ม.แคลิฟอร์เนียยอมขึ้นเงินเดือน 80% หลังลูกจ้างประท้วงหยุดงานเดือนครึ่ง - 23 รัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรับปีใหม่

  • มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (University of California) ประกาศขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก สูงสุดถึง 80% หลังลูกจ้างกว่า 48,000 คนจาก 10 วิทยาเขตรวมตัวประท้วงหยุดงานนาน 6 สัปดาห์ โดยลูกจ้าง ป.โท ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 98,000 บาท/เดือน ส่วน ลูกจ้าง ป.เอก ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 200,000 บาท/เดือน
  • ขณะที่ปีหน้าหลายรัฐในอเมริกาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมดันให้ถึงชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2-3 ปี

26 ธ.ค. 2565 สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) และโพลิติโค (POLITICO) รายงานว่าลูกจ้างฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (University of California: UC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกายุติการประท้วงหยุดงานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ธ.ค. 2565) หลังจากรวมตัวประท้วงหยุดงานเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาพการทำงาน โดยมหาวิทยาลัยและสหภาพผู้แทนแรงงานบรรลุข้อตกลงปรับขึ้นค่าแรงให้แก่ลูกจ้างจากฐานค่าแรงเดิมสูงสุด 80%

สหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers) ซึ่งเป็นผู้แทนแรงงานฝ่ายลูกจ้างของมหาวิทยาลัยกว่า 48,000 คนจาก 10 วิทยาเขต รวมถึงลูกจ้างประจำศูนย์วิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์ (LBNL) ประกาศว่าฝ่ายสหภาพและมหาวิทยาลัยได้บรรลุข้อตกลงการปรับขึ้นค่าแรงเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และลูกจ้างในสหภาพได้ลงมติในสัตยาบันว่าจะยุติการประท้วงหยุดงาน โดยลูกจ้างทั้งหมดจะกลับมาทำงานตามปกติในเดือน ม.ค. ปีหน้าหลังพ้นช่วงวันหยุดยาวและช่วงปิดเทอมฤดูหนาว

การประท้วงหยุดงานครั้งนี้ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของลูกจ้างในหน่วยงานด้านการอุดมศึกษาของสหรัฐฯ โดยลูกจ้างฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 36,000 คน ประกอบด้วยกลุ่มนักวิจัยและลูกจ้างฝ่ายสนับสนุนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอน ติวเตอร์ และผู้ตรวจข้อสอบ รวมถึงลูกจ้างฝ่ายวิชาการที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกอีก 12,000 คน เริ่มต้นประท้วงหยุดงานและรวมกลุ่มกันประท้วงในพื้นที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนจำนวนมากในเดือนสุดท้ายของเทอมฤดูใบไม้ร่วง การสอบปลายภาค และการประกาศผลการศึกษา

ก่อนการประท้วงหยุดงาน สหภาพแรงงานระบุว่าลูกจ้างมหาวิทยาลัยฝ่ายวิชาการซึ่งเป็นสมาชิกของสภาพฯ มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งได้รับค่าตอบแทนขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 24,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (ประมาณ 833,000 บาท/ปี หรือประมาณ 69,000 บาท/เดือน ตามค่าเงินปัจจุบัน) แต่หลังจากมหาวิทยาลัยบรรลุข้อตกลงร่วมกับสหภาพแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างจะปรับขึ้น 55-80% ภายใน 2 ปีครึ่งตามฐานค่าแรงขั้นต่ำที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง โดยโครงสร้างการคิดค่าแรงจะคิดจากประสบการณ์การทำงาน การกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายทั่วทุกวิทยาเขต การเพิ่มขึ้นเงินเดือนเริ่มต้นขั้นต่ำ และการจ่ายเงินพิเศษให้กับลูกจ้างที่ทำงานในวิทยาเขตซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูง

จากข้อตกลงดังกล่าว ค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยในกลุ่มผู้ช่วยสอนและนักวิจัยซึ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทจะปรับขึ้นเป็น 34,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ภายในเดือน ต.ค. 2567 (ประมาณ 1.18 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 98,000 บาท/เดือน ตามค่าเงินปัจจุบัน) ยกเว้นลูกจ้างมหาวิทยาลัยประจำวิทยาเขตเมืองเบิร์กลีย์ ซานฟรานซิสโก และลอสแอนเจลิส ที่ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับขึ้นเป็น 36,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ค่าครองชีพสูง (ประมาณ 1.26 ล้านบาท/ ปี หรือประมาณ 105,000 บาท/เดือน ตามค่าเงินปัจจุบัน)

สำหรับลูกจ้างฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยในกลุ่มนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจะได้รับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิมเป็น 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (ประมาณ 2.43 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 202,500 บาท/เดือน ตามค่าเงินปัจจุบัน) โดยค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างประจำมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาถือเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงสุดในสหรัฐฯ

23 รัฐในสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรับปีใหม่ 2566

รายงานเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 โดยสำนักข่าว USA Today ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป 23 จาก 50 มลรัฐของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ สถานการณ์เงินเฟ้อ และสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม โดยรัฐวอชิงตันและแมสซาชูเซตส์จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง (ประมาณ 520 บาท/ชั่วโมง ตามค่าเงินปัจจุบัน) เทียบเท่ากับรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กที่ปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้

USA Today ระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในปีหน้าของทั้ง 23 รัฐจะทยอยปรับขึ้นครั้งละ 20-50 เซนต์เพราะต้องคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อในรอบ 12 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยเพียง 1-2% แม้ว่าในเดือน มิ.ย. 2564 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะสูงถึง 9.1% ก่อนจะค่อยๆ ปรับลดลงมาและคงที่ที่ 7.1% ในเดือน พ.ย. จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ค่าแรงขั้นต่ำในหลายรัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 10-13 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมงในปีหน้า ยกเว้น 4 รัฐที่กล่าวไปข้างต้นที่ค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐตามรายงานของ USA Today วางแผนไว้ว่าภายใน 2-3 ปีจะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมงให้ได้ตามพระราชบัญญัติขึ้นค่าแรง พ.ศ.2564 กฎหมายดังกล่าวซึ่งเสนอโดยพรรคเดโมแครตและผ่านสภาเมื่อต้นปี 2564 กำหนดให้รัฐบาลกลางต้องดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 5 ปี

แม้ว่าแต่ละรัฐจะกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้แก่ลูกจ้าง แต่ในบางเมือง นายจ้างอาจจ่ายค่าแรงที่สูงเกินค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เมืองซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตันที่ค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้าจะขยับขึ้นไปที่ 18.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ เนื่องจากดัชนีอัตราเงินเฟ้อของเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลจาก NASDAQ ระบุว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง มาตั้งแต่ พ.ศ.2552 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลกลางไม่ประกาศปรับขึ้นค่าแรงนับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานแรงงานที่ยุติธรรม พ.ศ.2481 (Fair Labor Standards Act 1938) ด้วยเหตุนี้ แรงงานที่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำจึงมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 520,000 บาท/ปี ตามค่าเงินปัจจุบัน) ซึ่งอยู่เหนือเส้นความยากจนที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อคิดเป็นรายบุคคล แต่หากคิดเป็นครัวเรือนที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 2 คน จะทำให้ครัวเรือนที่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน

ทั้งนี้ NASDAQ เสนอว่าค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้ชาวอเมริกันหลุดพ้นเส้นความยากจนได้ หากคิดตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันแล้วควรอยู่ที่ 10.07 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม รายงานของ USA Today ระบุว่าใน 30 รัฐซึ่งครอบคลุมแรงงานกว่า 60% ของประเทศ มีการจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางกำหนด และบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง ตามกฎหมายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ยังมีการถกเถียงอย่างมากเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง เพราะผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่เจอโรม พาวเวลล์ ผู้อำนวยการธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Federal Reserve) เคยกล่าวไว้ โดยเขาบอกว่าการขึ้นราคาสินค้างต่างๆ จะต้องผ่นอคลายลงก่อนที่เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภค ในขณะที่ดันเต เดออันโตนิโอ นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลมูดีส์ (Moody’s Analytics) ซึ่งให้บริการด้านการเงินและการลงทุน ระบุว่าแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนตามค่าแรงขั้นต่ำมีส่วนแบ่งค่อนข้างน้อยในระบบแรงงาน การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้พวกเขาอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเพิ่มค่าแรงในสหรัฐฯ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท