Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' วิเคราะห์พลวัตเศรษฐกิจไทย 2566 ภายใต้รัฐบาลใหม่และระเบียบโลกใหม่ พร้อมการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ      

25 ธ.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และกรรมการหลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับผู้บริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนกล่าวถึง การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ การเมืองไทยในปี 2566 นี้เป็นคาดการณ์จากพลวัตทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยเทคนิคการสร้างภาพอนาคตเป็นฉากทัศน์ของอนาคตที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น (Projected Future) อนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นได้ (Probable Future) อนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ (Possible Future) อนาคตที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น (Plausible Future) ประกอบการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจจากการตั้งสมมติฐานที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคสำคัญ สังเคราะห์ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มปัญญาชน ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ผู้นำแรงงาน และสื่อมวลชน สามารถคาดการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยออกเป็นกรณีต่างๆต่อไปนี้ กรณีฉากทัศน์พื้นฐาน (Baseline) ในการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 หรือ อนาคตที่คาดหมายจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด 

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2566 จะอยู่ที่ 3.0-3.7% อัตราเงินเฟ้อ 3-4%  อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50-3% คาดการณ์ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 32.50-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปีหน้า อัตราการขยายตัวของการบริโภค 4-5% โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลต่อภาคการบริโภคและรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยเริ่มฟื้นตัว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับบลดลงต่อเนื่องจากระดับสูงสุดเมื่อปี 2563 อัตราขยายตัวของการลงทุน 3.5-4% โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติม อาจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมและกิจการท่องเที่ยว อัตราการขยายตัวของการส่งออก 2-5%  ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าบางประเทศ อัตราการขยายตัวของการนำเข้า 12-14% ขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการลงทุนภายในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11-16 พันล้านดอลลาร์ และดุลการค้าเกินดุล 6.4-11.2 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องแม้นมีอัตราที่ชะลอลงจากปี 2565 แต่ราคาพลังงานนำเข้าลดลงอย่างมีนัยยสำคัญทำให้ลดการขาดดุลการค้าประกอบกับมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวของต่างชาติและกระแสเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ รายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะแตะระดับ 9.5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 66 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 18.5-20 ล้านคน ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศจะมีรายได้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท รวมรายได้จากธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องน่าจะอยู่ระดับ 1.55-1.8 ล้านล้านในปี 2566 คาดการณ์ว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังคงห่างไกลจุดสูงสุดของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมเกือบ 40 ล้านคนในหนึ่งปีและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติเกือบ 2 ล้านล้านบาท กรณีอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นได้ (Probable Future) มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวมากกว่า 4% ก็เป็นไปได้ หากภาคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าที่คาดการณ์โดยอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสูงกว่า 2.7% จีดีพีของสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้มากกว่า 1.1% อัตราการขยายตัวของจีนสูงกว่า 6.5% ญี่ปุ่นสูงกว่า 1.6% ปริมาณการค้าโลกเติบโตมากกว่า 2.5% สงครามยูเครนรัสเซียยุติลงด้วยการเจรจา การแพร่ระบาดโควิด19 ในจีนไม่รุนแรงและไม่มีการล็อกดาวน์ขนาดใหญ่ และทยอยเปิดเมืองเปิดประเทศ ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองเป็นบวก ได้รัฐบาลผสมที่มีเสถียรภาพ มีทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถ มีการผลิตนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิผลและสนองตอบต่อพลวัตของปัจจัยภายในภายนอกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  ขณะเดียวกัน โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ก็เป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะมีอัตราการขยายต่ำกว่า 2.5% (โปรดดูตัวเลขในตารางแนบประกอบ) หากปัจจัยและตัวแปรทั้งภายในและภายนอกไม่ได้ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้แต่ไม่นอกเหนือความคาดหมายมากเกินไป 

หากปัจจัยภายในภายนอกไม่เอื้ออำนวยและแย่กว่าที่คาดการณ์พอสมควร แต่มองว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะไม่ต่ำกว่า 2% อย่างแน่นอน กรณีอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้  (Possible Future) และในกรณีอนาคตที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น (Plausible Future) ได้ อาจเกิดการรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยโดยประชาชน และ สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เข้มแข็งมั่นคง การเมืองมีเสถียรภาพและมีรัฐบาลที่มีคุณภาพสูง การบรรลุเป้าหมายให้ประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นอกจาก มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการพลิกขั้วทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน กับ พรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรคภูมิใจไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ พรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้ง ขณะที่โอกาสของพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน หากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่มีเสถียรภาพหรืออายุสั้นอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ ผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีจำกัดเนื่องจากภาคเอกชนไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจน ภาคการบริโภค ภาคการลงทุนโดยรวมปรับตัวในทิศทางที่กระเตื้องขึ้นแล้ว
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ วิเคราะห์อีกว่าหากเกิดกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน สงครามยูเครนรัสเซียขยายวงสู่สงครามในทวีปยุโรป หรือ เกิดความขัดแย้งทางการทหารในทะเลจีนใต้หรือช่องแคบไต้หวันหรือคาบสมุทรเกาหลี ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าการคาดการณ์ราคาเฉลี่ยที่ระดับ 70-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น กดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้จีดีพีปรับลดลงกว่าที่พยากรณ์ไว้ หรืออาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกของโรคอุบัติใหม่หรือโควิดแล้วต้องมีการปิดประเทศล็อกดาวน์กันอีก เกิดวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เกิดวิกฤตการณ์ระบบสถาบันการเงินโลก หรือ เกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองในประเทศจนนำมาสู่การรัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ก่อผลทางลบอย่างรุนแรงเหล่านี้ จะเกิดความไม่นอนอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว ระดับการเปิดประเทศในระดับสูงของไทยย่อมทำให้ได้รับผลกระทบจากพลวัตของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกอย่างมาก การมียุทธศาสตร์ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน โดยไทยต้องวิเคราะห์ ยุทธศาสตร์ใหญ่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ของสหรัฐอเมริกา ประเมิน โครงการ Build Back Better World ของรัฐบาลโจ ไบเดนให้ดี โครงการนี้จะสนับสนุนกลุ่มทุนเอกชนในประเทศ G7 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ดิจิทัลและความเท่าเทียมกันในทุกมิติ นอกจากนี้ ไทยต้องติดตามมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น (BRI) ของจีนจะมีความคืบหน้าไปในทิศทางใด เพื่อกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และการวางนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศให้เหมาะสม บทบาทไทยในประชาคมอาเซียนมีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายกันของการปะทะกันทางด้านเศรษฐกิจการเมืองของมหาอำนาจโลกในภูมิภาคอาเซียน การวางตำแหน่งของไทยและอาเซียนให้อยู่ในจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคมีความสำคัญ พร้อมกับ การใช้ประโยชน์จาก RCEP และ APEC ท่ามกลางสงครามทางการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นระลอกใหม่ในปีหน้า 

กรณีอนาคตคาดหวังให้เกิดขึ้น (Preferable Future) ประเทศไทยเดินบนเส้นทางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีระบอบประชาธิปไตยมั่นคง คุณภาพชีวิตประชาชนมีมาตรฐานแบบประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ก้าวหน้า เสมอและเป็นธรรม สังคมมีสันติสุข การเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีภูมิภาคและเวทีโลกอย่างต่อเนื่องจนประเทศก้าวสู่การเป็น ผู้นำของภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2575 โดยขั้นต่ำ ไทยต้องทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วงหนึ่งทศวรรษข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 6-7% ต่อปี ประชาชนมีจีดีพีต่อหัว (Nominal GDP Per capita) สูงกว่า 20,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือ สูงกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อปี หากใช้ GDP (PPP) per capita คำนวณ (ขณะนี้ ปี 2565 จีดีพีเฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ที่ 7,392 ดอลลาร์ต่อปีหากปรับอำนาจซื้อโดยเปรียบเทียบ Purchase Power Parity จีดีพีต่อหัวของไทยจะอยู่ที่ 21,114 ดอลลาร์ต่อปี) พร้อมกับการมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีการศึกษาสูง แรงงานมีผลิตภาพสูงและมีสุขภาพที่ดี ดัชนีพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่ที่ระดับอย่างน้อย 0.9 จะเลื่อนสถานะของไทยมาอยู่ที่ระดับเดียวกับฝรั่งเศส สเปนและอิตาลี อยู่ในอันดับ 30 อันดันแรกของโลก (ปัจจุบันไทยอยู่ที่อันดับ 66 ของโลก มีคะแนนอยู่ที่ระดับ 0.8) มีการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ระบบโทรคมนาคม ระบบชลประทาน ระบบขนส่งมวลชนและโลจีสติกส์ตามมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้ง การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัลและควอนตัม 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net