Skip to main content
sharethis

ปธ.วุฒิสภาเชื่อ ส.ว.โหวตนายกคนใหม่จะดูความมั่นคงในระบบรัฐสภา ไม่มองวาระ 'ประยุทธ์' นั่งนายกกี่ปี เตือน ส.ว. ออกตัวแรง ระวังถูกร้องพ้นตำแหน่ง เหตุวางตัวไม่เป็นกลาง - 'อนุทิน' ส.ว.ไม่กล้าโหวตนายกสวนกระแส - 'ปิยบุตร' ดักคอ 'รทสช.-ประยุทธ์' อย่าพึ่ง ส.ว.เพื่อไปต่อ ชี้ไร้ความชอบธรรม


พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)

2 ม.ค. 2566 เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่าที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงขณะนี้มีข้อครหาเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ที่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งหลายคนมองว่า ตอนนี้ ส.ว. แบ่งออกเป็นฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และฝ่ายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ว่า ยังไม่ถึงข้อครหา แต่เป็นธรรมดาของสังคมหรือของวุฒิสภา คงจะไปบอกว่าทุกคนเหมือนกันหมดไม่ได้ ไม่มี เพราะทุกคนก็ต่างมีความคิดเห็น

"ผมเชื่อว่า สมาชิกย่อมมีความเห็นแตกต่างกันแน่นอน และความเห็นแตกต่างของเขาก็ต้องไปดูตอนที่เขาจะลงคะแนน และก่อนที่จะลงคะแนน เขาจะมีเสียงออกมาชัดเจน ซึ่งมีน้อยคนที่จะแสดงความชัดเจนในตอนนี้ เพราะคงไม่อยากไปขัดแย้งอะไร และเราก็พูดไม่ได้ 

ยิ่งประธาน ยิ่งไปบอกไม่ได้ว่า คุณจะเลือกอะไร ตอนนี้คุณเห็นพรรคไหนดี หรือถ้าคะแนนไม่ถึง แล้วพรรคนี้เขาได้ และคุณจะสนับสนุนหรือไม่ ถ้าโดยหลักการก็ต้องพูดอย่างนั้นว่า วุฒิสภามีหน้าที่ที่จะดูว่าประเทศชาติ เราจะเดินหน้าได้อย่างไร ” นายพรเพชร กล่าว

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งครั้งหน้าถือเป็นครั้งสำคัญ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายของ ส.ว.ชุดนี้ และที่ผ่านมา ส.ว.แทบจะไม่แตกแถวเลยที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ ดังนั้นครั้งนี้จะใช้หลักอะไร หาก 2 ป. ต้องแข่งกัน นายพรเพชร กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกคนเดียว แต่การเลือกครั้งใหม่ เท่าที่ตนฟังจากสมาชิกบอกว่า เขาต้องดูก่อนว่า เมื่อเขาเลือกไปแล้วจะมีความมั่นคงในระบบรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดของตน 

"ผมได้ยินมาว่า ส.ว.ก็ควรที่จะเลือกให้ระบบรัฐสภาที่มี 2 สภาอยู่ได้ ตาม กฎหหมายที่ให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกฯได้ ถ้าเราเลือกไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะมีผลกระทบ ไม่ว่า ส.ว.หรือส.ส.ทุกคนก็รักประเทศชาติ และอยากให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งนี่เป็นความคิดและเป็นความตั้งใจ แต่แน่นอนว่า ต้องมีบางคนที่เขาผูกพันกับความต้องการอย่างไร เขาก็คงต้องยืนตามนั้น" ประธานวุฒิสภา กล่าว

ทั้งนี้ ส.ว.จะคิดถึงความมั่นคง ในการเลือกนายกฯหมายรวมถึงอายุการดำรงตำแหน่งด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ความมั่นคง อยู่ในขั้นตอนแรกของการเลือกพรรคการเมืองใหม่เข้ามา แน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมีการฟอร์มรัฐบาลให้ได้เร็ว และรัฐบาลต้องมั่นคง ส.ว.ก็คงต้องมีบทบาท

เพราะส.ว.ต้องคำนึงถึงว่า สร้างความมั่นคงได้อย่างไร ถ้าไม่มั่นคงก็ยุบสภากันอีก ดังนั้นอายุการดำรงตำแหน่งก็มีส่วน เพราะคนที่จะเป็นนายกฯได้ สมมติเขาอยู่ในพรรคการเมืองที่ได้เสียง 250 ถึง 255 แล้วมาได้เสียงจากส.ว. โหวตนายกฯ ก็ไม่มั่นคงเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดีส.ส.ที่รวมกันต้องมีเสียงมาก เพราะส.ว.เพียงไปช่วยสนับสนุน

ส่วนอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เหลืออีก 2 ปี ถือว่า มั่นคงหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นเรื่องของพล.อ.ประยุทธ์ ตนคงไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า การเป็นนายกฯ 4 ปี กับ 2 ปี จะเป็นตัวเลือกที่ส.ว.ต้องพิจารณาใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ต้องรอดูการฟอร์มของรัฐสภา ตนถึงจะตอบได้ วันนี้ไปด่วนพูดก็ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภาเท่าไหร่ อยากให้ ส.ส. เป็นผู้พิจารณา 

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ เสียงของส.ส.เกิน 250 ถ้าวุฒิสภา ไม่ทำตาม ส.ส. จะเกิดความวุ่นวาย แต่ต้องดูว่า โครงสร้างของส.ส.นั้น ส.ว.เขาพอใจหรือไม่  โครงสร้างคือ พรรคการเมืองสามารถฟอร์มได้ และเรื่องความวุ่นวายก็เป็นสิ่งที่ส.ว.ต้องพิจารณา แต่ถึงตอนนั้นอาจจะไม่วุ่นวายก็ได้ ตอนนี้เราอย่าไปด่วนคิดอย่างโน่นอย่างนี้ไปก่อน

หากฝ่ายค้านชุดปัจจุบันจับมือเป็นเสียงข้างมากในสภา ทางส.ว.พร้อมที่จะเลือกนายกฯจากฝ่ายค้านหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าฝ่ายค้านที่มารวมกันเป็นอย่างไร และจะไปบอกว่าเขาเป็นฝ่ายค้านปัจจุบันไม่ได้ เขาก็พร้อมที่จะเป็นรัฐบาลทั้งนั้น

ซึ่งในความเห็นส่วนตัวตนจะดูลักษณะการรวมตัวของพรรคต่างๆเหล่านั้น มีความมั่นคง เป็นพวกกันจริงหรือไม่ แต่ตนก็ลงคะแนนไม่ได้ เพราะตามมารยาทแล้วตนทำหน้าที่เป็นประธานจึงไม่เคยโหวตสักเรื่องเลย ดังนั้น ในส.ว. 250 จึงไม่เคยมีตนอยู่ เหมือนนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็ไม่เคยโหวตเลย

เมื่อถามย้ำว่า หากแคนดิเดตนายกฯเป็นคนจากพรรคเพื่อไทย ทางวุฒิสภาจะเลือกหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เรื่องนี้ตนตอบไม่ได้จริงๆ แต่คิดว่า มีคนเลือกแทบทุกพรรค และการโหวตเลือกนายกฯ คิดว่า คราวนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปในทางเดียวกัน เสียงย่อมไม่ 100% ซึ่งตนตอบแทนสมาชิกไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่า ใครจะลงสมัครแข่งขันเป็นผู้แทนเลย มีเพียงพรรคที่เขามีอยู่แล้ว

ขณะนี้มีการรวมเสียง ส.ว. ไปอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร แล้ว ทำให้เสียสนับสนุนมีถึง 375 เสียงแล้ว นายพรเพชร กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ยินใครจะทำอย่างนั้น แต่เชื่อมั่นว่า ไม่มี อย่างไรก็ตาม ต้องให้พรรคการเมืองฟอร์มให้เห็นชัดก่อน

ส่วน ส.ว. ออกมาแสดงท่าทีว่าสนับสนุนใครหรือไม่สนับสนุนใคร นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นอันตรายต่อตัวเขาเอง ที่อาจจะถูกดำเนินการในทางกฎหมาย ถึงขั้นพ้นจากตำแหน่ง

'อนุทิน' ส.ว.ไม่กล้าโหวตนายกสวนกระแส

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ขณะที่ส.ว.ยังมีส่วนในการเลือกตั้งนายกฯ อยู่ว่า แม้ ส.ว.ยังมีส่วนในช่วงขั้นตอนเลือกนายกฯ หากได้นายกฯมาแล้ว หลังจากนั้นการดำเนินการใดๆในสภา จะเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยตัวนายกฯกับสภาผู้แทนราษฎร

สิ่งสำคัญจะอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรครวบรวมได้ว่าจะเกินกึ่งหนึ่ง หรือจำนวน 251 เสียงจาก 500 เสียง ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องเชื่อการตัดสินใจของประชาชน ต้องให้เกียรติประชาชน และมองว่าในระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นหลักการที่แฟร์ๆกับประชาธิปไตย รัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งถึงจะเป็นรัฐบาล และทำงานได้มั่นคง เพราะถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง เมื่อเปิดสภาแถลงนโยบายหรือหากออกกฎหมายสำคัญ

ดูแล้วในรัฐบาลชุดหน้าอาจจะมีกฎหมายสำคัญ กฎหมายการเงิน เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เข้าสู่การพิจารณาก็ได้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ถ้ารัฐบาลมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง อาจจะจอดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องรอถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“ผมมั่นใจว่า ส.ว. ต้องมีกระบวนการความคิดว่าเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ถ้าความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน เขาคงต้องทำตามความต้องการของประชาชน นี่เป็นหลักที่คนที่เป็นนักการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับงานการเมืองต้องยึดถืออยู่แล้ว” นานอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 ท่านเข้ามาด้วยเสียง 253 เสียง ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตาม ท่านมีความชอบธรรม เพราะได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง และรัฐบาลอยู่มาได้จนครบสมัย แต่รัฐบาลต้องมีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองด้วยจนอยู่พ้นมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว

'ปิยบุตร' ดักคอ 'รทสช.-ประยุทธ์' อย่าพึ่ง ส.ว.เพื่อไปต่อ ชี้ไร้ความชอบธรรม

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้รัฐธรรมนูญในอนาคต ว่าจะเอาแต่ใจไม่ได้ กติกาของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คิดเพื่อที่จะกวาดล้าง ล้างแค้นเอาคืน หรือที่คิดว่าตัวเองจะชนะตลอดกาล แต่ทุกวันนี้ออกแบบรัฐธรรมนูญกินรวบทั้งกระดาน แต่พอเลือกตั้งแล้วแพ้คุณก็เปลี่ยนกติกาอีก กลายเป็นรัฐธรรมนูญปะผุ เปลี่ยนตามผู้มีอำนาจ วันนี้รัฐธรรมนูญไทยจึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ยึดอำนาจทีก็เปลี่ยนที เพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อย ๆ 

เมื่อถามว่า กังวลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปี ของคนเป็นนายกฯหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องนี้จบแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของตัวเลข 8 ปี  โดยสภาพการณ์คาดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ไม่ได้เป็นพรรคอันดับ 1-3 อยู่แล้ว เขาคงหวังว่าจะต้องได้ 25 เสียง เพื่อเสนอชื่อนายกฯ งวดนี้ถ้าใช้โมเดล รทสช. เอาให้ถึง 25 เสียง เพื่อให้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ตนคิดว่าคนจะออกมาต่อต้านเยอะมาก หากรวมไม่ถึง 250 เสียง คุณก็จะดีดนิ้วให้ 250 ส.ว.แสดงฤทธิ์เดชอีก เสียงไม่ติดท็อป แต่อยากจะจัดตั้งรัฐบาล อยากเป็นนายกฯ หรือใช้ ส.ว.มาเติมพลังให้ มันจะนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่

“เชื่อว่าคนไทยไม่น่าจะทนอีกรอบหนึ่ง  แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาด้วยเสียงถล่มทลาย อย่างน้อยก็ยังมีสิ่งรอบรับ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กลเม็ดเด็ดพรายแบบนี้อีก ความชอบธรรมมันก็ไม่เหลือแล้ว งวดที่แล้วคุณยังอธิบายได้ ยังมีประชาชนบางกลุ่มไปเชื่อคุณว่าต้องให้เป็นอีกรอบหนึ่ง ยังมีส.ว.มาช่วย เสียงมันยังปริ่มน้ำ ยังอธิบายแถไถไปได้ แต่รอบนี้ถ้าได้ 25 เป๊ะ หรือ 30 ที่นั่งแล้วจะขอเป็นนายกฯอีก ความชอบธรรมมันไม่เหลือเลย” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ได้แต่หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมองตรงนี้ออก แล้วหาทางลงด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมาลงอะไรเลยในรอบนี้ เอาตัวเองออกจากเงื่อนไข อย่าเอาตัวเองเข้ามาเป็นชนวนของความขัดแย้งชุดใหม่ที่จะเกิดหลังการเลือกตั้ง ไม่อยากคาดเดาว่าถ้าเขายังดึงดันจะใช้แบบนี้ต่อไป แล้วเกิดการชุมนุม ขัดแย้งและสลายการชุมนุมกันอีก ทหารจะออกมาหรือไม่ ประเทศไทยก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่อยากจะใช้คำว่าเป็นนักการเมืองต้องรู้จักพอ ศิลปะของคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้ ตอนขึ้นก็ว่ายากแล้ว แต่ตอนลงยิ่งยากกว่า มันต้องรู้จังหวะว่ามันถึงเวลาพอ ดีกว่าโดนคนขับไล่ ดีกว่าไม่รู้ว่าชีวิตนี้ไม่รู้จะเดินบนถนนอย่างไร ถึงเวลามันน่าจะพอได้แล้ว พอเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ 

เมื่อถามว่ามองความสัมพันธ์ของ 3 ป.อย่างไร โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แตกคอกันจริงไหม นายปิยบุตร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากสไตล์การทำงาน มีความขัดแย้งกันเรื่องบริหารอำนาจทางการเมือง ภายใต้การเลือกตั้ง แต่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลความเป็นพี่น้องนั้นตัดกันไม่ขาด ส่วนในอนาคตใครจะอยู่กับใคร เขาจะดูที่ผลการเลือกตั้งเป็นหลัก 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net