Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์แรงงานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นขอขึ้นค่าแรง 5%

สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่นหรือเร็งโงซึ่งเป็นองค์กรแรงงานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นตัดสินใจว่า จะเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างประมาณร้อยละ 5 ในการเจรจาค่าจ้างประจำปีซึ่งจะเริ่มในต้นปีหน้า

เร็งโงได้รับรองเป้าหมายอย่างเป็นทางการนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางซึ่งจัดขึ้นใกล้กรุงโตเกียวในวันที่ 1 ธ.ค. 2022

เป้าหมายร้อยละ 5 ดังกล่าวรวมถึงการขึ้นค่าจ้างพื้นฐานราวร้อยละ 3นอกเหนือไปจากการเพิ่มค่าจ้างปกติที่ถือตามอาวุโส

เป้าหมายนี้ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1995 ที่เร็งโงเคยเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 6 เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเรียกร้องเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

โยชิโนะ โทโมโกะ ประธานเร็งโงกล่าวว่า ขณะนี้คนทำงานในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นสามเท่า ค่าเงินเยนที่อ่อนลง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โยชิโนะกล่าวอีกว่า การขึ้นค่าจ้างจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การเติบโตด้านค่าจ้าง ราคา และเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและว่า การเจรจาค่าจ้างที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ที่มา: NHK World, 1/12/2022

กาตาร์เผยคนงานก่อสร้างสนามฟุตบอลโลก 2022 เสียชีวิต 400-500 คน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกาตาร์ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เปิดเผยว่า มีคนงานก่อสร้างสนามแข่งขันเสียชีวิตประมาณ 400 - 500 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ทางการกาตาร์เคยระบุไว้มาก

ฮัสซาน อัล-ทาวาดี เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมาธิการสูงสุดด้านการส่งมอบและสืบทอดของกาตาร์ เผยถึงตัวเลขดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ เพียร์ส มอร์แกน พิธีกรคนดังชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงตัวเลขนี้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกาตาร์เอง

อัล-ทาวาดี ยังได้ขู่ว่าจะตอบโต้เสียงวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เข้าร่วมก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ รวมทั้งสนามกีฬาและระบบขนส่งมวลชน มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รัฐบาลกาตาร์และคณะกรรมาธิการสูงสุดชุดนี้ ยังมิได้ตอบรับคำขอให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ในการสัมภาษณ์ซึ่งมีการโพสต์ข้อความบางส่วนในสื่อสังคมออนไลน์ ฮัสซาน อัล-ทาวาดี ตอบคำถามของมอร์แกนเรื่องคิดว่ามีแรงงานต่างด้าวเสียชีวิตที่คนระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยเขาตอบว่า "น่าจะประมาณ 400 - 500 คน แต่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน"

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการสูงสุดด้านการส่งมอบและสืบทอดของกาตาร์ ระบุว่า ตัวเลขแรงงานที่เสียชีวิตระหว่างปีค.ศ. 2014 - 2021 อยู่ที่ 40 คน โดยเป็นข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้างสนามกีฬาเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้มี 37 คนที่กาตาร์ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น อาการหัวใจล้มเหลว และมีเพียง 3 รายเท่านั้นที่เสียชีวิตจากการทำงาน

นับตั้งแต่สมาพันธ์ฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่า ประกาศเมื่อปี 2010 เลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ทางการกาตาร์ได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ประเทศเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการแข่งขันครั้งนี้ เช่น ยกเลิกระบบการจ้างงานที่บังคับให้ลูกจ้างต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาของสัญญาจ้าง และเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์มากมายถึงการละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ รวมถึง การจ่ายค่าแรงล่าช้า และการถูกนายจ้างล่วงละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบ

คำพูดของอัล-ทาวาดี ยังทำให้เกิดคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของลูกจ้าง ที่รัฐบาลหรือภาคธุรกิจในประเทศแถบตะวันออกกลางเปิดเผยออกมาต่อสาธารณชน ท่ามกลางอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารระฟ้าที่เฟื่องฟูในหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ที่มา: VOA, 1/12/2022

สหภาพแรงงานในเกาหลีใต้ประท้วงการบังคับให้คนขับรถบรรทุกกลับไปทำงาน หลังจากนัดหยุดงานเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง

สหภาพแรงงานในเกาหลีใต้เคลื่อนขบวนเข้ากรุงโซล เพื่อประณามรัฐบาลที่พยายามบังคับให้คนขับรถบรรทุกกลับไปทำงาน หลังจากนัดหยุดงานเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง

รัฐบาลประธานาธิบดียุน ซอก-ยอลมีคำสั่งเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2022 ให้คนขับรถบรรทุกซีเมนต์ประมาณ 2,500 คนกลับไปทำงาน โดยระบุว่า การนัดหยุดงานกำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่เศรษฐกิจประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้คำสั่งนี้ภายใต้กฎหมายแก้ไขใหม่ในปี 2004 ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับสูงสุด 30 ล้านวอน กับผู้นัดหยุดงานโดยไม่มีเหตุผลอันชอบธรรม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า มีคนขับรถบรรทุกทำตามคำสั่งกลับไปทำงานจำนวนเท่าใด เนื่องจากสหภาพแรงงานของพวกเขาประกาศนัดหยุดงานต่อไป

สหภาพแรงงานคนขับรถบรรทุกสินค้าเริ่มนัดหยุดงานตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2022  เรียกร้องให้รัฐบาลทำให้ระบบค่าจ้างขนส่งขั้นต่ำที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้เป็นมาตรการถาวร และขยายระบบนี้จากปัจจุบันที่ให้เฉพาะคนขับรถบรรทุกซีเมนต์และตู้สินค้า ให้ครอบคลุมถึงคนขับรถขนส่งสินค้าอื่น ๆ ประกอบด้วยน้ำมัน สารเคมี เหล็ก ยานยนต์ และพัสดุ โดยให้เหตุผลว่า ระบบนี้จำเป็นต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและฐานะทางการเงิน ไม่เช่นนั้นพวกเขาต้องขับรถส่งของให้มากขึ้นและเสี่ยงอันตรายมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ด้านรัฐบาลเสนอต่ออายุระบบเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก 3 ปี แต่ปัดเรื่องขยายให้ครอบคลุมคนขับรถบรรทุกประเภทอื่น

ที่มา: npr, 3/12/2022

มูลค่าค่าจ้างแท้จริงในญี่ปุ่นลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

มูลค่าค่าจ้างแท้จริงในญี่ปุ่นลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือน ต.ค. 2022 เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนหน้า

ค่าจ้างที่เป็นตัวเลขสูงขึ้น แต่ก็เติบโตในอัตราที่ช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค ตัวเลขเบื้องต้นที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นนำออกเผยแพร่แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างเฉลี่ยคือ 275,888 เยน หรือราว 70,810 บาท ตัวเลขนี้รวมเงินเดือนพื้นฐานและค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลาแล้ว เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในรูปเงินเยนจากเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน

ส่วนค่าจ้างแท้จริงเมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ลดลงร้อยละ 2.6 และเป็นครั้งแรกสำหรับค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 2 นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2022 ซึ่งตอนนั้นผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ฉุดให้ค่าจ้างลดลง

ที่มา: NHK World, 6/12/2565

หลายฝ่ายในไต้หวันไม่เห็นด้วยให้แรงงานต่างชาติซื้อรถจักรยานไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง

จากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกไต้หวันประกาศตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. เป็นต้นมา รถจักรยานไฟฟ้าซื้อใหม่ทุกคันจะต้องยื่นขอติดแผ่นป้ายทะเบียนและต้องซื้อประกันภัยภาคบังคับ จึงจะอนุญาตให้ขับขี่บนท้องถนนได้ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบใหม่สำหรับรถจักรยานไฟฟ้าที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและเกิดอุบัติเหตุสูงตามไปด้วย ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ แต่มีมาตรการหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ นั่นคือ แรงงานต่างชาติซื้อรถจักรยานไฟฟ้าคันใหม่ต้องมีหนังสืออนุญาตจากนายจ้าง จึงจะขึ้นทะเบียนยื่นขอแผ่นป้ายได้ นอกจาก ส.ส. ทนายความและองค์กร NGO ต่อต้านแล้ว ล่าสุดกระทรวงแรงงานไต้หวันก็แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเช่นกัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 9/12/2022

ช่องว่างไม่ลด ผู้หญิงในออสเตรเลียรายได้น้อยกว่าผู้ชายเกือบ 26,000 ดอลลาร์ออสฯ

ผู้หญิงในออสเตรเลียกำลังได้รับรายได้น้อยกว่าผู้ชายเกือบ 26,000 ดอลลาร์ ขณะที่ความพยายามในการปิดช่องว่างด้านรายได้นั้นกลับชะงักงัน

ข้อมูลล่าสุดที่ได้รับการเปิดเผยโดยหน่วยงานด้านความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน (Workplace Gender Equality Agency) แสดงให้เห็นว่า ช่องว่างรายได้นั้นยังคงชะงักอยู่ที่ร้อยละ 22.8 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ช่องว่างรายได้ปีงบประมาณ 2021/22 อยู่ในระดับเดียวกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งผู้หญิงได้รับรายได้ชั่วโมงละ 0.77 ดอลลาร์ ในรายได้ทุก ๆ 1 ดอลลาร์ที่ผู้ชายได้รับ

นายจ้างจำนวน 7 ใน 10 มีช่องว่างรายได้ที่เอื้อให้กับผู้ชาย ขณะที่ผู้หญิงยังคงมีบทบาทในการเป็นผู้นำน้อยกว่า

สถิติของหน่วยงานดังกล่าวยังพบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มดำรงตำแหน่งในระดับบริหารมากกว่า แม้ว่าจะเป็นภาคส่วนที่มีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม เช่น งานด้านการดูแลสุขภาพ และงานด้านการศึกษา

ขณะที่จำนวนผู้หญิงในตำแหน่งประธานบริหารบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.4 เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 22.3 และเพิ่มขึ้นมาเพียงร้อยละ 5 ตั้งแต่ปี 2014

แต่ก็ยังมีบอร์ดบริหารของบริษัทจำนวน 1 ใน 5 ที่ไม่มีผู้หญิงในสมาชิกบอร์ด

ส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารอาวุโสอื่น ๆ ได้รับรายได้น้อยลงในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 100,000 ดอลลาร์

มีเพียง 2 อุตสาหกรรมที่มีผู้หญิงในตำแหน่งบริหารมากกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของพวกเขาในตลาดแรงาน ซึ่งรวมถึงงานคมนาคมขนส่ง งานไปรษณีย์ และงานคลังสินค้า (ร้อยละ 26 ของตำแหน่งผู้จัดการ) และงานเหมือง (ร้อยละ 21 ของตำแหน่งผู้จัดการ)

ที่มา: SBS, 14/12/2022

ร้านค้าพึ่งพา ‘หุ่นยนต์’ แก้ปัญหาเงินเฟ้อ-ค่าแรงพุ่ง

ปัญหาตลาดแรงงานที่ตึงตัวในปัจจุบัน บวกกับค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนแรงกดดันด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคกำลังบีบให้อุตสาหกรรมร้านค้าปลีกต้องดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ และการพึ่งพาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

คลังสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองรูสเซนดาล ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ นำเครนอัตโนมัติและยานพาหนะไร้คนขับมาใช้เพื่อจัดกองเสื้อผ้าให้กับร้านค้าปลีกไพร์มาร์ค (Primark) ของฝรั่งเศสและอิตาลี เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนคนงาน อีกทั้งยังลดต้นทุนในการจัดหาคลังสินค้าเพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่งด้วย

แม้ว่าธุรกิจการค้าปลีกจะนำระบบอัตโนมัติมาใช้ช้ากว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถือว่าอัตราการพึ่งพาระบบนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การนำระบบชำระเงินด้วยตนเองแบบง่าย ๆ มาใช้ในร้านค้า ไปจนถึงการใช้หุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในสายการผลิตและภาคบริการ

ข้อมูลจากองค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ International Federation of Robotics ระบุว่าการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 31% ในปี 2021 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ยอดขายหุ่นยนต์บริการเพิ่มขึ้น 37% โดยภาคค้าปลีกเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

มาร์ค เชอร์ลีย์ (Mark Shirley) หัวหน้าฝ่ายโลจิสติกส์ของ Primark ที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวไอริชกล่าวว่าการลงทุน 25 ล้านยูโร หรือราว 900 ล้านบาท ในระบบอัตโนมัติของคลังสินค้าที่เมืองรูสเซนดาล จะเริ่มคืนทุนให้ปีละ 8 ล้านยูโรในอีก 4 ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจากการประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะที่ไม่ต้องเช่าคลังสินค้าเพิ่มอีก

เขาประเมินว่าการใช้เครนอัตโนมัติแทนการใช้รถยกที่ต้องมีคนควบคุม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในคลังสินค้าได้ถึง 80% เลยทีเดียว

และที่สำคัญคือ การใช้ยานยนต์ไร้คนขับหมายความว่าบริษัทไม่ต้องแข่งขันในตลาดแรงงานดัตช์ที่กำลังตึงตัวอย่างมากอีกต่อไป ซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศ

เชอร์ลีย์บอกกับรอยเตอร์ว่า เมื่อมองภาพรวมของอุตสาหกรรม ผู้คนหันมาใช้วิธีนี้เพื่อลดความเสี่ยงในด้านแรงงานเขาประเมินด้วยว่าอุตสาหกรรมการค้าปลีกราว 40% ล้วนใช้ระบบอัตโนมัติ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60-65% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้านี้

กองทัพหุ่นยนต์ที่เดินสวนสนามกันไปมาในนั้น เริ่มเห็นได้ตามร้านค้าแฟชั่นและร้านขายอาหารทั่วโลก ซึ่งปกติต้องพึ่งพาคนงานนับล้าน แต่ธุรกิจเหล่านี้กำลังเผชิญกับต้นทุนค่าจ้าง ค่าพลังงาน และค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มตึงตัว จากที่ผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างแอมะซอน ได้เตือนว่างบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยนั้นตึงตัว โดยเฉพาะในยุโรป

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ค้าปลีกทั่วยุโรปต่างใช้แนวทางที่แตกต่างกัน อย่างเช่น คาร์ฟูร์ ผู้ค้าปลีกอาหารรายใหญ่ที่สุดในยุโรปได้ตั้งเป้าว่าจะลดต้นทุนและลดความซับซ้อนของประเภทสินค้าที่จำหน่าย ในขณะที่เทสโก้ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ กลับยอมรับในผลกำไรที่ลดลง

ในด้านบริษัท อินดิเท็กซ์ (Inditex) เจ้าของร้านเสื้อผ้า ซาร่า (Zara) ได้ขึ้นราคาเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ เอบี ฟู้ดส์ (AB Foods) เจ้าของไพร์มาร์ค กล่าวว่าผู้ค้าปลีกแฟชั่นที่มีราคาต้นทุนต่ำจะจำกัดการขึ้นราคา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะเลขสองหลักในตลาดหลายแห่ง เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถจ่ายได้อีกต่อไป

ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่ปรึกษาของบริษัทแมคคินซีย์ (McKinsey) กล่าวว่า แม้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ของระบบค้าปลีกออนไลน์จะหันมาใช้ระบบอัตโนมัติกับมากขึ้น แต่การดำเนินธุรกิจในภาพรวมของผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการทำงานโดยใช้แรงงานมนุษย์อยู่

แอนนิตา บัลชันดานิ (Anita Balchandani) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในสาขาเครื่องแต่งกาย สินค้าแฟชั่น และสินค้าฟุ่มเฟือยในอังกฤษกล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในระยะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นและมีราคาถูกลง และการใช้ระบบอัตโนมัติในบางพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น”

แมคคินซีย์ คาดการณ์ว่าบริษัทแฟชั่นจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีเป็นสองเท่าจาก 1.6% เป็น 1.8% ของรายรับในปี 2021 เป็น 3.0% และ 3.5% ภายในปี 2030 โดยแบรนด์แฟชั่นจะรวมกระบวนการดิจิทัลเข้าด้วยกันอย่างเต็มรูปแบบสามารถลดเวลาที่ใช้ในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ยอดขายสินค้าในราคาเต็มเพิ่มขึ้น 8% และต้นทุนการผลิตลดลงได้ 20%

อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ดังกล่าวกำลังขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติในภาคการค้าปลีกด้านอาหารด้วย โดยบริษัทต่าง ๆ ได้ลงทุนในหุ่นยนต์ทำความสะอาด ป้ายราคาอิเล็กทรอนิกส์ตรงชั้นวางสินค้า และเทคโนโลยีที่ช่วยแจ้งเตือนระดับสินค้าคงคลังตามช่วงเวลาจริงและช่วยจัดการเติมสินค้า เป็นต้น

ที่มา: VOA, 14/12/2022

รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอระบบออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแก่ครูสอนภาษาญี่ปุ่น

สำนักงานกิจการด้านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้เสนอระบบออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่รัฐบาลรับรองแก่ครูสอนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น เนื่องจากผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นในญี่ปุ่น

กระทรวงยุติธรรมระบุว่ามีชาวต่างชาติ 2,960,000 คนอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โรงเรียนที่ชาวต่างชาติเหล่านี้สามารถไปเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าทักษะของครูผู้สอนนั้นต่างกันออกไป จึงจำเป็นที่ต้องมีระบบเพื่อรับประกันมาตรฐานที่แน่นอนของการศึกษา

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2022 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการด้านวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้เสนอแผนการฉบับร่างสำหรับระบบเช่นว่านี้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญ

ภายใต้แผนการดังกล่าว ผู้ที่อยากเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่รัฐบาลกำหนด และผ่านการสอบข้อเขียนเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ส่วนผู้ที่สอนอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว จะใช้มาตรการชั่วคราว โดยจะอนุญาตให้ทำงานแบบไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปสักระยะหนึ่ง

ทางสำนักงานมีแผนที่จะยื่นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาพิจารณา

ที่มา: NHK World, 14/12/2022

สหภาพแรงงานราชวิทยาลัยการพยาบาลของสหราชอาณาจักรหยุดงานประท้วงในรอบ 106 ปี

สหภาพแรงงานในสังกัดของราชวิทยาลัยการพยาบาลของสหราชอาณาจักร (RCN) นัดหยุดงานประท้วงในวันที่ 15 ธ.ค. พร้อมขู่จะนัดหยุดงานประท้วงอีกในช่วงเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น พร้อมทั้งเร่งรับสมัครบุคลากรใหม่หลายอัตราแทนพยาบาลที่เกษียณ หรือลาออก นับเป็นการประท้วงเป็นครั้งแรกในรอบ 106 ปี ของราชวิทยาลัยการพยาบาล

RCN เป็นองค์กรสหภาพการพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร มีพยาบาลในสังกัดราว 100,000 คน ที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ปฏิบัติงานอย่างยากลำบากมาหลายปี เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ไม่มีการรับสมัครบุคลากรใหม่แทนพยาบาลที่เกษียณ หรือลาออก ทั้งมีภารกิจเร่งด่วนจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และงบประมาณจากรัฐไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: CNN, 15/12/2022

เอ็นจีโอเรียกร้องยกเครื่องกฎย้ายถิ่นฐานออสเตรเลีย ก่อนจะกลายเป็น "สังคมแรงงานชั่วคราว"

รายงานฉบับใหม่จากสถาบันแกรทแทน (Grattan Institute) ที่ระบุว่าระบบการย้ายถิ่นฐานในออสเตรเลียจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อหยุดยั้งประเทศนี้จากการกลายเป็น “สังคมแรงงานชั่วคราว” และการใช้ประโยชน์จากแรงงานมีทักษะจากต่างชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย สถาบันแกรทแทนเตือนว่า ข้อกำหนดเรื่องวีซ่าที่ยุ่งยากกำลังทำให้ออสเตรเลียไม่เป็นที่น่าดึงดูดสำหรับเยาวชนที่มีความสามารถซึ่งพร้อมที่จะย้ายไปได้ทุกที่ ขณะที่การพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำมากจนเกินไปก็กำลังกดราคาค่าจ้าง และนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ

รายงานฉบับนี้ ซึ่งกำลังจะได้รับการเสนอสู่การไต่สวนของรัฐสภาเกี่ยวกับระบบการย้ายถิ่นฐานฐานของออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนในระดับโลกที่ “ยอดเยี่ยมและสดใสที่สุด” เพื่อปรับปรุงการเติบโตที่เชื่องช้า และทำให้เส้นทางสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ของออสเตรเลียนั้นราบรื่น ซึ่งรวมถึงการยกเลิกโครงการที่เอื้อให้กับผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีอายุมาก และปรับปรุงระบบต่างๆ ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่าปิดกั้นผู้ย้ายถิ่นฐานรายได้สูงจากการอาศัยอยู่ในออสเตรเลียระยะยาว

ที่มา: SBS, 15/12/2022

ปี 2022 คนทำงานในไต้หวันรับค่าจ้างใหม่ 26,400 เหรียญ เพิ่ม 1,150 เหรียญ/เดือน รายได้ไม่เกิน 423,000 เหรียญ ไม่ต้องเสียภาษี

ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2022 เป็นต้นไป ค่าจ้างขั้นต่ำในไต้หวันจะปรับขึ้นจาก 25,250 เหรียญไต้หวันเป็น 26,400 เหรียญ หรือปรับเพิ่มเดือนละ 1,150 เหรียญ เพิ่มขึ้นในอัตราส่วน 4.56% คิดเป็นรายวัน วันละ 880 เหรียญไต้หวัน หรือชั่วโมงละ 110 เหรียญไต้หวัน ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับแรงงานท้องถิ่นที่ทำงานเสริมเป็นชั่วโมงจาก 168 เหรียญเป็น 176 เหรียญ ประมาณการว่าผู้ใช้แรงงานทั้ง 2 กลุ่มได้รับอานิสงส์ประมาณ 2.32 ล้านคน

นอกจากนี้ผู้มีรายได้ไม่ถึง 423,000 เหรียญไต้หวัน หรือเฉลี่ยมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 35,250 เหรียญไต้หวัน กรณีที่ไม่มีการทำงานล่วงเวลาหรือโอที แต่หากมีโอทีส่วนที่ไม่เกิน 46 ชั่วโมง ซึ่งเป็นโอทีปลอดภาษี ค่าโอทีประมาณ 7,000 เหรียญ จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน รวมแล้วหากรายได้ไม่เกิน 43,000 เหรียญต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับว่าแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ ไม่ต้องเสียภาษีเลย หากมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายล่วงหน้า เมื่อยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไปแล้ว 3-4 เดือน จะได้รับคืนทั้งหมด

ที่มา: Radio Taiwan International, 16/12/2022

สหรัฐฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินติดเม็กซิโก สกัดผู้อพยพทะลักข้ามพรมแดน

นายกเทศมนตรีเมืองเอล ปาโซ รัฐเท็กซัส ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.  เพื่อรับมือกับคลื่นผู้อพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายพันคนที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่บริเวณพรมแดนทางทิศใต้ของสหรัฐฯ ติดกับเม็กซิโก

ออสการ์ ลีเซอร์ นายกเทศมนตรีเมืองเอล ปาโซ กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยให้เมืองนี้มีเงินทุนและทรัพยากรที่จำเป็นจากรัฐบาลกลางเพื่อใช้ในการรับมือวิกฤติการณ์ผู้อพยพในปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้มีผู้อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาในเมืองเอล ปาโซ มากกว่า 2,400 คนต่อวัน ทำให้ศูนย์พักพิงผู้อพยพไม่สามารถรองรับได้ ผู้อพยพหลายพันคนต้องนอนตามท้องถนนในเมืองในขณะที่อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลง

คำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้มีขึ้นหลังจากที่คำสั่งด้านสาธารณสุขของรัฐบาลกลาง ซึ่งเรียกว่า Title 42 ที่นำมาใช้ในช่วยการระบาดของโควิด-19 กำลังจะหมดอายุลงในวันพุธนี้ ซึ่งหมายถึงการกลับมาอนุญาตให้ผู้อพยพสามารถเดินทางข้ามพรมแดนเข้ามาในสหรัฐฯ ได้เหมือนเมื่อก่อน

นายกเทศมนตรีลีเซอร์ กล่าวว่า หาก Title 42 ไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไปหลังวันพุธนี้ คาดว่าจะมีผู้อพยพทะลักเข้ามาในอเมริกาผ่านทางเมืองเอล ปาโซ จากระดับประมาณ 2,400 คนในปัจจุบัน เป็น 6,000 คนต่อวัน

ด้านสมาชิกวุฒิสภาท้องถิ่นรัฐเท็กซัส ซีซาร์ เจ บลังโก จากพรรคเดโมแครต มีแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ชุมชนตามแนวพรมแดนสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่จากจำนวนผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามา

ที่มา: VOA, 19/12/2022

แรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นก่อตั้งสหภาพแรงงาน

ผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพและพนักงานไม่ประจำที่เป็นชาวต่างชาติในญี่ปุ่นก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นกับเหล่านายจ้างของตน

พิธีเปิดสหภาพแรงงานจัดขึ้นในกรุงโตเกียวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม สหภาพแรงงานนี้เป็นสหภาพสำหรับพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะ มีสมาชิกประมาณ 20 คน หลายคนในจำนวนนี้เป็นผู้ฝึกหัดทักษะอาชีพและนักศึกษาชาวเวียดนามที่กำลังทำงานพิเศษอยู่

มีรายงานหลายกระแสเกี่ยวกับปัญหาหลากหลาย เช่น การไม่จ่ายค่าจ้าง และการไล่ออกอย่างไม่ยุติธรรมขณะที่จำนวนคนงานชาวต่างชาติกำลังเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น สหภาพแห่งใหม่นี้ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรไม่แสวงกำไรที่สนับสนุนคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น

สหภาพแรงงานนี้ระบุว่า ทางสหภาพกำลังเข้าร่วม “เร็งโงโตเกียว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และสหภาพมีเป้าหมายที่จะใช้เครือข่ายของเร็งโงกับองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเร็ว

ที่มา: NHK World, 19/12/2022

ออสเตรเลียออก ‘วีซ่าภายใน 3 วัน’ สำหรับครูและพยาบาล

กระทรวงกิจการภายใน (Department of Home Affairs) ได้เลิกใช้ Priority Migration Skilled Occupation List (PMSOL) เพื่อจัดลำดับอาชีพที่จะได้รับพิจารณาก่อนใครสำหรับใบสมัครขอวีซ่าทักษะ เนื่องจากเห็นว่าล้าสมัยและไม่สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่สำคัญทั่วออสเตรเลียอีกต่อไป

รายการดังกล่าว ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในเดือนกันยายน 2020 ได้ระบุอาชีพที่ขาดแคลน 44 อาชีพจากรายการอาชีพสำหรับการย้ายถิ่นฐานผู้ที่มีทักษะ (Skilled Migration Occupation List หรือ SMOL) เพื่อให้สามารถได้รับการพิจารณาวีซ่าได้อย่างรวดเร็วในช่วงประเทศฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไปตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2022

อาชีพในรายการดังกล่าว อาทิเช่น วิศวกร เชฟ นักบัญชี จิตแพทย์ โปรแกรมเมอร์ และเภสัชกร นอกจากนี้ยังรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาลและแพทย์ แต่ไม่รวมครู

กระทรวงกิจการภายในกล่าวว่า คำสั่งใหม่จากรัฐมนตรีฉบับที่ 100 ขณะนี้สั่งการให้ผู้สมัครขอวีซ่าทักษะในภาคสุขภาพและการศึกษาจะได้รับการพิจารณาวีซ่าก่อนเป็นอันดับแรก

“ใบสมัครขอวีซ่าทักษะเหล่านี้ตอนนี้กำลังได้รับการพิจารณาภายใน 3 วัน” โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวง ระบุกับ SBS

ที่มา: SBS, 19/12/2022

พนักงานขับรถฉุกเฉินในสหราชอาณาจักรนัดหยุดงานประท้วง

พนักงานขับรถฉุกเฉินในสหราชอาณาจักรซึ่งรวมถึงแพทย์และเจ้าหน้าที่รับสาย จะนัดหยุดงานประท้วงในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ ถือเป็นการขยายขอบเขตข้อพิพาทกับรัฐบาลเรื่องการปฏิเสธที่จะขึ้นค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หลังจากพยาบาลหยุดงานประท้วงมาก่อนหน้านี้

ที่มา: Al Jazeera, 21/12/2022

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net