ห่วงภาวะเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศกระทบไทย

'ศิริกัญญา ตันสกุล' ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ สผ. เผยสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2566 ห่วงภาวะเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศกระทบไทย พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยคึกคัก ช่วงเลือกตั้ง 


ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร 

30 ธ.ค. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 2566 ว่า ยังถือว่าทรงตัว หลังจากหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงิน โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งขึ้นกระทบต่อหลายประเทศ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากราคาพลังงานทั่วโลกที่สูงขึ้นและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และถือเป็นต้นเหตุให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบแข็งตัวมากขึ้น โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 GDP จะโตต่ำกว่า 1.4%-2%
          
นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกที่ส่งผลต่อ GDP สูงสุดถึง 70% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำกระทบต่อกำลังซื้อของประชากรทั่วโลก ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่แม้จะกลับมาท่องเที่ยวแล้ว แต่พฤติกรรมการใช้จ่ายยังไม่เหมือนเดิม ดังนั้น จะยังไม่เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ถือเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะหากมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทยอยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะส่งผลให้ไม่สามารถดึงเงินเฟ้อลงมาได้ รวมทั้งวาระของรัฐบาลชุดนี้ที่เหลือเวลาอีกไม่มากจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร เพราะหากเงินเฟ้อสูงขึ้น ธปท. ก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีกเช่นกัน
          
นอกจากนี้ นางสาวศิริกัญญา ยังประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยในปี 2566 ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566  อาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องปกติหากประเทศใดที่มีการเลือกตั้งก็จะทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างกลับมาคึกคักฟื้นตัว เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง ป้ายหาเสียง การลงพื้นที่ การจัดเวทีปราศรัย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักและมีการจับจ่ายใช้สอยได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องระวังการใช้เงินที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ขายเสียง รวมถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่จะนำมาใช้หาเสียง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงก้ำกึ่ง การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินไป ยังคงเป็นความเสี่ยงในการใช้หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่อาจต้องการให้ใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อให้เศรษฐกิจดี แต่ในทางตรงกันข้ามการหาเสียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศมีความร้อนแรง บวกกับทิศทางของเงินเฟ้อจะกลับมาอีก ดังนั้น รัฐบาลและพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่กำลังหาเสียงต้องเผชิญกับปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่เพื่อความนิยมในการเลือกตั้งพรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน
          
ทั้งนี้ นางสาวศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจควรแก้ไขให้ตรงจุด เช่น กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มอ่อนแอ อย่างสหภาพแรงงาน เศรษฐกิจภาคครัวเรือน และเศรษฐกิจฐานราก เพราะคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมามากที่สุด และยังไม่ได้รับการเยียวยาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้มาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท