Skip to main content
sharethis

‘พริษฐ์’ ‘ก้าวไกล’ โต้ ปธ.วุฒิสภา ตอบประเด็นอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ชี้ ส.ว.ไม่ควรเลือกนายกฯ ตามความเชื่อตัวเอง เสนอปิดสวิตช์ด้วยตัวเอง หรือโหวตเลือกนายกฯ จากเสียงข้างมาก ปชช.หลังเลือกตั้ง

 

3 ม.ค. 2566 ทีมสื่อก้าวไกล รายงานวันนี้ (3 ม.ค.) พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แสดงออกผ่าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ให้สัมภาษณ์ระบุว่าไม่มีความจำเป็นต้องรีบ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นไปตาม “ดุลยพินิจของสมาชิก”

เมื่อ 30 ธ.ค. 2565 เว็บไซต์ Voice TV รายงานว่า พรเพชร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่รัฐสภา เนื่องในวาระครบรอบปีใหม่ โดยหนึ่งในคำถามที่สื่อถามคือข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ โดยการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 

ประธานวุฒิสภา ระบุว่า ใกล้จบวาระแล้ว คงไม่มีปัญหา ไม่ต้องรีบปิดสวิตช์ ส.ว. ก็ต้องปิดไปเองในตัว อีกเพียงปีเศษ แต่ในความเห็นส่วนตัว ต้องตามแต่ความเห็นของสมาชิกจากทั้ง 2 สภาว่าเห็นอย่างไร ก็ว่าตามนั้น ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่องที่เกรงกันว่าจะสร้างปัญหา เรื่องดังกล่าวผ่านไปแล้ว ก็ไม่อยากจะพูดกันมาก

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่ ส.ว. จะเห็นชอบปิดสวิทช์ตัวเองก่อนหมดวาระ พรเพชร กล่าวว่า ตนพูดแทน ส.ว.ไม่ได้ พูดไปก็เป็นประเด็นเปล่าๆ แต่เชื่อมั่นว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มีวิจารณญาณว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง ตนพูดเสมอว่าเราต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ ที่พูดกับสมาชิกได้ก็มีเพียงเท่านี้

พริษฐ์ มองว่า การให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภา แสดงให้เห็นถึงการละเว้นไม่พูดถึงสาระสำคัญของปัญหา เพราะแม้ ส.ว.จะเหลือวาระอีกไม่นาน แต่ระยะเวลาที่เหลือนั้นคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2566 ทำให้ ส.ว.ยังคงสามารถแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลไปอีก 4 ปีตามวาระรัฐบาลใหม่ ซึ่ง ส.ว.ไม่ควรเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเชื่อของตนเอง แต่ควรเลือกจากบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง หากต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้งจริงๆ

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล

พริษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า หาก ส.ว.อยากเห็นประเทศเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตยที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว.ควรจะต้องทำ 2 เรื่องในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย 1) ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และปิดสวิตช์ตนเองก่อนการเลือกตั้ง และ 2) ออกมายืนยันกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง หากพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันว่า ส.ว. พร้อมจะลงมติสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากพรรคไหน และจะไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่อนุญาตให้บุคคลหรือพรรคใดเอาเสียงของ ส.ว. ไปต่อรองในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

ผู้จัดการสื่อสารฯ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หาก ส.ว.ไม่ประสงค์จะใช้อำนาจในทางที่ไปขัดผลการเลือกตั้งอย่างที่เคยได้อ้างไว้จริง ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะไม่สนับสนุนการตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี และควรต้องออกมาให้คำมั่นต่อประชาชนในทางสาธารณะโดยพร้อมเพรียงกันด้วย

“ถ้าท่านดำเนินการตาม 2 ข้อนี้ได้ ท่านจะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น ว่าแม้ที่มาของท่านเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน แต่ ณ วันนี้ ท่านได้พยายามแล้วในการทำให้ประเทศเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศ เริ่มต้นจากการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง” พริษฐ์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net