Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เริ่มต้นปีใหม่ เราน่าจะลองพิจารณาความหมายและคุณค่าของชีวิตด้วย “การทำปรัชญา” (doing philosophy) แบบง่ายๆ ดู เผื่ออาจเห็นมุมมองบางอย่างที่ชวนคิดต่อ

philosophy มาจากภาษากรีก “philosophia” หมายถึง “love of wisdom” หรือ “ความรักปัญญา” ความรักนี้คือพลังของการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อเข้าใจตัวเราเองและสิ่งอื่นๆ รอบตัวเรา เช่น เมื่อเราเริ่มพิศวงสงสัย (wonderful) และตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต เราก็เริ่มค้นหาและค้นพบความหมายของมัน นี่คือเรากำลังทำปรัชญา 

การทำปรัชญา คือการตั้งคำถาม, คิดไตร่ตรอง, สร้างและประเมินข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) เครื่องมือที่เราใช้คือทักษะการคิดเชิงตรรกะ เช่น การคิดแยกแยะประเภทและเปรียบเทียบความแตกต่างและความเหมือนของสิ่งต่างๆ หรือของความคิด ความเชื่อทางศาสนา และความเชื่อ หรือความรู้แบบอื่นๆ และบูรณาการเชื่อมโยงแง่มุมของความคิดความเชื่อ หรือความรู้ที่สอดคล้องกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมของความจริงที่ลึกซึ้งมากขึ้น กว้างหรือครอบคลุมมากขึ้น

เช่น โสเครตีสตั้งคำถามว่า เราคือใคร? คำถามนี้นำไปสู่การคิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งเพื่อหาความหมายของ “ตัวตนที่แท้จริง” (real self) ของเรา โดยการคิดแยกแยะว่า ตัวตนของเราคือนายโสเครตีส หรือคือใครสักคนที่มีสถานะและบทบาททางสังคมแบบนั้นแบบนี้ใช่หรือไม่ หรือว่าตัวตนที่แท้จริงของเราไม่ใช่สิ่งภายนอกใดๆ ที่เรามองเห็นหรือจับต้องได้ หากแต่เป็นตัวตนภายในที่เรียกว่า “soul” หรือจิตวิญญาณ

คำถามว่าเราคือใครแบบโสเครตีส จึงเป็นคำถามเกี่ยวกับ “ปัญหาพื้นฐาน” ว่า ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (human being) คืออะไร คำตอบก็คือ soul เพราะ soul คือ “ผู้คิดและมีเจตจำนง” soul จึงเป็นธรรมชาติหรือเป็น “แก่นสาร” (essence) ของความเป็นมนุษย์ของเรา พูดอีกอย่างคือ soul ทำให้โสเครตีส (และมนุษย์ทุกคน) คิดได้ และมีเจตจำนงในการกระทำสิ่งต่างๆ ได้ ความสามารถคิดและมีเจตจำนงจึงทำให้ชีวิตเรามีความหมายและคุณค่าต่างๆ ได้ ปราศจากความสามารถนี้ คนเราก็ไม่ต่างจากก้อนหินดินทราย และสิ่งอื่นๆ

สำหรับโสเครตีส ความหมายและคุณค่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับความรู้ (knowledge) ปัญญา (wisdom) และคุณธรรม (virtue) สามสิ่งนี้มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ความรู้ หมายถึง การรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราว่าคืออะไร เมื่อรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไรแล้ว ย่อมทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายของชีวิตคืออะไร และควรดูแลชีวิตตัวเองอย่างไร ซึ่งหมายความว่า การรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงทำให้เกิดปัญญาและคุณธรรมในการดูแลตัวเองได้ถูกต้อง ดังนั้น การค้นพบตัวเอง ก็คือการค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง อันเป็นตัวตนที่สามารถดำเนินชีวิตโดยการนำทางของความรู้ ปัญญา และคุณธรรม นี่คือ “ชีวิตที่ดี” (the good life) หรือชีวิตที่มีความหมาย และมีคุณค่าตามความคิดของโสเครตีส

ปรัชญาตามมุมมองแบบโสเครตีสจึงเป็น “กิจกรรมในชีวิตประจำวัน” เราตั้งคำถาม, คิดไตร่ตรอง, สร้างและประเมินข้อโต้แย้งต่างๆ จากประสบการณ์ การเรียนรู้ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เราเผชิญในชีวิตประจำวัน เพื่อตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ เพราะสำหรับโสเครตีส ชีวิตที่ขาดการตรวจสอบ ย่อมเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างปราศจากคุณค่า 

จะเห็นว่า soul ตามนิยามแบบโสเครตีสต่างจาก soul ในความหมายของคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็น soul ที่มีบาปและหาทางพ้นจากบาป ส่วนคุณธรรมของคริสต์ ก็หมายถึงคุณธรรมอันเกิดจากการทำตามกฎศีลธรรมที่พระเจ้ากำหนดให้มนุษย์ทำตาม แต่ soul ในความหมายแบบโสเครตีส คือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ทำให้เราสามารถคิดและมีเจตจำนงของตนเองได้ จึงทำให้เราสร้างความรู้ ปัญญา และคุณธรรมขึ้นเองได้ ด้วยการทำปรัชญา คือการตั้งคำถาม, คิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความหมาย คุณค่า และเป้าหมายชีวิต สร้างและประเมินข้อโต้แย้งต่างๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบที่นำมาปรับใช้สนับสนุนการมีชีวิตที่ดี และทำให้สังคมมนุษย์น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

ปัญหาคือ ผู้รู้พุทธบ้านเรามักมองว่าปรัชญา (ตะวันตก) เป็นเรื่องของการคาดเดา หรือการเก็งความจริงด้วยตรรกะเหตุผล หรือเป็นเพียง “เกมความคิด” แต่ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อรู้ความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ 

มุมมองดังกล่าวถูกในบางแง่ แต่เราไม่อาจสรุปแบบเหมารวมได้ว่า ปรัชญาเป็นแค่เรื่องของการเก็งความจริง หรือเกมความคิดเท่านั้น และศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อรู้ความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์เท่านั้น เพราะศาสนายังเป็นการปฏิบัติที่สร้างพันธนาการอื่นๆ ด้วย เช่น สร้างระบบวรรณะ สร้างอำนาจเทวสิทธิ์ให้แก่ศาสนจักรและระบบกษัตริย์ เสกคนให้เป็นเทวดาขึ้นมาปกครองขี่หัวคนด้วยกัน สร้างลัทธิปิตาธิปไตยเป็นต้น ขณะที่ในแง่หนึ่ง แม้ปรัชญาจะเป็นเรื่องของการเก็งความจริง และเป็นเกมความคิดแบบหนึ่ง แต่ปรัชญาก็ทำงานอีกหลายๆ แง่ เช่นแง่ที่แสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีแบบโสเครตีสทำ การให้รากฐานความคิดเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยุติธรรมทางสังคมเป็นต้น

ปราชญ์พุทธไทยบางคนยังวิจารณ์อีกว่า นอกจากการศึกษาพุทธศาสนาแบบปรัชญาจะไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์แล้ว ยังทำให้หลงทางหรือมืดบอดอีกด้วย ซึ่งผมเองไม่เห็นด้วยกับมุมมองเช่นนี้ 

ในความคิดผม วิธีการแสวงหาความจริงแบบสิทธัตถะไม่ต่างจากการทำปรัชญาแบบโสเครตีสมากนัก 

โสเครตีสใช้ชีวิตทำปรัชญาแบบเอาตัวเองไปอยู่ในกิจกรรมปรัชญาในชีวิตประจำวัน หรือทำปรัชญาเป็นวิถีชีวิตของตนเอง แม้แต่การโต้แย้งคำกล่าวหาของโจทก์ในศาล การปฏิเสธที่จะยอมรับผิดเพื่อลดโทษ กระทั่งการตัดสินใจปลิดชีพตนเองด้วยการดื่มยาพิษ เพื่อทำตามคำตัดสินประหารชีวิตตามกฎหมายเอเธนส์ ก็ล้วนแต่เป็นไปตามการไตร่ตรองทางปรัชญา (philosophical reflection) ของตัวเขาเองทั้งสิ้น จึงไม่จริงว่าปรัชญาเป็นแค่เรื่องของการใช้ความคิดที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ขณะที่สิทธัตถะใช้ชีวิตตนเองแสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยการตั้งคำถาม, ไตร่ตรอง, สร้างและประเมินข้อโต้แย้งต่างๆ ผ่านการเรียนรู้ความคิด ความเชื่อต่างๆ และผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกในการปฏิบัติตามความเชื่อต่างๆ จนทำให้พบความจริงตามมุมมองของตนในที่สุด

ความจริงที่สิทธัตถะค้นพบ คือ “ปรัชญาชีวิต” แบบหนึ่ง วิธีการแสวงหาความจริงสิทธัตถะก็ใช้ปัญญามากกว่าจะใช้ “วิธีการแบบศาสนา” เช่น การสวดอ้อนวอน การบูชาเทพต่างๆ แบบที่นักบวชยุคนั้นนิยมทำกัน วิปัสสนาแบบสิทธัตถะก็ไม่ใช่การนั่งหลับตาแน่นิ่งเป็นก้อนหิน แต่เป็นการใช้ความสงบของจิตเป็นฐานในการใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งคำตอบเกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของชีวิตที่ได้มา ย่อมไม่ใช่คำตอบจากการนั่งสงบนิ่งเป็นก้อนหิน แต่เป็นคำตอบที่ได้มาจากการใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง 

ดังนั้น “พุทธปรัชญา” จึงต่างจาก “พุทธศาสนา” ในสาระสำคัญคือ ขณะที่พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการประกอบสร้างความศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรม บทสวด การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งกว่าคนธรรมดาของนักบวช และความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครองให้เป็นธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว และสร้างความเชื่อที่ว่าคนเกิดมามีสถานะชนชั้นชั้นต่างกัน เพราะทำกรรมดี-ชั่วมาต่างกันเป็นต้น แต่พุทธปรัชญา หมายถึง การใช้วิธีการทางปรัชญามาทำความเข้าใจความหมายและคุณค่าของชีวิต ซึ่งการเข้าใจว่าอะไรคือคุณค่าความหมายของชีวิตคือพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดี เราจะ “ปฏิบัติ” ให้ตนเองมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร หากไม่เข้าใจก่อนว่าความหมายและคุณค่าของชีวิตที่ดีคืออะไร 

ดังเราเห็นได้ว่า คำสอนในไตรปิฎกและความคิดของปราชญ์พุทธในนิกายต่างๆ มีกระบวนการคิดตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานว่า ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (human being) คืออะไร? คำตอบหนึ่งที่สอดคล้องกันของพุทธทุกนิกายคือ มนุษย์มี “โพธิ” หรือ “พุทธภาวะ” ภายในตนเอง 

พูดในเชิงเปรียบเทียบกับความคิดแบบโสเครตีส โพธิหรือพุทธภาวะก็คือ “real self” ของมนุษย์ แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแบบ “อัตตา” หรือ “อาตมัน” โพธิหรือพุทธภาวะคือ essence ของมนุษย์ในความหมายว่า มันเป็น “ศักยภาพ” ของมนุษย์ที่สามารถจะเกิดปัญญารู้แจ้งความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ หรือมีศักยภาพที่จะเป็นพุทธะผู้ตื่นรู้ และมีอิสรภาพด้านในได้ 

ดังนั้น การรู้จักตัวเอง ก็คือการรู้ความจริงว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพทางปัญญาที่ทำให้เป็นพุทธะได้ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจตามมาว่า เราควรดูแลชีวิตตนเองอย่างไร หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่ดี ซึ่งคำตอบก็คล้ายกับคำตอบแบบโสเครตีส นั่นคือ การใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตัวตนที่แท้จริง คือโพธิหรือพุทธภาวะของเรา ด้วยการใช้ชีวิตเรียนรู้ ฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพนั้นให้กลายเป็นจริง 

ความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติแห่งโพธิหรือพุทธภาวะภายในตนเอง ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เราทุกคนมี “ความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” หรือมี “ความเป็นคนเท่ากัน” และทำให้เราคิดต่อได้ว่า การปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เคารพความเป็นคนเท่ากันย่อมเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม และในเมื่อความเป็นคนเท่ากันของเรา คือการที่เราทุกคนล้วนมีโพธิหรือพุธภาวะในตัวเองเหมือนกัน การกระทำที่มีศีลธรรมต่อกันและกันจึงต้องเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่ดีงามของเรา นั่นคือ การกระทำที่นำทางโดยปัญญาและกรุณาหรือความเห็นอกเห็นใจกันและกันบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากัน

จะเห็นว่าความเป็นคนเท่ากันในความหมายดังกล่าว ไม่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย ตรงกันข้าม เราสามารถตีความสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตยได้ การทำพุทธปรัชญาจึงช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เรามองเห็นความหมายของความเป็นคนที่ลึกซึ้งมากขึ้น และเห็นภาพความจริงที่กว้างมากขึ้นว่า ความเป็นมนุษย์ที่มีโพธิหรือมีพุทธภาวะในตัวเอง สามารถเปรียบเทียบกับความเป็นมนุษย์ในความหมายแบบโสเครตีสและแบบอื่นๆ เพื่อบูรณาการหรือเชื่อมโยงความหมายและคุณค่าส่วนที่เข้ากันได้ เพื่อสนับสนุนการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยก้าวข้ามอคติทางศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ และอื่นๆ

ทั้งหมดที่ว่ามา ผมไม่ได้มุ่ง “โปรฯ” พุทธศาสนา ตรงกันข้าม ผมเห็นว่าความเป็นพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “พุทธศาสนาแบบไทย” ที่เป็นเครื่องมือสถาปนาความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ของพระของเจ้าต่างหาก คืออุปสรรคของการเข้าใจและเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีโพธิหรือพุทธภาวะในตัวเอง หรือความเป็นคนเท่ากันของเราทุกคน 

การทำพุทธปรัชญาจึงน่าจะเป็นทางหนึ่งในการถอดรื้อพุทธศาสนาไทยที่กดทับเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ และเป็นหนทางที่จะทำให้ความหมายและคุณค่าของความเป็นมนุษย์แบบพุทธได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับความหมายและคุณค่าความเป็นคนจากโลกทัศน์ หรือมุมมองอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการมีชีวิตที่ดี และสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น 

 

ที่มาภาพ: 
https://3quarksdaily.com/3quarksdaily/2019/12/was-socrates-anti-democratic.html และ
https://www.biography.com/religious-figure/buddha
 


 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net