาองค์กรวิชาชีพสื่อได้นัดหมายยื่นหนังสือให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน 

ในสัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ชาลินีย้อนเล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. โดยย้ำว่าจังหวะที่เธอได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นช่วง “ก่อน” เหตุการณ์ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จึงไม่ได้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวะชุลมุนอย่างที่บางคนเข้าใจกัน

“เป็นช่วงที่ยังไม่ได้ตึงเครียด มีผู้ชุมนุมบางคนตั้งเตาเผาพริกเผาเกลือ แล้วเอาไปตั้งบนรถตำรวจ ตำรวจก็บอกว่าจะฉีดดับเพลิง ให้สื่อหลบเพราะจะฉีด บอกด้วยว่าไม่ได้จะสลายการชุมนุมนะครับ แค่จะฉีดดับไฟเฉยๆ” 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้ชุมนุมหลายคนไม่ได้ยินประกาศจากตำรวจ บางส่วนเริ่มฮือกันและขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจ แต่ชาลินียืนยันว่าขวดแก้วที่ลอยมาใส่ใบหน้าของเธอ ไม่ได้มาจากฝั่งผู้ชุมนุมแน่นอน 

“มันลอยมาจากฝั่งตำรวจ ชัดเจน จังหวะนั้นเราไม่เห็นกับตาว่าใครขว้าง แต่ขว้างมาจากแถวหลังๆ ของแนวตำรวจแน่ๆ” 

ชาลินีกล่าวเสริมว่าเธอไม่ได้มีแค่คำพูดลอยๆ แต่มีคลิปเหตุการณ์จากหลายมุมมองยืนยันเช่นกัน รวมถึงภาพในกล้องของช่างภาพข่าวอิสระที่ยืนอยู่ใกล้เธอๆ ก็แสดงให้เห็นถึงขวดแก้วที่ลอยมาจากกลุ่มตำรวจควบคุมฝูงชนเช่นกัน 

 

ภาพโดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

หลักฐานสำคัญอีกชิ้น คือภาพในกล้องของชาลินีที่เธอถ่ายได้กับมือ ไม่กี่เสี้ยววินาทีก่อนที่เธอจะถูกเศษแก้วจากขวดดังกล่าวกระเด็นเข้าบาดลูกตา จนต้องออกจากพื้นที่ไปปฐมพยาบาล แต่ชาลินีกล่าวว่าขอเก็บภาพชิ้นนี้ไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญในอนาคต 

“วินาทีนั้นรู้แล้วว่าโดนตาแน่เลย” ชาลินีเล่าความรู้สึก “แต่ยังมองเห็นอยู่ เลยรู้ว่าไม่ได้โดนตาดำ เราเคยทำเลสิกมาด้วย เลยกลัวมาก เพราะถ้าโดนกระจกตาจะมีปัญหาแน่ๆ” 

หลังจากได้รับบาดเจ็บ มีกลุ่มช่างภาพและผู้ชุมนุมในบริเวณนั้นเข้ามาช่วยเหลือชาลินีและพาไปปฐมพยาบาล เธอได้ตัดสินใจรีบไปโรงพยาบาล โดยขับรถส่วนตัวไปเอง เธอมาทราบทีหลังว่าหลังจากที่เธอได้รับบาดเจ็บเพียงไม่กี่นาที ตำรวจก็เริ่มเข้าสลายการชุมนุม 

นาทีที่ 11.28 ในคลิปแสดงให้เห็นจังหวะขวดที่ถูกขว้างมาจากฝั่งตำรวจ

ผลการตรวจของแพทย์สรุปว่า ชาลินีมีอาการเลือดออกใต้เยื่อบุตาเนื่องจากเนื้อตาขาวฉีกขาด เป็นแผลรูปตัว T ขนาด 6 มิลลิเมตร และห่างจากตาดำของเธอไปเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น จึงรอดจากการสูญเสียการมองเห็นหรืออาการบาดเจ็บร้ายแรงอย่างหวุดหวิด

แพทย์ยังระบุด้วยว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยชาลินีไว้คือเศษแก้วที่พุ่งเข้าตาของเธอ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงเป็นเพียงแค่แผลฉีกขาด แต่ถ้าหากเป็นเศษขนาดเล็ก จะฝังลึกเข้าไปในเนื้อตา ทำให้การรักษาซับซ้อนยิ่งขึ้นหลายเท่า 

“โชคช่วยล้วนๆ อ่ะ ฉิวเฉียดมากๆ” ชาลินีกล่าว 

ชาลินีใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อให้เลือดในตาหยุดซึม โดยในช่วง 2 สัปดาห์นั้น แพทย์ได้แนะนำให้ชาลินีงดกิจกรรมที่ใช้แรงหรือต้องหันศีรษะกระทันหัน ทำให้เธอไม่สามารถวิ่งออกกำลังกายหรือทำงานในภาคสนามได้อย่างเต็มที่ 

และถึงแม้อาการบาดเจ็บเบื้องต้นจะดีขึ้นแล้ว แต่ก็อาจจะมีผลกระทบต่อชาลินีและอาชีพช่างภาพของเธอในระยะยาวอยู่ดี เพราะแพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ในอนาคตหรือไม่ และเธอต้องไปตรวจร่างกายเป็นระยะๆอย่างน้อยอีก 2 ปี

“หมอเตือนว่าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนในระยะยาวได้ เช่น น้ำวุ้นในตาเสื่อม เส้นประสาทเสื่อม ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นตอนนี้ อาจจะไปเกิดในอีกหลายปีข้างหน้าก็ได้” ชาลินีกล่าว 

หลังจากข่าวเกี่ยวกับการบาดเจ็บของชาลินีเป็นที่พูดถึงกันแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย มีบางคนตั้งคำถามว่าทำไมชาลินีจึงไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวหรือแว่น safety ซึ่งชาลินีระบุว่าจริงๆ แล้ววันนั้นเธอได้เตรียมอุปกรณ์ไปแล้วตามหลักความปลอดภัยที่ฝึกฝนมา แต่เป็นเพราะจังหวะบังเอิญจริงๆ ที่ไม่ได้ใส่แว่นป้องกันตัวอยู่ขณะนั้น

“เราก็มีอุปกรณ์ safety นะ เราใส่หมวกกับแว่น มีภาพคนอื่นถ่ายเห็นเราใส่ด้วย เพราะเราใส่ตลอดช่วงเช้าวันนั้น เวลานั่งพักเราก็ใส่ ช่วงตอนที่ปะทะกันรอบแรกๆ เราก็ใส่ แล้วก็ไปยืนหลบบนฟุตบาธด้วย เราไม่ได้เข้าไปชุลมุนด้วย เพราะเราไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเจ็บตัว เรามีหลักแบบนี้ว่า ถ้าได้ภาพดี แต่ถ้าเสี่ยงตาย ก็ไม่เอาเหมือนกัน เราเลยอยู่ห่างๆ ตลอด

“ถ้าเราเห็นตำรวจบุกมา เราก็ไม่อยู่ตรงนั้นแน่ๆ เราไม่ไปยืนโง่อยู่ตรงนั้นหรอก” ชาลินีสรุป

ชาลินีเล่าว่าในช่วงที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย เธอจึงค่อยถอดหมวก safety ออก (“เพราะร้อนระอุมาก ใส่มาทั้งวัน”) จนกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำพิธีเผาพริกกับเกลือ เธอและช่างภาพอื่นๆ จึงรีบเข้าไปเก็บภาพ ทำให้เกิดการเบียดเสียดกันและแว่นตา safety ของเธอหลุดออกไป 

“เราเลยคิดว่ารีบถ่ายก่อนแล้วค่อยไปหาแว่นละกัน แต่ก็โดนซะก่อน” ชาลินีเล่า พร้อมกล่าวเสริมด้วยว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. เป็นครั้งแรกที่เธอได้รับบาดเจ็บจากการทำงานภาคสนาม 

“เราถ่ายภาพข่าวมาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนหน้านี้เราเคยเห็นเพื่อนในวงการโดนกัน แต่เราก็รอดมาตลอด … ส่วนนึงก็น่าจะเพราะต้นสังกัดเราที่เป็นสำนักข่าวต่างประเทศ เค้าซีเรียสเรื่องความปลอดภัยมากๆ เค้าเทรนเรามาแบบนั้น ถ้าสถานการณ์เริ่มดูอันตราย ต่อให้น่าเก็บภาพแค่ไหน ก็ต้องออก เพื่อความปลอดภัย” 

เธอกล่าวด้วยว่าเหตุการณ์ที่ถนนดินสอได้ทำให้เธอจะยิ่งระมัดระวังตัวมากกว่าเดิม จากที่เคยระมัดระวังมากอยู่แล้ว

“กลายเป็นกติกาให้กับตัวเองเลยว่าต้องใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยไว้ตลอด เพราะถ้าถอดเมื่อไหร่ มันจังหวะนรกเมื่อนั้น” ชาลินีกล่าว 

“เราต้องระวังตัวมากกว่าเดิมแน่ๆ ต่อไปนี้ถ้าเราเห็นว่ามีตำรวจคฝ.อยู่ใกล้ๆ เราจะไม่ถอดเครื่องป้องกันแล้ว อย่างน้อยๆ ต้องใส่แว่นแน่ๆ … เป็น wake up call [อุทาหรณ์] เลยว่าต้องใส่ตลอด หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องเอาติดตัวไปด้วย ถ้ามีไรเกิดขึ้นจะได้รีบหามาใส่ได้ทัน”

ชาลินีกล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่อุทาหรณ์ให้ตัวเธอเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้เพื่อนๆ ในวงการช่างภาพหันมาตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

“มีน้องบางคนทักมาบอกเราว่า เห็นข่าวเราแล้วหลอนเลย” ชาลินีเล่า “ขนาดเรายังโดน ก็แปลว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ มีคนนึงบอกว่าเค้ากดซื้อแว่น goggle ดีๆ ทันทีเลย หลังลังเลมาปีนึง หลายคนก็ทักมาถามหาสเปคของแว่น goggle ที่กันกระแทกได้ ก่อนหน้านี้หลายคนไม่ได้ใส่ goggle เวลาทำงานไง” 

ชาลินีตระหนักดีว่า ช่างภาพหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบถ้วน “เพราะของดีๆ มันก็ราคาแพงไง ไม่ใช่ช่างภาพจะรวยอ่ะ ถ้าออฟฟิศไม่ซื้อให้ ก็กลายเป็นช่างภาพแบกรับความเสี่ยงกันไป” 

อีกประเด็นที่ชาลินีอยากตั้งคำถามดังๆ คือท่าทีของทางตำรวจ ที่ไม่เคยติดต่อมาหาเธอเลยหลังเกิดเหตุมา 1 เดือนเต็มๆ ถึงแม้โฆษกตำรวจจะได้เคยแถลงข่าวว่า มีการตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

“ถ้ามีการตรวจสอบตามอ้างจริง น่าจะมีการสอบถามทุกฝ่าย รวมถึงคนที่โดนด้วย ซึ่งก็คือเรา แต่ก็ไม่มีใครติดต่อเรา” ชาลินีกล่าว “เรารู้สึกว่ามันน่าสงสัย น่าแปลกใจ ไม่รู้ว่าขั้นตอนตรวจสอบของตำรวจเป็นยังไง ไม่มีแม้แต่จะติดต่อเรามาเพื่อถามเหตุการณ์”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net