Skip to main content
sharethis

ขณะนี้มองโกเลียกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการทุจริตในอุตสาหกรรมถ่านหินและความไม่ยั่งยืนของการพึ่งพาแหล่งพลังงานดังกล่าว ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

 

29 ธ.ค. 2565 มองโกเลียเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จากที่เคยอยู่ภายใต้เผด็จการคอมมิวนิสต์ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ แต่ขณะนี้มองโกเลียกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากการทุจริตในอุตสาหกรรมถ่านหินและความไม่ยั่งยืนของการพึ่งพาแหล่งพลังงานดังกล่าว ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย

 

เสถียรภาพของประชาธิปไตย

มองโกเลียเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จากที่เคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ แม้ปัจจุบันจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่มองโกเลียเองก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและระบอบประชาธฺิปไตย

ในปี 2565 มองโกเลียเกิดการประท้วงใหญ่ขึ้น 2 ครั้ง ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ชาวมองโกเลียได้ออกมารวมตัวประท้วงที่จุตรัสซัคบาทาร์ ในกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงมองโกเลียเพราะไม่พอใจนโยบายบริหารจัดการโรคโควิด-19

จากกระแสความไม่พอใจของมติมหาชนต่อการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คนหนึ่งและลูกที่เพิ่งคลอดของผู้ป่วยคนดังกล่าว คูเรลซูค อุคนา ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของมองโกเลีย และกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งเมื่อ มิ.ย. 64

ทว่าคูเรลซูค อุคนา ก็ต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายอีก เมื่อประชาชนได้รวมตัวกันที่จตุรัสแห่งเดิมอีกครั้ง และทำการประท้วงเป็นเวลาหลายวัน เพื่อทวงคืนความยุติธรรมจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และเรียกร้องให้มีการยุบสภา โดยในการประท้วงครั้งนี้ มีผู้เลี้ยงปศุสัตว์เดินทางมายังเมืองหลวงเพื่อร่วมการชุมนุมด้วย

การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงยังคงเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงแรก รัฐสภาของมองโฏเลียได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่ผ่านเสียงข้างมากในรัฐสภา การประท้วงขนาดใหญ่ในฤดูหนาวมีให้เห็นได้ไม่บ่อยนักในมองโกเลีย เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ส่วนใหญ่แล้วการประท้วงจะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิเสียมากกว่า

แม้การประท้วงเหล่านี้บางส่วนจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง แต่ความไม่พอใจและความผิดหวังต่อการทำงานของรัฐบาลก็มาจากความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน ปมปัญหาของการประท้วงครั้งนี้มี 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ การทุจริตคอรัปชั่นในอุตสาหกรรมถ่านหิน และอัตราเงินเฟ้อสูง แต่ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านพลังงานและผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศก็กำลังกลายเป็นปัญหาคลื่นใต้น้ำที่สร้างผลกระทบต่อมองโกเลียมากขึ้นทุกที

 

การทุจริตในอุตสาหกรรมถ่านหิน

ที่ผ่านมา ผู้เปิดโปงการทุจริตออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมถ่านหิน ได้ทำการลักลอบส่งถ่านหิน​กว่า​ 385,000 ตันไปยังจีน​ คิด​เป็นเม็ดเงินกว่าหลายพันล้านดอลล่าร์ เหตุการณ์​นี้ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างหนัก​ นำไปสู่การสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อหายักยอกทรัพย์

เออร์เดเนส ตาวาน โตลกู (Erdenes Tavan Tolgoi) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกิจการเหมืองถ่านหิน และตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ในฐานะผู้รับผิดชอบการเก็บถ่านหินโค้กของมองโกเลียกว่า 7.5 พันล้านตัน ถ่านหินโค้กถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตเหล็ก และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ประชาชนได้แสดงความกังวลกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแตะ 15.2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจากรัสเซียรุกรานยูเครนและมีการปิดชายแดนจนส่งผลกระทบต่อการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ ได้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีน

กระทรวงต่างประเทศของจีนปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการลักลอบขนถ่านหินในครั้งนี้ ทั้งนี้​ โดยปกติแล้ว มองโกเลียจะส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด กว่าครึ่งเป็นการส่งออกถ่านหิน จีดีพีมองโกเลียมาการทำเหมืองถ่านหินกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมด

 

ความเปลี่ยนทางสภาพอากาศ

มองโกเลียเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมถ่านหินอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน มองโกเลียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมถ่านหินมากที่สุดเช่นกัน ไม่ใช่แค่ในด้านการทุจริตของ 'มาเฟียถ่านหิน' ที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ยังรวมถึงด้านความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

การประท้วงใหญ่ในมองโกเลียที่ผ่านมา ประชาชนที่เข้าร่วมต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องท่ามกลางสภาวะอากาศที่หนาวจัด ในวันที่ 5 ธ.ค. ที่จตุรัสซุคบาตาร์ซึ่งตั้งอยู่กลางกรุงอูลันบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศ อุณหภูมิในวัดได้อยู่ที่ติดลบ 21 องศาเซลเซียส

มองโกเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและมลพิษอย่างหนัก มลพิษจากถ่านหินซึ่งเป็นตัวการสำคัญของก๊าซเรือนกระจก กอปรกับปัจจัยอื่นๆ ในระดับโลก ทำให้มองโกเลียมีอุณหภูมิติดลบ 30 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว ไปจนถึง 30 องศาในฤดูร้อน

แม้ 2 ใน 3 ของประชากรจะย้ายมาอาศัยอยู่ในเขตเมืองแล้ว มองโกเลียก็ยังคงมีขนบธรรมเนียมของชนเผ่าเร่ร่อนหลงเหลืออยู่มาก แต่อีกด้านหนึ่ง การประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมในมองโกเลียก็กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพิ่มขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

 

ซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจ

60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในมองโกเลียยังคงอาศัยอยู่ในเต๊นท์แบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบเครื่องทำความร้อนและระบบน้ำประปาในสมัยสหภาพโซเวียต ครัวเรือนในมองโกเลียจึงต้องใช้เตาถ่านเพื่อสร้างความอบอุ่นใหักับร่างกายในฤดูหนาว

ทว่าทรัพยากรเหล่านี้กลับมีราคาสูงขึ้นในท้องตลาด​ ที่ผ่านมา​ มองโกเลียเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ​ เพราะการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น​ จึงทำให้ราคาพลังงานในมองโกเลียสูงขึ้นด้วย​ แม้จะเป็นผู้ผลิตถ่านหินเองก็ตาม​ ซ้ำร้าย​ การค้าขายกับประเทศจีนก็ไม่สู้ดี จากการงดกิจกรรมข้ามพรมแดนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19

แม้มองโกเลียมีแหล่งน้ำมันดิบของตัวเองเช่นกัน แต่เนื่องจากไม่คุ้มทุนหากต้องกลั่นน้ำมันด้วยตัวเอง มองโกเลียจึงต้องส่งออกน้ำมันเกือบทั้งหมดไปยังประเทศจีน มองโกเลียจึงเผชิญกับปัญหาพลังงานในประเทศราคาแพง ทั้งที่ตนเองเป็นประเทศแหล่งที่มาของทรัพยากรพลังงาน

อัลจาซีรารายงานว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งประชาชนในมองโกเลียส่วนหนึ่งเห็นว่ามาจากการลักลอบส่งถ่านหินให้กับจีนด้วยนั้น ส่งผลให้ที่ผ่านมาถ่านหินในประเทศแพงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนที่ใช้ถ่านหินสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายในฤดูหนาวกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เดมเบเรล หนึ่งในผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในมองโกเลีย ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเต๊นท์กับสามี และครอบครัวของลูกชายคนที่ 2 และมีหลาน 5 คน ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่าขณะนี้ในเขตจังหวัดใกล้เคียงไม่มีถ่านหินขายแล้ว

สามีของเดมเบเรล ซึ่งสุขภาพไม่สู้ดีนัก เห็นว่าการเดินทางไปยังกรุงอูลานบาตอร์เพื่อขายแกะ ขนแกะ และนมแกะ เป็นทางเลือกที่ไม่คุ้มทุนแล้ว เพราะราคาของสินค้าเหล่านี้ตกลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ราคาของพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

"หากคุณขายแกะได้ไม่ถึง 30 ตัว หรืออะไรทำนองนั้น มันไม่คุ้มแล้ว แม้ว่าเราจะขายในเมืองหลวงได้แพงกว่า" เดมเบเรลให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา "มันอยู่ไกลเกินไป การขายค่าแก๊สและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้มันไม่ต่างจากการขายในจังหวัดใกล้เคียงเลย ยกเว้นแต่ว่าคุณจะขายมันได้เยอะๆ"

 

ปัญหาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมถ่านหิน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คืออนาคตของอุตสาหกรรมถ่านหิน ถ่านหินซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรพลังงานที่สร้างมลพิษมากที่สุด กำลังตกเป็นประเด็นของการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น จากกลุ่มที่รณรงค์ให้โลกลดการปล่อยมลพิษและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม มองโกเลียดูจะยังคงวางแผนงบประมาณโดยเพิกเฉยต่อแนวโน้มดังกล่าว ในช่วง พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐสภาของมองโกเลียได้ผ่านแผนงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อชำระหนี้ของรัฐบาลซึ่งมีกำหนดต้องจ่ายในปีหน้า ทว่าปริมาณรายรับที่คาดว่าจะได้นั้น ดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใดนักในสายตาของนักวิเคราะห์

เดอะดิโพลแมต ตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายแผนงบประมาณฉบับนี้ บางส่วนวางอยู่บนการคาดการณ์เชิงบวกว่ารายรับของมองโกเลียจะมาจากความต้องการสินค้าในฝั่งประเทศจีน ทั้งในแง่ปริมาณความต้องการและราคาของสินค้า

แม้ว่าการส่งออกทองแดงจากโอยูโตลกู (Oyu Tolgoi) เมืองขนาดยักษ์ที่ถือหุ้นกว่าครึ่งโดยริโอ ตินโต (Rio Tinto) บรรษัทข้ามชาติสัญชาติแองโกล-ออสเตรเลีย จะเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณที่สำคัญได้ในอนาคต ทว่าแผนงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาออกมานั้น กลับวางอยู่บนจินตนาการที่ว่าการส่งออกถ่านหินจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางด้านงบประมาณเฉพาะหน้าได้

ไม่ว่าการประเมินรายได้และปริมาณการส่งออกในแผนงบประมาณนี้จะสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ แนวโน้มบ่งชี้ว่ารายได้ที่คาดว่าจะได้รับเหล่านี้ ก็ยังไม่เพียงพอในการชำระหนี้ของรัฐบาลได้ทั้งหมด และหลังจากนี้คงมีการพูดคุยเจรจาอีกครั้งกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขอกู้เงินใหม่เพื่อมาชำระหนี้เก่า

ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังตระหนักถึงผลกระทบอย่างรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานอย่างถึงราก อีกด้านหนึ่ง องค์กรผู้ให้เงินบริจาคและประเทศเพื่อนบ้านที่สามหลายประเทศ ก็กำลังสนใจที่จะส่งเสริมให้มองโกเลียเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ด้วยการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกในมองโกเลีย เช่น การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังลม และพลังน้ำ

ประเทศเพื่อนบ้านที่สาม (Third Neighbours) หมายถึงประเทศที่มองโกเลียดำเนินนโยบายเป็นหุ้นส่วนด้วยในหลายระดับ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา ตุรกี และเยอรมนี เพื่อคานอิทธิพลกับจีนและรัสเซีย เนื่องจากมองโกเลียเห็นว่าประเทศมหาอำนาจที่มีชายแดนติดกับมองโกเลียทั้ง 2 แห่งนี้อิทธิพลเหนือตนเองมากเกินไป และอาจนำไปสู่ภาวะพึ่งพาทางพลังงานและเศรษฐกิจ ประเทศเพื่อนบ้านที่สามเหล่านี้กำลังโอบรับมองโกเลียในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป เพื่อช่วยมองโกเลียลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองและนักธุรกิจของมองโกเลียหลายคนรู้สึกไม่พอใจต่อกระแสกดดันให้มองโกเลียต้องรับผิดชอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นตัวการ ขณะที่ถ่านหินยังคงเป็นในทรัพยากรหลักของประเทศ และถูกมองว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ เดอะดิโพลแมตจึงตั้งข้อสังเกตว่าประเทศเพื่อนบ้านที่สามจะต้องมองหาความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างเป็นธรรม (just transition) ในกรณีของมองโกเลีย

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Protesters in Mongolia try to storm state palace

https://www.aljazeera.com/news/2022/12/6/protesters-in-mongolia-try-to-storm-state-palace

In Mongolia, climate crisis threatens herding traditions

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/29/in-mongolias-tsaikhir-valley-climate-risks-ancient-traditions

Former Mongolian Prime Minister Ukhnaa Khurelsukh wins presidency

https://www.aljazeera.com/news/2021/6/9/former-mongolian-prime-minister-khurelsukh-wins-presidency

Mass Protests in Mongolia Decry ‘Coal Mafia,’ Corruption

https://thediplomat.com/2022/12/mass-protests-in-mongolia-decry-coal-mafia-corruption/

Squeezed between China and Russia, Mongolia’s herders feel pinch

https://www.aljazeera.com/economy/2022/12/14/mongolias-herders-feel-pinch-as-china-russia-squeeze-economy

https://mfa.gov.mn/en/diplomatic/56715/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net