Skip to main content
sharethis

แม้คนไทยจะชินหูกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการต้มตุ๋นออนไลน์กันบ้างแล้ว แต่ปัญหายังคงอยู่ เมื่อคนไทยยังถูกหลอกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่มาตรการปราบปรามยังมีช่องโหว่ เหยื่อยังถูกกฎหมายไทยกระทำซ้ำ และการช่วยเหลือก็ทำได้ยากขึ้นเมื่อโจรก็มีทางหนีทีไล่ใหม่

“เดินทางจากสุโขทัย นัดหมายไปที่อรัญประเทศ พอไปถึงก็ได้เปิดโรงแรมพักรอให้มีคนมารับ จะมีนายทุนชาวจีนส่งคนมารับจากอรัญประเทศไปเมืองสีหนุวิลล์ ระหว่างทางพาออกจากโรงแรม นัดกันช่วง 18.00 น. แต่มารับจริงๆ ประมาณเที่ยงถึงบ่ายสอง จากนั้นก็พาไปพักที่บ้านหลังหนึ่ง ก็เริ่มเอะใจ ตอนนั้นมีรถตู้โดยสาร ก็มีคนบอกว่าระวังโดนหลอกนะ แต่ตอนนั้นดันไปอยู่ในกลุ่มของนายทุนจีนก็เลยกลับไม่ได้”

จากคำบอกเล่าของนพ (นามสมมติ) การหันหลังกลับไม่ได้ ได้นำพาเขาไปถึงสีหนุวิลล์ เมืองชายฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ที่ตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ถูกพูดถึงในฐานะเมืองที่เป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ ที่หลอกทั้งเงินจากคนที่หลงเชื่อ และหลอกคนมาเป็นแรงงานในงานสีดำดังกล่าว นพและหลานเป็นหนึ่งในนั้น

“ที่ไปทำก็คือหลอกเทรดหุ้น ใช้รูปโปรไฟล์ผู้หญิง สวยๆ ไปหลอกให้มาเทรดหุ้น จะมีการตรวจสอบการทำงานของผมตลอดเวลา มีกล้องวงจรปิดอยู่ จะมีหัวหน้าทั้งชาวไทย ชาวจีน คอยตรวจแชทตลอดเวลา”

เมื่อรู้ว่างานไม่ตรงตามตำแหน่ง “นักการตลาดออนไลน์” ที่เคยคุยกัน นพพยายามคุยกับหัวหน้างานเพื่อขอกลับประเทศ ทั้งหมดนั้นเพียงเพื่อจะพบว่าเขามีค่าตัวอยู่ที่ราว 120,000-130,000 บาทที่ต้องจ่ายเพื่อไถ่ตัวเองออกไป ราคาของอิสรภาพยิ่งสูงกว่านั้นหากมีการขอความช่วยเหลือจากญาติหรือทางการ เพราะนพเห็นเหยื่อร่วมบริษัทอีกคนที่มาจากเวียดนามพยายามขอความช่วยเหลือไปยังโลกภายนอกแล้วถูกจับได้ เขาถูกรุมทำร้าย ทุบตีจนเห็นกระดูกขา จากนั้นก็ถูกขายต่อ

แต่นั่นไม่ได้หยุดความตั้งใจของนพที่จะกลับบ้าน ผลของการได้ลอง คือหัวหน้างานรู้ว่ามีคนร้องขอความช่วยเหลือออกไป นพตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนทำ และได้รับโทษทัณฑ์แบบเดียวกันกับเพื่อนชาวเวียดนาม

“ถูกไฟฟ้าช็อตที่หลัง ถูกตบตีที่ใบหน้าและลำตัว มีทั้งชาวจีนและหัวหน้าที่เป็นคนไทย ประมาณ 10 คน” นพยกตัวอย่างการถูกทำร้ายก่อนที่เขาจะถูกขายต่อไปที่โรงแรมจุงเฉา อินเทอร์เนชั่นแนล โฮเทล ในเมืองเดียวกัน เพื่อไปทำงานหลอกชาวไทยต่อ

เรื่องราวของนพที่พูดถึงในวงเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในวันที่ 29 ก.ย. 2565 เป็นหนึ่งในเส้นเรื่องที่ถูกเล่าซ้ำๆ บนหน้าสื่อมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา วิบากกรรมของนพเป็นภาพแทนของคนไทยนับพันที่สนใจโอกาสการทำงานต่างประเทศในช่วงที่ประเทศล็อกดาวน์ เพียงเพื่อไปถูกบังคับให้หลอกลวงเงินจากคนไทย พยายามหลบหนี ถูกทำร้ายอย่างสยดสยองตามแต่กรณี ถูกขายต่อ และอาจได้รับความช่วยเหลือในที่สุดหากโชคเข้าข้าง

แต่อีกเรื่องราวของนพที่ยังไม่ได้เล่ากันมากนัก ก็คือ แม้จะหลุดพ้นจากขุมนรกมาแล้ว แต่ระหว่างทางของกระบวนการยุติธรรม เหยื่อกลับกลายเป็นอาชญากร ขณะที่กิจการต้มตุ๋นออนไลน์ก็ยังดำเนินต่อไป

ไปขุดทองที่ต่างแดนกันเถอะ

ตั้งแต่ช่วงปี 2561 จนถึง ปี 2565 การประมาณการรายได้จากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ผ่านข้อมูลจากระบบของธนาคารแห่งชาติ พบว่ารายได้จากแรงงานนอกประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี่อาจเป็นแนวโน้มที่พอทำให้เห็นว่าคนไทยส่งเงินกลับจากต่างประเทศมากขึ้น หรืออาจหมายความว่าคนไทยมุ่งหน้าออกจากประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสทางการทำงานนอกประเทศมากขึ้น

และหากในช่วงปลายปี 2565 คุณกำลังเป็นคนหาโอกาสทางการงานในต่างประเทศ ก็จะพบข้อเสนอที่น่าสนใจและแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จละลานตาไปหมด 

ยกตัวอย่าง #นักล่าเงินวอน ในแอป tiktok จะเห็นวิถีชีวิตของชาวไทยที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้ ทั้งรีวิวงาน รีวิวชีวิต ประกาศจ้างงาน ไปจนถึงคร่ำครวญคิดถึงบ้าน

ถ้าข้ามกลับมาที่กัมพูชา พื้นที่ที่เราให้ความสนใจ โพสต์ในกลุ่ม “หางานปอยเปตสายตรง” ระบุหางานในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ แอดมิน ตอบแชท บริการลูกค้า” ในโรงแรม ฮอลิเดย์ ปอยเปต ช่วงทดลองงาน เงินเดือนเริ่มต้น 13,000 บาท และผ่านโปรจะได้เงินเดือน 15,000 บาท

หรือโพสต์ในกลุ่มเดียวกันที่รับสมัครงานตำแหน่ง “พนักงานแอดมิน” ให้บริษัทหนึ่ง ช่วงทดลองงานเงินเดือน 12,000 บาท และขึ้นเป็น 16,000 บาท เมื่อเปลี่ยนเป็นพนักงานประจำ และมีค่าคอมมิชชั่นแยก โดยระบุว่าเนื้อหางานเกี่ยวกับการขายออนไลน์ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และผู้สมัครต้องคุ้นเคยกับการพิมพ์ดีด สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ อนึ่ง แม้ทั้งสองโพสต์จะรับสมัครหัวหน้างานเหมือนกัน แต่โพสต์มีเรตเงินเดือนให้ที่ 25,000-30,000 บาท 

โพสต์ในกลุ่ม “หางาน ปอยเปต (ปลอดภัย) ชวนคนไปทำงานที่เมียวดี ประเทศพม่า ต้องการคนที่ได้ภาษาจีน เงินเดือนถึง 50,000 บาท พร้อมที่พักฟรีและอาหาร 4 มื้อ

หรือโพสต์หนึ่งจากกลุ่ม “หางานปอยเปญ สีหนุ พนมเปญ” เปิดรับพนักงานตำแหน่งแอดมิน ให้เงินเดือน 19,000-30,000 บาท ทำงานในพื้นที่โซน 3 ซึ่งหมายถึงพื้นที่หนึ่งในเมืองปอยเปต มีสวัสดิการค่าอาหาร มีที่พักฟรี มีโบนัสรายเดือนและโบนัสวันเกิด

เป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไปว่าพื้นที่ชายแดนของไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา นี้เป็นที่ตั้งของคาสิโนและสถานบันเทิงจำนวนมาก เมื่อเกิดการปิดชายแดนหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นฐานปฏิบัติการของคาสิโนออนไลน์แทน ซึ่งความเทาของธุรกิจในพื้นที่ก็ทำให้เกิดธุรกิจต้มตุ๋น หลอกลวงทั้งเงินจากคนที่หลงเชื่อ และหลอกคนไปทำงานหลอกลวงเอาเงินดังกล่าว

เมื่อประตูปิด หน้าต่างก็เปิด: คนไทยเป็นทั้งเหยื่อและลูกค้าต้มตุ๋นออนไลน์ในกัมพูชา

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับรูปแบบบางอย่างของเหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานต้มตุ๋นออนไลน์ได้ ตามอินโฟกราฟิกข้างต้น ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับเหยื่อเมื่อปี 2564 จะพบว่ามีทั้งคนที่ได้ทำงานและได้เงินจริง แต่บางคนก็ได้งานไม่ตรงปก แถมยังได้เงินน้อยกว่าที่ควรได้ ไปจนถึงไม่ได้เงินเลยก็มี

เป็น ‘เหยื่อ’ ในสายตาคนช่วยเหลือ แต่เป็น ‘อาชญากร’ ในสายตากฎหมาย

แต่สิ่งที่ยังไม่ได้เล่ามากนักในกรณีของคนที่ถูกหลอกไปทำงานสีเทา-สีดำก็คือ นพถูกตำรวจตั้งข้อหาว่ามีความผิดในข้อหาสมคบกันทำการหลอกลวง และสมคบกันในลักษณะอาชญากรข้ามชาติ 

ทำไมเหยื่อคนหนึ่งถึงถูกตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันกับ ‘กลุ่มจีนเทา’ ที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์เขย่าขยี้  หรือ ‘ทุนมินลัต’ นักธุรกิจพม่า ที่มีความสัมพันธ์กับผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารพม่า คำตอบอยู่ที่กระบวนการทางกฎหมายของไทย

จารุวัฒน์ จิณห์มรรคา  รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอล องค์กรที่ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ถูกหลอกไปทำงานต้มตุ๋นในประเทศเพื่อนบ้าน เล่าว่านอกจากนพแล้ว มีเหยื่ออีกประมาณ 24 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าว และคาดว่าจะมีอีกเป็นหลักพันคนที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของมูลนิธิที่ถูกกล่าวหาให้เป็นอาชญากร ในปี 2565 มูลนิธิฯ กำลังดำเนินการให้ความช่วยเหลือเหยื่อกลุ่มนี้ในทางกฎหมาย

จารุวัฒน์เล่าว่ามีหลายกระบวนท่าที่จะใช้เพื่อช่วยเหลือชาวไทยกลับบ้านทั้งในทางเปิดเผยและทางลับ แต่การต้องประสานงานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นก็อาจมีความล่าช้าและติดขัด ความล่าช้าในที่นี้ บางครั้งส่งผลให้เหยื่อต้องตกอยู่ภายใต้การคุมขังในฐานความผิดเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งกินเวลานานนับเดือนกว่าเหยื่อจะได้กลับบ้าน

ต่อมาเมื่อช่วยกลับมาฝั่งไทยได้แล้ว เหยื่อก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดแยกประเภทผู้เสียหาย รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอลเล่าว่า กระบวนการนี้จะกระทำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน นักสังคมสงเคราะห์และภาคประชาสังคม เมื่อคัดแยกและส่งเหยื่อกลับบ้านก็จะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาช่วยเหลือ

กระบวนการคัดแยกนี้ทำไปเพื่อแยกว่าใครเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จะมีการสอบถาม มีแบบฟอร์มให้กรอก และให้นักสหวิชาชีพจากหน่วยงานต่างๆ ลงความเห็นร่วมกัน โดย “ความเป็นเหยื่อ” มักถูกบ่งชี้จากหลักฐานที่สามารถระบุได้ว่าเขาถูกหลอกไปทำงาน เช่น ข้อความชักชวน แต่การคัดแยกนี้ ในสายตาของผู้บังคับใช้กฎหมายอาจยังฟังไม่ขึ้นพอที่จะถูกมองในฐานะเหยื่อ และต้องกลายเป็นอาชญากรต่อหน้ากระบวนการยุติธรรม

ประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ พูดถึงประเด็นการถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า กรณีการค้ามนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มักจะได้แต่คำบอกเล่าของผู้เสียหาย และบางรายก็แทบไม่เหลือหลักฐานมากไปกว่านั้นเพราะต้องทำลายร่องรอยทุกอย่างเพราะกลัวจะถูกนายจ้างจับได้ ทำให้พยานหลักฐานขาดความเป็นรูปธรรมที่อาจทำให้จำเลยหรือก็คือฝั่งนายจ้างมีข้อต่อสู้เยอะขึ้น

“ในประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้ ส่วนใหญ่เราก็จะได้จากคำบอกเล่าของผู้เสียหายที่เราไปช่วยกลับมา…นอกเหนือจากคำให้การแล้วก็ไม่มีหลักฐานอย่างอื่น เพราะดูเหมือนว่าเราก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายประเทศต้นทางเท่าไหร่ เขาให้ความร่วมมือกับเราในการช่วยเหลือคนของเรากลับมา แต่ในแง่ของการรวบรวมพยานหลักฐานก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม”

“ในสำนวนก็จะมีเฉพาะคำบอกเล่าว่าโดนใครหลอก โดนใครบังคับขู่เข็ญต่างๆ อาจจะมีภาพจากโทรศัพท์มือถือบ้าง บางครั้งก็จะเป็นแค่คำบอกเล่าแล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะไปสเก็ตช์ภาพคนร้ายมา ก็จะได้ประมาณเท่านี้”

ตั้งแต่ปี 2551 ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นเครื่องมือในการจัดการกับธุรกิจหรืออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยเหยื่อจากการค้ามนุษย์จะได้รับการยกเว้นจากการถูกดำเนินคดีในความผิดบางสถาน แต่ข้อยกเว้นนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้เสียหายจากการถูกหลอกไปทำงานหลอกลวงผู้อื่นในต่างประเทศ

มาตรา 41 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เสียหายในความผิดฐานเข้ามา ออกไปหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานฐานปลอมหรือใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเฉพาะที่เกี่ยวกับการติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตามหรือรบเร้าบุคคลเพื่อค้าประเวณีและการเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีเพื่อค้าประเวณี หรือความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

ประวิทย์เล่าว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน จะได้รับการยกเว้นไม่ถูกดำเนินคดีเฉพาะบางฐานความผิด แต่เมื่อมีการยอมรับว่าทำจริง ตำรวจก็ต้องตั้งข้อกล่าวหาไว้ก่อนแล้วให้ผู้เสียหายไปต่อสู้ในชั้นศาลอีกทีว่าถูกบังคับให้ทำ เพราะหากไม่ทำ ตำรวจที่ไม่ตั้งข้อกล่าวหาก็อาจมีความผิด

ช่วยเหลือยากขึ้น ทลายรังให้สิ้นซากยากกว่า

นอกจากการถูกดำเนินคดีของเหยื่อที่ถูกช่วยกลับมาแล้ว ข้อมูลจากรองประธานมูลนิธิอิมมานูเอลพบว่าคนไทยยังขอความช่วยเหลือมาจากกัมพูชามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นอย่างพม่าหรือลาว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือฐานปฏิบัติการในกัมพูชาได้ขยับออกไปจากชายแดนฝั่งไทย ไปอยู่ที่ชายแดนฝั่งเวียดนาม ข้อมูล GPS ที่เหยื่อส่งมาเพื่อขอความช่วยเหลือจะพบว่ามีจำนวนหลักร้อยคนจากหลายอาคารในบริเวณนั้น

ข้อมูลจากจารุวัฒน์สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจาก ร.ต.อ. กฤษณะ เอี่ยมสะอาด รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธร จ.สระแก้ว ที่ระบุว่าฐานปฏิบัติการได้ย้ายไปที่เมืองบาเวต เมืองชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม เพื่อหนีการรบกวนจากทางการไทยในสีหนุวิลล์และปอยเปต โดยทางเจ้าหน้าที่เพิ่งได้รับการขอความช่วยเหลือจากพื้นที่นั้นเป็นจำนวนมากในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2565

กฤษณะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ผู้กองเพชร’ ในแวดวงคนทำงานและเหยื่อที่ร้องขอความช่วยเหลือ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.สระแก้ว ผู้มีหน้าที่จัดทำข้อมูลและประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในไทยและกัมพูชาเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกไปทำงานมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 โดยได้รับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)

กฤษณะระบุว่า แม้บาเวตจะห่างจากพนมเปญเพียงราว 160 กม. แต่การย้ายฐานปฏิบัติการมีผลอย่างมากต่อการดำเนินการช่วยเหลือ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเก็บข้อมูลเชิงกายภาพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผังอาคาร จุดที่ตั้งของอาคารหรือกลุ่มอาคารที่เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ไม่มีมาก่อน 

ภาพถ่ายของสำนักงานแก๊งต้มตุ๋นในสีหนุวิลล์ ตามอ้างอิงจากพิกัดของเหยื่อที่ขอความช่วยเหลือ จะพบว่าเป็นสถานที่ปิด ด้านหน้ามีป้ายภาษากัมพูชา เขียนว่า ห้ามเข้า มีผู้ป่วยโควิด-19 ข้างใน ภาพถ่ายเมื่อปี 2564

แม้จำนวนคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในพม่าและลาวจะน้อยกว่าฝั่งกัมพูชา แต่กรณีของแก๊งต้มตุ๋นในพม่านั้นถือเป็นที่รับรู้ของทางการไทยอยู่บ้าง สะท้อนจากประกาศเตือนจากกระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงการรายงานข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังพบว่ามีชาวอินเดีย ชาวพม่าและชาวจีนจำนวนมากถูกหลอกไปทำงานต้มตุ๋นในพม่า ทั้งในพื้นที่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารและพื้นที่ของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธ

มูลนิธิอิมมานูเอลซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ก็เคยได้รับการขอความช่วยเหลือมาจากทางฝั่งพม่าเช่นกัน โดยพื้นที่ที่ได้รับมาจะเป็นของชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ เช่น ชเวก๊กโก ที่ปล่อยให้คนจีนเช่า และอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มกะเหรี่ยงติดอาวุธอย่างกลุ่ม KNU DKBA KNLA ไปจนถึงหน่วยย่อยของกองทัพพม่าอย่างกลุ่ม BGF ในพื้นที่จะมีตึกเช่าที่ทำทั้งคาสิโน ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และค้าบริการทางเพศ ทางมูลนิธิได้ช่วยเหลือคนออกมาจากพื้นที่นี้จำนวนทั้งสิ้น 11 คน แต่ที่ช่วยเหลือมาเป็นชาวอินเดีย ซึ่งเหยื่อชาวอินเดียเล่าให้เขาฟังว่าในนั้นมีคนที่ถูกหลอกมาทำงานจากหลายประเทศรวมถึงไทย

กฤษณะและจารุวัฒน์มองว่ารูปแบบการหลอกลวงยังมีลักษณะแบบเดิม คือหลอกว่ามีงานให้ทำที่ต่างประเทศ มีรายได้ดี กินอยู่ฟรี แต่พอไปถึงก็ถูกบังคับให้ทำงานต้มตุ๋นหลอกให้คนนำเงินมาลงทุนในโครงการที่ไม่มีอยู่จริง หรือไม่ก็เป็น Romance scam หลอกสานสัมพันธ์ในทางชู้สาวแล้วให้โอนเงินมาให้ หากทำเงินไม่ได้ตามเป้าก็จะถูกทำร้าย ทำโทษ ไปจนถึงขายต่อให้ผู้ประกอบการคนอื่น หรือหากอยากจะกลับก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวเองออก หรือพูดง่ายๆ ก็คือค่าไถ่ โดยการหลบหนีอาจจะจบที่การถูกทำร้ายร่างกายและขายต่อ

ตั้งแต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวงคนไทยไปทำงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความจริงจังในการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทย แต่ก็ยังมีคำถามอีกมากมายถึงการปราบปรามเครือข่ายอย่างถึงรากถึงโคนและเป็นระบบ

การนำเสนอของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในงานเสวนาสาธารณะเมื่อ 29 ก.ย. 2565 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ ระบุว่า แม้ทางการไทยจะช่วยเหลือเหยื่อชาวไทยกลับมาเกินกว่าหนึ่งพันคน รวมถึงได้ดำเนินการจับกุมและยึดทรัพย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชาไปแล้ว แต่กลายเป็นว่ายิ่งปราบก็เหมือนยิ่งเพิ่ม 

รอง ผบ.ตร. ยกตัวอย่างภารกิจที่เขากับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่สีหนุวิลล์ในปี 2564 ว่า หลังจากได้รับข้อมูลและสืบทราบสถานที่ที่คนไทยถูกกักขังเอาไว้ในกัมพูชาได้แล้ว 3,000 กว่าคน ก็วางแผนร่วมกับ ผบ.ตร. ว่าจะให้นำเรือหลวงจักรีนฤเบศทรไปรับกลับ หลังจากนั้นก็มีการคุยกับหน่วยกำลังพลในกัมพูชาและนัดหมายเพื่อทำการเข้าพื้นที่ แต่ท้ายที่สุด สายสืบมาแจ้งในเวลาต่อมาว่ามีการโยกย้ายเหยื่อคนไทยบางส่วนออกไปจากชั้นที่จะเข้าตรวจ เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากทางไทยนำข้อมูลส่งต่อให้กับทางการกัมพูชาดู

การโยกย้ายทำให้เมื่อเข้าตรวจจึงเจอเพียงคนไทย 30 คน เมื่อจะนำตัวคนไทยกลับ ก็มีชาวจีนในพื้นที่มาขอค่าไถ่คนละ 50,000 บาท เขาจึงบอกว่าขอจ่ายหลังจากกลับถึงไทยได้หรือไม่ ชาวจีนก็ไม่ให้ เขาจึงบอกว่าถ้าหากไม่ปล่อยไป เรื่องนี้จะดังไปทั่วโลก ชาวจีนคนนั้นจึงโทรถามผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก่อนที่จะได้คำตอบว่าให้ปล่อยคนไทยออกไปดีกว่า 

ปฏิบัติการครั้งนั้น นอกจากช่วยคนไทยได้น้อยกว่าที่คิดแล้ว สายของเขายังถูกซ้อมและทิ้งไว้ข้างทะเลสาบหนึ่งคน รอง ผบ.ตร. จึงมีข้อสรุปว่าจุดสำคัญหนึ่งของการแก้ปัญหาคือความจริงใจในการแก้ปัญหา

ในด้านความร่วมมือจากเหยื่อ จารุวัฒน์เล่าว่าเหยื่อหลายคนไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการได้ ไม่ว่าจะทั้งเหตุผลเรื่องต้นทุนในการเดินทาง หรือเหตุผลเรื่องการต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่

“บางคนมาแจ้ง มาร้องทุกข์ ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ใช้เวลาเดินทาง มีค่าใช้จ่ายสูง ไหนจะค่าเดินทางไป-กลับ ค่าที่พัก ค่าอาหาร จริงๆ มูลนิธิเราก็ช่วยคนเท่าที่พอจะเป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้เสียหายเราจะติดตรงที่สมัครงานแล้ว ลางานไม่ได้ ลาทีมีปัญหา บางทีพนักงานสอบสวนเขานัดทีก็ไม่เป็นเวลา บางทีจวนตัวมาเลย บางทีก็ระบุวันได้”

“บางคนก็คิดว่ามันผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป ขอเริ่มชีวิตใหม่ ขอทำงาน เพราะทุกคนกลับมาก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจทุกคน ไปทำงานกัมพูชาเพราะอยากได้เงิน บางคนไปแล้วเป็นหนี้ไม่พอ กลับมาแล้วก็ต้องเริ่มทำงานใหม่ ก็ไม่มีเวลา ถ้าจะมาจริงๆ เขาก็ไม่มีตังค์เดินทางมา จะลางานก็ยากแล้ว” จารุวัฒน์กล่าว

ตื่นรู้ กำชับความร่วมมือ แก้ไขกฎหมาย ทำลายวงจรมิจฉาชีพ

ประวิทย์มองว่า มาตรา 41 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ควรมีการปรับปรุงถ้อยคำให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น แก้ไขให้ฐานความผิดที่ได้รับการยกเว้นไม่ดำเนินคดีให้กว้างขึ้น 

นอกจากนโยบายทางกฎหมายที่มีช่องให้แก้ไขได้ ประวิทย์มองว่าความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นปลายทางของฐานปฏิบัติการของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ควรมีแผนปฏิบัติงานร่วมกันที่ชัดเจนขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 2566 นี้ ประวิทย์และหน่วยงานในไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จะยกทีมไปคุยกับกัมพูชาและพม่า และจะมีการหารือออนไลน์กับทางการจีนหลังจากนั้นเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจเรื่องการป้องกัน ปราบปราม ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในประเทศในลุ่มน้ำโขงและจีน 

“เราเองอาจจะต้องมีการปรับจูน อาจจะต้องมีการคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเรามากขึ้นว่าถ้าเกิดคดีร่วมกันในลักษณะแบบนี้ จะทำงานร่วมกันยังไง จะสืบสวน จะสอบสวนร่วมกันยังไง จะเก็บพยานหลักฐานร่วมกันยังไง ให้มันมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เหมือนเราทำอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ในเรื่องการปราบปรามเขาก็ไม่ค่อยจะร่วมไม้ร่วมมือเท่าไหร่ ส่นหนึ่งก็อาจจะเพราะผู้กระทำความผิดเป็นคนชาติอื่นด้วย มันก็เหมือนขาดตอน เหมือนเราได้แต่ช่วยคน แต่เราไม่สามารถจะปราบปรามคนที่มาล่อลวง คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ” ประวิทย์กล่าว

กฤษณะคิดว่าควรมีกิจกรรมสานความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐสองประเทศเพื่อให้การประสานงานมีกำแพงต่อกันน้อยลงและทำได้ง่ายขึ้น

“จัดเป็นงานลักษณะเหมือนละลายพฤติกรรมให้ได้รู้จักกัน ให้ได้สนิทกันเพื่อมีความสัมพันธ์และคอนเนกชั่น เวลามีอะไรจะได้คุยกันง่าย”

“พอเสร็จตรงนี้ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ถ้าได้รู้จักกัน ทุกอย่างก็จบด้วยการเจรจากัน คุยกัน” 

ด้านจารุวัฒน์มองว่าหนึ่งปัญหาที่ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ไม่จบเสียที เป็นเพราะทัศนคติของสังคมและหน่วยงานต่างๆ ยังมองภาพปัญหาของการต้มตุ๋นลักษณะนี้เป็นคนละอย่าง หากทุกคนมองว่าเรื่องนี้คือปัญหา คือการค้ามนุษย์ ท้ายที่สุดแนวทางการแก้ไขปัญหาจะชัดเจนและไม่ไปกันคนละทิศคนละทาง

“ทุกฝ่ายต้องมองไปในทางเดียวกัน ว่าสแคมเมอร์ที่กัมพูชามันมีส่วนของการค้ามนุษย์ในนั้น เข้าใจว่านี่คือการค้ามนุษย์ มีคนจีนที่เป็นผู้ค้ามนุษย์อยู่ ตอนนี้มีแค่บางส่วน พวกเราบางกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานเล็กๆ เท่านั้น [ที่มองในทางนั้น] คนส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นอาชญากร ทำให้ประชาชนเดือดร้อน”

“ลูกหลานพี่น้องคนไทยด้วยกันถูกหลอกให้ไปทำงานในกัมพูชา ถูกชาวจีนหลอกไปทำงานโดยเขาก็ตั้งใจไปทำงานจริงๆ คนเราก็มีปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกัน ไม่มีเงินเหมือนกัน และเขาก็ตั้งใจไปที่จะไปหาเงิน แล้วเขาก็อ้างไปทำงานผิดกฎหมาย พี่น้องคนไทยเราถูกหลอกเข้าไป มีลักษณะล่อลวงให้ไปทำงาน สุดท้ายเขาไม่รุ้หรอกครับ พี่น้องคนไทยเราส่วนใหญ่ผมกล้าพูดได้เลยว่าเขาไม่รู้ครับ เขาเข้าไปเพื่อไปหาเงินจริงๆ ไปทำงานสุจริตที่เขาอ้างว่าถูกกฎหมาย”

สำหรับผู้ช่วยเหลืออย่างกฤษณะ ก็เน้นย้ำให้คนไทยที่จะออกไปทำงานต่างประเทศให้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะก้าวเท้าไปทำงานต่างประเทศ

“ทุกเคส พ่อแม่ ญาติพี่น้องก็เตือน แต่เจ้าตัวรั้นที่จะมา เพื่อนชวนบ้างแหละ ขอไปตายดาบหน้าบ้างแหละ อยากไปทำงานเพราะเขาบอกว่าได้เงินเดือนสูง ได้เงินสองหมื่น สามหมื่น สี่หมื่น ทุกคนก็เห็นข่าวหมด แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง อยากจะเตือนเด็กๆ ว่าถ้าเจอลักษณะการชักชวนไปทำงานในกัมพูชา แบบเข้าออกโดยผิดกฎหมาย ชักชวนหว่านล้อมว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ให้ตรวจสอบให้ดีและคิดไว้ก่อนว่าพวกนี้เป็นขบวนการในเรื่องของการเอาเราไปบังคับทำงาน เพราะว่าถ้าเด็กๆ เห็นถึงกระบวนการเหล่านี้แล้ว ไม่กล้าที่จะไป ผมว่าเดี๋ยวมันก็หมดไปเอง”

สำหรับคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน สามารถติดต่อหมายเลขฮอตไลน์กรมการกงสุลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ +6625728442 หรือสามารถอ่านคำถามที่พบบ่อยได้ที่เว็บไซต์ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (คลิก)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net