Skip to main content
sharethis

ช่วงหยุดยาวหลายคนอาจจะได้เจอครอบครัวที่ดีต่อกัน แต่บางคนก็ไม่โชคดีขนาดนั้น และต้องเจอ 'ครอบครัวเป็นพิษ' ไม่ว่าจะเป็นญาติที่ชอบหาเรื่องทะเลาะเรื่องการเมือง หรือชอบยุ่งกับชีวิตส่วนตัวหรือรูปร่างคุณ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญมีฮาวทูรับมือกับพวกเขาเอาไว้

สำหรับใครหลายๆ คน ช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงฤดูเทศกาล อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้กลับไปเจอครอบครัว คนรัก หรือญาติสนิทมิตรสหายที่ไม่ได้เจอกันมานาน แต่ในขณะเดียวกันการต้องเจอหน้ากับครอบครัวหรือญาติๆ สำหรับใครหลายๆ คนอาจจะเป็นเรื่องน่าเหนื่อยใจ ไปจนถึงขึ้นสร้างแผลใจ หรือความชอกช้ำทางใจให้เราเลยก็เป็นได้

โดยเฉพาะกับครอบครัวหรือญาติมิตรที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง หรือเป็นญาติๆ จอมสอดรู้สอดเห็น เจ้ากี้เจ้าการ ทำตัวเหมือนเขาเป็นเจ้าชีวิตเรา หรือชอบเปรียบเทียบเรากับคนอื่นๆ บางคนอาจจะรุนแรงถึงขั้นเหยียดเพศ เหยียดรูปลักษณ์ กันเลยทีเดียว ในเรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเอาไว้ว่าจะทำอย่างไรดีดีถ้าหากต้องเผชิญกับบุคคลเหล่านี้

โรซีนน์ คาปันนา-ฮอดจ์ นักจิตวิทยาจากรัฐคอนเนคติคัท สหรัฐฯ กล่าวว่าสำหรับผู้คนจำนวนมากแล้ว วันหยุดยาวช่วงเทศกาลอาจจะไม่ใช่เวลาที่สนุกสนานเสมอไป เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือการถูกจ้องมองจากหัวจรดเท้าในแบบที่ใครโดนก็ไม่สบายใจ

คาปันนา-ฮอดจ์ แนะนำว่า ใครต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ควรจะเก็บงำความโกรธเคืองเอาไว้เงียบๆ คนเดียว แล้วก็ไม่ควรจะเหวี่ยงความโกรธออกไปตรงๆ ด้วย เธอเสนอแนะว่าควรจะใช่วิธีการวางขอบเขตให้กับความสัมพันธ์ ว่าฝ่ายตรงข้ามควรจะยุ่งเกี่ยวกับเราหรือพูดอะไรก้าวล่วงได้มากน้อยแค่ไหน

คามิ ออเรนจ์ ผู้ที่เป็นโค้ชด้านการวางขอบเขตการปฏิสัมพันธ์บอกว่า การวางขอบเขตที่ว่านี้ฟังดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นการชวนทะเลาะ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่วิธีการสื่อสารวิธีการหนึ่ง ที่จะแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ว่าคุณต้องการอะไรและคุณโอเคกับอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตามออเรนจ์บอกว่าการวางขอบเขตเป็นเรื่องยากและต้องมีการเตรียมพร้อมว่าจะโต้ตอบอย่างไรเอาไว้ล่วงหน้า มากกว่าจะเป็นการโต้ตอบโดยทันควันเพื่อปกป้องความรู้สึกของตัวเอง

นักบำบัดที่ชื่อ เจนนิเฟอร์ โรลลิน ผู้ก่อตั้งศูนย์โรคด้านพฤติกรรมการกินจากร็อคเวลล์ แมรีแลนด์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเอาไว้ว่า ควรมีการคาดการณ์วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าว่ามิตรสหายหรือญาติพี่น้องคนไหนที่อาจจะพูดอะไรที่สะกิดแผลใจหรือกระตุ้นให้คุณรู้สึกอยากตอบโต้

คาปันนา-ฮอดจ์ แนะนำว่าให้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าว่าเป้าหมายในการไปเจอกับกลุ่มคนเหล่านั้นคืออะไร คุณอาจจะไม่สามารถทำให้ทุกคนลงรอยกันได้แต่คุณจะยังได้ใช้เวลาไปกับเรื่องที่ต้องการจะทำ เช่นการที่คุณจะได้เจอคนที่ไม่ค่อยได้เจอหรือการได้เล่นกับหลานของคุณ เพราะปัญหาครอบครัวสารพันอย่างที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปีไม่ใช่สิ่งที่คุณจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการนั่งกินข้าวด้วยกันในโอกาสพิเศษเท่านั้น

คาปันนา-ฮอดจ์ บอกว่าควรนึกถึงหัวข้อสนทนาที่ปลอดภัยเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อเอาไว้เบนความสนใจในเวลาที่บทสนทนากำลังเริ่มที่จะก่อให้เกิดความบาดหมางต่อกัน นอกจากนี้การบอกกับกลุ่มคนเหล่านั้นเอาไว้ล่วงหน้าก่อนก็เป็นเรื่องดี เธอแนะนำอีกว่าควรจะใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวเองไปเลยตอนบอกว่าคุณไม่สบายใจที่จะพูดถึงเรื่องอะไรบ้างเพื่อย้ำว่าเป็นตัวคุณที่ต้องการสิ่งนี้และทำให้ฟังดูเหมือนไม่ใช่การกล่าวหาว่าใครผิด บางครั้งอาจจะเสริมอะไรสนุกๆ เข้าไปด้วยก็ได้ เช่นทำบิงโกเรื่องที่คุณห้ามญาติพี่น้องพูดแล้ว พวกเขาก็ยังพูดขึ้นมา แล้วคุณก็ทำการเช็คบิงโกเหล่านั้น

แต่วันรวมญาติเหล่านี้เราจะต้องเจอกับคำถามอะไรบ้างละ?

"อ้วนขึ้นหรือเปล่า" กับคำถามอื่นๆ ที่ยุ่งกับรูปร่าง-การกินของเรา

โรลลิน บอกว่า ไม่ว่าคนที่ถามคุณขึ้นมาในเรื่องนี้เขาจะจงใจวิจารณ์หรือจะอ้างว่าแค่หวังดีก็ตาม การพูดถึงเรื่องน้ำหนักตัวหรือรูปร่างอะไรแบบนี้เป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกแย่

เธอแนะนำว่า คนที่ชอบวิจารณ์หรือหยิบยกเรื่องรูปร่างของคนอื่นมาพูดถึงมักจะส่อให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของตัวคนพูดเสียเองมากกว่าจะเป็นเรื่องของคุณ เพราะคนที่วิจารณ์เรื่องพวกนี้มักจะเป็นพวกที่เอาแต่คิดถึงเรื่องรูปร่างของตัวเอง พวกเขาถึงฉายภาพจิตที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองแล้วมุ่งเป้าไปที่คนอื่นแทน

โรลลินแนะนำว่าจะตอบเรื่องนี้ไปตรงๆ ก็ได้ว่า "คุณอาจจะกำลังตื่นเต้นกับการลดน้ำหนัก แต่ฉันกำลังพยายามทำให้ตัวเองกลับมาเป็นคนชอบทานอาหาร ฉันจึงไม่อยากพูดถึงเรื่องพวกนี้" หรืออาจจะพูดในเชิงทีเล่นทีจริงก็ได้ว่าการที่คุณทานของอร่อยๆ โดยไม่ระมัดระวังนั้นเป็นเพราะว่าคุณ "รู้สึกขอบคุณร่างกายที่มันทำอะไรให้ทุกวัน" หรือไม่ก็บอกปัดๆ ไปว่า "ไม่รู้สิ ก็ไม่ได้สนใจเรื่องน้ำหนัก"

แล้วถ้าหากว่าการพูดในเชิงเหยียดรูปร่างยังคงเกิดขึ้นต่อไป หรือถ้าหากว่าคุณรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดอะไรออกไป ก็จงส่งพลังให้ตัวเอง กันให้ตัวเองออกมาอยู่ให้ห่างจากบทสนทนาแบบนี้

"ทำไมยังโสดล่ะ"

ออเรนจ์พูดถึงกรณีที่ถ้าหากว่าครอบครัวหรือญาติมิตรวิจารณ์ก้าวก่ายเรื่องชีวิตคู่ของคุณ (หรือเรื่องที่คุณยังไม่มีคู่) คุณควรจะทำอย่างไร ออเรนจ์แนะนำว่าควรจะให้โอกาสพวกที่ก้าวก่ายเอาไว้ 2 ครั้ง ในครั้งแรก ให้คุณลองเบี่ยงเบนบทสนทนาไปทางอื่นก่อน คือหันไปพูดเรื่องที่พวกเขาชอบ

ถ้าหากยังมีครั้งที่ 2 คุณอาจจะตอบกลับว่า "ถ้ารู้แล้วจะบอก" เพื่อสื่ออย่างอ้อมๆ และอย่างละมุนละม่อมว่าคุณไม่อยากสานต่อบทสนทนานี้

ถ้าเป็นกรณีที่คุณคุยกับคนนั้นอยู่ตัวต่อตัว (ไม่ควรใช้กับตอนที่อยู่ต่อหน้าคนเป็นกลุ่ม) คุณก็อาจจะตัดตอนไม่ให้มีคำถามแบบนี้อีกในอนาคตด้วยการพูดถึงมันอย่างตรงไปตรงมาเลย เช่นเสนอว่า "ฉันรู้ว่าเจตนาของคุณคือแบบนี้ แต่น่าเสียดายว่าการทำเช่นนั้นมันส่งผลให้ฉันรู้สึกไม่สบายใจจริงๆ ฉะนั้นแล้วในอนาคตขออย่าให้ทำแบบนั้นอีกได้ไหม" หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็อาจจะเบี่ยงเบนบทสนทนาไปเป็นว่าพวกเขาจะทำยังไงเกี่ยวกับเรื่องชีวิตคู่หรือเรื่องที่คุณโสดไปเลย

"จะแต่งงานเมื่อไหร่ล่ะ จะมีลูกเมื่อไหร่ล่ะ"

คำถามแบบนี้ดูเหมือนจะทำให้เรารู้สึกกดดันมากขึ้น แต่ออเรนจ์ก็บอกว่าบางครั้งมันก็มีเจตนามาจากความเป็นห่วงเป็นใยและความตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็น ออเรนจ์แนะนำว่าควรจะเริ่มจากการเบี่ยงเบนความสนใจก่อนด้วยความคิดเห็นที่ฟังดูดีต่อพวกเขา แล้วก็เบนไปหาคำถามใหม่ เช่น บอกว่า "ฉันชอบที่คุณใส่ใจในเรื่องความรักความสัมพันธ์แล้วอยากให้คนอื่นมีความสุขกับคู่รักแบบที่คุณมี ไหนลองเล่าหน่อยสิว่าคุณเจอกับคุณลุงได้อย่างไร"

แต่บางครั้งแล้วคำถามพวกนี้ถึงจะฟังดูมีเจตนาที่ดีแต่ผลกระทบของมันก็ชวนให้เจ็บปวด เช่น ถ้าหากมีใครถามเกี่ยวกับเรื่องการมีลูกหรือการสร้างครอบครัวกับคนที่สภาพร่างกายทำให้มีบุตรยากหรือมีลูกไม่ได้

ในกรณีที่ว่านี้ออเรนจ์เสนอว่าควรจะบอกไปตรงๆ สั้นๆ เลยว่า "จริงๆ แล้วฉันไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้" หรืออาจจะหยอดอารมณ์ขันไปลักเล็กน้อยว่า "ฉันคิดว่า คุณคงจะไม่อยากรู้เรื่องที่ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวไปหน่อยมั้ง"

ส่วนกูเรวิชเสนอว่าถ้าหากคุณเชื่อใจคนที่ถามคุณเรื่องนี้ได้ คุณอาจจะพูดเปิดใจและขอการสนับสนุนจากเขาไปเลยก็ได้

พูดเรื่องการเมืองแบบชวนทะเลาะ

บางคนมีความสามารถในการพูดเรื่องการเมือง, ศาสนา และเรื่องอ่อนไหวอื่นๆ ในแบบที่น่าคุยด้วยได้ แต่ใช่ว่าจะทำกันได้ทุกคน

ออเรนจ์บอกว่า บางครั้งแล้วมันก็มีคนที่จงใจพูดแบบหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง แต่คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้าร่วมวงเสวนากับพวกคนกลุ่มนี้ด้วย

ส่วนคาปันนา-ฮอดจ์ เสนอว่าให้อย่าไปฟังความคิดเห็นของคนกลุ่มนี้หรือชวนเปลี่ยนเรื่องไปเลยอย่างตรงไปตรงมาเช่น "พวกเราไม่ได้อยู่ข้างเดียวกันทางการเมือง และฉันก็แน่ใจว่าคงจะไม่มีใครที่จะทำให้ใครเปลี่ยนใจได้ในคืนนี้ ถ้างั้นทำไมเราไม่พูดเรื่องอื่นกันล่ะ" หรือบอกไปสั้นๆ ว่า "ฉันมองเรื่องนั้นต่างออกไป"

เมื่อถึงเวลาต้องขอตัว

ถ้าหากว่า คุณลองใช้วิธีการข้างต้นที่บอกไปทั้งหมดแล้วก็ยังไม่สนุกกับการต้องอยู่กับกลุ่มคนเหล่านั้นล่ะ ออเรนจ์บอกว่ามันคงถึงเวลาที่คุณต้องขอตัวออกจากจากที่แห่งนั้น "บางครั้งแล้วการขอตัวออกมาจากสถานการณ์ก็นับเป็นการวางขอบเขตที่ดีที่สุด" ออเรนจ์กล่าว

ออเรนจ์บอกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นการระเบิดอารมณ์ออกมา คุณอาจจะลองหาข้ออ้างที่จะต้องขอตัวออกมาจากตรงนั้นเพื่อที่จะทำให้คุณออกมาได้เมื่อมันไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว

คำแนะนำอื่นๆ จากนักจิตวิทยาคลินิก

ในเว็บไซต์นิตยสาร "บัสเทิล" ก็ได้นำเสนอเรื่องราวคล้ายๆ กันถึงวิธีการแก้ปัญหาเวลาที่ต้องเจอกับ "ครอบครัวเป็นพิษ" (Toxic Family) ในช่วงเทศกาล โดยมาจากคำแนะนำของ Ruifan Zeng นักจิตวิทยาคลินิกผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องความชอกช้ำหรือบาดแผลทางใจมีหลายข้อที่ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ เสนอมาก่อนหน้านี้ เช่น การวางแผนบทสนทนาล่วงหน้า, การฝึกเบี่ยงเบนบทสนทนาออกจากเรื่องที่ไม่อยากพูดถึง, การใช้วิธีสุภาพในการปฏิเสธคำถามที่ล่วงล้ำ รวมถึงการวางแผนหาทางหนีจากสถานการณ์แย่ๆ เอาไว้ล่วงหน้า

นอกจากคำแนะนำเหล่านี้แล้ว Zeng ยังได้ให้คำแนะนำอื่นๆ เอาไว้ด้วย เช่น การปรับความคาดหวังของตัวเราเอง อย่าไปคาดหวังว่าตัวเราเองจะเป็นคนที่ดีพร้อมสำหรับครอบครัวหรือญาติมิตรในแบบที่พวกเขาพยายามกดดันเราให้เป็น และในขณะเดียวกันก็อย่าไปหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ รวมถึงอาจจะใช้วิธีการวางแผนเตรียมกิจกรรมกับครอบครัวที่ดูเป็นกลางเอาไว้ล่วงหน้าอย่างเช่นการเล่นเกมสนุกๆ ด้วยกัน และมีวางแผนการ "ดูแลเยียวยาตัวเอง" (self-care) หลังจากเผชิญความเครียดจากครอบครัวเป็นพิษเอาไว้ด้วย เช่นการทำเรื่องที่ทำให้เราเองรู้สึกผ่อนคลาย

Zeng แนะนำอีกว่า การที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่ชวนให้สภาพจิตใจตัวเองแย่นั้น ก็อยากให้คอยตรวจเช็กสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองอยู่เสมอว่ายังไหวหรือไปต่อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ควรต้องหาทางถอยออกมา หรือถ้าหากยังต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์เช่นนั้นก็อาจจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่ไว้ใจได้ (ว่าจะไม่ทำร้ายจิตใจเรา) หรือแม้กระทั่งขอคำปรึกษาจากนักบำบัด การได้เล่าเรื่องแย่ๆ ให้คนอื่นฟัง อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เราเบาใจไปได้บ้าง

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่นักจิตวิทยาแนะนำคือ ถ้าหากคุณมองหาพันธมิตรหรือคนที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณได้ในหมู่ญาติมิตรก็ขอให้คอยอยู่ข้างๆ คนเหล่านั้นไว้ และใช้เวลาร่วมกับพวกเขา พวกเขาอาจจะเห็นด้วยถึงความงี่เง่าของคำถามเสียดแทงจากญาติเป็นพิษคนอื่นของคุณก็ได้ หรือถ้ามันแย่เกินไปก็ขอให้คอยเตือนตัวเองว่าการอยู่กับเหล่าญาติเป็นพิษเหล่านี้มันจะเป็นเรื่องแค่ชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่นานคุณก็จะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติของชีวิตได้

ทั้งนี้ ทั้งนั้นแล้ว ถ้าหากว่าคุณประเมินเอาไว้แล้วว่าการต้องไปพบเจอครอบครัวเป็นพิษในช่วงเทศกาลมันแย่เกินทนหรือจัดการอะไรไม่ได้แน่ๆ แล้วคุณเลือกที่จะไม่ไปก็ได้ ก็อาจจะต้องถามตัวเองว่าคุณจำเป็นต้องไปมากน้อยแค่ไหน หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องหาวิธีแข็งขืนเสนอประเพณีใหม่ๆ ในช่วงเทศกาลไปเลยก็ได้ ให้เหล่าญาติของพวกคุณต้องลองปรับเปลี่ยนมาอยู่ในที่คุณสามารถจัดการอะไรได้มากกว่าหรืออย่างน้อยก็เป็นพื้นที่ที่เป็นกลางมากกว่าแทนพื้นที่เดิมที่พวกเขามีอำนาจมากกว่า

 

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net