Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ เพื่อไทย' ชี้ 'ประยุทธ์' เสพติดอำนาจ แนะ แก้รธน.มาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ ขณะที่ 'ส.ส.ก้าวไกล' โต้ ส.ว. อ้างบิดเบือน ถ่วงญัตติเสนอ ครม. ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ยัน ชี้แจงข้อกังวลครบแล้ว

 

23 ธ.ค.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลว่า อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องประกาศอาจเพราะจำนนต่อสถานการณ์ เพราะหากไม่ประกาศ ส.ส.ก็ไม่กล้าย้ายตาม เมื่อได้ส.ส.ไม่ถึง 25 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯได้พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมย้อนแย้งไม่พูดอะไรตรงไปตรงมา การอ้างเหตุที่ตัดสินใจประกาศเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะพรรคพลังประชารัฐได้ประกาศเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปแล้วนั้น เป็นการพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ตีกินทางการเมืองหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือพล.อ.ประยุทธ์ ชิงออกจากพรรคพลังประชารัฐไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติก่อนที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อพล.อ.ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ การตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติไปเป็นนายกน้อยในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถือเป็นใบเสร็จว่ามีการวางแผนเตรียมการกันมาก่อน และเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 8 ปี ทำประเทศหนี้ล้น ประชาชนหนี้ท่วม อีก 2 ปี ที่เป็นนายกฯได้ ยังเสพติดอำนาจ ถ้าอยากได้ไคร่มีในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่อยู่แล้วสร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ใครก็ตามที่จะเข้าสู่อำนาจ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยกติกาที่เป็นธรรม ถ้ายังหวังใช้เสียง 250 ส.ว.โหวตเลือกเข้ามาเป็นนายกฯอีก จะถูกเย้ยหยัน ไร้ศักดิ์ศรี ไม่ได้รับการยอมรับ  ขาดความสง่างาม

“พล.อ.ประยุทธ์ ควรส่งสัญญาณให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ เพื่อให้ได้นายกฯ ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับของประชาชน” อนุสรณ์ กล่าว

'ส.ส.ก้าวไกล' โต้ ส.ว. อ้างบิดเบือน ถ่วงญัตติเสนอ ครม. ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ยัน ชี้แจงข้อกังวลครบแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ iLaw รายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนฯ มีมติให้ความเห็นชอบญัตติที่ ส.ส. ฝ่ายค้าน เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าวแล้ว ก็ต้องส่งไม้ต่อมาให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จึงจะเข้าสู่กระบวนการให้ ครม. ดำเนินการประชามติ แต่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับการให้จัดทำประชามติ แต่กลับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว 30 วัน

ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภากลับขอขยายเวลาออกไปอีก 45 วัน เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว ทำให้ วันต่อมา (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล ออกมาแถลงข่าวว่า ตนต้องแถลงข่าวในวันนี้เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากเมื่อ 20 ธ.ค. 65 สมชาย แสวงการ ส.ว. ได้กล่าวบิดเบือนในที่ประชุมวุฒิสภา โดยเอ่ยชื่อตน และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ว่าเป็น ส.ส.ผู้เสนอญัตติ แต่กลับไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นเหตุผลให้คณะกรรมาธิการต้องขยายเวลาพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าวออกไปอีก 45 วัน

"เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปชี้แจงญัตติแก่กรรมาธิการชุดนี้ ในที่ประชุมวุฒิสภาก็มีข้อห่วงใย 3 ประการ ผมได้ตอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจนสิ้นข้อสงสัย เชื่อว่าน่าจะประกอบเพียงพอสำหรับการลงมติในที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ใช่การมาขอขยายออกไป 45 วันเช่นนี้" ณัฐพงษ์กล่าว

ณัฐพงษ์กล่าวว่า สำหรับ 3 ประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการชุดนี้ตั้งข้อสงสัย ประเด็นที่หนึ่ง ที่มาของญัตติ ซึ่งตนได้อธิบายแล้วว่า สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อน ญัตตินี้จึงเดินตามนั้น เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯ ฉบับที่สาม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 จึงเป็นเหตุให้เราเสนอญัตตินี้ในสมัยประชุมที่แล้ว 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง คือกรอบการแก้ไข กมธ.ชุดนี้ตั้งข้อสงสัยด้วยความหวาดระแวง ว่าพรรคก้าวไกลต้องการเสนอญัตตินี้เพื่อแตะเนื้อหาหมวดใดหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตนได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันและชี้แจงว่าที่มาที่ไปของญัตตินี้เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรอบเนื้อหาการแก้ไข เพราะกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ความหมายคือ เมื่อมีการจัดทำประชามติแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 เสียก่อน ดังนั้น กรอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะแตะเนื้อหาส่วนใดไม่ได้ ที่มาที่ไปหรือคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไม่ได้อยู่ในชั้นพิจารณานี้ แต่อยู่ในการพิจารณาชั้นต่อไปหลังทำประชามติแล้ว 

ณัฐพงษ์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 คือเรื่องการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้ง ตนได้ชี้แจงแต่ก็มีข้อสงสัยกลับมาว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้นอาจขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ประชามติ หรือไม่ เพราะ  พ.ร.บ. ประชามติปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการจัดทำประชามติพร้อมวันเลือกตั้งทั่วไป ตนได้ชี้แจงแก่ กมธ. ไปว่า จะมีการจัดทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนที่บอกว่าให้จัดพร้อมกับวันเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงข้อเสนอและข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนในฐานะผู้เสนอญัตติทราบข้อห่วงใยนี้มาตั้งแต่ต้น และได้พิจารณาศึกษามาอย่างรอบคอบ ได้มีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ประชามติ เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมาตรา 77 เพื่อแก้ไขให้สามารถทำประชามติพร้อมเลือกตั้งได้ เช่น ใช้คูหาเลือกตั้งเดียวกันได้ บุคลากรเดียวกันได้ และปลดล็อกเงื่อนเวลา ว่า ครม. มีอำนาจในการเลือกวัน หากเห็นว่าวันเลือกตั้งไม่เหมาะสม ก็จัดวันอื่นได้ 

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ขอยืนยันในฐานะผู้เสนอญัตติ ว่าข้อสงสัยทั้ง 3 ประเด็นได้ถูกชี้แจงอย่างชัดเจนแล้ว การขอขยายระยะเวลาศึกษาไปอีก 45 วัน จึงเป็นเพียงการเตะถ่วงทางการเมืองเท่านั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันจับตาการทำงานของวุฒิสภาและส่งเสียงกดดัน เพราะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net