Prachatai Eyes View: ประชาชนจงเจริญ

 

 

ภาพถ่ายถูกบันทึกด้วย Black and White negative film และผ่านกระบวนการทาง Dark Room ภาพถ่ายทั้งหมดจึงผ่านกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเวลา ซึ่งเหมาะสมกับการทำงานในโครงงานชุดนี้ที่ไม่ใช่ภาพข่าวหรือรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเหมือนบันทึกส่วนตัวเพื่อทำความเข้าใจในสี่งที่เกิดขึ้นกับผู้คน แล้วถูกนำมาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอสื่อสารเรื่องราวของผู้คน/คนไร้ซื่อเสียงที่ดำรงอยู่ในสังคม คุณลักษณะอย่างหนึ่งของภาพถ่ายขาวดำคือสามารถถ่ายทอดภาพของความเป็นคนที่เท่ากัน

ภาพถ่ายขาวดำทั้ง 10 ภาพ คงไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทยได้ทั้งหมด แต่ภาพถ่ายได้นำพาเราไประลึกถึงจุดร่วมหรืออะไรก็ตามที่พาเรามาอยู่ในเรื่องราวและเหตุการณ์เดียวกัน ที่ทำให้คุณค่า ความหมาย และ เสียง ที่ผู้คนได้สร้างและรับรู้ร่วมกันยังคงอยู่และส่งผ่านต่อๆ ไป

แด่ผู้คน 
ประชาชนจงเจริญ

 

 

สิ่งที่ทำให้เราเป็นคนเสมอกัน
ผู้คนมารวมตัวกันที่หน้าห้างสรรพสินค้า อมรินทร์พลาซ่า และขยับขึ้นไปเริ่มตั้งขบวนบน skywalk เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชนตามคำสัญญาของผู้นำประเทศในขณะนั้น ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการทำรัฐประหารในปี 2557 โดยมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นเวลากว่า 4 ปีที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง  (บันทึกภาพ มกราคม 2562)
 

9 ปี พฤษภา 53
19 พฤษภาคม 2553 เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของประชาชนอีกหนึ่งวัน เหตุความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 10 เมษายน 2557 และต่อเนื่องมาจนถึง 19 พฤษภาคม 2557 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 99 ศพ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ติดอาวุธสงครามโดยอ้างว่าเป็นการขอคืนพื้นที่ 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2562 จึงมีประชาชนและคนเสื้อแดงออกมาร่วมกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53 บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นจำนวนมากผสมผสานกับความไม่พอใจการกลับเข้ามาสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหารที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และที่มากพอๆ กันคือเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งเป็น 9 ปีของเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่ความยุติธรรมยังไม่เคยปรากฏ (บันทึกภาพ พฤษภาคม 2562)
 

จุดวนรถ
กิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ของกลุ่มเยาวชน จัดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเยาวชนหลายคนเรียกว่า ‘จุดวนรถ’ เพราะเป็นเวลากว่า 6 ปี ที่ประเทศนี้ที่แม้แต่การตั้งคำถาม การถือกระดาษเปล่า หรือการบังคับใช้กฏหมายและความยุติธรรมจะอยู่ในกรอบของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีเยาวชนเข้าร่วมจำนวนมาก บ้างก็แต่งตัว cosplay บ้างก็นำสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว เต่า มาร่วมกิจกรรมด้วย จัดเป็นหนึ่งกิจกรรมของเยาวชนที่มีเสียงและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนานที่ส่งตรง ชัดเจน ถึงผู้มีอำนาจในขณะนั้น 
(บันทึกภาพ กรกฎาคม 2563)
 

บททดสอบ
เยาวชนอาสาจับมือกันทำแนวกั้นพื้นที่ ในกิจกรรมการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ในหลายๆ กิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงคล้ายบททดสอบว่าพวกเราจะจับมือยืนหยัด และเดินไปด้วยกันจนถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ (บันทึกภาพ ตุลาคม 2563)
 

ค.ฝ. กำลังมองหากลุ่มผู้ชุมนุม
ชุดคุมฝูงชนหลายนายกำลังเดินเข้าเคลียร์พื้นที่จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมุ่งหน้าแยกดินแดง ช่วงที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณพื้นที่ดินแดงและราชปรารภ เจ้าหน้าที่มักใช้ความรุนแรง ทุบตีผู้ต้องสงสัย ภายหลังจากการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ซึ่งมักสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาและอาศัยในพี้นที่ด้วยเช่นกัน โดยในช่วงเวลานั้นไม่มีการนัดหมายการชุมนุม แต่มักรู้กันในหมู่ผู้ร่วมชุมนุมว่าต้องไปที่ไหน ทำอะไร และอย่างไร (บันทึกภาพ สิงหาคม 2564)

สัญญาณความรุนแรง
แก๊สน้ำตาที่ถูกระดมยิงจนทั่วบริเวณถนนราชปรารภตัดซอยรางน้ำ ภายหลังจากที่ผู้ชุมนุมกระจายตัวออกมาจากถนนอโศก-ดินแดง หลังจากกิจกรรมเดินไปกรมทหารราบที่ 1 โดยกิจกรรมได้มีการนัดหมายโดยกลุ่ม Free Youth และ RE DEM ได้ประกาศยุติการชุมนุม แต่การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่คุมฝูงชนและรถฉีดน้ำแรงดันสูงจากในซอยรางน้ำ กลับทำให้ผู้ชุมนุมกลับมารวมกลุ่มอีกครั้งในบริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้ตักน้ำใส่ถังมาวางไว้ให้ผู้ชุมนุมสำหรับล้างหน้า หรือนำไปลดความรุนแรงของแก๊สน้ำตา  (บันทึกภาพ สิงหาคม 2564)
 

 

ความเป็นคน
สามเณรกำลังช่วยปฐมพยาบาลผู้ร่วมชุมนุมบริเวณถนนสามเสนมุ่งหน้ารัฐสภาหลังเจ้าหน้าที่ระดมยิงแก๊สน้ำตาสลับกับรถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเพื่อสลายการชุมนุม ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 จนประมาณ 20.00 เหตุการณ์จึงสงบลง 

โดยในวันดังกล่าวมีการนัดชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อฟังอภิปรายการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งได้มีการปิดกั้นพื้นที่จากเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะบริเวณหน้ารัฐสภา ถนนสามเสน โดยเจ้าหน้าที่ได้นำแท่งปูนและลวดหนามใบมีดปิดกั้นถนนร่วมกับการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี และการใช้แก๊สน้ำตา (บันทึกภาพ พฤศจิกายน 2563)
 

 

แม่แต
แม่แตกำลังจ้องมองภาพถ่ายและโกศขณะเตรียมดอกไม้เพื่อนำอัฐิส่วนสุดท้ายของวาฤทธิ์ไปลอยอังคาร โดยในวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญครบ 100 วัน ในช่วงเช้าเป็นการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ช่วงบ่ายทางครอบครัวได้นำอัฐิส่วนที่ยังเก็บไว้มาลอยอังคารกลางทะเลบริเวณสมุทรปราการ 

วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 14 ปี ถูกยิงบริเวณถนนด้านหน้า สน. ดินแดง โดยกระสุนเข้าบริเวณท้ายทอยและไปหยุดบริเวณก้านสมอง ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 หลังจากนอนพักรักษาตัวและไม่ได้สติในห้องผู้ป่วยวิกฤตกว่า 2 เดือน และเสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ตามมาด้วยความเจ็บปวดอีกครั้งของผู้เป็นแม่คือการต้องไปรับบุตรชายที่ห้องสุดท้าย พร้อมๆ กับการได้กอดบุตรชายเป็นครั้งสุดท้ายที่ตามร่างกายของบุตรชายมีรอยเย็บ และคราบเลือดจางๆ หลังการผ่าพิสูจน์ศพ (บันทึกภาพ กุมภาพันธ์ 2565)

ผู้คน เยาวชน ความหวัง ความฝัน
ผู้คนจำนวนมากบนถนนนครสวรรค์ กำลังยืนเคารพเพลงชาติขณะรอเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล

ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยเริ่มชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่ประมาณ 09.00 โดยผู้ชุมนุมเริ่มทะยอยมาเพิ่งตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 และมากขึ้นๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.00 จึงเริ่มเคลื่อนขบวนผ่านถนนราชดำเนิน แยกผ่านฟ้า สู่ถนนนครสวรรค์ โดยระหว่างทางมีการปิดกั้นถนนบางเส้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการต้อนรับคำพูดและสัญลักษณ์มือโดยกลุ่มคนรักสถาบัน โดยในวันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากอีกหนึ่งวัน (บันทึกภาพ ตุลาคม 2563)

การกลับมาของย่ำรุ่ง
หลังจากชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีกลับมาให้คุณค่าและความหมายกับสัญลักษณ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจกล่าวได้ว่านี่คือความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และขัดขืนการลบทำลาย บิดเบือนประวัติศาสตร์ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้คนจำนวนหนึ่งมาร่วมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่ประชาธิปไตย (บันทึกภาพ มิถุนายน 2564)
 

Photographer: นพิน มัณฑะจิตร
สนใจภาพถ่าย ในลักษณะของเครื่องมือในการทำความเข้าใจผู้คนอันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ เรื่องราว เวลา ความรู้สึก รวมถึงเป็นบันทึกช่วยจำของตนเอง และตั้งใจที่จะถ่ายทอดและส่งเสียงแทนผู้คนเหล่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท