Skip to main content
sharethis

สปสช. เปิด 10 ผลงานเด่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ปี 2565 สะท้อนการพัฒนา “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่ไม่หยุดนิ่ง จัดสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อเนื่อง ขยายการบริการ รุกการบริหารจัดการ เพื่อดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง    

30 ธ.ค. 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอดช่วง 2 ทศวรรษของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” แต่ละปี สปสช. ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้ดำเนินนโยบายและบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 47 ล้านคน ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และปี 2565 นี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ สปสช. เดินหน้าและพัฒนากองทุนฯ อย่างไม่หยุดยั้ง ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ขับเคลื่อนโดย สปสช.เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จนปรากฏเป็น 10 ผลงานเด่น จากการดำเนินงานในปี 2565 ดังนี้ 

1. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเลือกวิธีฟอกไตแบบที่เหมาะสมได้ทุกคน สปสช.ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 เป็นอีกก้าวหนึ่ง วันที่ 6 มกราคม 2565 บอร์ด สปสช.เห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองสามารถตัดสินใจร่วมกับแพทย์เลือกวิธีฟอกไตที่เหมาะสมได้ทุกคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เปิดให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจเลือกวิธีล้างไตกับแพทย์ ปี 2565 บัตรทองดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ 62,478 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 18,478 คน ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 1,234 คน และผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 40,086 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฟอกตามนโยบายใหม่นี้ 17,000 คน นอกจากนี้มีผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไต 146 คน และผู้ป่วยรับยากดภูมิหลังปลูกถ่ายไต 2,534 คน 

2. ขยายทั่วประเทศ “รักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้-ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” 

“รักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้” หนึ่งในนโยบายยกระดับบัตรทอง โดยหลักการสำคัญคือ ผู้ป่วยคงรับบริการที่หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่าย แต่กรณีจำเป็นให้เข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ จากผลตอบรับที่ดี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 บอร์ด สปสช. ขยายบริการรักษาปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ทั้งนี้ปี 2565 มีผู้รับบริการในหน่วยบริการ 1,028 แห่ง รวมจำนวน 176,356 คน หรือ 237,162 ครั้ง 

“ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” ลดความยุ่งยากใช้สิทธิรักษาผู้ป่วยใน ด้วยประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนโดยตรง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บอร์ด สปสช. ได้ขยายนโยบายนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 ซึ่งผู้ป่วยบัตรทองที่เป็นผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัวปี 2565 จำนวน 2.30 ล้านครั้ง  

3. ผ้าอ้อมผู้ใหญ่-แผ่นรองซับ ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงติดเตียง ผู้มีปัญหากลั้นขับถ่าย บอร์ด สปสช. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียงที่มีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) และผู้มีปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 3 ชิ้น/คน/วัน หรือแผ่นรองซับการขับถ่ายไม่เกิน 3 ชิ้น/คน/วัน โดยดำเนินการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด  

4. สิทธิประโยชน์ 9 บริการใหม่ สปสช.เดินหน้าไม่หยุดนิ่ง ปี 2565 เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ 9 รายการ เริ่มในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ประกอบด้วย 1.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) 2.ขยายข้อบ่งชี้ใช้ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) 3.บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ 4.ตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening) บริการรากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ และสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร 1600  

5. เพิ่ม 10 รายการยาบัญชี จ.(2) ยาจำเป็นแต่มีราคาแพง โดยเพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วย โดย 5 รายการแรก เป็นการใช้แทนยาเดิมกรณีดื้อยา/เพิ่มข้อบ่งใช้/ปรับเงื่อนไขสั่งใช้ยา ช่วยประหยัดค่ายาได้ราว 59.64 ล้านบาท ได้แก่ 1.ยาโพซาโคนาโซล รักษาการติดเชื้อรามิวโคไมโคสิส ที่ไม่ตอบสนองต่อยา 2.ยาไลนิโซลิด รักษาการติดเชื้อเอนเทรโรคอดไคที่ดื้อยาแวนโคไมซิน 3.ยาโซฟอสบูเวียร์+ยาเวลป้าทาสเวียร์ และยาไรบาวิริน รักษาตับอักเสบซี 4.ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต รูปแบบ sterile powder ชนิดออกฤทธิ์นาน ใช้ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ และ 5.ยาเบวาซิซูแมบ รักษาจอตาผิดปกติในเด็กเกิดก่อนกำหนด      

ส่วนอีก 5 รายการใหม่ ได้แก่ 1.ยาโวริโคนาโซล รักษา invasive fungal infection จากเชื้อ Trichosporon spp 2.ยาริทูซิแมบ รักษากลุ่มโรคนิวโรมัยอิลัยติสออพติกาที่ไม่ตอบสนองการรักษา หรือมีข้อห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลน+เอซาไธโอพรีน 3.ยาเม็ดนิติซิโนนรักษาโรคไทโรซีนีเมียชนิดที่ 1 ให้เฉพาะการรักษาก่อนปลูกถ่ายตับ 4.ยาซิสทีมีน ไบทาร์เทรตสำหรับผู้ป่วย Nephropathic Cystinosis และ 5.ยาซัพโพรเทอริน (Sapropterin) (BH4) รูปแบบ oral form สำหรับวินิจฉัยแยกโรคและรักษาภาวะกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนสูงจากภาวะพร่องเตตราไฮโดรไบโอเทอริน (BH4) และโรคฟีนิลคีโตนูเรีย 

6. รุกแผนปฏิบัติราชการฯ สปสช. ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 5 สปสช.จัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566-2570 สาระสำคัญคงหลักการตามกรอบแผนการขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมา เพิ่มหลักการ ‘BCG Model’ สนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ในประเทศ เพิ่มเติมยุทธศาสตร์คุ้มครองหลักประกันสุขภาพของประชาชน การบริหารจัดการกองทุนฯ ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ระบบอิเล็กทรอนิกส์ Smart UCS ครบวงจร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน พร้อมสนับสนุนความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของบริการปฐมภูมิ  

7. ร่วมจัดระบบบริการดูแล “ผู้ป่วยโควิด-19” ด้วยหลากหลายบริการ ดังนี้  

แจกชุดตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง (ATK) ให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ รอบแรกเป็นการจัดซื้อและแจกให้กับประชาชน 8.5 ล้านชุด โดยรับ ATK ได้ที่ร้านยา ลงทะเบียนและคัดกรองความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด และรอบที่ 2 ให้หน่วยบริการเบิกจ่ายชดเชยอัตรา 55 บาท/ชุด ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับชุดตรวจอย่างทั่วถึง    

สายด่วน สปสช. 1330 ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ “เจอ แจก จบ” เมื่อกด 14 0tได้รับบริการคัดกรองอาการ ผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะแนะนำให้รับบริการผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ พร้อมเปิดช่องทางพิเศษ กด 18 ให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่ม 608 กลุ่มเด็ก 0-5 ปี คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว   

บริการเจอ แจก จบ ที่ร้านยา เริ่ม 1 กรกฎาคม 2565 ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพิ่มความสะดวกรับบริการให้กับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ทั้งรับยาและติดตามอาการ มีร้านยาเข้าร่วมและให้บริการ 547 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 65,000 คน 

บริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่าน 4 แอปพลิชันสุขภาพดิจิทัลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine (Clicknic, MorDee, Good Doctor Technology และ Totale Telemed) เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ทางเลือกผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่การระบบรักษาพยาบาลที่บ้าน พบแพทย์ผ่าน Video Call ส่งยาให้ผู้ป่วย และติดตามผลการรักษา โดยมีผู้ป่วยโควิด-19 รับบริการกว่า 18,000 ราย  

8. ยกระดับสายด่วน สปสช. 1330 จาก Call Center เป็น Contact Center ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด สายด่วน สปสช. 1330 เร่งบริการต่อเนื่อง ทั้งบริการข้อมูล ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานส่งต่อผู้ป่วย ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณสายโทรเข้าเฉลี่ย 7,000 - 8,000 สาย/วัน นอกจากนี้ยังโทรติดตามประชาชนที่เข้ารับบริการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน (home isolation หรือ community isolation) รวมถึงบริการดูแลผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OPSI) ถึงการได้รับบริการตามที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการ (Telephone Audit)  330,380 ราย นอกจากนี้ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าทีสายด่วนและมีจิตอาสาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมให้บริการ เฉลี่ยวันละ 600 – 700 คน ปัจจุบันยังคงจำนวนคู่สายบริการ 1600 คู่สาย พร้อมกันนี้ได้เพิ่มการให้บริการในช่องทางออนไลน์ เช่น LINE, Facebook, Line Chat, Email, Traffy Fondue, Pantip และ Web board  

9. เพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จากผู้ใช้สิทธิบัตรทองผ่านแอปทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แอปพลิเคชันรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่มีประสิทธิผลยุคปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและติดตามการแก้ไขจากหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ สปสช. ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดช่องทางรับแจ้งปัญหาใช้สิทธิบัตรทองผ่านแอป ทราฟฟี่ ฟองดู เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นทางเลือกสื่อสารนอกเหนือจากระบบที่มีอยู่เดิมกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอ ทั้ง สายด่วน สปสช. 1330 ไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีประชาชนใช้เป็นช่องทางติดต่อกับ สปสช. 490 เรื่อง เป็นสิทธิบัตรทอง 320 เรื่อง 

10. พัฒนา NHSO Dashboard คืนข้อมูลหลักประกันสุขภาพสู่สาธารณะ สปสช. พัฒนาการรายงานข้อมูลการดำเนินงานกองทุนบัตรทองผ่าน “สปสช. แดชบอร์ด” (NHSO Dashboard) รูปแบบ infographic เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลร่วมกัน เริ่มระบบรายงานเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 จำแนกการเข้าถึงข้อมูล 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ แดชบอร์ดสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถดูข้อมูลบริการสร้างเสริมสุขภาพที่จ่ายตามรายการบริการ บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ข้อมูลบริการคุ้มครองสิทธิ เป็นต้น ส่วนแดชบอร์ดสำหรับหน่วยบริการ เป็นกาดูข้อมูลเบิกจ่าย ผลดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง การคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม บริการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการรักษาพยาบาลตามวิถีใหม่ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จ่ายตามรายการบริการ เป็นต้น ทั้งนี้ สปสช. แดชบอร์ด เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้การคืนข้อมูลสาธารณะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net