Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจพนักงานรักษาความปลอดภัยในสิงคโปร์  1,000 คน 66.6% ระบุว่าพวกเขาอยากเปลี่ยนงาน 40% ชี้ว่าพวกเขาเคยพบเห็นการล่วงละเมิดในระหว่างการทำงาน


ที่มาภาพประกอบ | Paulus Daniel (CC BY 2.0)

1 ม.ค. 2566 พนักงานรักษาความปลอดภัยในสิงคโปร์จำนวนมากต้องการออกจากงานเนื่องจากความคาดหวังในการขึ้นเงินเดือนและการเลื่อนตำแหน่ง แม้ว่าตลาดแรงงานในสิงคโปร์จะตึงตัวก็ตาม จากการสำรวจโดยสหภาพแรงงานพนักงานรักษาความปลอดภัย (USE) โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์สิงคโปร์ เมื่อช่วงปลายปี 2565

สหภาพแรงงาน USE ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นพนักงานรักษาความปลอดภัย 1,002 คน  ร้อยละ 66.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความว่า “ฉันอาจจะมองหางานใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้” เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43.1 ในปี 2564 นอกจากนี้ประมาณ ร้อยละ 40 ยังกล่าวว่าพวกเขายังคงพบเห็นการล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ ในที่ทำงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564

ทั้งนี้ประมาณการกันว่ามีพนักงานรักษาความปลอดภัยประมาณ 40,000 คน ในสิงคโปร์ กระจายอยู่ตามหน่วยงานประมาณ 265 แห่ง

สตีฟ ตัน เลขาธิการสหภาพแรงงาน USE กล่าวในการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสำรวจนี้ว่าข้อมูลที่ปรากฏนี้อาจเกิดจากการตอบสนองจากมาตรการที่ส่งเสริมการเพิ่มค่าจ้างของแรงงาน (Progressive Wage Model หรือ PWM) 

อนึ่ง PWM คือ มาตรการที่ส่งเสริมการเพิ่มค่าจ้างของแรงงานในภาคบริการทำความสะอาด การบริการรักษาความปลอดภัย และการบริการรักษาภูมิทัศน์ ในสิงคโปร์ ผ่านการยกระดับทักษะและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยคณะทำงานไตรภาคี โดยจะบังคับใช้ดังนี้

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 จะเริ่มบังคับใช้กับภาคการค้าปลีก และขยายไปครอบคลุมลูกจ้าง In-House ของภาคบริการทำความสะอาด การบริการรักษาความปลอดภัย และการบริการรักษาภูมิทัศน์ (จากเดิมครอบคลุมเฉพาะแรงงานภาคบริการทำความสะอาด การบริการรักษาความปลอดภัย และการบริการรักษาภูมิทัศน์) ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมแรงงานอีกประมาณ 52,000 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 จะเริ่มบังคับใช้กับภาคบริการด้านอาหาร และภาคบริการการจัดการของเสีย นอกจากนี้ PWM จะถูกนำมาใช้กับพนักงานเสมียนและพนักงงานขับรถในทุกภาคส่วน ซึ่งจะครอบคลุมแรงงานอีก 55,000 คน

สำหรับในภาคการบริการรักษาความปลอดภัย ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นจาก 1,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนในปี 2564 เป็น 1,442 ดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในปี 2565 เพิ่มเป็น 1,650 ดอลลาร์ฯ ในปี 2566 และจะเพิ่มอีกครั้งเป็น 2,650 ดอลลาร์ฯ ในปี 2567

ตันกล่าวว่า: “สิ่งที่เราเห็นก็คือผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรการ PWM ที่กำลังจะมีขึ้นทุกปี ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับลูกค้า และลูกค้าบางรายจึงพยายามที่จะ 'ประหยัดงบประมาณ' – ตัวอย่างเช่น การจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยโดยปกตินั้นแทนที่จะจ้างพนักงานอาวุโสตำแหน่งสูงที่มีประสบการณ์ ลูกค้าจะหันไปจ้างพนักงานหน้าใหม่เพราะค่าใช้จ่ายต่อหัวถูกกว่า"

“สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของเรา เพราะแม้ว่าจะมีบันไดค่าจ้าง PWM ให้ไต่ระดับ แต่พวกเขารู้สึกว่าโอกาสที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนมีน้อย เพราะลูกค้าจะไม่ 'เลือก' พนักงานตำแหน่งที่สูงขึ้นเหล่านี้”

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2567 จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างของพนักงานรักษาความปลอดภัยภายใต้มาตรการ PWM อย่างชัดเจน โดยพนักงานรักษาความปลอดภัยในสิงคโปร์จะได้รับค่าจ้างรายเดือนขั้นต้นแทนค่าจ้างพื้นฐานบวกค่าล่วงเวลาเช่นในปัจจุบัน

เนื่องจากค่าจ้างของพวกเขาจะเกินระดับ 2,600 ดอลลาร์ฯ และด้วยเหตุนี้ภายใต้พระราชบัญญัติการจ้างงานของสิงคโปร์ พวกเขาจะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างล่วงเวลาอีกต่อไป

ค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลา (OT) – พนักงานรักษาความปลอดภัยจะได้รับค่าจ้าง 1½ เท่าของอัตราค่าจ้างพื้นฐาน – ปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของเงินเดือน

"การได้รับค่าจ้างรายเดือนขั้นต้นแทนที่ค่าจ้างพื้นฐานบวกค่าล่วงเวลา นั้นหมายถึงการช่วยให้คนทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้ลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานเป็นกะ 8 ชั่วโมง แทนที่จะเป็นกะ 12 ชั่วโมง" ตันกล่าว

ตันเสริมว่างานด้านความปลอดภัยจะต้องเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานนี้ด้วยเช่นกัน 

"ตามธรรมเนียมแล้ว หากมีคนต้องการซื้อความปลอดภัย พวกเขาจะนำงบประมาณของพวกเขาหารด้วยค่าใช้จ่ายพนักงานรักษาความปลอดภัย และหวังว่าความปลอดภัยจะเพียงพอ" ตัน กล่าว “ในทางกลับกัน ผู้คนควรมองหาผลลัพธ์ที่พวกเขาต้องการก่อน [ซึ่งในที่นี้คือความปลอดภัย] จากนั้นจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ที่ไซต์งาน ก่อนที่จะจ้างคนมาเพิ่มเติมเพื่อใช้เทคโนโลยีนั้นให้มีประสิทธิภาพ”

งานรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องเปลี่ยนให้สามารถจัดการเทคโนโลยีดังกล่าวได้ แทนที่จะต้องทำกิจกรรมซ้ำซากและประสิทธิภาพต่ำ เช่น การลาดตระเวนหรือการตรวจสอบด้วยตนเอง เลขาธิการสหภาพแรงงาน USE กล่าวเสริม

เพื่อแสดงให้เห็นว่าการตั้งค่าดังกล่าวอาจนำไปใช้ได้อย่างไร ดูได้จากตัวอย่างของ อเล็กซ์ เรสซิเด้นซ์ คอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเรดฮิลล์

คอนโดมิเนียมแห่งนี้มีเทคโนโลยีการวิเคราะห์กล้องวงจรปิดจะแจ้งเตือนผู้อยู่อาศัยเมื่ออยู่ใกล้พื้นที่อันตรายมากเกินไป เช่น รั้วบนชั้น 40 ของอาคาร

สิ่งนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่าง สิวัน มาโนคาราน วัย 44 ปี ประหยัดเวลาและแรงกาย เนื่องจากไม่ต้องเดินตรวจพื้นที่ทุกชั่วโมงอีกต่อไป

สิวันซึ่งทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยมา 10 ปีกล่าวว่า "ตอนนี้เรามีทั้งกล้องติดตัวและเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดที่ดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องเวลาทำงานที่สั้นลงและโบนัสจะช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น”


ที่มา
6 in 10 security officers looking to leave jobs, 4 in 10 face abuse at work: Survey (Ng Wei Kai, The Straits Times, 23 December 2022)
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จากสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน 2564 (สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ กันยายน 2564)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net