Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ประณามเหมืองโปแตชไร้ความรับผิดชอบ ทำธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน ประกาศเดินเท้าเข้า จ.นครราชสีมา ปี 2566 จี้หน่วยงานรัฐตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จากบ้านหนองไทร บ้านดอนแต้ว บ้านป่าโอบ บ้านสระขี้ตุ่น บ้านสระสมบูรณ์ บ้านดอนมุกมัน บ้านหัวนา บ้านป่ารัง บ้านโนนระเวียง บ้านแปรง และบ้านหนองบัวละคร กว่า 50 คน เดินเท้าจากสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองไทร ไปยังหน้าเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด พร้อมถือป้ายผ้ารณรงค์ที่ระบุข้อความว่า ‘เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด’ ‘ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน’ ‘หยุดคุกคามชาวบ้าน เหมืองโปแตช ไทยคาลิ’ ‘ร่วมใจต้านภัยไทยคาลิ’ ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ได้ด้วยการกระจายอำนาจ’ และ ‘รัฐปล่อยให้เหมืองทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้คนโคราช’ และทำการปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของบริษัทฯ เพื่อทำกิจกรรม "เปิดความจริง โปแตชด่านขุนทด" ธุรกิจความเค็มบนคราบน้ำตาประชาชน ส่งเสียงตีแผ่ปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช

โดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และที่ปรึกษากลุ่มฯ ได้กล่าวปราศรัยว่า บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 เริ่มขุดเจาะใน พ.ศ.2559 แต่ถูกปกปิดและใช้คำพูดว่ายังไม่เริ่มทำเหมือง ทั้งที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ให้ใบอนุญาตทำเหมืองแร่แล้ว มีการขุดเจาะลงไปในอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมของการทำเหมือง ปัญหาสำคัญคือเจาะอุโมงค์ลงไปเจอตาน้ำใหญ่ ทำให้น้ำเค็มทะลักออกมาสู่ไร่นาของชาวบ้านรอบเหมือง อยู่มาชั่วนาตาปีตั้งแต่พ่อแม่ ไม่เคยมีความเค็มขนาดนี้ พี่น้องชาวบ้านต้องเผชิญความทุกข์ยากจากความเค็มที่ไหลลงไปในนาข้าวและลำห้วย ปัจจุบันอุโมงค์ที่ขุดเจาะแล้วโดนน้ำทะลักท่วมไม่สามารถเข้าไปได้อีกและกำลังหาซื้อที่ดินใหม่ที่ดอนหนองโพธิ์ เพื่อจะเจาะอุโมงค์เส้นใหม่อีก 2 เส้น แบบแนวดิ่งไม่ลาดเอียงมาทดแทนเส้นเก่าที่ไม่สามารถเข้าได้ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองใหม่ และต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

“สิ่งที่สำคัญมากที่เราอยากยืนยันเจตนารมณ์หรืออยากสร้างวิธีการที่มันชัดเจนขึ้น เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่บริษัทฯ เดินเข้าหาบางคน บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเหมือง แต่จะช่วยเหลือแบบเป็นบุญคุณจากบริษัทฯ แต่ไม่ยอมรับว่าเกลือที่ไหลมาเกิดจากบริษัทฯ เราจะต้องมีตัวกลางเป็นผู้รับใช้เราในฐานะประชาชน คือ ข้าราชการ เพราะข้าราชการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีหน้าที่เข้ามาควบคุม กำกับดูแล และติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านเพิกเฉย ตอนนี้เหมืองยังพอมีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับชุมชน แต่เหมืองจะต้องยอมรับผิด เพราะที่ผ่านมาเหมืองปล่อยให้ความเค็มมีการรั่วไหลออกจากเขตเหมืองแร่ ถ้าไม่ยอมรับผิดไม่มีทางที่เหมืองจะอยู่รวมกับชุมชนได้ สี่ข้อเรียกร้องที่เปิดโอกาสให้เหมืองอยู่ร่วมกับชุมชนได้ จะเหลือเพียงข้อเดียวคือต้องปิดเหมือง  และปีหน้าเราจะเดินจากอำเภอด่านขุดทดไปยังจังหวัดนครราชสีมา ระยะทางกว่า 80 กม. เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” เลิศศักดิ์กล่าว

ขณะที่นางสาวจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และที่ปรึกษากลุ่มฯ ชี้บ้านเรือนชาวบ้านในหมู่บ้านกัดกร่อนเสียหายพุพัง ต้นไม้ยืนต้นตาย ทำนาทำอ้อยไม่ได้ นี้คือตัวอย่างภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับบ้านเรา ตำบลหนองไทรกำลังกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่าง เพราะไม่มีเหมืองแร่โปแตชที่ไหนในประเทศไทยเปิดได้และสร้างผลกระทบได้มากเท่านี้ และหลายพื้นที่อยากเข้ามาดูงานว่าถ้ามีเหมืองแล้วจะเกิดผลกระทบยังไงบ้าง แล้วกลับไปคัดค้านไม่ให้สร้างเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ของตนเอง

“เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่และวัดค่าความเค็มของน้ำตามจุดต่าง ๆ โดยพื้นที่จุดต้นน้ำห้วยลำมะหลอดวัดค่าความเค็มได้ 0.0 กรัม/ลิตร ถือเป็นน้ำดี ห้วยลำมะหลอดจุดแยกบ้านหนองสะแกวัดค่าความเค็มได้ 0. 2  กรัม/ลิตร ยังเป็นมาตรฐานน้ำใช้ได้ ขยับมา 2 บ่อน้ำที่วัดหนองไทรวัดค่าความเค็มได้ 46 กรัม/ลิตร ซึ่งมีความเค็มกว่าน้ำทะเล  แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่าน หน่วยงานได้ลงพื้นที่และทำการวัดค่าความเค็มแต่ละจุดอีกครั้ง โดยจุด 2 บ่อในวัดหนองไทรที่อยู่ติดกับเขตเหมืองแร่กลับวัดค่าความเค็มไม่ได้เพราะน้ำมีค่าความเค็มเกินกว่าเครื่องที่วัดจะวัดได้ นอกจากนี้เรายังทำการสำรวจตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช ผ่านแบบสอบถามจากพี่น้อง 71 ราย พบว่า มูลค่าความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร จำนวน 9,252,213 บาท  มูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 4,674,471 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 13,926,684  บาท จึงเป็นเหตุผลหลักที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ส่งเสียงให้บริษัทฯสำนักในสิ่งที่กระทำ และหน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่ตรวจสอบให้เต็มที่เพื่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริง เราเรียกร้อง 4 ข้อ ถ้ามีการบิดพลิ้วแม้แต่ข้อเดียว เราจะทำการปิดเหมืองแร่” จุฑามาสเผยถึงค่าความเค็มที่เกินค่ามาตรฐานและตัวอย่างตัวเลขมูลค่าความเสียหายผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช

ด้านนางสาวสุปราณี ทองอุไร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้กล่าวปราศรัยว่า ที่ผ่านมาทรัพยากรเกิดความเสียหายในพื้นที่การเกษตร เช่น น้ำเค็ม ดินเค็ม เป็นต้น ทำให้เราอยู่ยากและเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทุกอย่างก็แพง ซึ่งเราต้องมาแบกรับภาระในส่วนนี้ ที่สำคัญบริษัทฯไม่ได้มองเห็นในสิ่งนี้เลย เพราะว่าหวังจะเอาแต่ประโยชน์ เราไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่โปแตช เราต้องการให้ปิดเหมืองแร่  หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอในประเทศไทยไม่ต้องการเหมืองแร่โปแตช เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่เห็นผลกระทบมาโดยตลอด หากมีการทำเหมืองแร่อีกต่อไป จะส่งผลกระทบและจะเกิดความเสียหายในอนาคตอีกมาก หรืออาจจะต้องสูญเสียที่ดิน จึงขอเชิญชวนทุกคน อย่าทิ้งภาระไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต้องออกมาช่วยกัน และต้องการให้เหมืองจบที่รุ่นของเรา

นายดาวรุ่ง บมขุดทด นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า การมาวันนี้เราต้องสู้ด้วยหัวใจ ต้องไปต่อให้ไกลกว่านี้ ต้องรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้ได้ เรามาด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เหมืองแร่ปล่อยน้ำเค็มลงสู่ไร่นาของเราจนทำให้ค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานทำให้ระบบน้ำประปาของชาวบ้านเสียหาย ต้องรับผิดชอบ ต้องชดใช้ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้าน และขอให้ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าจะไปเปิดเหมืองที่จังหวัดอื่นเราจะตามไปทุกที่ จะไปช่วยพี่น้องทุกจังหวัดไม่ให้เหมืองแร่โปแตชมาเปิดได้ในประเทศไทยได้อีก

ทั้งนี้นักปกป้องสิทธิฯ ได้ทำการยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการทำเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ถึงกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สภาผู้แทนราษฎร) ผ่านคณะทำงานพรรคก้าวไกลจังหวัดนครราชสีมา และก่อนเลิกกิจกรรมได้ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือตามวิถีความเชื่อของท้องถิ่น เพื่อสาปแช่ง บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ให้เกิดความวิบัติเหมือนกับที่กระทำต่อชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net