Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์จากสื่ออัลจาซีรา ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 หลังจากที่ในช่วงปี 2565 วิกฤต COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบอยู่บ้างโดยเฉพาะในจีนที่มีการล็อกดาวน์หนักจนส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ถ้าจีนเปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจจะดีขึ้นไหม? 

ช่วงปลายปี 2565 จอห์น พาวเวอร์ นักข่าว-นักวิเคราะห์จากสื่ออัลจาซีรา ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2566 หลังจากที่ในช่วงปี 2565 วิกฤต COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบอยู่บ้างโดยเฉพาะในจีนที่มีการล็อกดาวน์หนักจนส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก บวกกับวงครามในยูเครนที่ส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิงและภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ภายใต้ผลกระทบเช่นนี้ เศรษฐกิจโลกจะดำเนินไปในทิศทางใดบ้างในปี 2566

ปี 2565 นับเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความตะกุกตะกัก ในขณะที่ผลกกระทบจาก COVID-19 เริ่มซาลงไปบ้างแล้วหลังจากช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไป แต่สงครามในยูเครนและมาตรการ "โควิดเป็นศูนย์" ในจีนก็ส่งผลกระทบอย่างโกลาหลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิงทะยานสูงขึ้นในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในหลายประเทศพุ่งสูงมากที่สุดในรอบ 40 ปี

จากช่วงปีที่แสนจะวุ่นวายนี้ ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกเคลื่อนสู่ปี 2566 ด้วยความคลอนแคลน สงครามที่วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียทำกับยูเครนยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารและพลังงาน การที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นยังคงเป็นสิ่งที่สร้างอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางหลังจากผ่านภาวะโรคระบาด COVID-19 มาแล้ว

ในแง่ดีก็มีอยู่บ้าง จากการที่จีนประกาศจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากที่มีการพยายามควบคุม COVID-19 อย่างเข้มงวดมาเป็นเวลา 3 ปี เรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ทว่าก็ยังมีความกังวลในเรื่องที่ว่าในหมู่ประชาชนชาวจีน 1,400 ล้านคนเหล่านี้ จะยังคงมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสอยู่หรือไม่ ถ้าหากว่ามีความเสี่ยงที่ว่านี้ก็อาจจะทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมได้

ภาวะเงินเฟ้อ

องค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เคยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อโลกจะลดลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 6.5 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่อยู่ในอัตราร้อยละ 8.8 อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะบรรเทาลงน้อยกว่า โดยมีการคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ในปี 2566

อเล็กซานเดอร์ เซียมาลิส อาจารย์อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ฮัลลัมกล่าวว่า ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่ที่อัตราเงินเฟ้อของปีนี้จะสูงกว่าที่ธนาคารกลางของชาติตะวันตกคาดการณ์ไว้ เซียมาลิสบอกอีกว่า วัตถุดิบและพลังงานจะยังคงมีราคาแพงไปอีกสักระยะหนึ่ง การที่ระบอบโลกาภิวัตน์ถดถอยกลับทำให้สินค้าส่งออกราคาเพิ่มสูงขึ้น เซียมาลิสอ้างว่า การขาดแคลนแรงงานในประเทศตะวันตกหลายประเทศทำให้มีกระบวนการผลิตที่ราคาสูงขึ้น และการเปลี่ยนผ่านไปสู่มาตรการเชิงรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนก็ส่งผลต่อเรื่องนี้ด้วย

ภาวะชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์ระบุว่าภาวะของแพงขึ้นจะคลี่คลายลงบ้างในช่วงปี 2565 การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะยังคงชะลอตัวไปพร้อมๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ไอเอ็มเอฟประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 2.7 เท่านั้นในปี 2566 ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 ขณะที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินไว้ต่ำกว่านั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เทียบกับที่เคยระบุไว่ร้อยละ 3.1 ในปี 2565

มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่มีมองโลกในแง่ร้ายมากกว่านั้นและเชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปี 2566 ในช่วงเวลาเพียงแค่ 3 ปี หลังจากที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจตกต่ำเพราะการระบาดใหญ่ของ COVID-19

แซนนี มินตัน เบดโดส หัวหน้ากองบรรณาธิการของสื่อดิอิโคโนมิสต์ถึงขั้นเคยตั้งชื่อบทความในคอลัมน์ของเขาเมื่อเดือน พ.ย. 2565 ว่า "เพราะเหตุใด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2566 ถึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้"

ถึงแม้ว่าคำทำนายเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำมีโอกาสจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่การที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะการเติบโตติดลบมาเป็นเวลา 2 ไตรมาสติดกัน ก็ทำให้ ปีแอร์ โอลิเวียร์ กูราชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เคยเตือนไว้เมื่อไม่นานนี้ว่า ปี 2566 อาจจะทำให้คนจำนวนมากรู้สึกคล้ายกับอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น การที่เศรษฐกิจเติบโตช้า, สินค้าราคาสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

กูราชาสกล่าวไว้เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจในสามพื้นที่ที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐฯ, จีน, และพื้นที่ยุโรป จะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ผู้คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าในปี 2566 นั้นจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

จีนเปิดประเทศ กับความเสี่ยงเรื่องไวรัส

หลังจากที่จีนมีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการป้องกัน COVID-19 ในประเทศตัวเองมาตลอด 3 ปี นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 เป็นตันมาจีนก็เริ่มจะผ่อนปรนนโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" บ้างแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีประชาชนจำนวนมากประท้วงใหญ่ต่อต้านนดยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่ในจีนที่ไม่ค่อยมีให้เห็นนัก

การที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกอย่างจีนมีแผนที่จะเปิดประเทศอีกครั้งในวันที่ 8 ม.ค. 2566 อาจจะกลายเป็นตัวช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้

การที่อุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนกลับคืนมาอีกครั้งอาจจะช่วยส่งผลทางบวกต่อผู้ส่งออกรายใหญ่ต่อจีนอย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์ ในขณะที่การยกเลิกมาตรการ "โควิดเป็นศูนย์" อาจจะช่วยให้แบรนด์ระดับโลกอย่างแอปเปิลและเทสลาฟื้นตัวได้บ้างหลังจากที่เผชิญความชะงักงันจากมาตรการนี้หลายครั้้ง

แต่ในขณะเดียวกัน การที่จีนยกเลิกมาตรการ "โควิดเป็นศูนย์" โดยสิ้นเขิงก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ในขณะที่รัฐบาลจีนยกเลิกการนำเสนอสถิติตัวเลขของ COVID-19 แล้ว ยังคงมีข่าวเรื่องที่ห้องเก็บศพและสถานที่เผาศพเต็มไปด้วยร่างของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้

ข่าวจากสื่อเรดิโอฟรีเอเชียระบุว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนประกาศยกเลิกการนำเสนอสถิติการติดเชื้อ COVID-19 อย่างไรก็ตามในเอกสารที่รั่วไหลออกมาลงวันที่ 20 ธ.ค. ที่มีการวิเคราะห์การระบาดด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ระบุว่า เมื่อไม่มีการตรวจโรคในวงกว้างและยกเลิกมาตรการควบคุมโรค อาจจะทำให้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีนราว 250 ล้านราย ทั้งนี้ทางการจีนยังเคยเตือนว่า "มันเป็นไปไม่ได้ที่จะคอยติดตามผลการระบาดอีกต่อไป" หลังจากที่มีการยกเลิกการตรวจโรคประชาชนพร้อมกันทีละมากๆ

นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าจากโรคพยาบาลและสถานที่จัดงานศพที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ที่ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินจำนวนมากราว 2 ล้านราย ในช่วงก่อนหน้านี้ และในเซียงไฮ้ก็มีฌาปนสถานแห่งหนึ่งระบุว่าที่มีผู้รอต่อคิวใช้บริการจำนวนมาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านกการแพทย์บางรายประเมินว่าจีนอาจจะมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงถึง 2 ล้านรายภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การที่ไวรัสสามารถแพร่กระจายไปในหมู่ประชาชนชาวจีนที่มีประชากรอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกังวลว่าไวรัสอาจจะยิ่งกลายพันธุ์กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมก็ได้

อลิเซีย การ์เซีย-แฮร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ธนาคารเพื่อการลงทุน "นาติซิส" กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจากการที่ผู้คน "เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์" จะทำให้ตลาดโลกดีขึ้นบ้างในระยะปลายเดือน ม.ค. หรือหลังจากตรุษจีน 2566 แต่ความเสี่ยงที่ว่าจะมีการควบคุมโรคได้ไม่ดีพอจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ก่อโรค COVID-19 ได้อีกนั้นก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ซึ่งถ้าเกิดการระบาดอีกครั้งก็อาจจะทำให้ต้องกลับไปปิดด่านอีก เรื่องนี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

การล้มละลาย

ถึงแม้ว่า COVID-19 และการล็อกดาวน์จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ทว่าในช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมาในหลายประเทศมีกรณีการล้มละลายน้อยลง เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีการไกล่เกลี่ยนอกศาลกับผู้ให้กู้ยืม และเรื่องที่รัฐบาลมีโครงการใหญ่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตัวอย่างในสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 มีธุรกิจที่ถูกฟ้องล้มละลายรวมแล้ว 16,140 แห่ง และในปี 2563 มีธุรกิจถูกฟ้องล้มละลาย 22,391 แห่ง ซึ่งทั้งสองปีนี้นับว่าน้อยกว่าปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ซึ่งมีกรณีการฟ้องล้มละลายต่อธุรกิจ 22,910 แห่ง

อย่างไรก็ตามในปี 2566 การที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นไปได้ว่าจะมีกรณีการฟ้องล้มละลายเพิ่มขึ้นไปด้วย บริษัทประกันภัยอะไลอันซ์เทรดเคยประเมินว่าอัตราการล้มละลายในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 และในปี 2566 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 19

เซียมาลิสกล่าวว่าวิกฤต COVID-19 บีบให้ธุรกิจจำนวนมากต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มจนเกิดการต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ที่ถูกกว่าเพื่อชดเชยการที่โลกตะวันตกมีการแข่งขันทางธุรกิจลดลง แต่ธุรกิจที่เป็นหนี้เหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและราคาเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงขึ้น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง และรัฐบาลตะวันตกหลายแห่งก็พึ่งพาความช่วยเหลือโดยตรงจากภาคเอกชนลดลงเพื่อรัดเข็มขัดทางงบประมาณและเน้นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรในครัวเรือนมากกว่า

โลกาภิวัตน์ที่แตกกระจาย

ในปี 2565 เป็นที่ระบอบโลกาภิวัตน์ถดถอยลงอย่างมาก และในปี 2566 ก็มีแนวโน้มที่โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจะยังคงถดถอยอยู่

ตั้งแต่สมัยรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้นมาก็มีสงครามการค้าเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ซึ่งในยุคสมัยของรัฐบาล โจ ไบเดน สงครามการค้าที่ว่านี้ก็ทวีความหนักหน่วงมากขึ้น ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามร่างกฎหมายที่จะเป็นการปิดกั้นการส่งออกชิพคอมพิวเตอร์ระดับสูงและอุปกรณ์การผลิตให้กับจีน ซึ่งเป็นการพยายามลดสมรรถภาพอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนลง และเป็นการส่งเสริมให้สหรัฐฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้ในการผลิตชิพคอมพิวเตอร์

เนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากำลังมีกระแสเรื่องการเปลี่ยนจากการค้าเสรีและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจไปสู่แนวคิดตั้งกำแพงทางการค้า (protectionism) ไปสู่การพึ่งพาตนเองในประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ

มอร์ริส ชาง ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน TSMC เคยแถลงไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2565 ในเชิงตัดพ้อว่า โลกาภิวัตน์และการค้าเสรีของโลกนั้น "แทบจะตายอยู่แล้ว"

เซียมาลิสกล่าวว่า กลุ่มชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มมีการข่มเศรษฐกิจของจีนมากขึ้น และโต้ตอบด้วยการกดดันทางเศรษฐกิจและทางการทหารต่อจีนในฐานะประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่

เซียมาลิสประเมินว่า ในขณะสงครามการรบเต็มรูปแบบบนพื้นที่ไต้หวันนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง แต่กลุ่มประเทศที่ร่วมสังฆกรรมในสงครามการค้าก็จะต้องเผชิญกับการนำเข้าที่แพงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างแน่นอน


เรียบเรียงจาก
From China to inflation, 5 economic trends to watch in 2023, Aljazeera, 28-12-2022
China gives up reporting COVID-19 figures as virus rips through population, Radio Free Asia, 26-12-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net