Skip to main content
sharethis

ทุนมินลัต นักธุรกิจใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์กับ ‘มินอ่องลาย’ ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ถูกอัยการไทยฟ้องในข้อหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ฟอกเงิน ร่วมกับจำเลยอื่นอีก 4 ราย อ้าง มีความผิดฐานรับเงินจากการค้ายาเสพติดแล้วนำไปซื้อไฟฟ้าส่งออกไปขายในพม่า

 

(ใส่สูท ที่สองจากขวามือ) ทุนมินลัตในนิทรรศการการกลาโหมและความมั่นคง พ.ศ. 2652 ที่กรุงเทพฯ โดยยืนร่วมอยู่กับคณะทหารจากพม่าและ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (ที่สองจากซ้ายมือ) ที่มาภาพ: Senior General Min Aung Hlaing/Government of Myanmar

จากการสืบค้นเอกสารฟ้องของอัยการผ่านระบบสารสนเทศสำนวนคดี ศาลอาญา พบว่าศาลรับฟ้องตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2565 โดยจำเลยในคดีมีทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ทุนมินลัต (ทุน มิน หลัด ตามเอกสารคำฟ้อง) ดีน ยัง จุลธุระ ชายสัญชาติไทย-อเมริกัน ลูกเขยของอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นอกจากดีนแล้ว บริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) นิติบุคคลจดทะเบียนในไทย และบุคคลอีกสองรายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทกลุ่มอัลลัวร์ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยอีกด้วย

ในสาระสำคัญ จำเลยทั้งห้าถูกกล่าวหาตามคำฟ้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเงินที่ได้จากการขายยาเสพติด นำไปแปลงสภาพเป็นไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศพม่า โดยทุนมินลัต จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่โอนเงินจากบัญชีที่รับโอนของเครือข่ายยาเสพติดจำนวนทั้งสิ้น 7 กลุ่ม ไปยังบัญชีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อ.แม่สาย เพื่อชำระหนี้ค่าไฟฟ้า โดยทุนมินลัต รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานของบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป นิติบุคคลที่จดทะเบียนในพม่า ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออัลลัวร์ กรุ๊ป และอัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ส่วนดีน ยัง จุลธุระ จำเลยที่ 2  เป็นกรรมการกระทำการแทนเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป และรับผลประโยชน์จากการนำเงินไปจ่ายค่าไฟฟ้าดังกล่าว

จำเลยที่ 5 บริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ถูกกล่าวหาตามฟ้องว่า “เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีหน้าที่นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาเปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าประเภทกระแสไฟฟ้า ส่งออกไปยังประเทศเมียนมาร์”

“ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวได้ดำเนินการเป็นคณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันในช่วงเวลาหนึ่ง และร่วมกันกระทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น อันเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม อันเป็นการสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด อันมีลักษณะขององค์กรอาชญากรรม” คำฟ้องระบุ

แม้คำฟ้องจะมุ่งไปที่การกระทำในส่วนของเส้นทางการเงิน แต่ได้มีการระบุว่ามีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีความยาเสพติดของเครือข่ายค้ายาเสพติด ที่กลายเป็นคดีความไปก่อนหน้านี้เมื่อ 10 พ.ค. 2562 ในข้อหาถือครองและจำหน่ายยาเสพติดประเภทที่ 1 (เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ จำนวน 1,043,800 เม็ด น้ำหนักราว 99.152 กก.)

คำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในหลายข้อหา ยกตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

อนึ่ง ความผิดฐานฟอกเงินและอาชญากรรมข้ามชาติมีโทษสูงสุดอยู่ที่จำคุก 15 ปี แต่ในความผิดฐานยาเสพติดนั้น ความผิดตามฟ้องสามารถนำไปสู่โทษจำคุกตลอดชีวิตไปจนถึงประหารชีวิตได้

จากการสืบค้นในบริการค้นข้อมูลคดี ศาลอาญา เมื่อ 23 ธ.ค. 2565 พบว่ามีการยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสิ้น 4 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยนัดหมายศาลครั้งหน้า เป็นการตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 ม.ค. 2566

ประชาไทและ OCCRP ยังไม่สามารถหาช่องทางเพื่อติดต่อกับทนายความของจำเลยได้

เมื่อปี 2557 บริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป ได้ลงนามในข้อตกลงขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานการไฟฟ้าใน จ.ท่าขี้เหล็ก ที่อยู่ติดกับ อ.แม่สายของ จ.เชียงราย

กฟภ. อ.แม่สาย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ข่าว แต่ข้อมูลจากแหล่งข่าวในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ กฟภ. ระบุว่าทาง กฟภ. ได้รับทราบเรื่องคดีแล้ว และได้ส่งเอกสารตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ขอ โดยการส่งไฟฟ้ายังดำเนินการไปตามปกติ แต่กำลังมีการหารือว่าจะทำอย่างไรให้การซื้อขายไฟฟ้าสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องในอนาคต

ยะดะนา หม่อง โฆษกของกลุ่มนักกิจกรรม จัสติซฟอร์เมียนมาร์ กล่าวว่าคำฟ้องดังกล่าวเป็น “พัฒนาการด้านบวกในการที่ได้เห็นถึงการรับผิดรับชอบบางส่วนต่อข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเงิน ยาเสพติด และข้อหาที่เกี่ยวข้อง”

“ทุนมินลัต คือผู้สนับสนุนของทหารพม่า สนับสนุนอาชญากรรมของพวกเขาในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผ่านการให้การช่วยเหลือทางรายได้และอาวุธ” ยะดะนา หม่อง กล่าว

เมื่อเดือน ส.ค. 2565 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตรเครือบริษัทสตาร์ แซฟไฟร์ กรุ๊ป ของทุนมินลัต โดยให้เหตุผลว่าเครือบริษัทดังกล่าว “มีส่วนรับผิดชอบต่อการเป็นนายหน้าขายยุทธภัณฑ์

ทุนมินลัต ดีน และจำเลยคนอื่นถูกจับกุมในกรุงเทพฯ เมื่อ 17 ก.ย. โดยตำรวจไทย ราวสองอาทิตย์หลังจากนั้น มีการออกหมายจับไปยังอุปกิต ปาจรียางกูร ในข้อหาที่เกี่ยวกับฟอกเงินและยาเสพติด แต่หมายจับดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นหมายเรียกในภายหลัง

ส.ว. อุปกิต : 'หมายจับ' กลายเป็น 'หมายเรียก' ความเงียบที่ไร้คำอธิบาย

ในอดีต อุปกิตเคยเป็นเจ้าของบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป ข้อมูลบริษัทแสดงให้เห็นว่าเขาลาออกจากบริษัทเมื่อปี 2562 ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาประเทศไทยโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 14 พ.ค. 2562 ตามที่ระบุในราชกิจจานุเบกษา โดยหลังจากนั้นสามเดือน ดีนได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป

ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้ช่วยของอุปกิต ปาจรียางกูร แต่ยังไม่สามารถนัดหมายให้สัมภาษณ์ภายในช่วงเวลาที่เผยแพร่ข่าว ด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยระบุว่า ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหาที่ดีนถูกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net